Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คาลอส บุญสุภา
•
ติดตาม
26 ต.ค. 2022 เวลา 09:02 • ปรัชญา
เราทุกคนจะเป็นที่ปรึกษาที่ดี ก็ต่อเมื่อไม่ใช่เรื่องของตัวเอง
ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนคงจะเคยมีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษากับเพื่อน ๆ หรือผู้อื่นที่ต้องการความช่วยเหลือ (ปรึกษาทั่ว ๆ ไป) และผมก็เชื่อว่าหลายคนทำได้ดี และเป็นที่พึ่งของใครหลายคนได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทั่ว ๆ ไปอย่างเช่น ความรัก การเรียน หรือการทำงาน ไปจนถึงปัญหาที่มีความซับซ้อนกว่านั้น
เราก็สามารถช่วยเหลือให้ผู้ที่ต้องการคำปรึกษาแก้ไขปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นเราที่เป็นคนช่วยแก้ไขปัญหาเอง หรือเราจะส่งเสริมให้เขาแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองก็ตาม
แต่พอมาเป็นเรื่องของตัวเอง หลายคนกลับติดกับดักที่ไม่สามารถก้าวไปไหนได้เลย บางคนแม้แต่ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไม่สามารถแก้ได้ ไม่เพียงแค่นั้นบางคนยังไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังมีปัญหาอะไรอยู่
กล่าวคือ ไม่สามารถตระหนักว่าตัวเองกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรกันแน่ โดยเฉพาะเรื่องที่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องยิ่งทำให้เราตัดสินใจได้แย่เข้าไปใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องความรักที่เป็นปัญหาของใครหลายคน
เนื่องจากแต่ละการตัดสินใจจะมีปัจจัยทางชีววิทยาและจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องเกินกว่าที่เราจะตัดสินใจได้อย่างแยบคาย
อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีคนที่ 16 ผู้ปลดปล่อยทาส เมื่อ 20 ปีก่อนที่เขาจะเป็นประธานาธิบดี (ปี ค.ศ. 1841) เขาเคยเผชิญกับปัญหาความสับสนกับความรู้สึกที่มีต่อแมรี่ คู่หมั้นของเขา เพราะเขาดันไปตกหลุมรักผู้หญิงอีกคนหนึ่ง
เขาดำดิ่งกับปัญหา และตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าซึ่งเป็นภาวะที่เขาเผชิญมาตลอดชีวิต ถึงขนาดที่นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งเรียกสิ่งนี้ว่า "ความโศกเศร้าของลินคอล์น" แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเลือกแต่งงานกับคู่หมั้นของเขา
หลังจากนั้นหนึ่งปี ขณะที่ลินคอล์นสามารถรวบรวมสติกลับมาและมีความหวังในชีวิตกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับ โจชัว สปีด (Joshua Speed) เพื่อนรักของเขาก็เผชิญกับสถานการณ์คล้ายกันกับที่เขาเผชิญเมื่อ 1 ปีก่อน
บราฮัม ลินคอล์น สามารถให้คำแนะนำที่ดีกับสปีดในแบบที่เขาไม่สามารถให้กับตัวเองได้เมื่อคราวที่ตนเองมีปัญหา ลินคอล์นบอกกับเพื่อนรักของเขาว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผู้หญิงที่เพื่อนเขากำลังจะแต่งงานด้วย แต่อยู่ที่มุมมองความรักของตัวเพื่อนเอง
เขาพบข้อสังเกตภายหลังว่า "ถ้าเขาเข้าใจปัญหาชีวิตคู่ที่สับสนวุ่นวายของตัวเองได้ดีเท่ากับที่เขาเข้าใจปัญหาของสปีด เขาอาจไปถึงฝั่งฝันได้ง่ายกว่านี้"
ผมคิดว่าเรื่องราวอันเรียบง่ายของลินคอล์นคงคล้ายกับใครหลายคน เราสามารถให้คำแนะนำเพื่อนด้านความรักได้อย่างดี แต่เมื่อเป็นเรื่องของตัวเองเรากลับไม่สามารถทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันได้เลย จึงเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างมากเพราะเหตุใดถึงเป็นแบบนั้น
ซึ่งมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่สามารถอธิบายเรื่องนี้ได้พอสังเขป อีกอร์ กรอสแมนน์ (Igor Grossmann) และ อีธาน ครอส (Ethan Kross) ได้ออกแบบงานวิจัยที่ให้โจทย์เป็นสถานการณ์ที่ยากต่อการตัดสินใจแก่ผู้เข้าร่วมการทดลอง และให้พวกเขาได้ลองคาดการณ์ว่ามันจะคลี่คลายไปในทิศทางไหน
โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่งจินตนาการว่าพวกเขาโดนนอกใจ จากนั้นให้โจทย์เดียวกันกับคนอีกกลุ่ม แต่บอกว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเพื่อน ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีเพื่อสร้างระยะห่างทางจิตวิทยา ในขณะที่บางคนอาจคิดว่า การระเบิดอารมณ์เป็นการตอบโต้ที่น่าจะเกิดขึ้นเมื่อคุณจับได้ว่าคนรักนอกใจ
แต่สิ่งที่พวกเขาอยากรู้คือการสร้างระยะห่างจะช่วยให้เรามีสติปัญญาในการจัดการกับปัญหาและลดความขัดแย้งได้หรือไม่ ผลลัพธ์ตรงกับที่พวกเขาคาดเอาไว้ คนเรามักคิดอย่างมีเหตุผลมากกว่า เมื่อมันเป็นสถานการณ์ของคนอื่น
นอกจากนั้นพวกเขาคิดว่าสิ่งที่ควรทำคือหาทางออกร่วมกัน และพวกเขายังยอมเปิดใจรับฟังความคิดของคนที่นอกใจมากขึ้นด้วย
สุดท้ายเราจะต้องไม่ลืมว่า "คนเรามักคิดอย่างมีเหตุผลมากกว่า เมื่อมันเป็นสถานการณ์ของคนอื่น"
Website:
https://sircr.blogspot.com
อ้างอิง
Goodwin, D. (2006). Team of Rivals: The Political Genius of Abraham Lincoln. NY: Simon & Schuster.
Kross, E. (2021). Chatter: The Voice in Your Head, Why It Matters, and How to Harness It. NY: Crown.
พัฒนาตัวเอง
ไลฟ์สไตล์
จิตวิทยา
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย