1 พ.ย. 2022 เวลา 04:00 • การศึกษา

สัปปะรด : ภาคอื่น"นัด" แต่ภาคกลาง"ไม่นัด"

.
สับปะรดเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบที่สมบูรณ์เต็มผล, ปอกเปลือกแล้ว, ถูกหั่นเป็นชิ้น หรือแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
แม้ว่าจะพบเห็นได้ทั่วไป และประเทศไทยสามารถผลิตสับปะรดได้ติด 1 ใน 10 ของโลก แต่ผลไม้ชนิดนี้ไม่ได้เป็นผลไม้พื้นเมืองของประเทศไทย
หากแต่เป็นผลไม้ที่มีต้นกำเนิดเดิมอยู่ในทวีปอเมริกา
เชื่อกันว่ามีจุดกำเนิดอยู่ในป่าฝนของประเทศบราซิล ก่อนที่ชาวพื้นเมืองจะนำมาปลูก จนแพร่กระจายบริเวณภูมิภาคอเมริกากลางและอเมริกาใต้
เมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ได้เดินทางถึงทวีปอเมริกา ผลไม้ชนิดนี้ก็เป็นหนึ่งในพืชพันธุ์ท้องถิ่นนที่โคลัมบัสได้พบเจอ
หลายท่านคงจะสงสัยว่า อะไรคือ "นัด" และ "ไม่นัด"ที่หัวเรื่อง คำตอบของเรื่องนี้คือ มีคำว่า "นัด" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อสับปะรด พบในหลายท้องถิ่นของประเทศไทย
สัปปะรด ที่มา pixabay
  • ภาคอื่น "นัด"
นอกจากภาคกลางแล้ว ชื่อท้องถิ่นของสับปะรด มีดังนี้
ภาคเหนือ-มะนัด, มะขะนัด, บ่อนัด
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-บักนัด
ภาคใต้-ย่านัด, ขนุนทอง
จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่ชื่อท้องถิ่นของสับปะรดล้วนมีคำว่า "นัด" เป็นองค์ประกอบ
ความที่สับปะรดเป็นพืชพันธุ์ต่างถิ่นที่อยู่คนละทวีป ไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยมาก่อน ชื่อของสับปะรดที่คนไทยรับรู้ย่อมต้องมาจากผู้ที่นำผลไม้ชนิดนี้มาให้คนไทยรู้จัก
และชื่อที่คนไทยรับรู้ในสมัยโบราณนั้นน่าจะมีคำว่า "นัด" เป็นส่วนประกอบ
สันนิษฐานว่า คำนี้น่ามีที่มาได้ 2 แบบ คือ
-ananás (อา-นา-นาส) ในภาษาโปรตุเกส เพราะโปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่ติดต่อกับไทย และเป็นเจ้าอาณานิคมบริเวณบราซิลที่สันนิษฐานว่าเป็นแหล่งกำเนิดของสับปะรด
-ananás ในภาษาสเปน ที่ออกเสียงคล้าย ๆ กับโปรตุเกส เพราะสเปนมีอาณานิคมขนาดใหญ่ในอเมริกากลางและใต้
รูปวาด สับปะรดในอเมริกาใต้ ผลงาน André Thevet ช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 ที่มาภาพ wikipedia.org
  • ภาคกลาง "ไม่นัด"
อาณาจักรที่มีอำนาจเหนือดินแดนของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่เหมาะสมทั้งที่ตั้งภูมิศาสตร์ที่มีเมืองท่าชายทะเล สภาพเศรษฐกิจ และอำนาจทางการเมืองที่สุดในขณะนั้นคือกรุงศรีอยุธยา
ชาวต่างชาติที่นำสับปะรดเข้ามาไม่ว่าจะนำมาขายเพื่อเปิดตลาดสินค้าชนิดใหม่ หรือนำเข้ามาเพาะปลูกก็ดี ย่อมต้องพยายามเข้ามาที่บริเวณที่มีผู้คนหนาแน่น
บริเวณกรุงศรีอยุธยาและเมืองโดยรอบ ที่ปัจจุบันเป็นภาคกลางของประเทศไทยคือคำตอบ
สับปะรดจะเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน
สามารถยืนยันได้เพียงแต่ว่า เมื่อลาลูแบร์เข้ามาที่กรุงศรีอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราว ปี พ.ศ.2230-2231 (ค.ศ.1687-1688) ก็พบว่ามีการปลูกพืชชนิดนี้แพร่หลายในกรุงศรีอยุธยา (อาจจะจรวมถึงหัวเมืองใกล้เคียง) แล้ว
และลาลูแบร์ได้บันทึกเอาไว้ว่า ชาวกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น ก็เรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า สับปะรด เช่นกัน
สันนิษฐานว่า ผลไม้ชนิดนี้น่าจะเข้ามาในกรุงศรีอยุธยานานพอสมควร ชาวกรุงศรีอยุธยาถึงได้บัญญัติชื่อที่เป็นภาษาไทย โดยที่ไม่มีร่องรอยของชื่อภาษาต่างประเทศเหมือนกับคำท้องถิ่นของคนภาคอื่นเลย
Du Royaume de Siam ของ ลาลูแบร์ ที่มาภาพ https://archive.org/details/bub_gb_PNUMAAAAYAAJ/page/n5/mode/2up
  • สับปะรด แปลว่า.....
ข้อสันนิษฐานในปัจจุบันที่แพร่หลายที่สุดคือ คำว่า "สับปะรด" มาจากคำว่า "สรรพรส"
แปลว่า มีรสชาติหลากหลาย
เพราะอย่างที่เคยมัมผัสกันทั่วไป สับปะรดมีรสเปรี้ยว, หวาน, เผ็ดซ่า และขม (ดื่น้ำเปล่าหลังรับประทานสับปะรดจะยิ่งปรากฏรสขมชัดเจน) เป็นต้น
ถ้าเปรียบสับปะรดเป็นคน ๆ หนึ่ง ก็คงเป็นคนที่ย้ายมาอยู่ประเทศไทยนานมาก และสามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตหลายอย่างของคนไทยทั่วไปได้แล้ว
กลมกลืนแทบจะเป็นเนื้อเดียว จนคนไทยส่วนใหญ่แทบไม่ได้สังเกตถึงความแตกต่างเลย
ผลไม้รถเข็นในประเทศไทย ที่มีสับปะรดอยู่ด้วย ที่มาภาพ fic.nfi.or.th
อ้างอิง
โฆษณา