1 พ.ย. 2022 เวลา 23:30 • หนังสือ
ภาษี (เงินได้บุคคลธรรมดา) ต้องรู้
ตอนที่ 8 บทสรุป (สุดท้าย)
เพื่อเป็นการสรุปรวดเดียวให้ทุกคนเข้าใจทั้งหมด ผมจะขอยกตัวอย่างในการคิดภาษีจากหนังสือ Money Literacy มาให้ทุกคนได้อ่านกันนะครับ อาจจะมีปรับเปลี่ยนข้อมูลนิดหน่อย เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ค่าลดหย่อนปัจจุบันครับ
นายป๋อมเป็นคนที่ขยันมาก วันๆทำแต่งาน โดยปีที่ผ่านมา นายป๋อมมีรายได้เข้ามาทั้งหมด 4 ทาง ดังนี้
- เงินเดือนในอัตราเดือนละ 100,000 บาท
- งานฟรีแลนซ์ที่ปรึกษา 500,000 (ทั้งปี)
- รายได้จากการปล่อยเช่าห้องเช่า เดือนละ 20,000
- ขายของออนไลน์ ยอดขาย 1,000,000 บาท
ด้วยรายได้ที่มากมายขนาดนี้ นายป๋อมจึงมีการวางแผนลดหย่อนภาษี ดังนี้
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- ประกันสังคม 6,300 บาท
- ประกันชีวิตและประกันสุขภาพ รวม 83,700 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) 50,000 บาท
- กองทุน SSF และ RMF อย่างละ 200,000 บาท
ตลอดทั้งปี นายป๋อมถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 115,000 และมีการจ่ายภาษีครึ่งปี (ยื่น ภ.ง.ด. 94) ไว้ 25,000 บาท
การหักภาษี ณ ที่จ่าย คือ การถูกหักไว้ก่อนที่เราจะได้รับเงินค่าจ้าง โดยเงินที่ถูกหักออกนั้นจะถูกส่งไปให้กรมสรรพากร โดยเรามีหน้าที่เก็บหลักฐานไว้ครับ แล้วก็เอาหลักฐานไปยืนยันเพื่อหักภาษีเพิ่มหรือขอคืนในกรณีเงินได้ต่ำกว่าเกณฑ์ครับ
การจ่ายภาษีครึ่งปี คือ ภาษีที่บุคคลธรรมดามีรายได้ ประเภท 5 - 8 ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 30 มิ.ย. ของทุกปีเกิน 60,000 บาทสำหรับกรณีโสด และ เกิน 120,000 สำหรับกรณีที่สมรส โดยต้องยื่น ภ.ง.ด.94 พร้อมชำระภาษีที่กรมสรรพากร ภายใน 30 กันยายน 2565 และยื่นแบบพร้อมชำระภาษีออนไลน์ได้ที่ www.rd.go.th ได้ถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2565 ครับ
เมื่อเราพิจารณาข้อมูลของนายป๋อม โดยเราจะแยกแต่ละส่วนออกมาเป็น รายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน ดังนี้ครับ
1. รายได้
- เงินเดือน 1,200,000 บาท/ปี ( ประเภทที่ 1)
- ฟรีแลนซ์ 500,000 บาท/ปี ( ประเภทที่ 2 )
- ห้องเช่า 240,000 บาท/ปี ( ประเภทที่ 5 )
- ขายของออนไลน์ 1,000,000 บาท/ปี ( ประเภทที่ 8 )
2. ค่าใช้จ่าย
- เงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 หักค่าใช้จ่ายรวมกันได้สูงสุด 100,000 บาท
- เงินได้ประเภทที่ 5 หักค่าใช้จ่ายได้ 30% หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงก็ได้
- เงินได้ประเภทที่ 8 หักค่าใช้จ่ายได้ 60% หรือ จะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงก็ได้
จากตัวอย่างผมขอเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมานะครับ จะได้สะดวกต่อการคำนวณ ซึ่งเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะเป็นดังตารางด้านล่างเลยครับ
เมื่อเราได้เงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วก็นำมาหักค่าลดหย่อนกันครับ ซึ่งค่าลดหย่อนของนายป๋อมมีดังนี้
3. ค่าลดหย่อน
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- ประกันสังคม 6,300 บาท
- ประกันชีวิตและสุขภาพ 83,700 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 50,000 บาท
- กองทุน SSF และ RMF อย่างละ 200,000 บาท
รวมค่าลดหย่อนทั้งหมด 600,000 บาท
*ดังนั้น เงินได้สุทธิของนายป๋อมจึงเท่ากับ
2,168,000 - 600,000 = 1,568,000 บาท
จึงต้องเสียภาษี = {(1,568,000 - 1,000,000) x 25%} + 115,000 = 257,000 บาท*
ซึ่งเนื่องจากนายป๋อมมีเงินได้ประเภทที่ 2 - 8 เกิน 1,000,000 บาท/ปี จึงต้องคำนวณภาษีด้วยวิธีเงินได้พึงประเมินด้วย เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับวิธีเงินได้สุทธิ แล้วเลือกเสียภาษีตามวิธีที่คำนวณได้มากกว่า
(500,000 + 240,000 + 1,000,000) x 0.5% = 8,700 บาท
ดังนั้น นายป๋อมต้องเสียภาษีตามวิธีเงินได้สุทธิครับ โดยต้องนำ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และ ภาษีครึ่งปีที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ไว้มาหักลบด้วย ได้ดังนี้ครับ
257,000 - 115,000 - 25,000 = 117,000 บาท
สรุป นายป๋อมต้องเสียภาษีปี 2565 อยู่ที่ 117,000 บาทนั่นเองครับ
ในตอนสุดท้ายของ ภาษี The Series นี้ อย่างแรกผมต้องขอขอบคุณทุก ๆ คนมากนะครับที่ติดตามกันมาจนถึงตอนสุดท้ายนี้ ภาษีเงินได้ส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ทุกคนควรรู้และวางแผนอย่างถูกวิธี แต่ในหลักสูตรที่เราเรียนจบมากลับไม่มีสอนซะงั้น ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญมาก ผมดีใจมากที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ทุกคนที่ติดตามได้รับรู้และรู้จักวิธีวางแผนปกป้องสิทธิของตนเอง
"เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ล้วนต้องใช้หนึ่งสมองสองมือของเราแลกมา เมื่อมันเป็นของเรา เราต้องรู้จักวางแผนรักษาผลประโยชน์ของเราเองครับ"
สำหรับ Series นี้ผมก็ขอลาคุณผู้อ่านไว้เพียงเท่านี้นะครับ พบกันใหม่โอกาสหน้า ขอบคุณครับ 🙏🏻😊
เรียบเรียงบทความจาก
หนังสือ : Money Literacy
คนไทยฉลาดการเงิน
ผู้เขียน : ศักดา สรรพปัญญาวงศ์
จักรพงษ์ เมษพันธุ์
ถนอม เกตุเอม
จัดพิมพ์และจำหน่ายโดย : บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด
เว็บไซต์ : www.taxbugnoms.co
ติดตามบทความดีๆ จากหนังสือดีๆ ได้ที่
โฆษณา