5 พ.ย. 2022 เวลา 03:00
“ดร.ปริญญา”ฟันธงมติกสทช.รับทราบมติควบรวมทรู-ดีเทค เข้าข่ายละเมิดกฎหมาย
1
“ดร.ปริญญา”ร่ายยาววิเคราะห์แง่มุมกฎหมายกรณี กสทช. “รับทราบ” มติ 3:2:1 เปิดทางให้ “ทรู-ดีแทค” ควบรวมกิจการได้ ชี้การลงมติและวิธีการได้มาซึ่งมติเข้าข่ายจงใจละเมิดกฎหมาย ขยายความเหลื่อมล้ำในสังคม เรื่องต้องถึง “ศาลปกครอง-ป.ป.ช.”
4
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์แง่มุมกฎหมาย กรณีมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. “รับทราบ” เปิดทางให้ “ทรู-ดีแทค” ควบรวมกิจการได้ ในเวทีเสวนา “ย้อนรอยอำนาจกสทช. หลังมติให้ควบรวมทรู-ดีแทค” ที่ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2565
2
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า เรามี กสทช. ขึ้นมาเพื่อดูแลทรัพยากร ก็คือ คลื่นความถี่ เป็นทรัพยากรที่เป็นสมบัติของประเทศ คือเป็นของคนไทยทุกคน เราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จําเป็นต้องมีองค์กรอิสระ ที่มีทั้งความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรนี้ให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมทั่วถึงในแง่ของประชาชนที่จะใช้คลื่นความถี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่คลื่นความถี่มีบทบาทกับชีวิตของผู้คนในสมัยใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ
2
ตอนที่เกิด กสทช. ปี 2540 ตอนนี้ปี 2565 ยี่สิบห้าปีผ่านไป ได้เห็นแล้วว่าคลื่นความถี่ยิ่งมีบทบาทต่อชีวิตของพวกเราในยุคสมัยใหม่อย่างไร มันไม่ได้หมายถึงแค่โทรศัพท์โทรหากัน แต่หมายถึง อินเทอร์เน็ต และการติดต่อสื่อสาร ข้อมูลข่าวสาร การทํางานไลฟ์สไตล์ ทุกสิ่งอย่าง เราพึ่งพิงกับสิ่งนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงยิ่งต้องการ กสทช. ที่มีทั้งความสามารถ และต้องมีความสําเร็จที่ต้องประเมินผลได้ในการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ประชาชนเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม
1
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็วางหลักการไว้ชัดเจนที่ มาตรา 60 ว่า การใช้ประโยชน์จะคลื่นความถี่จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยมีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อมาทําหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชนก็คือ กสทช.
2
ในเรื่องของการที่จะให้มีการควบรวมระหว่าง ทรู กับ ดีแทค กสทช.ได้มีการตั้งอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ขึ้นมา แล้วทุกชุดก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันหมดว่า “ไม่ควรให้เกิดการควบรวม” เพราะว่า ทรูกับดีแทค เมื่อควบรวมกันแล้วจะเกิดการมีส่วนแบ่งของกิจการคลื่นความถี่เกิน 50 %
