30 ต.ค. 2022 เวลา 01:27 • ท่องเที่ยว
ปราสาทเขาพระวิหารในม่านฝน .. วิมานศรีศิขรีศวร (1)
ปราสาทเขาพระวิหาร มียอดเขาพระวิหารซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่ออำนาจที่นอกเหนือธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของสรรพสิ่งของชนพื้นเมือง
ปราสาทเขาพระวิหาร ประกอบด้วยสถาปัตยกรรมซึ่งก่อสร้างด้วยศิลาทราย จำแนกออกเป็นประเภทต่างๆได้แก่ ปราสาทประธาน ระเบียงคด โคปุระ อาคารรูปกากบาท วิหาร บรรณาลัย และบันไดนาคพร้อมทางเดิน เรียงกันเป็นระยะตามลานหินต่างระดับ รวมทั้งหมด 4 ระดับ ปรางค์ประธานอยู่ชั้นบนสุด บนลานต่างระดับแต่ละชั้น คือกลุ่มอาคารรูปกากบาท (โคปุระ) ความยาวของศาสนสถานทั้งหมดครอบคลุมความยาวประมาณ 800 เมตร
เราเดินทางไปเยี่ยมชมปราสาทเขาพระวิหารในวันที่ฟ้าฉ่ำฝน และตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุ บนปราสาทเขาพระวิหารจึงมีการทำบุญและทำพิธีรำลึกถึงพระองค์ท่านด้วย
การเดินทางในครั้งนี้ ต่างกับครั้งก่อนๆที่เราได้เคยไปเยือน ซึ่งทางขึ้นอยู่ในเขตแดนประเทศไทย ส่วนครั้งนี้เราเดินทางขึ้นไปผ่านดินแดนของกัมพูชา .. โดยต้องซื้อบัตรผ่านทาง แล้วใช้บริการของรถโดยสารของกัมพูชา ที่มีสมรรถนะในการขับเคลื่อนในเส้นทางที่แคบและสูงชัน คนขับก็ต้องชำนาญทางด้วย
.. เมื่อมาถึงทางขึ้น เราต้องเดินตามทางดินที่แฉะเนื่องจากฝนตก บางช่วงของทางเดินเป็นลานหินที่ลื่น ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก
การชมปราสาทฯเมื่อขึ้นมาทางฝั่งกัมพูชา จะเริ่มจากโคปุระชั้นที่ 4 (การนับโคปุระในแบบของเขมร จะเริ่มที่โคปุระชั้นสูงสุดป็นชั้นที่ 1) .. โดยจะไม่เริ่มจากทางเดินและบันไดฝั่งไทย ไม่ผ่านลานนาคราช
.. อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เห็นภาพของปราสาทที่สมบูรณ์ การเขียนบทความและนำชมปราสาทในที่นี้ จะเริ่มต้นจากพื้นล่างต่ำสุดขึ้นไปสู่ยอดสูงสุด คือ จากลานหินชั้นล่างสุด ถึงชั้น 1 อันเป็นที่ตั้งของภวาลัย
ทางเข้าสู่ปราสาทประธานนั้น มีโคปะรุคั่นอยู่ 4 ชั้น (ปกติจะนับจากชั้นในออกมา ดังนั้นโคปุระชั้นที่ 4 จึงเป็นส่วนที่ผู้เข้าชมจะพบเป็นส่วนแรก) โคปุระแต่ละชั้นก่อนถึงลานด้านหน้า จะผ่านบันไดหลายขั้น โคปุระแต่ละชั้นจึงเปลี่ยนระดับความสูงทีละช่วง
.. นอกจากนี้โคปะรุยังบังมิให้ผู้ชมเห็นส่วนถัดไปของปราสาท จนกว่าจะผ่านทะลุแต่ละช่วงไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถแลเห็นโครงสร้างปราสาททั้งหมดจากมุมใดมุมหนึ่งได้
โคปุระชั้นที่ 4 เป็นศิลปะแบบเกาะแกร์ ยังมีร่องรอยสีแดงที่เคยประดับตกแต่งตัวปราสาทเอาไว้ แต่ส่วนหลังคากระเบื้องนั้นหายไปหมดแล้ว
สำหรับโคปุระชั้นที่ 3 เป็นศิลปะสมัยหลัง คือ แคลง/บาปวน และมีหน้าบันด้านนอกทางทิศใต้ ถือเป็น "หนึ่งในผลงานชิ้นเอกอุของปราสาทเขาพระวิหาร" (Freeman, p. 162): เป็นภาพสลักการกวนเกษียรสมุทร
