29 ต.ค. 2022 เวลา 07:00 • การเกษตร
จับตาศึก “กากอ้อย-บราซิลยกระดับฟ้อง WTO” จุดเปลี่ยนอุตฯน้ำตาลไทย
ประเด็นแรก ทิศทางอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย หลังร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ ได้ผ่านทั้งสองสภาไปแล้วและอยู่ในขั้นตอนเตรียมประกาศใช้ แต่เวลานี้ยังมีปัญหาตามมาจากการนำ “กากอ้อย” บรรจุในนิยาม “ผลพลอยได้” ที่ต้องนำมาคิดคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ด้วย
ประเด็นที่ 2 ความเสี่ยงและทางออกน้ำตาลไทย หลังบราซิล ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลเบอร์ 1 โลก รอดู พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ของไทยจะตอบโจทย์บราซิล ที่ยื่นฟ้องไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องการอุดหนุนส่งออกน้ำตาล ทำให้ได้รับความเสียหายหรือไม่
ทั้งนี้ประเด็นจากการสัมมนามีประเด็นที่น่าสนใจและต้องติดตาม คือ พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ที่เตรียมประกาศใช้ เป็นการแก้ไขตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ (เพื่อให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีการผลิตที่เปลี่ยนไป และตอบโจทย์บราซิลให้ภาครัฐของไทยเลิกการแทรกแซง)
จากรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการติดตาม ประเมิน และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทเรื่องอ้อยและน้ำตาลกับบราซิลในองค์การการค้าโลก (WTO) และจัดทำแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลตามข้อผูกพันกับ WTO ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
โดยศาสตราจารย์ทัชมัย ฤกษะสุต ผู้เชี่ยว ชาญด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะผู้วิจัยโครงการนี้ยอมรับว่ามีความกังวล เพราะจากการศึกษาข้อกำหนดและกลไกต่าง ๆ ตามร่าง พ.ร.บ. อ้อยฯฉบับใหม่ หากใช้เกณฑ์ทางวิชาการล้วน ๆ แล้วยังไม่ตอบโจทย์บราซิล เพราะยังมีการอุดหนุนและแทรกแซงจากภาครัฐอยู่อย่างชัดเจน
โดยได้ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขยังคงมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเป็นกรรมการอยู่เกือบทุกชุด เสมือนหนึ่งเป็นการบริหารจัดการโดยภาครัฐ, มีกระบวนการหลักเกณฑ์การประมาณรายได้ของระบบจากข้อกำหนดที่มาจากคณะกรรมการต่าง ๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการกำหนดราคาอ้อย ทำให้ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด, มีการกำหนดให้นำเงินส่วนต่างจากราคาขายน้ำตาลส่วนที่ขายได้เกินราคาที่กำหนดนำส่งให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อกองทุนฯนำมาจ่ายคืนให้แก่โรงงานและชาวไร่อ้อยตามมาตรา 56 และยังมีการกำหนด จัดสรร ปริมาณน้ำตาลให้โรงงานผลิต ฯลฯ
ขณะที่ นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า กรณีที่บราซิลฟ้องไทยเป็นเรื่องปกติจากไทยเป็นสมาชิก WTO ที่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีและข้อตกลง แต่ไม่ควรตื่นตระหนก เพราะการอุดหนุนยังทำได้ โดยไทยมีสิทธิ์อุดหนุนสินค้าเกษตรในวงเงินประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเวลานี้ก็ยังไม่เกินกรอบที่กำหนด ที่ผ่านมาหลังบราซิลฟ้องไทย ทั้งสองฝ่ายก็ได้มีการหารือในการแก้ไขปัญหาร่วมกันกว่า 10 ครั้งแล้ว และขณะนี้ทางบราซิลอยู่ระหว่างรอดู พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ว่าจะส่งผลกระทบต่อบราซิลในอนาคตรือไม่
จากความเห็นของรองอธิบดีกรมเจรจาการค้าฯ ชี้ให้เห็นว่า ไทยไม่ค่อยกังวลต่อการฟ้องร้องของบราซิล เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่บราซิลฟ้อง ไทยได้ปรับเปลี่ยน โดยยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาล และแจ้งให้บราซิลทราบว่า กำลังดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยฯให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้อง และจากราคาน้ำตลาดโลกตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาอ้อยไม่จูงใจให้เกษตรกรปลูก ปริมาณอ้อยที่ไทยเคยผลิตได้กว่า 100 ล้านตันต่อปี ลดเหลือเพียง 66 ล้านตัน(ปีการผลิต 2563 /2564)
อย่างไรก็ดี วงการน้ำตาลแสดงความกังวลว่า ในฤดูการผลิตอ้อยใหม่ปีนี้ หากปริมาณอ้อยของไทยเพิ่มสูงกว่า 100 ล้านตัน บราซิลอาจหันมาเร่งดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับไทยได้ แม้ภาครัฐของไทยจะบอกว่าสามารถเจรจากับบราซิลเพื่อผ่อนหนักเป็นเบาได้ตลอดเวลา และยังมีเวลาต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ได้อีก จึงไม่ควรเป็นห่วงมากนัก แต่ก็ไม่ควรจะชะล่าใจ เพราะหากเกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาและสร้างความเสียหายให้กับประเทศใครจะรับผิดชอบ
ส่วนในอีกหนึ่งประเด็นร้อน เรื่อง “กากอ้อย” ที่ต้องนำมาคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์เพิ่มเติมให้กับชาวไร่อ้อยตามกฎหมายอ้อยฉบับใหม่ ที่โรงงานน้ำตาลและชาวไร่ยังไร้ทางออก เพราะในร่าง พ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดในรายละเอียดไว้ และเร่งให้ภาครัฐเป็นเจ้าภาพในการเจรจา ส่งผลถึงการประกาศเปิดหีบอ้อยปีการผลิต 2565 /2566 ที่ต้องเริ่มในปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงต้นเดือนธันวาคมนี้ต้องสะดุดลง จากกรรมการผู้แทนจากฝ่ายโรงงานในคณะกรรมการ 5 คณะตามพ.ร.บ.อ้อยฯได้ลาออก ทำให้การประชุมและลงมติต่าง ๆ หยุดชะงัก
โดยฝ่ายโรงงานให้เหตุผลสำคัญที่คัดค้านการนำกากอ้อยมาคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของโรงงานกับชาวไร่ต้องคุยกันให้ตกผลึกหรือได้ข้อยุติก่อนไปออกกฎหมาย ดังประเพณีปฏิบัติที่เคยเป็นมา และครั้งนี้ฝ่ายโรงงานไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมาย มองว่าเหมือนถูกมัดมือชกให้ยอมรับ เป็นที่มาของปัญหาที่ยุ่งยากในขณะนี้
ขณะที่ผ่านมาโรงงานซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อยโดยจาก 100% ในจำนวนนี้สัดส่วน 60% ซื้อตามค่าความหวาน (ซี.ซี.เอส.) และอีก 40% ซื้อโดยน้ำหนัก หมายถึงได้รวมถึงกากอ้อยแล้ว ดังนั้นเมื่อทำการหีบอ้อยไปแล้ว หากกากอ้อยถูกกลับนำมาคิดราคาอีก ถือเป็นการคิดซ้ำสอง ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่โรงงานมองว่าไม่เป็นธรรมและไม่สามารถยอมรับได้
นอกจากนี้ที่ผ่านมาแม้โรงงานน้ำตาลบางโรงจะนำกากอ้อยไปต่อยอดในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ เช่น เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและมีรายได้จากการขายไฟ แต่บางโรงไม่มีความสามารถทำได้ และไม่มีรายได้ตรงนี้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากที่จะนำกากอ้อยเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ขณะที่ในมุมชาวไร่ มองว่า ปัจจุบันโรงงานได้ประโยชน์มหาศาลจากกากอ้อยที่เป็นผลพลอยได้ ที่มีมูลค่าปีหนึ่ง 2-3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจึงควรนำมาแบ่งปันผลประโยชน์เพิ่มให้ชาวไร่ด้วย แต่จะแบ่งอย่างไรนั้นคงต้องมาคุยกัน
จะเห็นได้ว่า 2 ประเด็นร้อนข้างต้น จะนำสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยที่ต้องติดตามตอนต่อไป
โฆษณา