จะทําให้มีอํานาจเหนือตลาด แล้วข้อสําคัญคือ จะทําให้การแข่งขันจะเหลือเพียงแค่ 2 ราย คือ ทรู-ดีแทค เมื่อกลายเป็นหนึ่ง อีกข้างหนึ่งคือ เอไอเอส แล้วตามที่เราทราบกันว่า การแข่งขันจะเกิดขึ้นได้จะต้องมี 3 รายขึ้นไป ลําพังเพียง 2 ราย ตนได้เปรียบเทียบอยู่บ่อย ๆ กับระบบพรรคการเมืองที่แต่เดิมมีเพียงแค่ 2 พรรค
1
แต่เดิมนักรัฐศาสตร์ของประเทศไทย ก็เชื่อทํานองว่า การเมืองไทยจะเจริญก้าวหน้าได้ ต้องเอาแบบสหรัฐอเมริกา คือ ให้พรรคการเมืองเหลือแค่ 2 พรรค ในระยะหลังมา 10-20 ปี ที่ผ่านมา ก็เห็นกันแล้วว่า การมี 2 พรรค ทําให้การเมืองมันไปไหนไม่ได้ คือ มีการแบ่งขั้วแบ่งข้าง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้แข่งกัน
พรรคไหนเป็นรัฐบาลนโยบายก็ไม่ได้เปลี่ยน
4
ขณะที่การมีพรรคที่ 3 ที่ 4 ทำให้มีนโยบายใหม่ ๆ เข้าสู่ในสภาได้ การแข่งขันจะเกิด คือ ต้องมีอย่างน้อย 3 รายขึ้นไปที่พอจะแข่งกันได้ ดังนั้น การที่จะเหลือเพียงแค่ 2 ราย ที่เกิดจากการควบรวม จึงเป็นเรื่องที่ กสทช. ต้องไม่อาจปล่อยให้เกิดขึ้น โดยเพียงแค่ให้การควบรวมมาแจ้งให้ทราบดังที่ปฏิบัติกันในขณะนี้ตามมติที่เกิดขึ้นไปล่าสุด
มติ“รับทราบ”คืออนุญาต
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า ความจริงแล้วสิ่งที่เป็นปัญหาที่สุด นอกจากอนุกรรมการทุกชุดที่ กสทช. ตั้งขึ้นมาเองจะมีมติว่า “ไม่เห็นด้วย” กับการที่จะให้ ไม่ควรให้ควบรวม หรือ อนุกรรมการด้านกฎหมายก็เห็นแล้วว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ กสทช. มีอํานาจในการพิจารณา ยังมีการไปหารือกับ คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งตนก็เคยพูดไปว่าเป็นเรื่องประหลาดมาก ที่องค์กรอิสระอย่าง กสทช. ที่ผ่านกระบวนการในการสรรหาเหมือนกับองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ก.ก.ต. ทุกอย่าง มีศาลต่าง ๆ มาทําหน้าที่เป็นกรรมการสรรหา ศาลฎีกาศาลปกครองสูงสุด เป็นต้น
และก่อนจะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ต้องให้ ส.ว. เห็นชอบก่อน เหมือนกับองค์กรอิสระทุกอย่าง แต่ กสทช. ดันไปขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นเหมือนกับสํานักงานกฎหมายของรัฐบาล เป็นคนตีความว่าตัวเองมีอํานาจหรือไม่
ถ้าหากว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในทางซึ่งสอดคล้องกับมติของ กสทช. ที่ผ่านมา ก็ยังพอทําเนา แต่มีการไปให้ข่าว โดย รองเลขาธิการ กสทช. ซึ่งรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ให้ข่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ชัดข้อกฎหมายให้การควบรวมกิจการทรู-ดีแทค เดินหน้าต่อไม่สะดุด การให้ข่าวแบบนี้ ก็ไม่ทราบว่าไปรายงานแบบนี้ในที่ประชุม กสทช.ด้วยหรือไม่
1
“ผมไปดูในข่าว ปรากฏว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาพูดคนละอย่างกันเลย คณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่า อํานาจต่างๆ ที่ถามมาเป็นเรื่องดุลพินิจของ กสทช. คือ คุณก็มีอํานาจในการที่จะดําเนินการไม่ต้องมาถามคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ในเรื่องการควบรวมว่ามีอํานาจในการพิจารณาไหม เมื่อถามมาก็จะตอบให้ คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ตอบว่า เรื่องนี้ กสทช. ก็พูดแต่เพียงว่า ที่บอกว่าต้องมีการขออนุญาตให้มีการควบรวมถูกยกเลิกไปแล้ว ประกาศปี 2549 ที่ว่าต้องมีการขออนุญาตก่อน จึงควบรวมถูกยกเลิก
โดยประกาศปี 2561 ยืนยันแต่เรื่องนี้ แต่ประกาศปี 2561 มีข้อ 9 ที่บอกว่าการควบรวม ถ้ามันเข้าตามข้อ 8 ของประกาศปี 2549 ต้องมาขออนุญาตก่อนซึ่งข้อกฎหมายชัดเจน แล้วคณะกรรมการกฤษฎีกาก็สรุปชัดเจน คณะกรรมการคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็มีหนังสือมาชัดเจน บอกว่าเรื่องนี้เข้าลักษณะตามข้อ 9 ของประกาศปี 2561 เพราะเป็นการควบรวมที่มีการถือหุ้น หรือซื้อหุ้นในกิจการประเภทเดียวกันเกินร้อยละสิบ
ดังนั้น จึงเข้าลักษณะของข้อ 8 ของประกาศปี 2549 ซึ่งก็ต้องมีการมาขออนุญาต และคณะกรรมการ กสทช. มีอํานาจสั่งห้ามการควบรวมได้คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ชัด ทีนี้ถามไปแล้วแต่ กสทช. กลับไม่ฟัง แล้วจะถามไปทําไม เจตนาคืออะไร แล้วข้อสําคัญคือ ศาลปกครองเองก็ได้มีคําวินิจฉัยในเรื่องนี้มาแล้วว่า เรื่องนี้เป็นอํานาจของ กสทช. ในการพิจารณา
1
แต่การที่ศาลปกครองเองก็ชี้มาแบบนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่ง กสทช. เป็นคนถามไปเอง ก็ชี้มาแบบนั้นว่า เป็นเรื่องที่ต้องมาขออนุญาตและมีอํานาจในการห้าม คณะอนุกรรมการทุกชุดก็เห็นแบบนั้น แต่ กสทช. 3 ท่านกลับไม่รับฟังในสิ่งซึ่งตัวเองได้ไปถาม หรือ ตั้งอนุกรรมการขึ้นมา ทั้งไม่ได้ฟังสิ่งที่เป็นการวินิจฉัยของศาลปกครอง ไม่ต้องพูดถึงว่าในฝ่ายวิชาการ หรือ องค์กรผู้บริโภค หรือ นักกฎหมายทั้งจากธรรมศาสตร์ และก็จุฬาลงกรณ์ ได้ทักท้วงกันขนาดไหน
“ถ้าหากว่า กสทช. ไม่เคยถามใคร ไม่เคยตั้งอนุกรรมการ ไม่เคยมีเรื่องที่ศาลปกครอง ไม่เคยมีองค์กรผู้บริโภคมาทักท้วง นักกฎหมายต่างๆ ไม่เคยมาทักท้วง ก็ยังพอทําเนาว่าอาจจะพาซื่อคือไม่ทราบโดยสุจริต แต่นี่ได้มีการถามไปแล้ว เขาก็ตอบมาแต่กลับไม่ฟัง แล้วถามไปทําไม”
3
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่มันเกิดขึ้นที่เป็นผลในทางกฎหมาย ผมว่ามันเท่ากับ การอนุญาตให้ควบรวม การที่บอกว่า กสทช มีอํานาจเพียงแค่ “รับทราบ” ไม่มีอํานาจในการพิจารณาว่าอนุญาตหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ ประกาศข้อ 9 (ประกาศปี 2561) ก็ชัดเจนว่า ถ้ามันเข้าลักษณะที่มีการถือหุ้นเกิน 10% ของกิจการประเภทเดียวกันต้องขออนุญาต แล้วถือว่าการมารายงานนี่แหละคือ การขออนุญาต จะได้ไม่ต้องมาขอซ้ำซ้อนทั้งรายงาน ทั้งขออนุญาต
“พอรายงานปุ๊บ กสทช. เห็นว่ามันเข้าลักษณะที่มีการถือหุ้นประเภทเดียวกันเกิด 10% ก็ต้องเป็นเรื่องของการขออนุญาตแล้ว อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นแนวทางทางกฎหมายที่ชัดเจน ทั้งจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งความจริงแล้ว กสทช. ไม่ควรถามตั้งแต่แรก แต่เมื่อไปถามเขาตอบมาแต่กลับไม่ฟัง
รวมถึงสิ่งที่ศาลปกครองวินิจฉัย ผลลัพธ์คืออะไร ผลลัพธ์คือ เท่ากับว่า 2 ท่าน ซึ่งเห็นว่าตัวเองเป็นเพียงรับทราบ และก็มีอีกท่านหนึ่งที่งดออกเสียง ผมเชื่อว่ามีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะว่าการที่ท่านมีมติเช่นนั้นเท่ากับท่านอนุญาตให้ควบรวม”
ประเด็นคือ ขอตั้งข้อสงสัยว่า ทําไมถึงไม่ยอมที่จะฟังเสียงทักท้วงไม่ฟังศาลปกครอง ไม่ฟังคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็คือ เป็นเรื่องขอมาดูว่าควรจะอนุญาตหรือไม่ แต่กลับยืนยันแต่เพียงว่าตัวเองไม่มีอํานาจในการพิจารณา นั่นเท่ากับว่าเป็นการ “อนุญาต” นั่นเอง เพราะถ้าหากว่าเรื่องนี้จะต้องมีการพิจารณาจะอนุญาตให้ควบคุมไม่ได้ใช่หรือไม่ คนก็สงสัยแบบนั้น
ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แปลว่า มีปัญหาแล้วในเรื่องของการใช้อํานาจหน้าที่ว่าชอบด้วยกฎหมาย หรือเข้าลักษณะ “จงใจฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่” ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา แล้วท่านก็จะตกอยู่ภายใต้การที่ต้องถูกดําเนินการโดย ป.ป.ช. ได้เลยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235
ประธานโหวตซ้ำผิดกฎหมาย
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า ตนไปเอาระเบียบคณะกรรมการ กสทช. ปี 2555 มาดู ตามระเบียบว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ข้อ 41 การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ใช้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ วงเล็บหนึ่งหากเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการใช้อํานาจตามกฎหมาย ตามมาตรา 27 (19, 23, 25)
ถึงเป็นกรณีการบริหารจัดการภายใน ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาประชุม เสียงข้างมากของผู้ประชุมหมายความว่า เช่น มี 5 คน มาประชุมกัน 3 คน ก็ใช้แค่ 2 เสียงมีมติได้เสียงข้างมากของผู้มาประชุม หมายถึงว่า เสียงข้างมากคนมาประชุมมีเท่าไหร่ก็เสียงข้างมากของคนมาประชุม
ขณะที่ (2) ใช้คําว่า กรณีเป็นการวิจัยชี้ขาดในประเด็นอื่น นอกเหนือจากประเด็นตาม (1) ต้องได้รับมติพิเศษ ซึ่งกรณีนี้ในการพิจารณาตัวเองมีอํานาจอนุญาตหรือไม่ เป็นกรณีเข้าตรง (2) เพราะไม่ได้เข้าตามมาตรา 27 (19, 23, 25) จึงเข้า ระเบียบเรื่องการประชุมข้อ 41 (2) คือ ต้องได้มติพิเศษ กล่าวคือ ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนกรรมการทั้งหมด กรรมการทั้งหมดมี 5 คน กึ่งหนึ่งคือ 2.5 ครึ่งคนไม่มี ก็ต้อง 3 คนขึ้นไป
คราวนี้มติที่บอกว่า กสทช. ไม่มีอํานาจได้แค่รับทราบมีแค่ 2 เสียง ไม่ถึง 3 โดย 1 เสียง คือ งดออกเสียงไป เพราะฉะนั้นเรื่องนี้มันจึงตกไปไม่ผ่าน มตินี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรก
1
“การที่เขาใช้วรรคสุดท้ายของมาตรา 41 ในการวินิจฉัยชี้ขาดให้กรรมการหนึ่งคนมี 1 เสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ “ประธาน” ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีก 1 เสียง เป็นเสียงชี้ขาด ความหมายคืออะไรรู้ไหม เช่น กสทช. เกิดเสียชีวิตไปคนหนึ่ง แล้วเหลือเหลือแค่ 4 คน แล้วเสียงมา 2 ต่อ 2 อย่างนี้ประธานก็ลงซ้ำได้ หรือว่าในการที่ใช้เสียงข้างมากของผู้เข้าประชุมตาม (1) กรรมการมี 5 มาประชุมแค่ 4 คนแล้วเสียงออกมาเท่ากันคือ 2 ต่อ 2 ประธานลงซ้ำได้
ง่ายๆ คือ มันต้องเป็นเรื่องที่เท่ากันทั้งกรณี (1) และ (2) ประธานถึงจะออกเสียงได้ การให้ประธานออกเสียง ถ้าเป็นมติเสียงข้างมากของผู้เข้าประชุม เช่น กรรมการมี 5 แต่เข้าประชุม 4 แล้วเสียงออกมา 2 ต่อ 2 แบบนี้ประธานลงซ้ำได้ หรือในมติพิเศษต้องได้ความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด มันต้องได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งก่อน แล้วถึงจะให้ประธานลงซ้ำได้ คราวนี้กรณีของ 5 คนก็ต้องได้ 3 ขึ้นไป มติจึงต้องตกไปตั้งแต่แรก”
2
ดังนั้น ประธานจึงไม่มีอํานาจที่จะมาลงซ้ำ แล้วทําให้กลายเป็น 3 เสียง เป็นมติที่ประหลาดมาก พอคนบอกมติคือ 3:2:1 สามบอกว่าได้แค่รับทราบ สองบอกว่าต้องมีการขออนุญาต แล้วหนึ่งงดออกเสียง เป็น 6 ไปได้อย่างไร ในเมื่อ กสทช. มีแค่ 5 คน
“ผมย้ำอีกครั้งว่ามาตรา 41 วงเล็บสุดท้ายกรรมการจะลงซ้ำได้ ต่อเมื่อคะแนนได้กึ่งหนึ่งแล้วและเท่ากัน แต่กรณีนี้ไม่มีทางที่จะเท่ากันแล้วได้กึ่งหนึ่งได้ เพราะว่าจํานวนเต็มเป็น 5 ดังนั้นเมื่อเป็น 2:2:1 จึงไม่ถึงอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง มตินี้จึงตกไปเลย
การลงมติของประธานไม่ชอบด้วยกฎหมาย จงใจหรือไม่ถ้าจงใจก็มีปัญหาแล้ว เพราะเป็นการใช้อํานาจโดยไม่ชอบ และมติของ กสทช. ที่ว่า 3:2:1 ก็จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมันตกมาตั้งแต่แรกแล้ว เพราะมันได้แค่ 2 เสียง ที่ว่าเพียงแค่ “รับทราบ” มตินี้ตกไปตั้งแต่ตอนที่ลงมติครั้งแรกแล้ว ต้องประชุมใหม่
-ผิดหลายชั้นต้องเจอที่ศาลปกครอง
1
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีว่า เรื่องหนึ่งคือ ผู้ที่งดออกเสียง อันนี้เป็นประเด็นปัญหา เพราะว่า กสทช.นั้น มีอํานาจในการพิจารณาว่าตัวเองมีอํานาจหรือไม่ ที่ฟังแล้วดูแปลก นี่เป็นอํานาจของ กสทช. ท่านจะมางดออกเสียงได้อย่างไร เรื่องนี้ไม่ใช่ No Vote ของประชาชนในการจะรับหรือไปรับรัฐธรรมนูญ หรือในการจะเลือกผู้สมัคร ส.ส.คนใดคนหนึ่ง ที่ประชาชนไม่รู้เลือกใครก็งดออกเสียงได้
2
แต่สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ กสทช. มีอํานาจในการพิจารณาหรือไม่ จะมาลอยตัวด้วยการลดออกเสียงเช่นนี้ก็ไม่ถูกต้องแล้ว แต่ผลก็คือ ทําให้มตินี้ไม่มีทางสําเร็จ เพราะว่ามันออกมา 2 ต่อ 2 คือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง คือ 2.5 หรือ 3 เสียงขึ้นไป สรุปก็คือว่า การงดออกเสียง ตนเห็นว่ามีปัญหา กสทช.
ท่านที่งดออกเสียง ท่านเข้าใจอํานาจหน้าที่ของท่านผิดไป ท่านมีหน้าที่ต้องออกเสียง ไม่ใช่งดออกเสียง คิดว่าก็เป็นปัญหาเท่ากันกับคนที่ลงมติว่าตัวเองมีแค่อํานาจ “รับทราบ” เพราะท่านก็ต้องรับผิดชอบในมติของ กสทช. ในการทําหนังสือไปถาม คณะกรรมการกฤษฎีกา และในการตั้งอนุกรรมการชุดต่าง ๆ
“ผมเห็นว่า ข้อหนึ่ง มติของ กสทช.นี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคะแนนเสียงไม่ถึงจํานวนที่กำหนด คือ อย่างน้อยกึ่งหนึ่ง ต้องได้ 3 เสียงขึ้นไป ประธานลงซ้ำไม่ได้เพราะมันตกไปตั้งแต่แรก ประธานจะลงซ้ำได้ต่อเมื่อ กสทช. มี 4 คน แล้วออกมา 2 ต่อ 2 เท่ากัน นี่ กสทช. มี 5 อย่างน้อยกึ่งหนึ่งก็ต้อง 3 คนขึ้นไปมติจึงตกไป”
ข้อ 2 กสทช.ทั้ง 3 คน ตนเห็นว่ามีปัญหาในเรื่องการใช้อํานาจ เพราะว่าท่านได้ถามคณะกรรมการกฤษฎีกา ท่านตั้งอนุกรรมการขึ้นมา ศาลปกครองก็ได้ชี้เรื่องนี้ไปแล้ว รัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีการกล่าวว่า หากว่าผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์ตามมาตรา 234 (1) ซึ่งก็คือ จงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อํานาจขัดต่อกฎบัญญัติแห่งกฎหมาย อันนี้ ป.ป.ช. ก็จะมีอํานาจในการไต่สวนและดําเนินการทางกฎหมายต่อไป
“ผมคิดว่าเรื่องนี้เข้าข่ายจงใจใช้อํานาจขัดต่อกฎหมาย เพราะจะบอกตัวเองเชื่อโดยสุจริตว่า กสทช. ไม่มีอํานาจในการอนุญาต รับฟังไม่ได้แล้ว เพราะทางศาลปกครองก็ดี คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ดี ชี้มาหมดแล้ว และกฎหมายต่าง ๆ ก็ชี้ไปหมดแล้วและเป็นการชี้ในแบบซึ่ง กสทช. เป็นคนถามไปเอง ซึ่งมีรายงานกลับมาแล้วจึงจะอ้างว่าเชื่อโดยสุจริต ว่าตัวเองไม่มีอํานาจไม่ได้ อันนี้คือเข้าข่ายจงใจใช้อํานาจโดยขัดต่อกฎหมายแล้ว”
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
ในแง่ข้อกฎหมายต่อศาลปกครอง เรื่องนี้เข้าข้อ 9 ของประกาศปี 2561 เพราะมันมีลักษณะตามข้อ 8 ของประกาศปี 2549 เพราะเป็นการเข้าซื้อถือหุ้นกิจการร้อยละสิบขึ้นไปของกิจการในประเภทเดียวกัน ซึ่งต้องมีการพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่? โดยถือเอาไว้รายงานนี้เป็นการขออนุญาตเป็นขั้นตอน ก่อนจะให้ควบรวมได้ต้องมีการพิจารณาว่าควรจะอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่
ฉะนั้น ต่อให้มติเป็น 3-2 จริง มติก็ยังมีปัญหาอยู่ดี เพราะมันไม่ได้เป็นมติพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต คือเป็นมติรับทราบ คำถามคือแล้วยังไงต่อ มันผิด มตินี้คือ ต้องมีการพิจารณาว่าอนุญาตถึงจะเดินหน้าไปได้ นี่คือเท่ากับว่าเป็นการอนุญาตโดยผิดกฎหมาย
“การที่บอกตัวเองไม่มีอํานาจในการอนุญาต คือ อนุญาต ผมตั้งข้อสังเกตแล้วข้อนี้จะโยงไปสู่การใช้อํานาจโดยมิชอบ เพราะเท่ากับเป็นการอนุญาตโดยไม่ต้องพิจารณาว่าควรอนุญาตหรือไม่ เพราะถ้าหากพิจารณาว่าขออนุญาตหรือไม่ มันจะมีประเด็นหลักเกณฑ์ที่อาจทําให้อนุญาตไม่ได้
จึงต้องอนุญาตด้วยวิธีการนี้ คือด้วยการตีความว่าตัวเองไม่มีอํานาจในการพิจารณา คืออนุญาตให้ควบรวมนั่นเอง ทีนี้ผมก็เรียนว่ามันผิดทั้งในแง่ของประเด็นที่มีมติ แล้วการลงมติก็ผิด ผิดหลายชั้นมากเลยนะครับ เรื่องนี้เราต้องไปให้ถึงศาลปกครอง”
ประชาชนต้องจ่ายเงินแพงขึ้น
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีว่า ไม่ได้ต้องการที่จะเอาเป็นเอาตายอะไรกับ กสทช. แต่ประเด็นคือ คลื่นความถี่เป็นสมบัติสาธารณะของประชาชนทุกคน เราคาดหวัง กสทช. ซึ่งมีเงินเดือนเท่าไรนะ ประธาน 3 แสนบาทกว่า ส่วนกรรมการก็ 2.8 แสน พูดกลมกลมก็ประมาณสามแสน เราคาดหวังจาก กสทช. ที่จะทําหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 ที่ให้ถือประโยชน์ของประชาชนสูงที่สุดในการจัดสรรคลื่นความถี่ แต่ท่านไม่ทําหน้าที่นั้น ดังนั้น มติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องทําให้มันตกไป ขั้นตอนคือ ก็ต้องไปร้องต่อศาลปกครองโดยมี ประเด็น ประเด็นแรกคือตัวมติเองขัดต่อระเบียบการประชุมของ กสทช. ข้อ41 (2)
และประเด็นที่สอง คิดว่ามีการใช้อํานาจในแบบที่จงใจใช้อํานาจขัดต่อกฎหมายแล้ว ตนขอเสนอว่า ให้ไปร้อง ป.ป.ช. หรือ ดําเนินการทางอาญาต่อไป เพราะเป็นการจงใจใช้อํานาจขัดต่อกฎหมายแล้ว เข้าข่ายแล้ว
“ทั้งหมดนี้ ถ้าหาก กสทช. ท่านทําหน้าที่อันพึงกระทํา เราคงไม่ต้องมาจัด เสวนา เราคงไม่ต้องไปร้องศาลปกครอง ทั้งหมดนี้เราไม่ได้คาดหวังอะไรเลย ขอเพียงแค่ กสทช. ทําหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย เพราะคลื่นความถี่นั้นเป็นสมบัติของประชาชนทุกคน เป็นเรื่องธรรมดาที่ธุรกิจเขาก็จะมุ่งกําไรสูงสุดมุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองมากที่สุด
แต่ กสทช. มีหน้าที่ต้องดูแลควบคุม อย่าลืมว่า สุดท้ายแล้วคลื่นความถี่ประชาชนต้องจ่ายเงิน ถ้าไม่เกิดการแข่งขันประชาชนต้องจ่ายเงินเพื่อคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติของประชาชนเองในราคาที่แพงขึ้น กสทช. ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้”
เรียกร้องรัฐบาลรับผิดชอบ
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวด้วย่วา ความจริงแล้วรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบกับปัญหาเรื่องของการควบรวม ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำมาก แล้วระบอบประชาธิปไตยไม่มีทางที่จะประสบความสําเร็จในสังคมที่เลื่อมล้ำมาก เรื่องนี้เราพูดกันเยอะ ตอนปี 2553 หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ควรจะเกิดที่ราชประสงค์ แต่ผ่านไป12 ปี ปัญหากับหนักกว่าเดิม โดยเฉพาะยิ่งหนักขึ้นหลังจากยึดอํานาจปี 2557
“ประเทศใดก็แล้วแต่ ที่มีการรวมศูนย์อํานาจทางการเมือง จะตามมาซึ่งการรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งมันพิสูจน์แล้วสําหรับประเทศไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ผมเองจึงไม่ได้คาดหวังรัฐบาล แต่ผมคาดหวังองค์กรตรวจสอบต่าง ๆ ที่ต้องดําเนินการ ประเทศไทย จากเดิมอันดับของความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่ง และทรัพย์สินเราเคยอยู่ อันดับไม่ดี อันดับ 10 กว่า ๆ แต่นาน ๆ ไป เรากลายเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องกันมาหลายปีแล้ว”
เรื่องนี้ คิดว่าคําถาม ถ้าตนจะถามรัฐบาล คือ 1.ทําไมไม่ทําหน้าที่ และ 2. รัฐบาลคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะว่าท่านเป็นคนเลือกองค์กรอิสระ โดยผ่าน สนช. และ ส.ว. ท่านคิดอย่างไร ท่านจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้อย่างไร คิดว่าเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องทํา
แต่เราจะเรียกร้องรัฐบาลอย่างเดียวเห็นจะไม่พอ ตนได้ชี้ประเด็นข้อกฎหมายไปแล้วว่า มติอันนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจน ไม่ได้เพียงแค่ท่านไม่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 แต่มันขัดกันเองกับ ข้อบังคับของ กสทช. เองว่าเรื่องนี้ต้องเป็นมติพิเศษ ต้องได้เสียงอย่างน้อยกึ่ง สรุปคือคิดว่าเราต้องดําเนินการทางกฎหมายไปพร้อมกับการเรียกร้องรัฐบาลด้วย
เมื่อเราเลือกแล้วที่จะมาในทางที่เป็นระบบเศรษฐกิจแบบให้มีการแข่งขันที่เรียกว่า ทุนนิยมเสรี ก็ต้องให้มีการแข่งขัน เพราะถ้าหากผูกขาดเมื่อไหร่ มันก็กลายเป็นผูกขาด ถ้าหากเป็นระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ ก็คือ ผูกขาดโดยรัฐบาลที่ไม่ต้องแข่งขัน เรารู้แล้วว่ามันไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นธรรมด้วย เพราะมีเฉพาะคนที่มีอํานาจรัฐเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์
ดังนั้น เราก็คิดว่าเมื่อเราเลือกเป็นทุนนิยมเสรีมันก็ต้องให้มีการแข่งขัน แล้วก็มีการกํากับดูแล เพราะทุนนิยมนั้นโดยธรรมชาติเขาก็จะมุ่งกําไรสูงสุด แม้ตอนหลังมาเราจะพบว่าธุรกิจต่างก็เริ่มจะเข้าใจมากขึ้นว่าเขาจะมุ่งกําไรสูงสุดไม่ได้ แต่ยังต้องมีองค์กรมาดูแลที่ทำให้เกิดการแข่งขันขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่นความถี่ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนเลยให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระมาคอยดูแลคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติ และชาติ ก็คือ ประชาชน ที่เป็นเจ้าของประเทศ โดยที่ทำให้เราใช้คลื่นความถี่โดยค่าบริการมันไม่แพงเกินไป เพราะยิ่งแพง คนก็ยิ่งเข้าถึงยากก็ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำ
ขณะนี้มันคือชีวิตของเรา คือทุกสิ่งอย่าง ทั้งข่าวสาร ข้อมูล ทั้งเรื่องของการแสดงความคิดเห็น เรื่องการตรวจสอบ เรื่องของการมีส่วนร่วม การโอนเงิน การซื้อของทุกสิ่งอย่าง มันอยู่ในชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ทํายังไงให้ไม่เกิดการผูกขาด” ผศ.ดร.ปริญญา ระบุ
โฆษณา