2 พ.ย. 2022 เวลา 03:00 • อาหาร
“โซจู” การส่งออกวัฒนธรรมความเมาของเหล้าเกาหลี
🍾 บทบาทของโซจูกับวัฒนธรรมการดื่มในสังคมเกาหลีใต้ ที่พร้อมส่งออกสู่สายตาผู้คนและสายดื่มทั่วโลก
...ฉากพระนางกำลังนั่งอยู่ในเต็นท์อาหารริมทางเท้ายามเย็น หรือฉากในร้านเนื้อย่างที่มีผู้คนนั่งสังสรรค์กันอย่างออกรส หรือแม้กระทั่งฉากปาร์ตี้เล็ก ๆ บนดาดฟ้าที่เราเห็นกันในซีรีส์เกาหลี มักจะมีขวดแก้วสีเขียวใส ขนาดย่อม ๆ พร้อมแก้วใบใสขนาดน้อยใหญ่ปรากฏร่วมวงอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งเจ้าขวดแก้วสีเขียวอันมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์นี้
ก็คือ “โซจู” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีบทบาทในสังคมเกาหลีมาอย่างยาวนาน ปัจจุบัน โซจูได้กลายเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมไม่เพียงเฉพาะในเกาหลีเท่านั้น แต่รวมถึงหลายประเทศทั่วโลกอีกด้วย
👉 วันนี้ KiNd ชวนย้อนประวัติศาสตร์น้ำเมาของชาวเกาหลีกันดูสักหน่อย จะมีอะไรน่าสนใจมาติดตามไปพร้อมกัน
🧐 #กว่าจะมาเป็นโซจูในทุกวันนี้
เดิมทีเครื่องดื่มมึนเมาเริ่มเข้ามาในเกาหลีผ่านการเรียนรู้จากชาวมองโกล ในช่วงที่เกาหลีถูกจักรวรรดิมองโกลรุกรานครั้งแรกสมัยโครยอ (Goryeo) หรือประมาณช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 (ซึ่งเหล้าของชาวมองโกลได้รับอิทธิพลมาจากชาวเปอร์เซียอีกทอดหนึ่ง เรียกว่าอารักจู ซึ่งเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของแถบตะวันออกกลาง) โดยสมัยก่อนชาวเกาหลีนิยมบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พื้นเมืองที่ทำจากธัญพืชและน้ำนมสัตว์ ในขณะที่ชาวมองโกลดั้งเดิมนิยมบริโภคที่หมักจากน้ำนมสัตว์มากกว่า
เมื่อกองทัพมองโกลยกพลมาถึงคาบสมุทรเกาหลี ทหารเอเชียกลางซึ่งเป็นกองกำลังหนุนของมองโกลนั้น ได้นำวิธีการหมักสุราข้าวเจ้า ซึ่งเป็นสุราชนิดหนึ่งของเอเชียกลางมาเผยแพร่ โดยเกาหลีเรียกเครื่องดื่มชนิดนี้ว่า “โซจู” (Soju) เกิดจากการผสมของข้าวเจ้า ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี หรือมันฝรั่ง จากนั้นนำมาหมักบ่มผ่านกระบวนการดั้งเดิมของชาวเอเชียกลาง ลักษณะของน้ำสุราจะใส รสชาติขมอมหวาน และมีระดับแอลกอฮอล์อยู่ที่ประมาณ 17%-45%
💰 หลังจากนั้น การเดินทางของโซจูยังคงล้มลุกคลุกคลานตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น และมีการเก็บภาษีสุรา หรือช่วงสงครามเกาหลีระหว่างปี ค.ศ. 1950-1953 ทำให้เกาหลีประสบปัญหาข้าวยากหมากแพง เกิดการขาดแคลนข้าวอย่างหนัก
จนกระทั่งช่วงปี ค.ศ. 1965-1991 รัฐบาลเกาหลีอนุญาตให้ผลิตโซจูได้อย่างเป็นทางการ จึงทำให้โซจูกลับมาได้รับความนิยมเป็นอย่างมากอีกครั้ง จนกลายเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของเกาหลีนับแต่นั้นมา และถือเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยปลอบประโลมความเหนื่อยล้าของชนชั้นแรงงานชาวเกาหลีได้เป็นอย่างดี แถมยังมีรสชาติที่ถูกใจ หาดื่มง่าย และราคาไม่แพง
🍸 โดยโซจูแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. แบบกลั่น ถือเป็นโซจูแบบดั้งเดิม มีแอลกอฮอล์สูง เช่น อันดงโซจู ที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยครอบครัวชาวเมืองอันดง 2. แบบเจือจาง ถือเป็นประเภทที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ผู้ผลิตโซจูแต่ละแบรนด์ต่างลดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ลง โดยการเจือจางด้วยน้ำ ทำให้ดื่มได้ง่ายขึ้น 3. แบบค็อกเทล โซจูประเภทนี้ นอกจากจะมีแอลกอฮอล์ต่ำแล้ว ยังมีการผสมกับน้ำผลไม้ เช่น มะนาว พีช กุหลาบ และบ๊วย เป็นต้น เพื่อเพิ่มรสชาติอันแปลกใหม่ เรียกว่าตอบโจทย์นักดื่มที่เป็นผู้หญิงได้มากขึ้นด้วย
ปัจจุบัน มีแบรนด์ผลิตโซจูหลายเจ้าที่ครองตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ Chamisul (ชัมอีซึล) ของบริษัท Hite Jinro โดยแบรนด์นี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นโซจูประจำชาติเลยทีเดียว Chum Churum (ชออึมชอรอม) ของ Lotte และ Good Day (หรือในภาษาเกาหลีเรียกว่า โชอึนเดย์) เป็นต้น
😎 ดื่มเพื่ออะไร? และดื่มหนักแค่ไหน? ถามใจชาวเกาหลีดู
แรกเริ่มของวัฒนธรรมการดื่มโซจูเกิดจากความเชื่อและประเพณีเกี่ยวกับการไหว้ฟ้าดิน การไหว้เทพเจ้า การไหว้บรรพบุรุษ และการเฉลิมฉลองเทศกาลต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการดื่มแอลกอฮอล์สามารถรักษาอาการเจ็บป่วย และคลายความเจ็บปวดได้ด้วย แต่ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่นิยมดื่มเพื่อเฉลิมฉลองและสังสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการสังสรรค์ระหว่างกลุ่มคนที่ทำงาน ลูกค้า เพื่อน หรือแม้กระทั่งคนที่พึ่งรู้จัก เพราะเป็นการกระชับความสัมพันธ์และสร้างบรรยากาศให้ดูผ่อนคลายและสนุกสนาน
ส่วนอาหารที่ชาวเกาหลีใต้นิยมรับประทานคู่กับโซจู ได้แก่ หมูย่าง (ซัมกยอบซัล) หมูสามชั้นนึ่ง (โพซัม) (ซึ่งมักจะมาพร้อมเครื่องเคียงอย่างกระเทียม หัวหอม และกิมจิ) ปลาดิบ (ฮวี) และขาหมูเกาหลี (จกบัล) เป็นต้น
🧑‍🦰 วัฒนธรรมการดื่มที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้ที่อายุน้อยที่สุดในวงสังสรรค์จะเป็นผู้รินสุราใส่แก้วให้ผู้อาวุโสกว่า โดยเวลารินต้องใช้สองมือประคอง มือหนึ่งถือขวดสุรา อีกมือหนึ่งแตะที่แขนหรือศอกตัวเอง เพื่อแสดงความนอบน้อม แต่หากผู้ที่มีอายุมากกว่าต้องการรินให้ผู้น้อย เวลารินไม่ต้องประคองมือแต่อย่างใด แต่คนที่อายุน้อยกว่าต้องใช้สองมือประคองแก้วเพื่อรับสุรา เนื่องจากชาวเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมของการจัดระดับความอาวุโสเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสังสรรค์มักจะไม่จบที่ร้านเดียว สำหรับร้านแรกจะถือว่าเป็นการอุ่นเครื่อง จากนั้นจะย้ายร้านต่อไปเรื่อย ๆ อาจจะต่อไปจนถึงร้านที่ 3-4 แต่ละร้านใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง เรียกว่าคืนหนึ่งนักดื่มชาวเกาหลีใต้ใช้เวลาเกือบ 10 ชั่วโมงในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันเลยทีเดียว
📈 จากข้อมูลสถิติในปี ค.ศ. 2020 ของเว็บไซต์ Statista ระบุว่า ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งหมดประมาณ 33.09% คือ โซจู ซึ่งประเทศเกาหลีใต้ผลิตโซจูประมาณ 1.32 ล้านตันในปี ค.ศ. 2020 และมีมูลค่าการส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 85.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ การขยายตลาดในฝั่งสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งทำให้โซจูสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในเวทีโลกได้เป็นอย่างดี อ้างอิงจาก Market Watch ตลาดโซจูทั่วโลกมีมูลค่า 3,025.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2020 และคาดว่าจะสูงถึง 3,553.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปี ค.ศ. 2026 แสดงให้เห็นว่าโซจูไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมในเกาหลีใต้เท่านั้น ทว่ายังตีตลาดต่างประเทศได้ด้วยเช่นกัน ถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม หรือเป็นหนึ่งใน Soft Power ของเกาหลีใต้ที่ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก
สำหรับประเทศไทยเอง ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่โซจูเข้ามาตีตลาดแล้วประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ที่ผู้คนต้องกักตัวและไม่สามารถออกไปสังสรรค์ที่ไหนได้ กิจกรรมยอดนิยมคือ การดูซีรีส์หรือรายการต่าง ๆ ของเกาหลีใต้ ทำให้คนไทยได้เห็นวัฒนธรรมการดื่มโซจูมากขึ้น จนยอดจำหน่ายโซจูเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
จะว่าไปแล้ว วันหยุดสุดสัปดาห์นี้ หากใครยังไม่มีแพลนทำอะไร การอยู่บ้านนั่งดูซีรีส์เกาหลีสักเรื่อง พร้อมโซจูสักขวดก็ชิลล์ดีเหมือนกัน ว่าไหม…
*หมายเหตุ: กฎหมายได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
อ้างอิง
• Soju sales share in the alcoholic beverage market South Korea 2013-2020
• The History of Soju and its Modernization. 10mag.com
• ทำไมคนเกาหลีถึงดื่มเก่ง? เขาดื่มไปเพื่ออะไรกัน? krua.co
• ประวัติความเป็นมาของวัฒนธรรมการดื่มโซจู
• โซจู 101: จากอาหรับถึงแดนโสม ประวัติศาสตร์ของเหล้าใสในขวดเขียว สู่เครื่องดื่มประจำชาติที่รุกตลาดโลก. thestandard.co
🆕 ติดตามเรื่องราว “Soft Power อาหาร อำนาจ รสชาติของวัฒนธรรม” เมนูอื่น ๆ ได้อีกเร็ว ๆ นี้
#kindconnext
#SoftPower
#Specialissue
โฆษณา