7 พ.ย. 2022 เวลา 00:30 • ไลฟ์สไตล์
ทำไมเราถึงเห็นแอดโฆษณา “อาหารหมา”
ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เลี้ยงหมา หรือไม่แม้แต่เสิร์ชหาข้อมูล หรือแม้แต่เข้าเพจหรือเว็บอะไรที่เกี่ยวกับอาหารหมาเลย
ทันใดนั้น ก็นึกขึ้นมาได้ว่า เราคุยเรื่องอาหารหมากับเพื่อนที่เลี้ยงหมาอยู่เมื่อวานนี้
เอ๊ะ แล้วแอดอาหารหมามันขึ้นมาได้ยังไง
หรือว่า.. มือถือแอบฟังเราอยู่?
...
เป็นคำถามที่สงสัยกันมานานมากแล้ว แต่ก็ยังไม่มีคำตอบที่ยืนยันได้ชัดเจนจากแพลตฟอร์มโฆษณาเจ้าใหญ่ๆ ทั้ง Facebook และ Google แต่วันนี้เราจะมาวิเคราะห์กันว่ามันเป็นยังไง มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้ความสำคัญเรื่อง Data จะแอบเอา Data ที่เป็นข้อมูลเสียงของเราไปใช้ยิงแอด (หรือเอาไปทำอย่างอื่น) โดยเราไม่ยินยอม
ขอพูดถึงในกรณีคนทั่วไปแบบเราๆ ที่ไม่ใช่คนสำคัญอย่างนักการเมือง ผู้ก่อการร้ายที่รัฐหมายหัว แล้วแอบฝัง Malware ไปดักฟังนะ อันนั้นมีทำกันอยู่แล้วเลยล่ะ ทำได้ลึกมากๆ ด้วย แต่ในฐานะคนธรรมดาสามัญแบบเรา มันเป็นไปได้จริงเหรอ?
เราขอแยกประเด็นออกมาเป็นหัวข้อเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น และนี่คือข้อสรุปและความคิดเห็นจากที่เราหาข้อมูลมา
👀 มือถืออัดเสียงเราตลอดเวลา ทำได้ หรือ ทำไม่ได้ ?
หลายคนคงเคยใช้บริการ Voice Assistant อย่าง Siri, Google Assistant หรือ Amazon Alexa กันมาบ้างแล้ว การจะปลุกให้ผู้ช่วยเหล่านี้ตื่นขึ้นมารับฟังคำสั่งเรา ก็ต้องพูดคำสั้นๆ อย่าง Hey Siri หรือ OK, Google แม้หน้าจอมือถือปิดอยู่ก็ตาม นั่นก็บอกได้แล้วว่ามือถือสามารถ “ดักจับ” เสียงรอบตัวได้ตลอดเวลา แต่ก็ยังไม่ได้หมายความว่ามันสามารถ “ดักฟัง” และเอาข้อมูลนี้ไปทำอะไรต่อมิอะไรต่อได้ทันทีนะ ลองอ่านต่อ
👀 Speech-to-Text ทำงานยังไง แม่นแค่ไหน
ต้องอธิบายก่อนว่า การป้อนคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน รวมถึงชุดข้อมูลต่างๆ ที่คอมพิวเตอร์เข้าใจ ในสมัยก่อนจะเป็นแค่ Binary Number คือเลข 0 กับ 1 จนพัฒนามาเป็นข้อความที่เป็นตัวอักษรในปัจจุบัน ซึ่งอะไรแบบนี้จะเป็นข้อมูลแบบดิจิตอล แต่ข้อมูลที่เป็นเสียงหรือภาพ เป็นข้อมูลแบบอนาล็อก ซึ่งต้องเอามาแปลงเป็นตัวอักษรก่อน คอมพิวเตอร์ถึงจะเข้าใจได้ว่าคืออะไร
เช่น ถ้าเราพูดว่า “วันนี้ฝนตกไหม” คอมพิวเตอร์ต้องประมวลผลจากเสียงพูดของเราไปเป็นข้อความว่า “วันนี้ฝนตกไหม” ก่อน เพื่อเอาไปวิเคราะห์ต่อ แยกคำ ตีความหมาย ว่าถ้าผู้ใช้พูดมาแบบนี้ ต้องตอบกลับไปว่ายังไง การแปลงเสียงแบบอนาล็อกเป็นข้อความแบบดิจิตอล เรียกว่า Speech-to-Text นี่เอง
ซึ่งใช่แล้ว มือถือทุกเครื่องสามารถประมวลผล Speech-to-Text ได้ แต่ๆๆ มันก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่า การแปลงเสียงเป็นข้อความ มันกินทรัพยากรเครื่องค่อนข้างมาก (เพราะต้องส่งไฟล์เสียงไปประมวลผลที่เซิร์ฟเวอร์) ทำให้ผู้ที่เห็นแย้งบอกว่า มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่มือถือจะแอบดักฟังเรา ไม่งั้นเครื่องคุณจะร้อนและแบตหมดเร็วมากแน่ๆ เพราะมีข้อมูลจำนวนมาก (ลองนึกดูว่าวันนึงเราพูดคุยกันเยอะแค่ไหน ไหนจะเสียงทีวี เสียงเพลงที่เราเปิดอีก) ที่ถูกแปลงเสียงเป็นข้อความ ทำให้มือถือต้องทำงานหนักตลอดเวลา
มีอีกทางที่เป็นไปได้ คือถ้ามือถือแต่ละเครื่องมีหน่วยประมวลผล Speech-to-Text หรือ AI ในตัวที่สามารถประมวลผลแบบ Offline ได้ โดยอาจฝังมากับ OS ก็เป็นไปได้ที่จะไม่ต้องใช้ทรัพยากรเครื่องเยอะ และทำงานได้รวดเร็วขึ้น จะเห็นว่าฟีเจอร์ใหม่ๆ ของ Android สามารถสร้าง Live Caption จากคลิปวิดีโอได้แบบ Realtime แล้วด้วยนะ รวมถึงได้ปล่อยแอป Live Transcribe เอามาไว้ช่วยถอดเทปหรือถอดเสียงเพื่อเขียนบทสัมภาษณ์หรือบันทึกการประชุมได้ด้วย เราลองแล้ว พบว่าแม่นมากเลยทีเดียว และมันก็ไม่ได้กินแบตเยอะด้วย
แต่อย่าลืมนะว่ามันยังมีข้อมูลขยะจำนวนมหาศาลจากเสียงที่ดักจับได้อีก เพราะตอนเราเจอหน้าเพื่อน เราคงไม่ได้คุยกันแค่เรื่องอาหารหมาอย่างเดียว เราคุยกันหลายเรื่องเลย แต่ทำไมเราเห็นแต่แอดอาหารหมาล่ะ? ซึ่งจากข้อมูลเหล่านี้เราคิดว่า “เป็นไปได้” ที่มือถือจะแอบฟังเรา และเอาข้อมูลไปใช้งานต่อได้ แต่ต้องมีวิธีที่จะจัดการกับข้อมูลขยะทั้งหลาย และสกัดออกมาเฉพาะข้อมูลที่มีประโยชน์ แต่เราก็เชื่อว่าสามารถทำได้แน่นอนถ้ามีอัลกอริธึมที่ฉลาดพอ (ไม่รู้ว่าตอนนี้พัฒนาไปถึงขั้นนั้นแล้วหรือยัง)
👀 ท่าทีของ Facebook, Google และ Apple
ทั้งสามบริษัทใหญ่บอกจุดยืนที่ชัดเจนออกสื่อว่า “เราให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ทุกคน” แต่ดูจะมี Apple เท่านั้นที่ประกาศชัดเจนว่า ข้อมูลเสียงต่างๆ จะยังอยู่ในอุปกรณ์เครื่องนั้นๆ ของผู้ใช้เท่านั้น ไม่มีการส่งไปที่เซิร์ฟเวอร์ และ Apple ก็ยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการออกฟีเจอร์ App Tracking Transparency ใน iOS 14.5 ที่ไม่อนุญาตให้ Facebook เอาข้อมูลการใช้งานไปใช้ต่อได้ถ้าผู้ใช้ไม่ยินยอม
ส่วน Google ก็เพิ่มฟีเจอร์ให้ Android เวอร์ชั่นใหม่ให้แสดงไอคอนเมื่อแอปต่างๆ มีการเรียกใช้งานกล้องหรือไมโครโฟน และการจัดการ Permission ที่ละเอียดขึ้น (ซึ่งฟีเจอร์นี้พวกมีใน iPhone นานแล้วววว ขอแซะนิดนึง 5555)
Facebook ออกมายอมรับในปี 2019 ว่ามีการเก็บเสียงที่ผู้ใช้ส่งหากันใน Facebook Messenger เพื่อใช้วิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานมากขึ้น ซึ่งการประกาศนี้ทำให้หลายเว็บเอาไปพาดหัวว่า Facebook ดักฟังเรา ซึ่งเป็นคนละส่วนกันนะ เรากำลังพูดถึงการ “แอบ” ดักฟังเสียงสนทนาเรา ไม่ใช่การเอาคลิปเสียงที่เราตั้งใจส่งให้เพื่อน มันไม่เกี่ยวกันจ้า
ซึ่งสรุปแล้วทั้งสามเจ้าก็พยายามทำอะไรหลายๆ อย่าง รวมถึงแสดงจุดยืนว่า ไม่ได้ “แอบดักฟัง” เราจริงๆ และให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนตัวของเรา เอ.. แต่จะเชื่อได้แค่ไหนกันนะ
👀 ตกลงว่ามือถือแอบฟังเราจริงๆ หรือเราคิดไปเอง?
จากการวิเคราะห์ของเรา เราเชื่อว่า “เป็นไปได้” ในทางเทคนิค คือถ้าจะทำจริงๆ มันก็ทำได้อยู่แล้วแหละ เทคโนโลยีมันเดินทางมาถึงจุดที่สามารถทำได้แล้ว แต่มันก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องกฎหมายการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่ง Facebook มักโดนข้อหาหนักๆ เรื่องแนวๆ นี้อยู่ตลอด ซึ่งถ้ามีการตรวจเจอว่ามีการใช้มือถือแอบดักฟังเราจริงๆ ก็จะโดนคดีอ่วมแน่ๆ ดีไม่ดีอาจขาดความน่าเชื่อถือไปเลยทีเดียว รวมถึงการแสดงความโปร่งใสของทั้ง Apple และ Google ก็ทำให้เราพอเชื่อขึ้นมาได้ประมาณนึง
กับอีกอย่างคือ ถ้ามีการดักฟังจริงๆ คงเกิดขึ้นนานแล้ว และเรายังไม่พบข้อมูลหลักฐานที่ยืนยันได้ (เช่น มีแฮ็คเกอร์สายขาวตรวจพบ API ว่ามีการส่งข้อมูลไปที่เซิร์ฟเวอร์) แต่ที่เจอเจอข้อมูลคือมีแต่ทฤษฎี แต่ไม่มีการตรวจสอบอะไรในทางเทคนิคเลย แบบตัวอย่างเรื่องอาหารหมานั่นแหละ
👀 ถ้าไม่ได้แอบฟัง แล้วทำไมเห็นแอดได้ล่ะ?
เราจะไม่บอกนะว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญหรือคิดไปเอง ไม่วิเคราะห์ในเชิงจิตวิทยาการเชื่อมโยงอะไรด้วย 5555 แต่ถ้าพูดกันตามตรง ถ้าได้ทำงานในสายมีเดียหรือ Data ที่มีการยิงแอดด้วยเทคนิคแพรวพราว ก็จะเข้าใจเลยว่า การใช้ Data มันมีอะไรที่ซับซ้อนมากจนทำให้เราทึ่งยืนยันตัวเราได้หลายๆ วิธีเลยทีเดียว แบบไม่จำเป็นต้องง้อเสียงที่แอบฟังมาได้เลยด้วยซ้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการใช้ Data ต่างๆ แบบสายขาว ถูกกฎหมายด้วยนะ
แต่สมมติว่าบริษัทเหล่านี้จะมาทางสายเทา ก็ต้องว่ากันไปอีกว่าทำด้วยวิธีอะไร เช่น แอบอ่านหน้าจอของผู้ใช้ ที่ทำได้ง่ายกว่าการดักฟังเสียง หรือในเคสแอดอาหารหมา ถ้าเราไปเจอกับเพื่อนเราที่เลี้ยงหมา มีการแท็กและเช็คอินสถานที่เดียวกัน Facebook อาจใช้ข้อมูลความสนใจของเพื่อนเรา (ที่อาจจะเสิร์ชเรื่องอาหารหมาหรือซื้อออนไลน์บ่อยๆ) มายิงแอดให้เราเห็นก็ได้ (อันนี้เดานะ แต่ก็คิดว่าพอเป็นไปได้) ซึ่งวิธีแบบนี้ เรายังไม่พบข้อมูลยืนยัน ก็เลยจะยังไม่ขอพูดถึงมากแล้วกัน ก็ยังเป็นแค่เป็นทฤษฎีนั่นแหละ
ถ้าจำกันได้ หลังจากคดี Cambridge Analytica ไม่นาน Facebook ได้ออกฟีเจอร์ “Why I’m seeing this?” ขึ้นมา ให้เรากดดูข้อมูลว่าทำไมแอดอันนี้ถึงแสดงขึ้นมาให้เราเห็น ซึ่งก็จะเป็นเหตุผลประมาณว่า เราอาศัยอยู่ในจังหวัดนี้ มีสถานะแต่งงานแล้ว เคยเช็คอินสถานที่นี้ ฯลฯ แต่ก็เป็นแค่ข้อมูลเบื้องต้น ไม่ได้บอกที่มาอื่นๆ ในทางเทคนิคนะ
ซึ่งพอจะบอกที่มาได้คร่าวๆ ถึงอะไรที่เราอาจมองข้ามไปก็ได้ เช่น ถ้ากดดู Why I’m seeing this? ของแอดอาหารหมาแล้วพบว่า “คุณสนใจสัตว์เลี้ยง” แล้วพอมานึกย้อนดูว่า เราก็กดเข้าไปดูคลิปน้องหมาบ่อยๆ จน Facebook อาจจะนึกได้ว่าเราสนใจและอาจเลี้ยงหมา ก็เลยยิงแอดอาหารหมามาให้เราเห็นนั่นเอง
ดังนั้น หลังจากนี้ ถ้าเราพบเงื่อนงำว่า มือถือแอบดักฟังเรา ก็อยากให้ลองวิเคราะห์กันให้ลึกขึ้นอีกหน่อย เพื่อให้เช็คกันได้มั่นใจมากขึ้น ว่ามันแอบฟังเราจริงหรือเปล่า
บูม Moonday (สุมน เทียรฆโรจนกุล)
( ^ ____________ ^ )
ติดตามเราอีกหนึ่งช่องทาง
#CreativeMoonday #UnlockCreativity #CreativeExercise
โฆษณา