7 พ.ย. 2022 เวลา 01:18 • ดนตรี เพลง
ประวัติเพลงผู้ชนะสิบทิศ น้อยคนนักที่จะทราบ
..มีคนจำนวนมาก นำเพลงผู้ชนะสิบทิศ มาขับร้อง จึงขอนำที่มาของเพลงนี้ มาเล่าสู่กันฟัง
เพลงชุดผู้ชนะสิบทิศ น่าจะเป็นงานมาสเตอร์พีซของคุณไสล ไกรเลิศ ไพเราะทุกเพลง เมื่อก่อนหาฟังยาก แต่เมื่อมียูทูปก็มีผู้เอื้อเฟื้อใส่คลิปเพลงให้ โดยเฉพาะเพลงเสียงร้องดั้งเดิมของดารานักแสดงอาวุโสที่ล่วงลับกันไปเกือบหมดแล้ว
น่าจะหาโอกาสฟัง นอกจากจะเห็นว่าความไพเราะเฉพาะตัวของเพลงสมัยก่อน เนื้อร้องยังเก็บความจากบทประพันธ์ได้หมดจด ผู้ประพันธ์เพลงเข้าลึกถึงเนื้อเรื่อง
คุณชรินทร์ นันทนาครเล่าถึงที่มาของเพลงนี้ว่า
..เล่าถึงครูไสล
ปกติครูเป็นคนแต่งเพลงไม่เป็นที่
ท่านจะนั่งรถเมล์สายถนนตกหลักเมือง หลักเมืองถนนตก ผมก็ต้องไปนั่งกะครู ก็นั่งขึ้นไปขึ้นมา ท่านบอกว่า รถเมล์คือที่ชุมนุมของชีวิตทั้งหลาย
ท่านเห็นประสบการณ์ของผู้คนบนรถเมล์ มีรัก มีโศก มีโลภ มีโกรธ มีนักล้วง มีสารพัดอย่าง
ครูอาศัยรถเมล์เป็นที่เขียนบทเพลง
มีอยู่วันหนึ่ง ครูพาผมลงที่เวิ้งนาครเขษม พอถึงเวิ้งนาครเขษมจะมีร้านขายหนังสือมากมาย
ครูก็ไปยืนอ่านนวนิยายเรื่องหนึ่ง ชอบมาก จะซื้อก็ไม่มีสตางค์ แปดเล่ม รวมแล้วราคา ๒๐๐ กว่าบาท ในสมัยนั้น ครูไม่มีเงิน ครูก็ไปยืนอ่าน
ครู่ใหญ่ อาแปะเจ้าของร้านก็ถือไม้ขนไก่มาทำทีเป็นปัดฝุ่น ไล่ไปเรื่อย
ครูเห็นก็สะกิด ๆ "มันมาไล่แล้ว ไปเถอะ"
ออกไปอีกร้านหนึ่ง ทำแบบเดียวกัน อ่านได้ประมาณ ๑๕ นาที มาไล่อีกแล้ว
ครูบอก "ไป ไปอีกร้านนึง"
จากเกษมบรรณกิจไปแพร่พิทยา จากแพร่พิทยาไปอุดมศึกษา วนอยู่ ๒๐ กว่าร้าน
 
พอตกเย็น ครูก็พาผมไปที่ร้านอาหารครัววังหน้า สมัยก่อนเป็นสโมสรเทศบาลนครกรุงเทพ
เป็นที่ที่เห็นเวิ้งน้ำเจ้าพระยาสวยที่สุด ดวงดาวในคืนนั้น..ท้องฟ้าก็งามประหลาด ส่องแสงระยิบระยับนับหมื่นนับแสน เป็นท้องฟ้าที่งดงามมาก
ครูฮัมเพลงขึ้นมาเพลงหนึ่ง เป็นเพลงสำคัญในชีวิตของชรินทร์ นันทนาคร อีกเพลง..
"ฟ้าลุ่ม อิระวดี คืนนี้มีแต่ดาว.."
อิระวดี ..อยู่ที่ครัววังหน้านี่ละ เพลงนี้แต่งเสร็จ ครูบอกว่าให้ตั้งใจร้อง
ผมก็ไปร้องเพลงนี้ที่สถานีวิทยุ สมัยก่อนมีที่ระบายเพลง อย่างกรมประชาสัมพันธ์เราเข้าไม่ได้ เพราะว่าเป็นของคณะสุนทราภรณ์
เราก็ไปร้องเพลงกันที่วิทยุหนึ่งปณ. สถานีวิทยุรักษาดินแดน
ร้องไม่นาน ก็มีจดหมายซองสีชมพูมาถึงครูไสล ไกรเลิศ ให้ไปพบด่วน
ครูบอก " เฮ้ย ไปด้วยกันหน่อย เจ้าของเรื่องเค้าให้ไปพบ"
ตอนนั้นผมก็จำหนทางไม่ค่อยได้ว่าไปทางไหน เพราะเพิ่งมาจากเชียงใหม่
ก็เดินเข้าไป เลาะ ๆ เป็นซอกเล็กซอยน้อย ผ่านโรงพิมพ์
ก็เข้าไปเจอคนคนหนึ่ง รูปร่างเล็ก ๆ มีหนวด ท่าทางก็..ไม่ค่อยดุ
ท่านถามคำแรกว่า
"นึกยังไงถึงเอาเรื่องผู้ชนะสิบทิศไปแต่งเป็นเพลง! รู้หรือเปล่าว่าผิดกฏหมาย!!"
ครูละล่ำละลักบอก "รู้ครับ"
"อ้าว รู้แล้วทำไมทำ!"
"..เอ้อ ชอบจะเด็ด มันแหม.. มัน.. มันน่ารัก จะเด็ดเก่งมาก น่ารักเหลือเกิน"
ซักไซ้ไล่เรียงกันจนพอใจ
เจ้าของบทประพันธ์ตบโต๊ะ โป้ง!! ถาม "แล้วใครเป็นคนร้อง!!"
ครูเลยได้ที "นี่ไง นี่ ๆ ไอ้นี่ ไอ้นี่ร้อง"
ผมไปนั่งอยู่ด้วย ..ตายละวา
เจ้าของบทประพันธ์บอก "เอ้า! ลุกขึ้น! ยืนร้องหน่อย"
"เต็มที่เลยนะ .. จะไปร้องที่ไหนร้อยคนพันคนฟัง ไม่เท่าคนคนนี้ฟังนะ ติดคุกได้!! "
คืนนั้น ผมร้องเพลงนี้ ให้คนคนเดียวฟัง และต้องร้องให้ดีที่สุดในชีวิต
แต่ผมร้องคืนนั้น ผมลืมทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะมีครูคอยให้กำลังใจอยู่ใกล้ ๆ
ร้องมาถึงท่อน เจ็บใจคนรักโดนรังแก ผมสังเกต เห็นท่านเอามือตบโต๊ะ ผมก็นึก ..เออ สงสัยจะสอบไล่ได้ พอจบเพลง ท่านบอก "รอเดี๋ยว!"
ท่านก็เข้าไปข้างใน เอาหนังสือผู้ชนะสิบทิศมาให้ครูหนึ่งชุด แปดเล่ม แล้วเขียนที่หน้าปกว่า
'อนุญาตให้นายไสล ไกรเลิศ นำเรื่องราวทั้งหมดนี้ ไปแต่งเป็นเพลงได้แต่ผู้เดียว'
ลงชื่อ ยาขอบ
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ครูไสล ไกรเลิศแต่งหมด
ไขลูสู้ตาย,อเทตยาพ้อรัก, กุสุมาอธิษฐาน, กุสุมาวอนสวาท ,จันทรางามพักตร์,จะเลงกะโบโศกา,
แต่งหมดทั้งเล่ม.
โฆษณา