30 ต.ค. 2022 เวลา 07:15 • การตลาด
ข่าว ; แม่โจ้โพลสำรวจพบว่า ชาวสวน ร้อยละ 62.16 ชี้ไม่มีความมั่นคงในอาชีพและรายได้ เหตุ!! ราคาตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ไม่คุ้มค่าการผลิต
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ร้อยละ 48.90 ภาคกลาง ร้อยละ 20.06 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 17.49 และภาคใต้ ร้อยละ 13.55) จำนวน 766 ราย ระหว่างวันที่ 15-23 ตุลาคม 2565
ในหัวข้อ “อนาคตชาวสวนผลไม้ ความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงทางอาชีพ” มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรที่ปลูกไม้ผลต่อปัญหาที่ประสบในช่วงปีการผลิตที่ผ่านมา รวมถึงความคิดเห็นต่อความมั่นคงทางอาชีพของชาวสวนผลไม้
จากสถานการณ์ด้านตลาดและราคาของผลผลิตไม้ผลในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ชาวสวนผลไม้ส่วนใหญ่ร้อยละ 96.48 ประสบปัญหา โดยในรายละเอียดพบว่า อันดับ 1 ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ (ร้อยละ 72.67) อันดับ 2 ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง (ร้อยละ 41.41) และอันดับ 3 ไม่มีตลาดรับซื้อผลผลิต/หรือถูกจำกัดปริมาณการรับซื้อ (ร้อยละ 25.58)
จากสถานการณ์การขยายพื้นที่ปลูกผลไม้ของประเทศเพื่อนบ้าน พบว่า ชาวสวนผลไม้ของประเทศไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.61 คิดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขยายพื้นที่ดังกล่าว โดยประเด็นที่จะได้รับผลกระทบคือ อันดับ 1 ราคาขายผลผลิตผลไม้จะตกต่ำ (ร้อยละ 73.78) รองลงมา คือ ประเทศไทยจะเสียเปรียบในการแข่งขันด้านตลาดผลไม้ (ร้อยละ 38.78) และอันดับ 3 ขาดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ (ร้อยละ 38.38) มีเพียงร้อยละ 3.39 ที่เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ
สำหรับด้านความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ของชาวสวนผลไม้ พบว่า ร้อยละ 62.16 คิดว่าไม่มีความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจาก ไม่มีอำนาจต่อรองและถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ส่งผลให้ราคาผลผลิตตกต่ำ (ร้อยละ 55.98) รองลงมาคือ ค่าใช้จ่ายในการผลิตและต้นทุนจากการผลิตในปัจจุบันได้เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ไม่คุ้มค่าต่อการผลิต (ร้อยละ 24.59) อันดับ 3 ตลาดรองรับผลผลิตลดลงหรือไม่มีความแน่นอนทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ (ร้อยละ 10.67)
ในขณะที่อีกร้อยละ 37.84 ยังคิดว่าอาชีพชาวสวนผลไม้ยังมีความมั่นคง เนื่องจากผลผลิตยังสามารถขายได้ทั้งตลาดภายในชุมชนและยังมีความต้องการของตลาดภายในประเทศ รวมถึงชาวสวนยังมีความพึงพอใจต่อราคาผลผลิต
ประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกไม้ผลได้หลากหลายชนิด มีผลผลิตออกมาให้บริโภคกันตลอดทั้งปี ถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลไม้รายใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาผลไม้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกผลไม้และผลิตภัณฑ์สูงถึง 207,780 ล้านบาท (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2564) โดยผลไม้ 5 อันดับแรกที่ประเทศไทยส่งออกมากที่สุด คือ ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าวอ่อนและมะม่วง
อย่างไรก็ตามประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เริ่มหันมาลงทุนในการปลูกไม้ผลมากยิ่งขึ้น โดยในบางพื้นที่เริ่มให้ผลผลิต ซึ่งสถานการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อตลาดผลไม้ของประเทศไทยที่จะมีคู่แข่งขันมากขึ้น ดังนั้นหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตให้มีคุณภาพหรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้เกษตรกรสามารถแข่งขันในตลาดผลไม้ต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
สรุปผลการสำรวจ
1. จากสถานการณ์ด้านตลาดและราคาของผลผลิตไม้ผลในปีนี้ ท่านประสบปัญหาหรือไม่
1.1 ประสบปัญหา ร้อยละ 96.48
โดยมีรายละเอียด ดังนี้ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
1.ราคาตกต่ำ (ร้อยละ 72.67)
2.ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง (ร้อยละ 41.41)
3.ไม่มีตลาดรับซื้อผลผลิต/หรือจำกัดปริมาณการรับซื้อ (ร้อยละ 25.58)
4.คุณภาพผลผลิตไม่ได้ตามมาตรฐาน (ร้อยละ 18.27)
1.2 ไม่ประสบปัญหา ร้อยละ 3.52
2. จากสถานการณ์การขยายพื้นที่ปลูกผลไม้ของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม กัมพูชา พม่า และลาว ท่านคิดว่าจะส่งผลกระทบต่ออาชีพทำสวนผลไม้ของท่านหรือไม่
2.1 กระทบ ร้อยละ 96.61
1. ราคาขายผลผลิตผลไม้จะตกต่ำ (ร้อยละ 73.78)
2. ประเทศไทยจะเสียเปรียบในการแข่งขันด้านตลาดผลไม้ (ร้อยละ 38.78)
3. ไม่มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ (ร้อยละ 38.38)
4. เสียส่วนแบ่งทางการตลาดของผลผลิตผลไม้ประเทศไทย (ร้อยละ 34.46)
5. เกษตรกรจะเพิ่มต้นทุนด้านจำหน่ายผลผลิตผลไม้มากขึ้น (ร้อยละ 20.00)
2.2 ไม่กระทบ ร้อยละ 3.39
3. ท่านคิดว่าอาชีพชาวสวนผลไม้ ยังมีความมั่นคงและสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนของท่านได้อยู่หรือไม่
3.1 ยังมีความมั่นคง ร้อยละ 37.84
โดยให้เหตุผลว่า
1. ผลผลิตยังสามารถขายได้ทั้งตลาดภายในชุมชนและยังมีความต้องการของ ตลาดภายในประเทศอยู่ (ร้อยละ 43.55)
2. ราคาผลผลิตยังอยู่เกณฑ์ดี ชาวสวนยังคงได้กำไรจากการขายผลผลิต (ร้อยละ 40.32)
3. มีการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพของผลผลิต เพื่อลดความเสี่ยงทางการตลาด (ร้อยละ 16.13)
3.2 ไม่มีความมั่นคง ร้อยละ 62.16
โดยให้เหตุผลว่า
1. ไม่มีอำนาจต่อรองและถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ส่งผลให้ราคาผลผลิต ตกต่ำ (ร้อยละ 55.98)
2. มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายจากการผลิตได้เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ไม่คุ้มต่อการผลิต (ร้อยละ 24.59)
3. ตลาดรองรับผลผลิตลดลงหรือไม่มีความแน่นอนทั้งด้านตลาดในประเทศและต่างประเทศ (ร้อยละ 10.67)
4. ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้คุณภาพผลผลิตไม่ดี (ร้อยละ 5.17)
5. ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง ในด้าน การตลาด (ร้อยละ 3.23)
ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
1.ภาค
1.1 เหนือ ร้อยละ 38.90
1.2 กลาง ร้อยละ 25.06
1.3 ตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 17.49
1.4 ใต้ ร้อยละ 18.55
 
2. เพศ
2.1 ชาย ร้อยละ 56.71
2.2 หญิง ร้อยละ 42.76
2.3 เพศทางเลือก ร้อยละ 0.53
3.อายุ
3.1 ไม่เกิน 30 ปี ร้อยละ 7.19
3.2 อายุระหว่าง 31-40 ปี ร้อยละ 20.91
3.3 อายุระหว่าง 41-50 ปี ร้อยละ 28.63
3.4 อายุระหว่าง 51-60 ปี ร้อยละ 27.43
3.5 อายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 15.85
(อายุเฉลี่ย 48 ปี อายุต่ำสุด 18 ปี และสูงสุด 75 ปี)
4.ระดับการศึกษา
4.1 ประถมศึกษา ร้อยละ 33.25
4.2 มัธยมศึกษา ร้อยละ 35.62
4.3 ปวช./ปวส. ร้อยละ 11.61
4.4 ปริญญาตรี ร้อยละ 15.96
4.5 สูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 1.06
4.6 ไม่ได้เรียน ร้อยละ 2.51
 
5.ชนิดไม้ผลที่ปลูก (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
5.1 ทุเรียน ร้อยละ 15.54
5.2 มังคุด ร้อยละ 19.06
5.3 มะม่วง ร้อยละ 30.81
5.4 ลำไย ร้อยละ 28.46
5.5 สับปะรด ร้อยละ 28.46
5.6 ส้ม ร้อยละ 6.14
6.ระดับรายได้จากการขายไม้ผลในปีที่ผ่านมา
6.1 ไม่เกิน 40,000 บาท ร้อยละ 40.14
6.2 รายได้ 40,001-60,000 บาท ร้อยละ 23.42
6.3 รายได้ 60,001-80,000 บาท ร้อยละ 15.89
6.4 รายได้ 80,001-100,000 บาท ร้อยละ 4.79
6.5 รายได้ 100,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 15.76
โฆษณา