Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
SPOTLIGHT
•
ติดตาม
2 พ.ย. 2022 เวลา 11:49 • ประวัติศาสตร์
หลายๆ คนอาจจะรู้กันดีว่าประเทศไทยเรามี ‘ช้าง’ และ ‘ปลากัด’ เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ แต่ในวันนี้เรามีสัตว์ประจำชาติเพิ่มอีกตัวแล้ว นั่นก็คือ ‘นาค’ ที่เพิ่งกลายมาเป็นสัตว์ประจำชาติในหมวด ‘สัตว์ในตำนาน’ อย่างเป็นทางการไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าการประกาศให้นาคเป็นสัตว์ประจำชาติในครั้งนี้เป็นการประกาศเชิงสัญลักษณ์ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสนใจเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยที่เกี่ยวข้องกับนาค รวมไปถึงวางแผนต่อยอดให้เป็น Soft Power และทุนวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์
แต่ถึงแม้การยกสัตว์ที่ไม่มีตัวตนจริงเป็นสัตว์ประจำชาติดูจะเป็นเรื่องแปลก แท้จริงแล้วมีประเทศอื่นในโลกมากมายที่มีการยกสัตว์ในตำนานขึ้นเป็นสัตว์ประจำชาติ แต่ละตัวล้วนแต่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับเอกลักษณ์และวัฒนธรรมในประเทศนั้นๆ และสามารถนำไปเป็นทุนวัฒนธรรมในการสร้างสินค้าและดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จริง
ในบทความนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักสัตว์ในตำนานประจำชาติของ 5 ประเทศ คือ ไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และสกอตแลนด์ กันว่าแต่สัตว์วิเศษแต่ละประเทศหน้าตาเป็นอย่างไร มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมแต่ละประเทศอย่างไร และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจต่อประเทศนั้นๆ อย่างไรกันบ้าง เพราะในอนาคตเราก็อาจนำมันมาต่อยอด ใช้ทุนทางวัฒนธรรมนี้ให้เป็นประโยชน์อย่างที่ชาติอื่นเคยทำไว้แล้วบ้างก็ได้
📌 ไทย - นาค
คติความเชื่อเรื่องพญานาค หรือ นาค เป็นความเชื่อแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีต้นกำเนิดมาจาก ‘อินเดียใต้’ ที่มีงูชุม และด้วยความที่งูเป็นสัตว์ที่มีพิษร้ายแรง ชาวบ้านในสมัยก่อนจึงมองว่างูเป็นสัตว์ที่มีอำนาจ มีอิทธิฤทธิ์มาก จึงยกให้เป็นสัตว์สมมติที่สถานะแบบกึ่งสัตว์กึ่งเทพ และเป็นสัญลักษณ์ของสายน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ พญานาคจึงเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับผู้ที่ทำเกษตรกรรม และมีวิถีชีวิตอยู่ริมน้ำ
พญานาคเป็นสัตว์ที่ปรากฏตัวทั้งในงานวรรณคดีอย่างมหากาพย์มหาภารตะ และพุทธประวัติในตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับบำเพ็ญเพียร ณ ร่มไม้จิกชื่อ "มุจลินท์" ทางตะวันออกของของพระมหาโพธิพฤกษ์ แต่เวลานั้นได้มีฝนตกลงมาไม่ขาดสาย พญานาคชื่อ "มุจลินท์" จึงเข้ามาวงด้วยขด 7 รอบพร้อมกับแผ่พังพานปกป้องกันไม่ให้ฝนและลมถูกพระวรกายของพระพุทธเจ้า
จากตำนานนี้เอง นาคจึงมีสถานะเป็น ‘ผู้ปกปักรักษาพระพุทธศาสนา’ และปรากฎตัวในงานศิลปะทางศาสนามากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม ปะติมากรรม หัตถกรรม และสถาปัตยกรรมต่างๆ ทั้งในรูปแบบปะติมากรรม ‘พระพุทธรูปปางนาคปรก’ ภาพเขียนพญานาคกับพระพุทธเจ้า รวมไปถึงเชิงบันไดโบสถ์ในวัดหลายแห่งในประเทศไทย
นอกจากนี้พญานาคยังมีความสำคัญอย่างมากใน ‘เรื่องเล่า’ และ ‘ประเพณีท้องถิ่น’ ของไทย อย่างเช่นในงาน 'ประเพณีบุญบั้งไฟ’ ที่เกิดขึ้นมาจากนิทานพื้นบ้านเรื่องพญาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่ ซึ่งได้กล่าวถึง การที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อบูชา พญาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่งมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล หรือ ตำนานความเชื่อเรื่อง 'เจ้าปู่อือลือ' ประจำ ‘ถ้ำนาคา’ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดบึงกาฬ ที่ตามตำนานถูกสาปให้เป็นหิน และนอนขดอยู่ในที่แห่งนั้น
พญานาคจึงมีความสำคัญกับผู้คนในท้องที่ทั้งในแง่วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ เพราะทั้งงานศิลปะและประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพญานาคเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาชมประเพณี และจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
อย่างที่เห็นได้ชัดจากประเพณีบุญบั้งไฟที่ดึงดูดให้ทั้งคนไทยและคนต่างชาติเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ทุกปี รวมไปถึงสร้างอาชีพและรายได้ให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะอาชีพช่างทำบั้งไฟที่ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในการที่จะสร้างบั้งไฟให้มีความสวยงาม และจุดได้อย่างปลอดภัย
📌จีน - มังกร
สำหรับสัตว์ในตำนานตัวนี้ เชื่อว่าถึงไม่มีใครบอกใครๆ ก็น่าจะเดาได้ง่ายๆ ว่ามังกรเป็นสัตว์ประจำชาติของจีน เพราะในสถานที่หรืองานประเพณีอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับจีนในประเทศไทยต้องมีสัตว์ชนิดนี้เข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ ทั้งในงานจิตรกรรม งานสถาปัตยกรรม หรือสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ใช้ในงาน ส่วนในด้านภาษา คนไทยเองก็นำคำว่ามังกรไปเชื่อมโยงกับจีนมานมนานแล้ว ดังที่จะเห็นได้จากการที่เราเรียกประเทศจีนว่า ‘แดนมังกร’ ในสื่อต่างๆ
1
จึงเรียกได้ว่า มังกรได้เป็นสัตว์และสัญลักษณ์ประจำชาติของจีนไปแล้วแบบไม่ต้องสถาปนา โดยมังกรในวัฒนธรรมจีนเป็นเทพสวรรค์ที่เป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญรุ่งเรือง ความยิ่งใหญ่ และอำนาจวาสนา และเป็นสัญลักษณ์แทนตัวขององค์พระจักรพรรดิ หรือ ‘ฮ่องเต้’ ซึ่งตามความเชื่อเป็นโอรสจากสวรรค์จุติมาเกิดที่โลก
นอกจากนี้ ลักษณะภายนอกของมังกรยังมีนัยสำคัญทั้งทางการเมืองและทางวัฒนธรรม กล่าวคือ ลักษณะภายนอกของมังกรเกิดมาจากการผสมผสานลักษณะของสัตว์หลายชนิดด้วยกัน คือมีลักษณะลำตัวที่ยาวเหมือนและมีเกล็ดเหมือนงู มีแผงคอคล้ายสิงโต นัยน์ตาสีแดง มีหนวดและเขาอย่างละคู่ มีขา 4 ขา และกงเล็บที่แข็งแรง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่พระเจ้า ‘หวงตี้’ ซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้ที่รวบรวมแผ่นดินจีนไว้เป็นผืนเดียวกัน แทนการมารวมกันเป็นชนชาติจีนของชนเผ่าต่างๆ
ในปัจจุบันมังกรเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกแฝงไว้ในสินค้าทางวัฒนธรรมของจีนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะในสื่อบันเทิงต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ และซีรีส์ สถานที่ท่องเที่ยว สินค้าของฝาก บนงานโฆษณาและแพคเกจจิ้งสินค้าเพื่อสื่อความเป็นจีน รวมไปถึงเทศกาลและประเพณีต่างๆ เช่น “เทศกาลแข่งเรือมังกร” หรือที่เมืองไทยรู้จักกันในชื่อ "เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง” ที่มีการเฉลิมฉลองทุกวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ หรือในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นเดือนมิถุนายนของทุกปี
โดยการแข่งพายเรือมังกรมีต้นกำเนิดมาจากตำนานจีนโบราณที่มีกวีรักชาติผู้หนึ่งกระโดดน้ำเสียชีวิตในคืนวันที่ 5 เดือน 5 หลังถูกข้าศึกที่มาตีเมืองเนรเทศออกมา ทำให้มีชาวบ้านออกพายเรือพลางหย่อนอาหารลงไปในน้พด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์นำกัดกินร่างของกวีผู้นั้น
📌สิงคโปร์ - เมอร์ไลออน
ในรายชื่อนี้ สัตว์วิเศษประจำชาติที่น่าจะมีความสำคัญต่ออัตลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศสูงที่สุดก็คือ 'เมอร์ไลออน' ของ ประเทศสิงคโปร์ เพราะมีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศมาตั้งแต่มันถือกำเนิด
โดยเมอร์ไลออนเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกออกแบบขึ้นมาโดย Alec Frederick Fraser-Brunner นักมีนวิทยาชาวอังกฤษ ที่ทำหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในสิงคโปร์ในช่วงปี 1960s เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของคณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board) ถูกจดทะเบียนสิทธิบัตรในปี 1966 และจนทุกวันนี้ STB ก็ยังคงเป็นหน่วยงานที่ดูแลอนุมัติการใช้สัญลักษณ์เมอร์ไลออนบนสินค้าของฝากต่างๆ อยู่ทั่วโลก
จากตำนาน เมอร์ไลออนเป็นสัตว์วิเศษที่มีหัวเป็นสิงโต ตัวเป็นปลา เป็นสัญลักษณ์แทนจุดเริ่มต้นของสิงคโปร์ในฐานะหมู่บ้านชาวประมง ซึ่งเรียกกันในสมัยนั้นว่า Temasek (เทมาเส็ก) ซึ่งมีรากจากคำว่า ทาสิก ที่แปลว่า “ทะเลสาบ” ในภาษามาเลย์ โดยส่วนหัวเป็นตัวแทนของชื่อดั้งเดิมของสิงคโปร์ คือ สิงหะปุระ หรือ เมืองสิงโต ในภาษามาเลย์
เพราะฉะนั้นเมอร์ไลออนจึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์หนึ่งที่ช่วยยกระดับ และสร้างภาพลักษณ์ของ ‘สิงคโปร์’ ประเทศที่ในขณะนี้ยังมีอายุเพียง 57 ปี ให้เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม และอารยธรรมความเป็นมาประจำชาติเฉกเช่นประเทศอื่นๆ ในโลก
โดยในปัจจุบัน เมอร์ไลออนมีความสำคัญมากต่อการท่องเที่ยวของสิงคโปร์ เพราะมีรูปปั้นเมอร์ไลออนพ่นน้ำเป็นสัญลักษณ์แลนด์มาร์คที่คนหลายล้านคนไปเยือนในแต่ละปี นอกจากนี้ยังปรากฎตัวบนสินค้าของที่ระลึกต่างๆ หากหลายชนิดที่ทำรายได้ให้กับประเทศ
📌อินโดนีเซีย - ครุฑ
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ได้รับความเชื่อเรื่อง ‘ครุฑ’ หรือที่คนอินโดนีเซียเรียกว่า ‘การูด้า’ จากอินเดียที่เผยแพร่มาถึงเกะชวาพร้อมกับความเชื่อทางศาสนาฮินดู และพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในเกาะบาหลีที่ประชาชนถึง 86.91% นับถือศาสนาฮินดู
โดยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชาวอินโดนีเซียได้รับรู้เรื่องราวของพระวิษณุและครุฑผ่านทางวรรณกรรมมหาภารตะยุทธ และมหากาพย์รามายณะ ทำให้ชาวอินโดนีเซียเกิดความเคารพนับถือพระวิษณุและพาหนะของพระองค์ ตามความเชื่อของชาวอินโดนีเซีย ครุฑเป็นพญาแห่งนกทั้งมวล มีรูปเป็นครึ่งคนครึ่งนกอินทรี และได้รับพรจากพระวิษณุให้เป็นอมตะ ไม่มีอาวุธใดทำลายลงได้ ลักษณะภายนอกมีใบหน้าดุร้าย ตาโปน นัยน์ตาสีแดง มีจงอยปากแหลมยาว เขี้ยวฟันแหลม และปีกใหญ่สยายกว้างอยู่ด้านหลัง
ในปัจจุบัน ครุฑปรากฎอยู่บนตราแผ่นดินของอินโดนีเซีย และปรากฎในปะติมากรรมและสถาปัตยกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกาะบาหลี ที่ผู้ไปเยือนจะได้พบกับปะติมากรรมครุฑบนคานเสาอาคาร หรือในศาสนสถานต่างๆ เพราะชาวบาหลีเชื่อว่าครุฑจะช่วยปกปักรักษาสถานที่นั้นไม่ให้รับความอันตราย รวมไปถึงรูปปั้นนารายณ์ทรงครุฑ โดยในคติของชาวชวา พระวิษณุจะประทับขี่คร่อมครุฑ แต่ในเมืองไทย พระวิษณุจะปรับทับยืนบนหลังครุฑ อย่างที่เราเรียกกันว่า ‘นารายณ์ทรงบรรณ’
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างอุทยานมันดาลา การูด้า วิษณุ เคนกานา ที่บริเวณทางใต้ของเกาะ ซึ่งมีทั้งรูปปั้นพระวิษณุ และครุฑ ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของบาหลีและอินโดนีเซีย
จึงเรียกได้ว่าคติความเชื่อเรื่องครุฑเป็นความเชื่อที่มีความสำคัญมากต่อชาวอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเกาะบาหลีที่ความเชื่อทางศาสนาฮินดูยังมีอิทธิพลอยู่อย่างเหนียวแน่น
📌สกอตแลนด์ - ยูนิคอร์น
ตามตำนานเคลติก (Celtic Mythology) ของชาวเคลท์ หรือ เซลท์ ซึ่งเป็นต้นบรรพบุรุษของชาวสกอตแลนด์ ยูนิคอร์นเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ และความไร้เดียงสา รวมไปถึงความเป็นผู้ชาย และอำนาจ
ในอดีต ยูนิคอร์นถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติในตราอาร์ม หรือตราประจำประเทศของสกอตแลนด์เป็นครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 12 โดยปัจจุบันก็ยังปรากฎอยู่ โดยเป็นยูนิคอร์น 2 ตัว ประคองมงกุฎ โล่ และธง ของสกอตแลนด์ไว้ และมีจุดสังเกตสำคัญคือ ‘โซ่ทอง’ ที่คล้องรอบตัวยูนิคอร์นอยู่
โดยสาเหตุที่ทำให้ยูนิคอร์นของสกอตแลนด์มีโซ่ล่ามไว้อยู่ก็คือ เพราะชาวสกอตเชื่อว่ายูนิคอร์นเป็นสัตว์ที่มีพละกำลังมาก และไม่มีใครสามารถจะกำราบหรือทำให้เชื่องได้ เพราะฉะนั้นการทียูนิคอร์นถูกล่ามโซ่ในตราอาร์มของประเทศ จึงเป็นการแสดงถึงพลังอำนาจของกษัตริย์สก็อตที่สามารถกำราบได้แม้กระทั่งสัตว์ที่มีอำนาจมากอย่างยูนิคอร์น
ในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวสามารถพบปะกับรูปปั้นยูนิคอร์นได้ในหลากหลายสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างเช่นที่ประตูพระราชวังฮอลีรูด ซึ่งเป็นที่ประทับอย่างเป็นทางการขององค์ประมุขของสหราชอาณาจักร ซึ่งก็คือกษัตริย์หรือพระราชาชินีของประเทศอังกฤษ และด้านหน้าโบสถ์เซนต์มาร์กาเร็ตที่ปราสาทเอดินเบอระ
อ่านบทความในเว็บไซต์ที่
https://www.amarintv.com/spotlight/business-marketing/detail/35638
ติดตามข้อมูล ด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจการเงิน ของ #Spotlight เพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์
https://www.amarintv.com/spotlight
ยูทูป :
https://bit.ly/31rtDUM
อินสตาแกรม :
https://www.instagram.com/spotlight_biz
TikTok :
https://www.tiktok.com/@spotlightbiz
Blockdit :
https://www.blockdit.com/spotlightbiz
ธุรกิจ
ประวัติศาสตร์
ความรู้รอบตัว
8 บันทึก
7
3
8
7
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย