10 พ.ย. 2022 เวลา 05:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ความรับผิดชอบทางการเงิน ที่คนวัยกลางคนต้องวางแผน
โดยทั่วไป ช่วงชีวิตที่พบกับความท้าทายมากที่สุดของคนเรา มักจะอยู่ในช่วงอายุ 35-45 ปี เพราะเหตุว่า ช่วงชีวิตนี้เป็นช่วงที่กำลังก่อร่างสร้างตัว สะสมทรัพย์สินและความมั่งคั่งอยู่
แต่ในขณะเดียวกันก็มีภาระการเงินที่ต้องรับผิดชอบและแบกรับรอบด้านความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุดสำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงวัยกลางคน คือ ปรากฏการณ์ “แก่ก่อนรวย” เนื่องจากช่วงวัยนี้ เป็นช่วงที่อาจต้องเจอภาระค่าใช้จ่ายรอบด้าน ทั้งค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูครอบครัวตัวเอง เลี้ยงดูคนรุ่นพ่อแม่ อีกทั้งภาระหนี้สินที่ยังต้องผ่อนอยู่ ไม่ว่าจะผ่อนบ้าน ผ่อนรถ
รวมถึงความจำเป็นที่ต้องเก็บเงินตามเป้าหมายส่วนตัวอีก ในขณะที่การงานและรายได้ เพิ่งเริ่มมั่นคงและเติบโต ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะมีเงินไม่พอใช้จ่าย หรือมีเงินเก็บไม่พอกับเรื่องที่จำเป็นต้องใช้ หากไม่ได้วางแผนเตรียมตัวมาก่อนหน้า ดังนั้น ก่อนที่จะพาตัวเองเข้าสู่สภาวะแบบนี้ เราจึงควรทราบถึงภาระต่างๆที่เราต้องแบกรับ และวิธีการจัดการ เพื่อเตรียมตัวรับมือกับภาระต่าง ๆ ที่พร้อมจะถาโถมกันเข้ามาให้ดี ได้แก่
ความรับผิดชอบทางการเงิน ที่คนวัยกลางคนต้องวางแผน
1. ความรับผิดชอบต่อตัวเอง
ได้แก่ การบริหารรายรับและรายจ่ายของตัวเองให้พอเลี้ยงชีพ โดยไม่ต้องพึ่งพา หรือเรียกร้องความช่วยเหลือจากคนอื่น มีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือน เพื่อเก็บไว้ใช้ยามเกษียณที่ไม่มีรายได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกหลาน
2. ความรับผิดชอบต่อครอบครัว
ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้คนที่อยู่ในอุปการะ ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ หรือลูก เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล ยิ่งหากใครที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องเลี้ยงดูทั้งพ่อแม่และลูก ก็ยิ่งมีภาระหนักเป็นสองเท่า (Sandwich Generation) เนื่องจากเป็นคนวัยตรงกลางที่ต้องแบกรับภาระจากทั้งคนที่อายุเยอะกว่า และอายุน้อยกว่าไปพร้อม ๆ กัน
3. ความรับผิดชอบต่อภาระหนี้สิน
ได้แก่ ค่าผ่อนทรัพย์สิน เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เป็นต้น ภาพรวมภาระเหล่านี้จะเป็นภาระระยะยาว ซึ่งเราต้องรับผิดชอบไปจนกว่าจะหมดภาระ หรือหากวันหนึ่งเราเป็นอะไรไป ภาระเหล่านี้จะตกไปอยู่กับคนข้างหลัง (ที่เรารัก) ให้ต้องมารับภาระต่อ หากเราไม่ได้เตรียมวางแผนล่วงหน้า
ดังนั้น เพื่อจัดการกับภาระการเงินเหล่านี้ เราสามารถคำนึงถึงแนวทาง 4 ประการคือ
1. บริหารและควบคุมค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายได้และฐานะ
- นั่นคือการมีวินัยในการใช้จ่าย ไม่ใช้จ่ายเกินตัว โดยอาจใช้วิธีทำงบการเงิน หรือทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองให้อยู่ในงบประมาณที่เหมาะสม เพื่อที่จะสามารถรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา
2. วางแผนเก็บออมเงินสำหรับเป็นเงินเกษียณของตัวเอง
- ใช้เครื่องมือการออมหรือการลงทุนที่ช่วยสร้างวินัยการออม เช่น ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ RMF ที่มีเงื่อนไขบังคับให้เราต้องออมเงินหรือลงทุนในระยะยาว โดยต้องออมหรือลงทุนอย่างสม่ำเสมอทุกปี และไม่สามารถถอนเงินมาใช้ได้ระหว่างทางจนกว่าจะเกษียณ
3. วางแผนค่าใช้จ่ายของลูกให้ครอบคลุมจนสำเร็จการศึกษา
- โดยการสำรวจค่าเล่าเรียน และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของสถาบันการศึกษาที่วางแผนจะส่งบุตรไปเรียน ตั้งแต่ปัจจุบัน จนจบระดับชั้นที่ต้องการ ว่ารวมแล้วเป็นจำนวนทั้งหมดเท่าไหร่ โดยสำหรับค่าเล่าเรียนในชั้นสูง ๆ ที่ยังมีเวลาอีกหลายปีกว่าจะถึงเวลาต้องจ่าย อาจจะใช้วิธีการลงทุน หรือออมเงินในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยให้การเตรียมเงินให้เพียงพอกับค่าเล่าเรียนในอนาคตได้
4. วางแผนทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ เพื่อโอนย้ายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
- เราควรทำประกันชีวิตให้มีความคุ้มครอง หรือจำนวนเงินเอาประกันเพียงพอกับ “ภาระการเงิน” ในชีวิตทั้งหมดที่เรามีอยู่ ได้แก่ “ภาระหนี้สินคงค้าง (หนี้บ้าน + หนี้รถ + หนี้สินอื่น ๆ) + ค่าเลี้ยงดูผู้อยู่ในอุปการะจนกว่าจะเลี้ยงดูตัวเองได้ (รวมไปถึงค่าเล่าเรียนและค่าประกันชีวิตบุตรตั้งแต่ปัจจุบันจนเรียนจบ) + เงินที่ต้องการทิ้งไว้ให้ธุรกิจปรับตัว (สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจ) - มูลค่าเงินเก็บทั้งหมดที่เรามีอยู่”
1
เพื่อให้แน่ใจว่า หากเราจากไปกะทันหัน ผู้ที่เราดูแลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือธุรกิจ จะสามารถดำเนินทั้งชีวิตและธุรกิจต่อไปได้โดยไม่เดือดร้อนนั่นเอง
  • ตัวอย่างเช่น
ถ้าเรามีหนี้บ้านเหลืออยู่ 3 ล้าน หนี้รถเหลืออยู่ 5 แสน ค่าเลี้ยงดูลูกเดือนละ 5,000 บาท ค่าประกันชีวิตลูกเดือนละ 500 บาท ที่ต้องเลี้ยงดูต่อไปอีก 10 ปี จนกว่าจะเรียนจบ โดยมีค่าเล่าเรียนจนกว่าจะเรียนจบประมาณ 1 ล้านบาท และต้องการทิ้งเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายให้ธุรกิจปรับตัว 5 ปี ประมาณ 5 ล้านบาท
โดยที่ปัจจุบันเรามีเงินเก็บ ทั้งเงินออมและเงินลงทุนรวมอยู่ทั้งหมด 4 ล้านบาท
ดังนั้น เราควรมีความคุ้มครองชีวิตเท่ากับ (3,000,000 + 500,000) + ((5,000+500) x 12 x 10) + 1,000,000 + 5,000,000 - 4,000,000 = 6,160,000 บาท
ถ้าปัจจุบัน เรามีความคุ้มครองชีวิตทั้งหมดไม่ถึงจำนวนเงินดังกล่าว ก็แปลว่า เรายังมีประกันชีวิตไม่เพียงพอกับความเสี่ยงที่จำเป็น แม้เราอาจจะทำประกันชีวิตไว้อยู่หลายกรมธรรม์แล้วก็ตาม
เริ่มจากตรวจสอบสรุปกรมธรรม์ที่เรามี หรือยังขาดอยู่ เช่น
ประกันอุบัติเหตุ
สำหรับคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล การทุพพลภาพ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ คือสิ่งที่ควรมีติดตัวไว้ก่อนอันดับแรก เนื่องจากค่าเบี้ยประกันไม่แพง และให้ความคุ้มครองสูง เพื่อคุ้มครองตัวเองและครอบครัวจากภัยอุบัติเหตุต่าง ๆ
ประกันสุขภาพ
สำหรับคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลให้แก่ตัวเอง บุตรและคนในครอบครัว เพื่อไม่ให้เงินที่เก็บออมไว้ใช้สนับสนุนค่าเล่าเรียนบุตร หรือไว้ใช้ในยามเกษียณรั่วไหลไปกับค่ารักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน
ประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง
เพื่อรองรับความเสี่ยงของค่ารักษาพยาบาลราคาแพง เมื่อต้องป่วยเป็นโรคร้ายแรงและชดเชยรายได้ขณะพักรักษาตัว
ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
สำหรับรองรับภาระการเงินจำนวนมากที่หัวหน้าครอบครัวต้องแบกรับ เพื่อให้ครอบครัวและคนข้างหลังมีชีวิตที่มั่นคงต่อไป สามารถเลือกแบบตามระยะเวลาจ่ายเบี้ยสั้น-ยาวได้ตามต้องการ
ประกันเพื่อการศึกษาบุตรและการเกษียณ
ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตควบการลงทุน แบบประกันสะสมทรัพย์ หรือแบบประกันบำนาญแบบต่าง ๆ สำหรับเป็นทางเลือกในการออม ตามเป้าหมายที่ระยะเวลาต่างกัน
ด้วยเหตุนี้เอง ช่วงชีวิตของคนวัยกลางคน โดยเฉพาะคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว จึงเป็นช่วงชีวิตที่ต้องรัดกุม ระมัดระวัง มีวินัยในการหารายได้ การใช้จ่าย และการเก็บออม โดยต้องไม่ประมาทกับชีวิต คิดว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะหากขาดการใส่ใจไปเพียงนิดเดียว ก็อาจสร้างปัญหาชีวิตและการเงินให้ครอบครัว แต่การวางแผนการเงินที่ดี จะช่วยให้เราผ่านชีวิตช่วงนี้ไปได้อย่างราบรื่นแน่นอน
หมายเหตุ:
- ข้อมูลนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเพื่อประกอบการนำเสนอเท่านั้น ผู้ขอเอาประกันภัยควรศึกษาและทำความเข้าใจในเอกสารเสนอขายก่อนตัดสินใจทำประกันภัย เมื่อได้รับกรมธรรม์แล้ว โปรดศึกษารายละเอียด ข้อกำหนดและเงื่อนไขในกรมธรรม์
- ข้อกำหนดและเงื่อนไขของความคุ้มครองจะระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกให้กับผู้ถือกรมธรรม์
ติดตาม Community AIA Thailand ได้ที่ https://www.blockdit.com/topics/6322a4b8ae66c7433c8d5007
โฆษณา