6 พ.ย. 2022 เวลา 10:20 • ประวัติศาสตร์
• ตบเข้าให้!
เพลจิดิน เกนเด็น นายกมองโกเลียผู้กล้าตบหน้าโจเซฟ สตาลิน
ย้อนกลับไปในวันหนึ่งของเดือนธันวาคม 1935 ที่สถานทูตมองโกเลียประจำกรุงมอสโก สหภาพโซเวียต ได้มีการจัดงานเลี้ยงขึ้น
ซึ่งภายในงานก็ได้มีท่านผู้นำสูงสุดของโซเวียต โจเซฟ สตาลิน และเพลจิดิน เกนเด็น (Peljidiin Genden) นายกรัฐมนตรีของมองโกเลียในตอนนั้น อยู่ภายในงานด้วย
แต่แล้วก็เกิดเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด เมื่ออยู่ ๆ เกนเด็นได้ตบไปที่ใบหน้าของสตาลินอย่างจัง จนไปป์ที่สตาลินสูบอยู่ร่วงไปที่พื้น ท่ามกลางความตกตะลึงของคนที่อยู่ในงาน
“แกมันก็แค่คนขายเนื้อจอร์เจียจอมกระหายเลือด! แกไม่ต้องการเป็นแค่ซาร์แดงของรัสเซีย แต่ยังเป็นซาร์ขาวของมองโกเลียด้วย!”
1
“มองโกเลียกำลังพิจารณาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น!” เกนเด็นพูดด้วยอารมณ์เดือดพร้อมกับใบหน้าที่แดงก่ำ
ส่วนทางด้านสตาลิน เขาดูอารมณ์เย็น ก่อนที่จะพูดพร้อมรอยยิ้มว่า “ดูเหมือนสหายของเราจะเมาแล้ว พาเขาไปพักผ่อนเถอะ”
ว่าแต่มันเกิดอะไรขึ้น?
ในปี 1921 กลุ่มคอมมิวนิสต์ในมองโกเลียที่นำโดยพรรคประชาชนมองโกเลีย (Mongolian People's Party) ได้ก่อการปฏิวัติในประเทศ จนนำไปสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลียที่ปกครองประเทศแบบคอมมิวนิสต์
แต่มองโกเลียก็มีสถานะไม่ต่างอะไรจากหุ่นเชิดของสหภาพโซเวียต จนกลายเป็นรัฐบริวาร (Satellite State) แม้จะเป็นรัฐเอกราช แต่ทิศทางของประเทศก็ต้องอยู่ใต้การควบคุมและสอดส่องจากโซเวียตอยู่ดี
1
เพลจิดิน เกนเด็น ถือเป็นผู้ทรงอิทธิพลในพรรคประชาชนมองโกเลีย เขาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของมองโกเลีย ก่อนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1932
เพลจิดิน เกนเด็น
บ่อยครั้งสตาลินมักจะสั่งให้เกนเด็น เดินทางมาพบเขาที่มอสโก เพื่อสั่งการและบังคับให้เกนเด็นทำตามนโยบายของเขา เพื่อให้แน่ใจว่ามองโกเลียจะยังคงอยู่ข้างโซเวียต
ปกติเกนเด็นมักจะยอมทำตามสิ่งที่สตาลินต้องการ แต่บางอย่างเกนเด็นก็เลือกที่จะไม่ยอมทำตาม อย่างเช่น มองโกเลียจะต้องห้ามยุ่งเกี่ยวใด ๆ กับญี่ปุ่น (ที่กำลังขยายอิทธิพลอยู่ในตอนนั้น) แต่เกนเด็นมองว่า ประเทศของเขาสามารถได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นได้
แต่สิ่งที่เกนเด็นไม่สามารถยอมรับได้เลยก็คือ การที่สตาลินสั่งให้เขากวาดล้างสถาบันศาสนาในมองโกเลีย โดยเฉพาะกับศาสนาพุทธที่ผูกพันกับชาวมองโกล ที่สำคัญสตาลินยังสั่งให้สังหารพระสงฆ์ในมองโกเลียจำนวนหลายแสนรูปด้วย
8
แม้ว่าเกนเด็นจะยึดมั่นในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่เขาก็ไม่ได้ต่อต้านศาสนา เกนเด็นเคยกล่าวว่า “มีเพียงสองอัจฉริยะที่ยิ่งใหญ่บนโลก คนหนึ่งคือพระพุทธเจ้า และอีกคนคือเลนิน”
เรื่องนี้เองที่ทำให้เกนเด็นก่อเหตุตบหน้าสตาลินในงานเลี้ยงวันนั้น ด้วยความเป็นคนอารมณ์ร้อนบวกกับฤทธิ์ของสุรา
1
หลังจากเกิดเรื่อง เกนเด็นก็กลับไปที่มองโกเลีย แต่ไม่นานในเดือนมีนาคม 1936 เขาก็ถูกขับจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และถูกส่งตัวมาที่โซเวียต โดยอ้างว่ามารักษาอาการป่วย แต่ความจริงเขาถูกขังไว้ในรีสอร์ทแห่งหนึ่งในไครเมีย
สุดท้ายช่วงฤดูร้อนของปี 1937 เกนเด็นก็เป็นหนึ่งในเหยื่อที่ถูกกวาดล้างครั้งใหญ่โดยสตาลิน (Great Purge) เขาถูกจับตัวขึ้นศาลทหารและถูกตั้งข้อหา 'เป็นพระสงฆ์ที่เป็นพวกปฏิกิริยา' และ 'เป็นสายลับให้กับญี่ปุ่น' ทำให้เกนเด็นถูกประหารชีวิตในเดือนพฤศจิกายน 1937
1
*** References
• Britannica. Independence and revolution - Mongolia. http://bitly.ws/wiMr
• iMedia. the Prime Minister of Mongolia slapped Stalin in public and smashed his pipe. What happened to him?. http://bitly.ws/wiMt
• eBaums world. 23 Stalin Facts Your Teachers Never Told You. http://bitly.ws/wiMD
#HistofunDeluxe
โฆษณา