สำหรับโคปุระชั้นที่ 2 นั้นมีขนาดใหญ่สุด และขนาบด้วยห้องสองห้อง ตัวปราสาทประธานนั้นสามารถผ่านเข้าไปทางลานด้านหน้า ส่วนด้านนอกเป็นบรรณาลัย (ห้องสมุด) สองหลัง
บันไดดินด้านหน้าของปราสาท บันไดดินด้านหน้าเป็นทางเดิน ขึ้นลงขนาดใหญ่ อยู่ทางทิศเหนือของตัวปราสาท ลาดตามไหล่เขา บางชั้น สกัดหินลงไปในภูเขา มีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 75.50 เมตร ช่วงแรกมีจำนวน162 ขั้น
 
.. สองข้างบันไดมีฐานสี่เหลี่ยมตั้งเป็นกระพัก (กระพักแปลว่า ไหล่เขาเป็นชั้นพอพักได้) ขนาดใหญ่เรียงรายขึ้นไป ใช้สำหรับตั้งรูปสิงห์ทวาร-บาล (ทะ-วา-ละ-บาน) เพื่อเฝ้าดูแลรักษาเส้นทางของบันไดหินด้านหน้า
มีคนเคยบอกกับฉันว่า วิธีการเดินขึ้นเขาพระวิหารให้ขึ้นตรงกลาง ตามอย่างกษัตริย์ในอดีต ถ้าขึ้นด้านข้างจะเป็นพวกสนมและเสนาอำมาตย์ แล้วพอถึงบันไดให้คุกเข่าเอาหน้าจรดพื้นขึ้นไป 3 ขั้น เป็นการเคารพ จากนั้นก็เดินปกติได้ … ฉันเชื่อ แต่ทำตามไม่หมดทุกอย่าง เลือกเพียงจะเดินตรงกลางบันไดที่สูงชันขึ้นไปทีละขั้น และแม้จะไปหลายครั้ง แต่ไม่เคยลองนับขั้นบันไดเลยสักที่ เอาเป็นว่าเชื่อว่ามีครบ 162 ขั้นก็แล้วกัน
ลานนาคราช ซึ่งอยู่เหนือบันไดศิลาช่วงที่สองนั้นปูพื้นด้วยแผ่นศิลาเรียบมีขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 31.80 เมตร
ขอบสะพานทั้งสองข้างด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกทำเป็นฐานทึบขนาดเตี้ยมีพระยานาค 7 เศียรเลื้อยอยู่บนฐานเตี้ยๆดังกล่าว
นาคทั้งสองตัวนี้มีหัวข้างหนึ่งของลำตัวและมีหางข้างหนึ่งของลำตัวหันเศียรไปทางด้านทิศเหนือคือทางด้านหน้า ส่วนหางของนาคนั้นชูขึ้นเล็กน้อยหันไปด้านทิศใต้ .. นาคทั้งสองตัวนี้เป็นนาคซึ่งไม่มีรัศมีเข้ามาประกอบและลักษณะยังคล้ายกับงูตามธรรมชาติ เป็นลักษณะของนาคราชในศิลปะขอม แบบบาปวนอย่างแท้จริง ซึ่งไม่เป็นที่นิยมในศิลปะแบบอื่นใดทั้งสิ้น ลักษณะเช่นนี้อาจเปรียบได้กับนาคที่เลื้อยอยู่บริเวณขอบสระน้ำที่ปราสาทเมืองต่ำ
คตินิยมนาคนี้ มีทั่วไปในอุษาคเนย์ที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งมีรากมาจากศาสนาฮินดู … เทวดาแห่งน้ำก็คือวรุณและสาคร ซึ่งเป็นพญาแห่งนาคราช คนโบราณจึงนับถือบูชาพญานาค
นาคจึงเป็นสัญลักษณ์ของโลกศักดิ์สิทธิ์ เป็นพลังแห่งชีวิตยิ่งใหญ่ เสมือนบันไดแก้วมณีหรือสะพานสายรุ้ง ชี้ทางให้มนุษย์มุ่งยึดมั่นศรัทธารักษาศีล ทำความดีงาม เพื่อนำพาตัวเองข้ามพ้นห้วงวัฏสงสาร .. สู่ทิพย์วิมานสวรรค์
ในความเชื่อของจักรวาลของศาสนาฮินดูนั้น สะพานที่เชื่อมระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้านั้นคือสายรุ้ง ร่องรอยหลายประการที่เป็นเครื่องยืนยันว่าสะพานที่มีราวเป็นรูปพญานาคซึ่งเป็นทางเดินเหนือคูน้ำจากมนุษย์โลกไปยังศาสนสถานคือภาพของรุ้ง
.. ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกรวมทั้งประเทศอินเดียมักกล่าวถึงรุ้งซึ่งถูกเปรียบเทียบกับพญานาค หรืองูที่มีหลายสีชูศีรษะไปยังท้องฟ้าหรือดื่มน้ำจากทะเล ตำนานของเรื่องนี้มักกล่าวถึงงูสองตัวเนื่องจากมักมีรุ้งกินน้ำสองตัวบ่อยครั้ง บางทีอาจจะเป็นรุ้งกินน้ำคู่ ซึ่งหมายถึงทางเดินของเทพเจ้าไปสู่ท้องฟ้า ซึ่งส่งความบันดาลให้มีการสร้างนาคเป็นราวทั้งสองข้างของสะพานที่เสมือนการแสดงภาพทางเดินของเทพเจ้ามายังพื้นพิภพของโลกมนุษย์
ฉันแหงนหน้ามองนาคราช 7 เศียรที่อยู่เบื้องหน้า พร้อมกับนึกขอบคุณโชคชะตาที่ทำให้ฉันได้กลับมายืนเพ่งพิศนาคประหลาดนึ้ครั้งแล้วครั้งเล่า … แสงสว่างยามเช้าส่องมากระทบรูปหน้าพญานาคอย่างชัดเจน ปากสั้นๆ หัวเกลี้ยงเกลา และไร้หงอน เป็นนาคที่แตกต่างจากนาคที่ฉันเคยเห็นที่ปราสาทอื่นๆ .. นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่มีใครบางคนเรียกนาคแบบนี้ว่า นาคหัวลิง และที่พิเศษไปกว่านั้นคือพญานาคด้านตะวันตกสลักขึ้นจากศิลาก้อนเดียว ไม่มีรอยต่อ หาไม่ได้อีกแล้ว
การเดินทางเยือนปราสาทเขาพระวิหารครั้งล่าสุด เราเข้าสู่พื้นที่ของปราสาท ณ จุดนี้เป็นต้นไป
โคปุระ ชั้นที่ 4 ปัจจุบันโคปุระชั้นนี้กลายเป็นซากปรักหักพัง เหลือแต่ประตูทางเข้า ด้านหน้ามีฐานตั้งเสาธง บนยอดเสามีธงชาติกัมพูชาโบกสะบัด
โคปุระชั้นที่ 4 ตามแบบสถาปัตยกรรมเดิม สร้างเป็นศาลาจตุรมุข เป็นโคปุระโถงรูปทรงกากบาทไม่มีฝาผนังกั้น มีแต่บันไดและซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ สร้างอยู่บนฐานบัวหินสี่เหลี่ยมย่อมุมบันไดทางขึ้นโคปุระ ชั้นที่ 4
ทางทิศเหนือ เป็นบันไดหินมีลักษณะค่อนข้างชัน เนื่องจากมีความเชื่อกันว่าการที่จะเข้าเฝ้าเทพนั้น จะไปด้วยอาการเคารพนพนอบในลักษณะหมอบคลานเข้าไป
บันไดหน้าประตูซุ้มสี่ทิศตั้งรูปสิงห์นั่ง ทางทิศตะวันออกของโคปุระชั้นที่ 1 มีเส้นทางขึ้นคล้ายบันไดหน้าแต่ค่อนข้างชัน และชำรุดหลายตอน .. ก่อนที่จะมีเส้นทางปัจจุบัน เป็นเส้นทางขึ้น-ลงของคนเขมร ไปสู่ประเทศกัมพูชา เรียกว่าช่องบันไดหัก
เสาเป็นหินรูปสี่เหลี่ยมตั้งซ้อนกัน จำหลักลายกระจัง ลายดอกมณฑากลีบบัวซ้อน และลายประจำยามก้ามปู
เครื่องมุงหลังคา มุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบที่เรียกว่า กาบู ตัวปั้นลมเป็นรูปก้นหอยผูกลายประจำยามเป็นช่วงๆ ยอดปั้นลมจำหลักรูปเทพนั่งชันเข่า คือ พระวิสุกรม ปลายหางปั้นลมจำหลักลายรูปเทพรำ
ใบระกา จำหลักเป็นลายช่อดอกไม้
ประตูซุ้มตะวันออกยังคงรูปทรงอยู่ หน้าบันจำหลักรูปเทพนั่งชันเข่าอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข ผูกลายก้านขดเป็นรูปสามเหลี่ยม ขอบหน้าบันจำหลักเป็นรูปเศียรนาคราชข้างละ 1 ตัว ทอดลำตัวโค้งประสานหาง
ทางดำเนิน ระหว่างโคปุระชั้นที่หนึ่งกับโคปุระชั้นที่สอง .. มีทางเดินยาว 270.53 เมตร กว้าง 11.10 เมตร ทอดไปทางทิศเหนือสู่โคปุระชั้นที่สอง ซึ่งจะนำมาเสนอในตอนต่อไป
โฆษณา