6 พ.ย. 2022 เวลา 07:00 • ไลฟ์สไตล์
work life balance สไตล์ “นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” กก.ผู้จัดการ รพ.เมดพาร์ค
“ชีวิตแต่ละวันยังรู้สึกเหมือนเป็นนักศึกษา สนุกที่ได้ออกแบบ ทำงานและเรียนรู้ตลอดเวลา” เป็นคำตอบที่ “นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการรพ.เมดพาร์ค (MedPark)” ให้กับกรุงเทพธุรกิจเมื่อถามถึงการสร้างสมดุล work life balance
[บทความโดย: พวงชมพู ประเสริฐ]
work life balance สไตล์ “นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” กก.ผู้จัดการ รพ.เมดพาร์ค
การทำงานกับความสุขในวัย 71 ปี จึงเป็นเหมือนสิ่งเดียวกัน งานไม่ได้บั่นทอนสุขภาพ ตรงกันข้ามกลับมีส่วนสร้างสุขภาพใจที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการดูแลสุขภาพ เป็น work life balance แบบ "นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช"
ด้วยชีวิตชอบการ “ออกแบบ” ถึงขนาด“หมอพงษ์พัฒน์”เอ่ยปากว่าหากไม่ได้เรียนแพทย์ก็คงเรียนสถาปนิก เพราะ “ชีวิตตัวเอง มีความสุขกับการออกแบบ ปั้น และทำงานเหมือนได้ทำกิจกรรม สมัยเป็นนักศึกษา” หลังจากสร้าง “มหาชัย” รพ.เอกชนในภูมิภาคมานานกว่า 30 ปี ขยับมาทำรพ.เอกชนในกทม. โดยรพ.เจ้าพระยาเป็นแห่งแรก และเปิดบริการ “รพ.เมดพาร์ค” เมื่อ 2 ปีก่อน ท่ามกลางวิกฤตโรคโควิด-19 นับว่าเป็นสิ่งท้าทายอย่างมาก
รพ.เมดพาร์ค เปิดหน้าต่าง ทำให้สิ่งอยากทำต่อระบบสาธารณสุขสมบูรณ์ขึ้น คือ มีหมอเก่งๆ พยาบาลดีๆ มีระบบอาคารที่เหมาะสม มีเครื่องมือที่เพียงพอ เป็นรพ.ที่ดีระดับหนึ่ง ค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไปนัก Win Win ทุกฝ่าย และเมื่อรพ.เมดพาร์คเป็นตัวเล่นเพิ่มเติมในตลาดระดับบน เกิดทางเลือกใหม่ๆ ในอนาคตก็อาจจะทำให้ราคาในตลาดระดับบนสมเหตุสมผลขึ้น
📌 หลักยึด “ผู้นำต้องเสียเปรียบบ้าง”
ในวัย 71 ปีที่ยังสนุกกับการทำงาน “นพ.พงษ์พัฒน์” บอกว่า เพราะยังมีสิ่งที่เราทำได้ โดยหลักสำคัญของการทำงานกลุ่มสำหรับคนที่เป็นผู้นำ คือ “การไม่เอาเปรียบคนอื่น” ต้องจริงจัง จริงใจกับผู้อื่น มีอะไรแลกเปลี่ยนกัน เปิดเผย ตรงไปตรงมา ขณะเดียวกันไม่ถือประโยชน์ตัวเองเป็นอันดับแรก เพราะถ้าเราไปเอาเปรียบ เขาก็รู้ และ “การเป็นผู้นำในองค์กรใดต้องเสียเปรียบบ้าง” จะทำให้คนในองค์กรยอมรับ
1
และแม้รพ.เมดพาร์คจะเปิดในช่วงจังหวะที่มีวิกฤตโรคระบาดระดับโลก แต่ด้วยความที่เป็นคนสนใจเรื่อง “การออกแบบ”เป็นทุนเดิม ซึ่งการออกแบบก็คือการแก้ปัญหาชนิดหนึ่ง พอเห็นประเด็นปัญหาและทำให้คิดว่า “ต้องทำอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่ท้าทาย”
บวกกับการเป็น “ศัลยแพทย์” ทำให้มองเห็นว่า การจัดการการบริหาร ต้องคิดว่าเวลาจะเลือกทำอะไร มีหลักการหัวใจของการบริหาร คือ “ต้องจัดลำดับให้ได้ว่าอะไรต้องทำ อะไรไม่ต้องทำ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรอยากทำ อะไรไม่อยากทำ”
📌 สมดุลสิ่ง“ต้องทำ-ควรทำ-อยากทำ”
1.สิ่งที่ต้องทำ หมายความเป็นสิ่งที่ ตัวเองจะต้องทำเอง ให้คนอื่นทำแทนไม่ได้
2.สิ่งที่ควรทำ คือ เป็นหน้าที่ที่คนอื่นต้องทำ แต่อาจจะทำได้ไม่ดี เป็นสิ่งที่เราต้องเข้าไปช่วย แต่จะช่วยตามเหมาะสม ไม่ใช่ไปทำแทน
3.สิ่งที่อยากทำ คือ สิ่งที่ทำเสริมจากการทำงานต่างๆ เช่น การทำเรื่อง “Med Music in the park” ซึ่งเป็นการจัดแสดงดนตรีในสวนเบญจกิติ เป็นการสร้างความสุข ลดความเครียดจากการทำงาน สร้างการผ่อนคลายให้กับคนกรุงเทพฯ วันที่ 27 พ.ย.2565 เป็นต้น
แต่บางครั้งมีการทำบางอย่างแล้วมีผลข้างเคียง บางเวลาก็ต้องเปลี่ยนวิธีใหม่ระหว่างทาง ซึ่งการเปลี่ยนนั้นมีผลเสียหรือไม่ จะป้องกันอย่างไร และถ้าเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไร เมื่อเป็นผู้บริหารเวลาจะตัดสินใจจึงต้องมองสิ่งเหล่านี้ จะต้องมีเป้าหมาย มีวิธีการ และการประเมินว่าทำได้แค่ไหน เหล่านี้ทำให้เราไม่เครียดกับงานเกินไป อะไรที่ทำได้ก็รีบทำ ส่วนอะไรที่ยังทำม่ได้ ก็วางก่อนและหาโอกาสค่อยทำใหม่
โฆษณา