5 พ.ย. 2022 เวลา 07:20 • สุขภาพ
"อย่าคิดว่าคนอื่นรู้เหมือนเรา"
ในวันที่แสนวุ่นวายวันหนึ่ง ในตอนเช้า ที่ห้องยา   ทั้งปริมาณคนไข้เยอะ รับโทรศัพท์ และมีเบิกยาฉุกเฉิน จะเห็นภาพเช่นนั้นเป็นปกติสำหรับห้องยาในโรงพยาบาล ที่จะวุ่นมากในตอนเช้า
คนไข้ชายท่านหนึ่งมาจากห้องฉุกเฉิน เพื่อมารับยา เนื่องจากคนไข้ท่านนี้คือ ผู้ป่วยขาประจำที่มาห้องฉุกเฉินบ่อย จนเจ้าหน้าที่ในห้องยาจำหน้าได้ มีโรคประจำตัวหลายอย่าง นั่งรถเข็นมารับยา ซึ่งปกติสำหรับผู้ป่วยท่านนี้ จะมาคนเดียว มีรายการยาค่อนข้างเยอะทุกครั้ง แต่ในรายการยาวันนี้ มี
พระเอกคือ Kcl Elixir (โปแตสเซี่ยม อิลิกเซอร์)
**เป็นเกลือแร่เสริม สำหรับคนไข้ที่มีภาวะโปแตสเซียมต่ำ ถ้าอาการไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยจะมีอาการ อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ท้องผูก เป็นตะคริว ฯลฯ
โปแตสเซี่ยมเป็นelectrolyte ที่อยู่ในร่างกายมีความสำคัญในการควบคุมการทำงานหลายๆระบบในร่างกาย ได้แก่ ความสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย การหดตัวของกล้ามเนื้อ ลำไส้ การทำงานของระบบประสาท ควบคุมการทำงานของหัวใจ
เพราะฉะนั้น ถ้าระดับโปแตสเซี่ยมต่ำมากๆหรือสูงเกินไปมาก อาจมีผลต่อระบบประสาทที่รุนแรง หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติหรือหัวใจล้มเหลวได้
ค่าที่เหมาะสมคือ 3.5-5 meq/L
ถ้าโปแตสเซี่ยม ต่ำเล็กน้อย สามารถเสริมด้วยการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น กล้วย ส้ม ถั่วเมล็ดแห้ง ฯลฯทดแทนได้
ในใบสั่งยา แพทย์สั่งให้รับประทานครั้งละ 15 cc วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น ฉันเข้าใจเอาเองว่าผู้ป่วยน่าจะเคยกินมาแล้ว เพราะมาโรงพยาบาลบ่อยๆ ถามคนไข้ คนไข้ก็พยักหน้ารับทราบ เหมือนเข้าใจ
ฉันจึงให้ถ้วยพลาสติก ถ้วยตวงจ่ายยา ที่แถมมากับยา ที่มีขีดปริมาณบอกไปด้วย หลังจากอธิบายยาและจ่ายยาเสร็จ ผู้ป่วยกลับไป
ช่วงบ่ายมีโทรศัพท์เข้ามา เป็นเภสัชกรอีกท่านรับสายจากผู้ป่วย ดูเหมือนจะคุยกันไม่รู้เรื่อง คนที่รับสายดูหงุดหงิดหลังจากคุยกันสักพัก เภสัชกรท่านนั้น ก็โอนสายมาให้ฉันบอกว่าน่าจะเป็นคนไข้ผู้ชายที่ฉันจ่ายยาไปเขาบอกว่าเขาไม่รู้ว่าต้องกินยาน้ำปริมาณเท่าไหร่ คุยกันไม่รู้เรื่อง ก็เลยโอนมาให้ฉันคุยต่อ ในใจคิด อะไรอีกละ
ฉันคิดว่าฉันอธิบายดีแล้ว บอกปริมาณที่ต้องกินและให้ถ้วยตวงไปด้วย แต่คนไข้ก็ยืนยันว่าไม่มีปริมาณบอก กำลังเริ่มหงุดหงิด พยายามสงบสติอารมณ์ และถามกลับไปว่าเห็นฉลากที่ขวดยาไหม บอกว่าให้กินครั้งละ 15 CC เช้าเย็น  คนไข้บอกว่าเห็นอ้าวแล้ว คืออะไรงง??
นึกสงสัยอะไรบางอย่างเลยไปเอาถ้วยตวงมาดู
จึงเห็นว่าขีดที่ระบุปริมาณค่อนข้างจางสำหรับผู้สูงอายุหรือสายตาไม่ค่อยดี อาจจะมองไม่เห็น
เราจึงถามกลับไปว่าคุณเห็นขีดตรงข้างถ้วยไหม
คนไข้บอกว่าเห็น แต่ไม่รู้ว่าเท่าไหร่ เราจึงเข้าใจและถึงบางอ้อว่า ขีดระบุ 10 20 30 cc คนไข้เลยงง จึงอธิบายไปว่าขีด 15 ก็คือกึ่งกลางระหว่าง 10 กับ 20
ผู้ป่วยจึงเข้าใจและวางสายไป
mission จบลงไปได้ด้วยดี
หลังจากเหตุการณ์จบลง ทำให้ฉันได้ตกผลึกบางเรื่อง คือ เรามักจะตัดสินสิ่งที่เราพบเจอจากมุมมองของเราด้านเดียว เป็นมุมมองที่เข้าข้างตัวเอง เรื่องที่เราคิดว่ามันเรื่องง่ายสำหรับเรา แต่สำหรับบางคนมันเป็นเรื่องยากจริงๆ  เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ โรคเรื้อรัง ฯลฯซึ่งมีข้อจำกัดเฉพาะบุคคล ที่เราไม่สามารถรู้ได้
ลองลดวางความเป็นตัวตน เปิดใจยอมรับ ฟังและเข้าใจความแตกต่าง จะทำให้เราเข้าใจคนอื่นและใช้ชีวิตที่มีความสุขได้
"อย่าคิดว่าคนอื่นรู้เหมือนเรา"
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา