Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
27 ต.ค. 2022 เวลา 13:54 • ท่องเที่ยว
ปราสาทเขาพระวิหารในม่านฝน .. ความเป็นมา ในรอยหินสลัก
“เขาพระวิหาร” มีชื่อเรียกในภาษาเขมรว่า “เปรี๊ยะ วิเฮียร์” บริเวณนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ปรากฏชื่อเรียกเก่าสุดบันทึกไว้ในจารึกว่า “ภวาลัย” ภายหลังมีชื่ออื่นๆคือ “ศรีศิขรีศวร” “วีราศรม” และ “ตปัสวีนทราศรม” ซึ่งมีผู้สร้างอุทิศให้แก่ “ศิขเรศวร” แปลตามคำว่าผู้เป็นใหญ่แห่งขุนเขา คือพระศิวะ และกษัตริย์ขอมได้สร้างปราสาทเสมือนที่ประทับแห่งเทพเจ้าไว้ ณ ที่นี้คือ “ปราสาทพระวิหาร” หรือ “เทวสถานศรีศิขรีศวร”
ปราสาทพระวิหาร หรือ เทวสถานศรีศิขรีศวร ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก หรือดองเร็ก ในภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า “ภูเขาไม้คาน” .. มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับลัทธิภูเขาของคนพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางกลุ่ม เช่นพวกจามและพวกขอม ความเชื่อดังกล่าวเป็นความเชื่อระดับพื้นบ้านของผู้คนทั่วไป ดั้งเดิมก็เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของสังคม เช่นการนับถือผี เชื่อในเรื่องของชีวิตหลังความตาย
ความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ ลัทธิภูเขา การนับถือพระศิวะ … ได้ถูกปรุงแต่งผสมผสานความเชื่อหลายรูปแบบ เพื่อเสริมสร้างพระราชอำนาจและสถานภาพของกษัตริย์ เกิดเป็นลัทธิใหม่ที่แพร่หลายมากในประวัติศาสตร์ขอม คือ “ลัทธิเทวะราชา” ซึ่งมีการผนวกการนับถือภูเขาเอาไว้ด้วย .. เมื่อสร้างศิวลึงก์ตามศาสนสถาน ก็ถือเป็นการเฉลิมฉลองกษัตริย์ และถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการบูชาเทพแห่งภูเขา หรือ เทวะอันศักดิ์สิทธิ์ หรือบรรพบุรุษซึ่งสถิตอยู่ ณ ภูเขาด้วยในขณะเดียวกัน
เดิมเชื่อว่าคนพื้นเมืองโบราณในแถบนี้คือ พวกกวยหรือกูย เป็นคนผิวดำ มีความชำนาญในการจับช้าง ภายหลังเรียกพวกนี้ว่าส่วย ตามคำเรียกของไทยสยามในสมัยรัตนโกสินทร์ ในสมัยอยุธยาเรียกว่า เขมรป่าดง .. เชื่อกันว่า พวกกวยตั้งถิ่นฐานอยู่ทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา เมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล
จารึกต่างๆ บอกให้ทราบว่าชีวิตและวัฒนธรรมของพวกกวยมีการปกครองแบ่งเป็นกลุ่มภายใต้หัวหน้าเผ่าปกครอง มีการสืบโคตรตระกุลและการกำหนดเขตแดนศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีทางความเชื่อ เมื่อมีการแผ่อำนาจของกษัตริย์เขมรเข้ามา จึงกำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์เดิมของชนเผ่านี้ และให้ชื่อว่า “ภวาลัย”
ในสมัยของ “พระเจ้ายโศวรมัน” พระองค์ทรงดำเนินวิเทโศบายด้วยการสร้างเครือข่ายของ “ยโศธราศรม” ตามที่ต่างๆ เหมือนการประกาศศาสนา (ตามข้อสังเกตของ ยอร์ช เซเดส์) พระองค์ทรงโปรดให้สถาปนาศิวลึงก์อันศักสิทธิ์ ศิขรีศวร ณ เทวาลัยแห่งเขาพระวิหาร … ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ได้ทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นที่สักการะของคนหลายกลุ่มที่นับถือลัทธิภูเขา เขาพระวิหารได้กลายเป็นที่จาริกแสวงบุญ เช่นเดียวกับ “ลิงค์บรรพต” (ปราสาทวัดภู)
การที่เขาพระวิหารกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของลัทธิเทวะราชานี้เอง กษัตริย์สมัยต่อมาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1” และ “สุริยวรมันที่ 2” จึงได้ทำให้เขาพระวิหารกลายเป็นศูนย์กลางแห่งความเชื่อของผู้คนยิ่งกว่าเดิม ด้วยการสถาปนาเทวาลัยที่เขาพระวิหารเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นแหล่งจาริกแสวงบุญ
อาคารสถานที่และการประดับตกแต่งสมัยนั้นมีรูปแบบทางศิลปะแบบปาปวนตอนต้น การสร้างที่พำนักสำหรับผู้มาจาริกแสวงบุญเพิ่มเติม ณ ปราสาทพระวิหาร การที่ทรงโปรดให้ปราสาทแห่งนี้เป็นเสมือนหอประวัติที่เก็บเอกสารของชาวกัมพุชสมัยของพระองค์ก็ดี ย่อมสะท้อนถึงลัทธิของเทวะราชาอันมีเขาพระวิหารเป็นศูนย์กลางแห่งความเชื่อ
ใครสร้างปราสาทเขาพระวิหารกันแน่
สถาปัตยกรรมมิเคยเกิดขึ้นโดยไม่มีรากเหง้า ต้องสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบแผนของสถาปัตยกรรมซึ่งเกี่ยวกับการสร้างศาสนสถานมักสัมพันธ์กับคติความเชื่อของคนในสังคมนั้นๆ การสร้างศาสนสถานและอาคารสถานแบบขอมตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นไป สะท้อนถึงคติความเชื่อที่เกี่ยวกับอำนาจของกษัตริย์ คือ ลัทธิเทวะราชา ผสมกับลัทธิภูเขาและการบูชาบรรพบุรุษ
ฉะนั้นนอกจากการสร้างศาสนสถานบนภูเขาธรรมชาติ ก็ยังนิยมสร้างคารสถานเป็นชั้นปรางค์หรือปราสาทยอดแหลม แทนเขาพระสุเมรุที่ติดต่อกับจักรวาล เห็นได้จากแบบแผนของเมืองยโศธรปุระ และปราสาทเกาะแกร์รูปปิรามิด 5 ชั้น เป็นต้น
ต่อมาได้มีความนิยมในการสร้างศาสนสถานที่มีแผนผังแบบเน้นจุดศูนย์กลางเป็นหลัก สร้างอาคารสถานและสิ่งก่อสร้างอื่นๆล้อมศูนย์กลางซึ่งเหมาะสำหรับการสร้างศาสนสถานบนลาดภูเขา โดยสร้างอาคารตามความแตกต่างของระดับชั้นดิน มุ่งเข้าสู่องค์ปราสาทที่เป็นศูนย์กลางบนชั้นสุดยอด …
ลักษณะการก่อสร้างแบบนี้ เห็นได้ชัดเจนจากการสร้างปราสาทหินบนเขาพระวิหารในพุทธศตวรรษที่ 16 ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 การก่อสร้างปราสาทหินแห่งนี้มิได้เสร็จสิ้นในยุคสมัยเดียว แต่มีการต่อเติมในภายหลัง หรือแม้แต่ก่อนสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 สถาปนิกบางท่านก็เชื่อว่าได้มีการสร้างบางส่วนของปราสาทพระวิหารมาบ้างแล้ว
ผู้รู้บางท่านได้เสนอแนวความคิดในการสร้างปราสาทแห่งนี่เอาไว้ ดังนี้
นายปามังติเอร์ (M. Parmemtier) เสนอว่า พระเจ้ายโศวรมัน เป็นผู้สร้างบันไดใหญ่ชั้นล่าง โคปุระทั้ง 2 ชั้น และทางระหว่างโคปุระชั้นที่ 2 และชั้นที่ 1 เพราะสมัยของพระเจ้ายโศวรมันเป็นยุคที่มีความนิยมสร้างเทวะสถานบนเนินเขาธรรมชาติและยอดเขาจำลอง อีกทั้งพระองค์ยังเป็นผู้สถาปนาสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ คือ ศรีศิขรีศวร ณ เขาพระวิหารแห่งนี้
หลังจากนั้น มีการสร้างเพิ่มเติมเทวสถานที่เขาพระวิหารจนถึงสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ทรงโปรดให้สร้างพระราชมณเฑียรที่ประทับ ที่เรียกว่า Palias แปลว่า วัง หรือมณเฑียร (บนลานชั้นที่ 3) ตรงนี้เองที่มีการเปรียบเทียบว่าสวยงามดุจวิมาน
กษัตริย์ต่อมาคือ พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ทรวงโปรดให้สร้างเทวาลัยของพระเป็นเจ้าบนชั้นสูง คือปรางค์ประธาน (ขณะนี้พังลงมาหมดแล้ว)
พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงโปรดให้ปรับปรุงแก้ไข อาคารสถานและปรางค์ประธานบนชั้นที่ 4
ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ มึความเห็นเรื่องโครงสร้างปราสาทพระวิหารแตกต่างออกไป เซเดส์อ้างจารึกเป็นหลักฐานว่า ปราสาทพระวิหารสร้างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พระบรมนิวาณบท) โดยทรงรับคำสั่งจากพระเป็นเจ้าบนสวรรค์ให้ไปสร้างเทวาลัยถวายแด่องค์ศรีศิขรีศวร ในพุทธศตวรรษที่ 16 ใช้เวลาสร้าง 11 ปี แต่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยพระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน และพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เป็นผู้แต่งเติมเสริมต่อปราสาทแห่งนี้
อาจารย์มานิต วัลลิโดม นักโบราณคดี อ้างจารึกที่มหาปราสาทบนลานชั้นที่ 4 ซึ่งกล่าวถึงพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 1581 อาจารย์มานิตลงความเห็นว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และพระมเหสี คือพระนางศรีวีรลักษมี ได้ทรงสร้างขยาย สถานศักดิ์สิทธิ์ครั้งราชบรรพบุรุษ ที่ชื่อว่า ภวาลัย ให้กว้างขวางใหญ่โตขึ้น ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้มีอยู่ในจารึกปรางค์ประธานปราสาทพระวิหารและจารึกปราสาทตาแก้ว
ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ศึกษาศิลปกรรมที่ปรากฏอยู่โดยทั่วไป ณ ปราสาทเขาพระวิหาร แล้วกำหนดว่าสถาปัตยกรรมและเครื่องประดับตกแต่งของปราสาทแห่งนี้ตรงกับศิลปะแบบปาปวนตอนต้น และ แบบปาปวนที่แท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับจารึก ณ ปราสาทเขาพระวิหารบางหลักสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แสดงว่าปราสาทเขาพระวิหารนั้น สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวครึ่งหลังของศตวรรษที่ 16 ซึ่งตรงกับศิลปะปาปวนตอนต้น ต่อลงมาจนถึงสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ราวครึ่งแรกของศตวรรษที่ 17 อันตรงกับศิลปะแบบปาปวนที่แท้จริง
นอกจากความเห็นของท่านผู้รู้แล้ว ยังมีนิทานตำนานกล่าวถึงผู้สร้างปราสาทอีกหลายเรื่อง ซึ่งอาจจะหาอ่านได้ในหนังสืออีกหลายเล่ม
ขอบคุณ .. เนื้อความบางส่วนจากหนังสือ “เขาพระวิหาร” โดย ดร.ธิดา สาระยา
บันทึก
2
1
4
2
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย