29 ต.ค. 2022 เวลา 09:33 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
All Quiet on the Western Front (2022) - แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง
ใครจะไปรู้ว่า ความคึกคะนองอย่างการกระโจนเข้าสู่สงคราม จะทำให้บางสิ่งบางอย่างแตกสลายมากแค่ไหน ทั้งยังไม่สามารถย้อนคืนกลับมาได้อีกเลย...
สวัสดีครับทุกท่าน ! หลังจากที่รอเรื่องนี้มานาน ล่าสุดเรื่อง All Quiet on the Western Front (2022) ก็ได้เข้า Netflix เป็นที่เรียบร้อย ตัวผมเคยอ่านเวอร์ชั่นนิยายเมื่อนานมาแล้ว วันนี้ผมจึงอยากจะมาเล่าและรีวิวภาพยนตร์เรื่องนี้ พร้อมกับแนะนำนิยายไปในตัวด้วยนะครับ
[ เกริ่นนำ ]
All Quiet on the Western Front หรือในชื่อไทยว่า "แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง" เป็นวรรณกรรมต่อต้านสงครามชื่อดัง นิยายถูกเขียนโดย เอริช มาเรีย เรอมาร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในทหารเยอรมันที่เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้นเมื่อสิ้นสุดสงคราม เขาได้เขียนนิยายเรื่องนี้ เพื่อบรรยายถึงที่พูดถึงความเหี้ยมโหดของสมรภูมิในยุโรป ควบคู่ไปกับเรื่องราวมิตรภาพระหว่างกลุ่มเพื่อนที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันขณะร่วมรบ
หลังจากที่ปล่อยนิยายออกมาในปี 1928 ปรากฏว่า ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพียงปีเดียวสามารถขายได้มากกว่า 1 ล้านเล่มในเยอรมัน มีผู้แปลมากกว่า 45 ภาษา ทว่าเมื่อเวลาดำเนินไปถึงปี 1933 หนังสือเล่มนี้ก็ถูกบรรจุอยู่ในรายชื่อหนังสือที่นาซีสั่งเผา เนื่องจากมีแนวคิดที่เป็นปฏิปักษ์กับสงคราม เรอมาร์ก (ผู้เขียน) เอง ยังถูกถอดสัญชาติเยอรมันออกด้วย เนื่องจากแนวคิดต่อต้านสงคราม
บทความเกริ่นนำในนิยาย
ความยอดเยี่ยมของ All Quiet on the Western Front มิได้จำกัดอยู่แค่ในแง่วรรณกรรม ในปี 1930 Lewis Milestone จากฟากฮอลลีวูดได้นำนิยายเรื่องนี้มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ (ภาษาอังกฤษ) และสามารถคว้าออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมมาได้
Poster ของ All Quiet on the Western Front เวอร์ชั่น 1930
ต่อมาในปี 1979 มีการสร้างเป็น TV Movie ตัวหนังได้รับรางวัลจากเวทีลูกโลกทองคำ และ Primetime Emmy Awards
Poster ของ All Quiet on the Western Front เวอร์ชั่น 1979
สำหรับปี 2022 นี้เอง ก็มีการสร้าง All Quiet on the Western Front อีกครั้งในฐานะภาพยนตร์เยอรมันภายใต้การกำกับของ Edward Berger และความดูแลของ Netflix
หนังได้รับคำวิจารณ์ - กระแสที่ดีในเทศกาลภาพยนตร์ อีกทั้งหากไม่ผิดพลาดประการใด ก็มีแนวโน้มเข้าชิงออสการ์อีกด้วย !
[ เรื่องย่อ ]
พอล (Felix Kammerer) หนุ่มคะนองวัย 17 เข้าร่วมแนวรบตะวันตกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ไม่นานความตื่นเต้นก็มลายหาย เมื่อต้องเผชิญความจริงอันโหดร้ายในสนามเพลาะ
[ ความรู้สึกหลังชม ]
- หลังจากที่ได้ชมหนัง ก็รู้สึกว่า หนังมีรายละเอียดที่ต่างจากนิยายประมาณหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แก่นแท้ที่ทั้งหนังและนิยายโฟกัสเหมือนกัน คือ "การบรรยายความโหดร้ายในสงครามโลกครั้งที่ 1" ไม่ว่าจะในแง่รูปแบบสงครามหรือในแง่สภาพจิตใจ
รูปแบบสงครามที่เกิดขึ้นในแนวรบฝั่งตะวันตก อยู่ในลักษณะ สงครามสนามเพลาะ (Trench Warfare) แต่ละฝ่ายต่างทรมานแสนสาหัสจากการผลัดกันรุกและรับ หลายครั้ง แนวหน้ารุกคืบได้ไม่กี่ร้อยเมตร ขณะที่มีทหารมากกว่า 3 ล้านนาย เสียชีวิตที่แนวรบนี้
พอล รับบทโดย Felix Kammerer
นอกจากนี้ แนวรบตะวันตก ฯ ยังขึ้นชื่อในเรื่องความเหนอะหนะและความสกปรกของโคลนในสนามเพลาะ ซึ่งบั่นทอนประสิทธิภาพในการรบของทหาร
ในแง่สภาพจิตใจ สงครามพรากชีวิตผู้คนไปมากมาย ทั้งยังเอาความเป็นมนุษย์ออกไปจิตใจของเหล่าผู้ร่วมสงคราม ทหารหลายคนเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่ควรจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้
หนังบรรยายความโหดเหี้ยมในการพรากจิตวิญญาณของเด็กหนุ่มได้อย่างลึกซึ้ง พร้อมกับพาเราย้อนกลับไปให้เห็นกับตาอีกครั้งถึงนรกบนดินที่ทุกฝ่ายต่างพบเจอ
การแก้ทางสนามเพลาะโดยใช้เพลิงและรถถัง
- อารมณ์หนังมาในโหมดหนังต่อต้านสงครามล้วน ๆ หนังไม่ได้แสดงความโรแมนติก ความรักชาติ ความเสียสละใด ๆ ทั้งสิ้น ทุกสิ่งอันล้วนพูดถึงความต้องการที่อยากจะให้สงครามยุติ หลังจากที่ทหารแต่ละฝ่ายกรำศึกมานาน พร้อมกับความหวังที่จะได้กลับบ้านไปเจอครอบครัวที่ตนรัก
ขณะดู จึงไม่ได้มีความมันส์ระทึกใจใด ๆ ตรงกันข้าม ยิ่งดูยิ่งดิ่ง มีแต่ความหดหู่และความเสียใจจากที่เกิดขึ้น
ภาพเหล่าทหารดีใจหลังทราบข่าวว่า มีการเจรจายุติสงคราม
- ชอบที่หนังเติมพาร์ทเหตุการณ์เจรจายุติสงครามเข้ามา แม้ว่าในนิยายจะไม่ได้มีพาร์ทนี้ แต่พอหนังเติมมาแล้ว ก็เสริมมิติให้เห็นมุมมองภาพรวมสงคราม รวมถึงมุมมองทางการเมือง - วิธีคิดของผู้มีอำนาจในแต่ละฝ่ายว่า เขาคิดกันอย่างไร ตัดสลับกับเหล่าทหารในแนวหน้าที่เป็นเสมือนหมากเบี้ยเล็ก ๆ ในสงคราม ซึ่งไม่หวังสิ่งใด นอกจากความต้องการที่อยากให้สงครามยุติลง
กว่าจะถึงเวลา 11 นาฬิกาของวันที่ 11 พฤศจิกายน 1918... ว่าแล้วก็รู้สึกเสียดายไปกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ที่น่าเศร้า คือ หลายคนไม่มีโอกาสอยู่เพื่อรอฟังเวลาที่นาฬิกาดัง เวลาประกาศหยุดยิง เวลาที่แนวรบตะวันตกยุติลง
- พาร์ทมิตรภาพถูกลดลงไปพอสมควร เมื่อเทียบกับในนิยาย แต่ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในการดำเนินเรื่อง เข้าใจว่า ภาพยนตร์มีข้อจำกัดเรื่องเวลากับประเด็นหนัง เลยอาจต้องตัดบางส่วนไป ทั้งนี้โดยรวม หนังยังบรรยายเรื่องราวมิตรภาพระหว่างพอลและกลุ่มเพื่อนได้ดี
มีที่รู้สึกเสียดาย คงเป็นบางซีนที่ไม่ได้ถูกใส่ไว้ในหนัง อย่างฉากตอนที่พอลกลับไปเยี่ยมแม่ที่บ้าน ตอนอ่านนิยาย จำได้ว่า เป็นซีนที่สะเทือนใจจนน้ำตาไหลออกมาเลย
พอล (Felix Kammerer) และ แคทซินสกี้ (Albrecht Schuch) เพื่อนซี้ของพอล
- หนังถูกเล่าจากฝั่งเยอรมัน โดยใช้ภาษาเยอรมัน สิ่งนี้ช่วยให้หนังสมจริงขึ้น แถมเป็นมุมมองที่ต่างจากเรื่องอื่น ๆ ซึ่งมักมองจากมุมสัมพันธมิตร นอกจากนี้ เรื่องราวที่เกิดขึ้น ยังดูเป็นสงครามภาคพื้นทวีปยุโรปขนานแท้ที่การรบใหญ่เกิดขึ้นระหว่างเยอรมันกับฝรั่งเศส ซึ่งก็ไม่ได้เห็นบ่อย ๆ ที่หนังจะโฟกัสถึงสมรภูมินี้
[ มุมภาพยนตร์ ]
1
- หนังถ่ายทอดองค์ประกอบศิลป์ได้น่าสนใจ ไม่ว่าจะมุมกล้อง หรือการให้แสง สี ขณะเดียวกัน ก็มีซีนโหด ๆ ที่ดูสมจริง ไม่ว่าจะศพแขนขาขาดกระเด็น หลายซีนพร้อมบดขยี้หัวใจคนดูให้แหลก
ฉากสนามเพลาะถูกเซ็ตติ้งอย่างสมจริง
- สำหรับสไตล์ภาพยนตร์ รู้สึกว่า หนังมีความเป็นยุโรปดี จังหวะดนตรีประกอบโทนแปลก ๆ ผสมกับดนตรีคลาสสิค การดำเนินเรื่องแบบหน่วง ๆ พร้อมฟุตเทจพรรณนาอารมณ์ ส่วนนึ้ดูเป็นสไตล์ที่เจอบ่อยในหนังรางวัล - นอกกระแสของยุโรป แม้จะไม่ได้ดูง่าย แต่จังหวะการพรรณนาทุกสิ่งอย่างทำได้ประณีต และงดงาม
- ในมุมนักแสดง ทุกคนแสดงได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่มีสิ่งใดต้องติ
[ เปรียบเทียบกับหนัง WW1 ที่ออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน ]
1
จริง ๆ สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็แอบเหมือนสงครามโลกที่ถูกลืมอยู่เหมือนกัน เพราะ หนังสงครามชื่อดังส่วนใหญ่ มักเล่นกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่มีหนัง WW1 ให้ดูบ้างด้วยบรรยากาศเรียล ๆ หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกบอกเล่าไปผ่านภาพยนตร์ไปเยอะแล้ว
- เรื่องแรกที่นึกถึง คือ They Shall Not Grow Old (2018) ภาพยนตร์สารคดีของ Peter Jackson (มีฉายบน Netflix) ที่พูดถึงประเด็นเดียวกันในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเฉพาะการกล่าวถึง "ช่วงเวลาที่หายไปของเหล่าทหารวัยฉกรรจ์"
They Shall Not Grow Old (2018)
ใครจะไปรู้ว่า การแสดงความคึกคะนองอย่างการกระโจนเข้าสู่สงคราม จะทำให้บางสิ่งบางอย่างแตกสลายมากแค่ไหน ทั้งยังไม่สามารถย้อนคืนกลับมาได้อีกเลย
ตัวหนังนำฟุตเทจเก่าขาวดำมาใส่สี (Colorization) พร้อมเล่าเรื่องราวอย่างสนุกน่าติดตาม ไม่แพ้ดูภาพยนตร์ปกติ
- ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่มาในเวลาใกล้เคียงก็ 1917 (2019) ของ Sam Mendes แม้จะพูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ 1917 เน้นไปที่การผจญภัยของตัวบุคคล รวมถึงบรรยายความอลังการของสงครามผ่านเทคนิคภาพยนตร์ มุมกล้อง แสง สี เสียง ซึ่งทำออกมาได้ประณีต สวยงาม
1
ซีนวิ่งฝ่าแนวรบอันอลังการใน 1917
[ สรุป ]
All Quiet on the Western Front (2022) อาจไม่ใช่หนังดูง่าย แต่เป็นหนังดีอย่างไม่ต้องสงสัย
สภาพของพอลที่แทบไม่เหลือความรู้สึกใด ๆ อีกต่อไป
หนังพาเราจมดิ่งไปกับการสำรวจสภาพจิตใจของเหล่าทหารหนุ่มในสงครามโลกครั้งที่ 1 พร้อมกับบอกเล่าความเจ็บปวด ความสูญเสียที่ยากเกินเยียวยา ในแง่เทคนิคการถ่ายทำ หนังถ่ายทอดบรรยากาศออกมาได้อย่างสวยงาม สมจริง ทั้งใน Location และในด้านมุมกล้อง แสง สี
ดังนั้นก็แนะนำเลยครับ จัดเป็นหนังสงครามคุณภาพเยี่ยม เวอร์ชั่น 1930 เคยคว้าออสการ์ไปแล้ว ต้องรอดูว่า เวอร์ชั่นนี้จะไปไกลได้เหมือนกันหรือเปล่า... ส่วนใครที่สนใจนิยาย ก็แนะนำเช่นกันครับ เป็นนิยายที่ดีมากเลยทีเดียว !
ถ้อยความสรุปอันลึกซึ้งบนปกหลังของนิยาย
ป.ล. สำหรับคนจิตใจอ่อนไหว ไม่พร้อมเผชิญเรื่องเครียด ไม่ควรรับชม ในเรื่องมีฉากสะเทือนใจ เช่น ฉากการฆ่ากัน ศพทหาร (หนังถูกจัดอยู่ใน Rated: 16+)
ป.ล.2 อีกหนึ่งช่องทางการติดต่อทาง Facebook เผื่อสนใจอยากพุดคุยหรือติดต่อกับผม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา