27 ต.ค. 2022 เวลา 05:08 • ปรัชญา
เราสูงขึ้นได้ (อีก)
เมื่อฉันเป็นโรคซึมเศร้าเทียม (2)
สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านที่หลงเข้ามาอ่านเพื่อต้องการพัฒนาตนเองทุกท่าน สำหรับ EP นี้ผมจะเขียนต่อจากตอนที่แล้วที่ได้พูดถึงเรื่องราวของการอยู่ๆ ก็รู้สึกทุกข์ใจในวันที่ทุกอย่างดูดีมีความสุข (แปลกดีไหมครับ) ที่ผมเรียกว่าโรคซึมเศร้าเทียมนี้มันมีที่มาอย่างไร เรามาติดตามกันต่อเลยครับ
ผมลองกลับมาทบทวนชีวิตของตัวเองในขณะที่กำลังนั่งกินก๊วยเตี๋ยวว่า แล้วชีวิตเรามันไม่ดีจริงๆ อย่างนั้นหรือ ? คำตอบก็คือ อะไรที่ Social Media ได้แสดงออกมา ผมก็มี ผมก็ทำ ผมก็เป็น เพียงแต่มันอยู่ในเวอร์ชันของเรานั่นเอง ! เราก็มีความสุขของเราอยู่แล้ว ในเวอร์ชันของเรา ! ดังนั้นเองผมจะแสดงให้ทุกคนเห็นว่าเราถูกหลอกความคิดให้เป็นโรคซึมเศร้าเทียม ได้อย่างไร
ก่อนอื่นให้เรามารู้จึกโรคซึมเศร้ากันก่อนนะครับ
โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ‘เซโรโทนิน (Serotonin)’ มีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข มีแต่ความวิตกกังวล และหากปล่อยไว้ ผู้ป่วยอาจคิดสั้นฆ่าตัวตายได้
สาเหตุ/ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้น
• การสูญเสียครั้งใหญ่
• ความเครียดที่สะสม
• สภาพจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดู
• ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างไม่ราบรื่น
• ความเสี่ยงทางพันธุกรรม
(ขอบคุณที่มา https://www.sikarin.com/health/)
อยู่ๆ ผมก็รู้สึกทุกข์ แต่มันน่าแปลกที่เราไม่ได้เป็นแต่กำเนิด ! จึงมีคำถามว่า ‘มันมาได้ยังไงกันหว่า ?’ แล้วหลังจากนั้นก็เศร้าไปอีกสักพักใหญ่เพราะรู้สึกว่าชีวิตมันไม่ได้มีความสุขเท่าคนอื่น
เอ๋ ?! ความคิดนี้ของผมมันแวบเข้ามาได้อย่างไร ? ทวนอีกครั้งนะครับ ‘เราไม่ได้มีความสุขเท่าคนอื่น?’ แสดงว่าเรากำลังเอาความสุขเราไปเทียบกับคนอื่นน่ะสิ ? ถูกต้อง แล้วมันเป็นมาได้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อไหร่ ? คำตอบก็คือก็ตั้งแต่ที่เราอ่าน FB หรือดู Social Media แล้วเห็นคนอื่นเค้ามีความสุขนั่นแหละ อ้าว …. แล้วถ้าอย่างนั้นมันเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าที่ผมได้พิมพ์ไปข้างต้นไหม ? คำตอบคือ ไม่เกี่ยวกันเลย
ผมเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นและมีจริงๆ จากสารเคมีในสมอง แต่ถ้ามันไม่ได้มาจากความผิดปรกติทางกายภาพแล้วล่ะก็ อย่าไปทำให้เกิดโรคซึมเศร้าเลยครับ ซึ่งเดี๋ยวผมจะแบ่งเป็นประเด็นให้ทุกคนได้ทราบว่าไอเจ้าโรคซึมเศร้าเทียมนี้มันมาได้อย่างไร
ประเด็นที่ 1: เราเอาคุณค่าความสุขเราไปเทียบกับคนอื่น
เมื่อเราเอาสิ่งที่เป็นคุณค่าของเราไปเทียบกับคนอื่น และเมื่อเราไม่ได้มีจิตใจที่เข้าใจตนเองอย่างแท้จริง เราจะรู้สึกว่าความสุขเรามันด้อยค่า ทำไมถึงเป็นแบบนั้นล่ะ ? เราสังเกตไหมครับ ว่าคนเราให้คุณค่าต่างกัน บางคนเมื่อมีเงินก็อยากใช้จ่ายกับสิ่งที่ตนชอบ แต่บางคนก็ชอบเก็บ บางคนก็ชอบนำไปลงทุนต่อ บางคนเมื่อมีความสุขชอบอ่านหนังสือ บางคนก็หาทางไปเที่ยว แต่แน่นอนว่า เมื่อเงินสามารถดลบันดาลให้ทุกอย่างมันดูยิ่งใหญ่ได้จึงเป็นเหตุให้หลายคนรู้สึกอิจฉา
ผมเป็นคนชอบไปทะเล เพราะมันทำให้จิตใจสงบ และไปเที่ยวเพื่อหาความรู้ ชื่นชมประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมที่ต่างประเทศบ้างปีละครั้ง ผมไม่ได้เสพติดการท่องเที่ยวขนาดนั้นจึงเน้นการอ่านหนังสือ และเงินที่จัดสรรได้ก็จะเก็บไปลงทุนเผื่อยามเกษียน เราแบ่งให้ลูกได้ และตอนแก่เราจะได้ไม่ต้องไปเป็นภาระใคร
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมได้ดู Social Media ของผู้อื่น นั่นทำให้จุดประสงค์ เป้าหมาย แม้กระทั่งตัวตนของผมนั้นหลุดหรือผิดเพี้ยนไปโดยทันที !! มันเป็นไปได้อย่างไรกัน นั่นเป็นเพราะคุณกำลังไร้ตัวตน หรือเป้าหมายความต้องการของชีวิต เรายังไม่ได้กำหนดคุณค่าตัวเราเองว่าเราเห็นคุณค่าอะไร (เราก็จะเห็นแต่คุณค่าที่คนอื่นเห็น) มีความสุขกับสิ่งใด (เราก็จะเห็นคนอื่นมีความสุขกับสิ่งนั้นโดยไม่รู้จักตัวเราว่าเรามีความสุขกับสิ่งใด) นั่นเอง
แต่พอผมมาย้อนกลับดูตัวเอง ผมได้ไปเที่ยวไหม คำตอบคือไปเที่ยว ต่างประเทศก็ไปนะ เพียงแต่เราไม่ได้ไปดูแสงเหนือเท่านั้นเอง ผมถามตัวเองว่าเราได้ถอยรถใหม่ไหม ทำไมไม่ได้ซื้อรถใหม่ล่ะ เราทำงานมาหนักแทบตาย ให้รางวัลตัวเองสิ คำตอบที่ได้คือ ก็เรามีลูกและเป็นสิ่งล้ำค่าที่เอารถล้านคันมาแลกก็ไม่ได้
เราใช้จ่ายเรื่องรถได้ถ้าวันนึงเราหาทางออกของรายได้ได้มากขึ้น เราได้กินของแพงไหม ของแพงอร่อยนะ คำตอบก็คือเรากินของแพงแต่เราเลือกว่ามื้อไหนกินเท่าไหร่ เพื่อที่เราจะสามารถควบคุมรายจ่ายได้ เรากินแบบมื้อไหนแพง เราก็ไปกินถูกมื้ออื่นๆ เราคงไม่ได้ไปกินแพงทุกมื้อใช่ไหมล่ะครับ ?
ทำไมช้านจู่ๆ ก็ซึมเศร้า รุมเร้า ก่อนหน้านี้ไม่เห็นเป็น
ที่สำคัญเชื่อผมไหมครับว่า คนที่ลง Social Media ก็ไม่ได้กินแพงกันทุกมื้อหรอก แล้วก็ไม่ได้ไปดูแสงเหนือกันทุกเดือนด้วย เพียงแต่จังหวะที่เขาลง Social Media นั้น เราดันไปเปิดและสนใจอ่านเท่านั้นเอง
สำหรับ EP นี้ผมขอจบเรื่องโรคซึมเศร้าเทียมในประเด็นที่ว่า ‘เราเอาคุณค่าความสุขเราไปเทียบกับคนอื่น’ เพียงเท่านี้ก่อน และเราจะกลับมาในประเด็นนี้กันต่อไปใน EP หน้ากันครับ
โฆษณา