31 ต.ค. 2022 เวลา 16:31 • หนังสือ
ในรอบปีที่ผ่านมา มีคนออกหนังสือ "ชีวประวัติของเจอร์เก้น คล็อปป์" มา 2 เล่ม แต่เล่าเรื่องด้วยมุมมองของสองนักเขียนชาวเยอรมัน คำถามคือ ถ้าต้องเลือกแค่เล่มเดียว เราจะเอาเล่มไหนดี? ผมจะรีวิว ด้วยสายตาเป็นกลาง แบบที่ไม่เชียร์ใครเลยนะครับผม
ก่อนอื่นผมขออนุญาตอธิบาย ความแตกต่างของ หนังสืออัตชีวประวัติ (Autobiography) กับ หนังสือชีวประวัติ (Biography) ก่อนนะครับ
Autobiography คือหนังสือ ที่คนในเรื่อง เป็นผู้เขียนเอง อาจจะเขียนจริงๆ หรือให้สัมภาษณ์ แล้วให้ Ghost Writer ช่วยเรียบเรียงให้มันสมูธก็ได้ แต่จุดสำคัญคือต้องมาจากปากตัวเอง
ส่วน Biography คือเป็นหนังสือประวัติที่คนอื่นเขียน เป็นการเล่าเรื่องผ่านจากสายตาของผู้อื่น
เจอร์เก้น คล็อปป์ ผู้จัดการทีมของลิเวอร์พูลนั้น ยังไม่เคยเขียน Autobiography นะครับ แต่มีคนเขียน Biography ของเขาหลายเล่มแล้ว โดยสองเล่มที่ดังที่สุด ขายดีที่สุดในต่างประเทศ ได้แก่ 2 เล่มนี้ครับ
1) KLOPP : Bring the noise คนเขียนชื่อ ราฟาเอล โฮนิกสไตน์
2) Jurgen Klopp Die Biographie คนเขียนชื่อ เอลมาร์ เนเวลิ่ง
ซึ่งทั้งสองเล่มก็ถูกสำนักพิมพ์ในไทย ซื้อลิขสิทธิ์มาแปลเพื่อขายในประเทศไทยครับ
แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ด้วยมุมมองของคนเขียน จะทำให้หนังสือชีวประวัติย่อมมีรสชาติที่ต่างกัน ถ้าให้ยกตัวอย่างล่ะก็ สมมุติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยากทำหนังสือชีวประวัติสักเล่ม ถ้าคนเขียน คือกนก รัตนวงศ์สกุล การนำเสนอก็คงเป็นแบบหนึ่ง แต่ถ้าคนเขียนเป็น จอห์น วิญญู ก็คงเล่าไปอีกทิศทางหนึ่งแน่ๆ
5
สำหรับราฟาเอล โฮนิกสไตน์ ผู้เขียน KLOPP : Bring the noise เป็นนักข่าวชาวเยอรมัน ที่เป็น multi-lingual experts ใช้ได้หลายภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ที่ทัดเทียมเจ้าของภาษา ปัจจุบันเขาเป็นนักข่าวอยู่ที่ The Athletic
จุดเด่นของโฮนิกสไตน์คือเป็นนักข่าวกีฬาตั้งแต่แรก จึงเข้าใจแบ็กกราวน์การกีฬาเป็นอย่างดี นอกจากนั้น มีทักษะ Storytelling อันยอดเยี่ยมมากๆ เขาวางลำดับเรื่องของหนังสือได้อย่างสวยงาม เหมือนดูหนังเลยก็ว่าได้ ในหนังสือของเขาเล่มก่อนหน้านี้ชื่อ DAS REBOOT บันทึกเรื่องราวที่เยอรมันได้แชมป์ฟุตบอลโลก บทแรก แทนที่จะท้าวความมาตั้งแต่ต้น เขากลับเริ่มต้นที่การได้แชมป์โลกก่อนในปี 2014 จากนั้นค่อยย้อนอดีต เล่าว่า กว่ามาจะมาถึงตรงนี้ได้ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง
Klopp : Bring the noise เป็นหนังสือที่เล่าไขว้สลับไปสลับมา ตลอดช่วงการทำงานของคล็อปป์ เล่าในช่วงตอนอยู่ไมนซ์ แล้วกระโดดไปลิเวอร์พูล ย้อนไปดอร์ทมุนด์ กระโดดไปไมนซ์ เด้งไปเด้งมาแบบนี้อยู่ตลอด เหมือนหนังที่สลับไทม์ไลน์กันไปมา แต่ด้วยฝีมือการเรียบเรียงของเขา ก็ทำให้เราไม่สับสนนัก เป็นเล่มที่อ่านง่ายมาก
ส่วนผู้เขียนอีกเล่ม ชื่อเอลมาร์ เนเวลิ่ง ไม่ได้เป็นสื่อมวลชนสายกีฬา เขาเรียนจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ โดยเริ่มต้นอาชีพด้วยการทำมาร์เกตติ้งให้สโมสรอาร์มีเนีย บีเลเฟลด์ จากนั้นก็ทำงานบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เพิ่งจะมาเป็นคอลัมนิสต์กีฬาในช่วงไม่กี่ปีหลัง ดังนั้นมิติที่เขาเล่าในหนังสือเรื่อง Jurgen Klopp Die Biographie จะไม่ได้ลงลึกเชิงแท็กติกขนาดนั้น เล่าแบบพอเข้าใจ แต่จะเล่ามุมที่ปลีกย่อยมากกว่า
1
ตัวอย่างเช่น มีเรื่องนึงที่ผมไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน เขาเล่าเรื่อง"พื้นที่ค่านิยมของเจอร์เก้น คล็อปป์ ตามแผนภาพลิมบิก" ชื่อแปลกดีเนอะ มันคืออะไร ต้องไปอ่านดูเองนะครับ หรือเล่าในมุมที่นักข่าวฟุตบอลอาจจะไม่นึกถึง เช่น คาเฟ่ร้านโปรดของคล็อปป์ตอนอยู่ไมนซ์อะไรงี้ คือไปไกลกว่าฟุตบอลในสนาม เป็นหนังสือที่มีกลิ่นอายความวาไรตี้ผสมอยู่นิดนึงครับ
ขณะที่บรรยากาศในเล่ม จะแทรกเชิงอรรถไว้ตลอด ดูมีความเป็นวิชาการอยู่มากเหมือนกัน
จุดเด่นของเล่มนี้คือ "ความกว้างของเนื้อหา" มันมี 7 บทหลัก แต่มีหัวข้อย่อยมากถึง 214 หัวข้อ! คือในเรื่องจะไม่ลงลึกกับอะไรเลย จะอธิบายแค่พอให้เราเห็นภาพ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างเฉยๆ ซึ่งก็อาจจะเหมาะ สำหรับคนที่อยากอ่านแบบ Skimming แค่พอให้เก็ต ว่าเกิดอะไร แล้วถ้าสนใจประเด็นไหนก็ค่อยไปเจาะลึกเอาเอง
ตอนนี้ผมอ่านไป 50% ของทั้งสองเล่มแล้วครับ ถึงตรงนี้ยังไม่เจอแผลใหญ่ๆ นะ การแปลอาจมีคำที่ขัดใจนิดๆ เช่น ในเล่ม Bring The Noise มีบทหนึ่งใช้คำว่า "สวัสดีครับ นี่ผมเอง เจอร์เก้น คล็อปป์" ผมรู้สึกว่า คนเยอรมันใช้ครับกันหรอ ใส่มาแล้วดูผิดที่ผิดทางมากกว่า แต่ก็นะ อาจเป็นรสนิยมของผมเองครับ คนอื่นอาจเฉยๆ ก็ได้
เอาไว้ผมอ่านจบ 100% แล้ว อาจจะมารีวิว แล้วให้คะแนนแบบเป็นเรื่องเป็นราวอีกทีครับ คุณผู้อ่านทราบอยู่แล้วว่า ผมวิจารณ์แบบจริงจังเสมอ ดีก็คือดี ไม่ดีก็คือไม่ดีครับ
1
สำหรับเกร็ดความรู้เล็กน้อย Klopp : Bring the noise ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายคือ บริษัท บีทูเอส จำกัด จริงๆ พวกเขาเคยแปลมาก่อนแล้ว 1 ครั้ง ในปี 2019 แต่ถูกเก็บจากเชลฟ์หลังตีพิมพ์เพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น สาเหตุนั้นไม่มีการแจ้ง แต่เชื่อว่า เพราะปัญหาในการแปล ที่โดนวิจารณ์หนัก
คราวนี้ บีทูเอส จับมือกับพาร์ทเนอร์ใหม่ ชื่อ BlueBell Publishing แก้ตัวด้วยการเปลี่ยนผู้แปลใหม่ยกชุด มีบรรณาธิการ คือคุณอุไร ปทุมมาวัฒนา หรือ หมวย มาเฟียรี่ นักข่าวไทยเพียงคนเดียวที่ได้สิทธิ์โหวตบัลลงดอร์ เป็นคนดูภาพรวม ขณะที่ทีมแปล มีถึง 4 คนช่วยกัน คือก็นับหนึ่งกันใหม่ตั้งแต่ต้นนั่นแหละ คราวที่แล้ว พลาดก็พลาดไป ไม่เป็นไร
3
ขณะที่ Jurgen Klopp Die Biographie แปลจากภาษาเยอรมัน โดยคุณสมปรารถนา วปินานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาเยอรมัน ที่ปกติจะแปลซับหนัง และบทความ นี่เป็นครั้งแรกที่ได้แปลหนังสือแบบเป็นเล่ม โดยแปลจากเยอรมันเป็นไทยโดยตรง ก็ถือว่าหายากเหมือนกัน ที่หนังสือฟุตบอลในไทยจะแปลจากภาษาแม่ โดยไม่ผ่านภาษาอังกฤษก่อน
1
ส่วนตัวผมว่าเขาแปลใช้ได้อยู่นะ อาจจะมีใช้คำแปลกๆ นิดเดียวเช่น เมินเช่นกลัดบัค คิดในใจว่า ใช้มึนเช่น ไปเลยไม่ได้หรอ (คนไทยอ่านกันแบบนี้) แต่บางคำ ผมก็ว่าเจ๋งดี เช่น Lukasz Piszczek ฟูลแบ็กของดอร์ทมุนด์ที่เราคุ้นกันในชื่อ ลูกาส์ พิสเช็ก เล่มนี้ใช้ชื่อหน้าว่า "วูกัช" ฟังดูแปลกดีนะ ผมอ่านไปก็คิดว่า "ใช่หรอวะ" แต่พอไปฟังตัวนักเตะเรียกชื่อตัวเองในยูทูบ เขาใช้ว่า "วูกัช" จริงๆ คือใช้ ว.แหวน แทนที่จะเป็น ล.ลิง นี่เป็นอะไรที่ผมก็ไม่รู้มาก่อนเลย ว่าภาษาโปลิชมัน Pronounce ออกมาเป็นแบบนี้
ในภาพรวม อ่านไปครึ่งเล่มยังรู้เรื่องดีครับ คิดว่าคนแปลน่าจะทำการบ้านมาเยอะเหมือนกัน
Jurgen Klopp Die Biographie จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Live Rich ของโค้ชหนุ่ม มันนี่โค้ช นั่นเองครับผม สนพ. นี้ ช่วงหลังเขาก็จับตลาดกีฬาอยู่เหมือนกัน
ส่วนตัวผม คิดว่าผ่านเกณฑ์ทั้งสองเล่ม อ่านรู้เรื่อง แปลไม่ผิด ศัพท์ไม่งง
แต่ถ้าถามผมว่า จะเอาเล่มไหนดี ผมคงฟันธงให้ไม่ได้ เพราะมันก็สนุกคนละสไตล์
KLOPP : Bring the noise มีความลึกมากกว่า (เช่น ตอนเล่าเรื่องโวล์ฟกัง ฟรังค์ อาจารย์ของคล็อปป์ เล่มนี้เล่าละเอียดยิบ 28 หน้า แต่อีกเล่มจะเล่าแบบพอเห็นภาพแค่ 9 หน้า เป็นต้น) เชิงภาษาก็ดูจะสวยกว่า การที่มันขายดีที่ต่างประเทศ ย่อมมีเหตุผลอยู่แล้ว ถ้าจะมีจุดด้อยสักอย่าง คือเล่มนี้ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2017 แล้ว เรื่องใหม่ๆ ร่วมสมัยอย่าง ตอนหงส์แดงคว้าแชมป์ยุโรปปี 2019 หรือพรีเมียร์ลีกปี 2020 ก็ไม่มี แต่ถ้าใครอยากจะอ่านประวัติของคล็อปป์ ในยุคไมนซ์ กับดอร์ทมุนด์ และลิเวอร์พูลช่วงต้นๆ ก็ถือว่าโอเคเลย
1
ส่วน Jurgen Klopp Die Biographie มีความกว้างมากกว่า เรื่องแปลกๆ ที่ไม่เคยรู้ ก็มีเยอะ เช่นที่ผมกล่าวไปก่อนหน้านี้ กาแฟร้านโปรดของคล็อปป์ หรือ หลักคิดไลฟ์คิเนติก ที่คล็อปป์ได้มาอย่างบังเอิญจากการดูทีวี คือแม้จะไม่ลงลึกอะไรมาก แต่ก็พอรับได้อยู่ นอกจากนั้นเล่มนี้ตีพิมพ์ที่เยอรมนีในปี 2020 ดังนั้นก็จะอัพเดทจนถึงซีซั่นที่ได้แชมป์แล้ว แต่จุดด้อยเท่าที่รู้สึกคือ เล่มนี้ใช้คนเขียน 4 คน เอลมาร์ เนเวลิง เป็นคนเขียนหลักก็จริง แต่ก็มีคนเขียนรองอีก 3 คน ภาษาก็เลยจะแบบ ผสมๆ กันหน่อย ดูไม่ค่อยเป็นเนื้อเดียวกัน
ถ้าจะให้ผมแนะนำอะไรสักอย่างก็คือ "ซื้อเล่มเดียว" พอครับ เพราะมันก็มีความคล้ายกันอยู่นะ พาร์ทหลักๆ ตอนคล็อปป์ได้แชมป์กับดอร์ทมุนด์ก็มีเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเสียเงิน 2 ครั้งหรอกครับ
KLOPP : Bring the noise - 344 หน้า 349 บาท
Jurgen Klopp Die Biographie - 470 หน้า 470 บาท
ส่วนจะเลือกเล่มไหน อยู่ที่คุณผู้อ่านล่ะครับ ว่าชอบงานเขียนสไตล์ไหนครับผม
โฆษณา