1 พ.ย. 2022 เวลา 04:00 • ศิลปะ & ออกแบบ
เปิดใจนักศึกษาชั้นปีที่ 2 จุฬาฯ ผู้ออกแบบสัญลักษณ์ "เอเปค" ถึงที่มาที่ไปของการใช้ #ชะลอม เป็นโมเดล
"ชะลอม" สัญลักษณ์ "เอเปค" สะท้อนแนวคิด Open-Connect-Balance
หนึ่งไฮไลต์ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ #เอเปค ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ คือ “ตราสัญลักษณ์เอเปค” ซึ่งเป็นผลงานของ “ริว ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง” นิสิตชั้นปีที่ 2 ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “ชะลอม"
ชวนนท์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า ในช่วงปิดภาคเรียน ตนได้มองหากิจกรรมและการประกวดเกี่ยวกับการออกแบบต่างๆ เพื่อเป็นการเพิ่มเติมประสบการณ์ พัฒนาตนเอง โดยค้นหาในเว็บไซต์ Contest War และได้มาเห็นการประกวดตราสัญลักษณ์ เอเปค จึงสนใจเข้าร่วม
ตอนแรกไม่ได้มองว่า ตัวเองจะชนะหรือได้รับการคัดเลือก แต่เมื่อได้รับการคัดเลือกทำให้ได้รับประสบการณ์ มุมมองความคิดเห็นจากคณะกรรมการ ทำให้เราได้ความรู้ และมีไอเดียในการสร้างสรรค์งานออกแบบมากขึ้น
📌ตราสัญลักษณ์เอเปค สื่อความเป็นไทยผสมนานาชาติ
โจทย์ที่ได้รับ คือการออกแบบตราสัญลักษณ์การเป็น เจ้าภาพการประชุมเอเปค 2565 ที่ต้องการสะท้อนความเป็นไทยและแสดงถึงความเป็นเอเปค ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การฟื้นฟู ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ตราสัญลักษณ์ต้องมีรูปแบบที่ทันสมัย สะท้อนความเป็นผู้นำ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
"ตราสัญลักษณ์เอเปค ชะลอม บ่งบอกถึงความเป็นไทย และการเส้นสายของชะลอมเป็นเสมือนนานาประเทศได้ร่วมมือกันไปสู่เป้าหมายที่วางไว้” ชวนนท์ กล่าว
📌ยึดหลักแนวคิด Open-Connect- Balance
ชวนนท์ เล่าต่อว่า การขับเคลื่อน เอเปค ปี 2565 ด้วยแนวคิดหลัก "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" (Open-Connect- Balance) คือ
- OPEN ชะลอมสื่อถึงการค้าที่เปิดกว้าง
- CONNECT ชะลอมเป็นสิ่งบรรจุสินค้าหรือส่งของสำหรับใช้ในการเดินทาง และสื่อถึงความเชื่อมโยง
- BALANCE ชะลอมทำจากวัสดุธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy- BCG)
ขณะเดียวกันสีเส้นตอกทั้ง 3 สี แสดงถึงความหมายแตกต่างกัน คือ
1. สีน้ำเงิน สื่อถึง OPEN การเปิดกว้างของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ
2. สีชมพู สื่อถึง CONNECT การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง
3. สีเขียวสื่อถึง BALANCE ความสมดุล
โดยทั้งหมดเน้นสื่อถึงรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว โดยคำนึงถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะเติบโตไปอย่างยั่งยืน
📌ออกแบบตราสัญลักษณ์เอเปค ช่วยเพิ่มประสบการณ์
เป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน ที่ชวนนท์เริ่มต้นในการคิดคอนเซ็ปต์ตามโจทย์ที่ได้รับ รวมถึงขั้นตอนการร่างออกแบบ ตราสัญลักษณ์เอเปค และส่งเข้าประกวด โดยมีรศ.อาวิน อินทรังษี อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำวิธีคิดและแนวทางการออกแบบตราสัญลักษณ์ดังกล่าว เพื่อให้ความสมบูรณ์มากขึ้น
ต่อมาหลังผ่านรับรางวัล ได้มีการนำมาปรับแต่งและเพิ่มเติมรายละเอียดตามคำแนะนำของคณะกรรมการ จนมาเป็น โลโก้เอเปค ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา
“รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมประสบการณ์ ได้เรียนรู้การออกแบบที่หลากหลายจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ นักออกแบบด้วยกัน เวทีดังกล่าวเปิดโอกาสให้แก่ทุกคนซึ่งมีผลงานออกแบบเข้าร่วมประกวดกว่า 500 ชิ้น การที่เราได้เห็นงานออกแบบมากมาย ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ได้เห็นเทคนิค สิ่งเหล่านี้ล้วนนำมาเป็นประโยชน์ในการพัฒนางานออกแบบของเราได้” ชวนนท์ กล่าว
อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่:
โฆษณา