7 พ.ย. 2022 เวลา 04:56 • สุขภาพ
เข้าใจโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทใน 3 นาที
โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง วันนี้หมอจะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกฉบับรวดรัดฉับไวให้ฟังกันครับ
เข้าใจโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทใน 3 นาที
🔸 หมอนรองกระดูกคืออะไร
หมอนรองกระดูกคือ อวัยวะนิ่ม ๆ ที่คั่นอยู่ระหว่างปล้องกระดูกสันหลัง ทำให้หลังของเราสามารถก้มหน้าหลัง หรือแอ่นไปมาได้ เปลือกภายนอกมีลักษณะหยุ่น ๆ คล้ายยางลบ ส่วนไส้ข้างในจะมีลักษณะนิ่มๆ เหมือนเยลลี่
🔸 ร่างกายของเราไม่รู้จักหมอนรองกระดูก
เซลล์ภูมิคุ้มกันของเรามองเห็นหมอนรองกระดูกเป็นเซลล์แปลกปลอมนอกร่างกาย เมื่อเจอแล้วจำเป็นต้องกำจัดทิ้ง
ในขณะที่ยังเป็นตัวอ่อน จะมีช่วงหนึ่งที่ระบบภูมิคุ้มกันจะต้องเรียนรู้เพื่อที่จะแยกแยะว่าเซลล์ไหนเป็นเซลล์ของร่างกายเราเอง และอันไหนเป็นเซลล์แปลกปลอม (อย่างเช่น เชื้อโรค) เจอที่ไหนจะได้กำจัดทิ้งซะ พูดง่าย ๆ ว่าเหมือนไปโรงเรียนเลยล่ะครับ
ส่วนสาเหตุที่ว่า ทำไมร่างกายของเราไม่รู้จักหมอนรองกระดูก ก็เพราะว่าเจ้าหมอนรองกระดูกนี้กลับถูกเปลือกข้างนอกห่อหุ้มจนมิดชิดซะก่อนที่ระบบภูมิคุ้มกันจะได้รู้จักมัน ดังนั้นสำหรับร่างกายเราแล้ว หมอนรองกระดูกนี้คือสิ่งแปลกปลอมที่ต้องกำจัดนะครับ
🔸 ทำไมหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมาจึงหายไปเองได้
เมื่อหมอนรองกระดูกเสื่อมจนถึงขั้นหนึ่งจนเปลือกเกิดฉีกขาด ทำให้หมอนรองกระดูกที่เคยอยู่ข้างในหลุดออกมาข้างนอกได้ ภูมิคุ้มกันของเราก็จะเริ่มทำงานเหมือนตำรวจเจอผู้ร้าย มีการโทรเรียกเพื่อนตำรวจๆ มารวมกัน และก็จะเริ่มการมีการสร้างสารอักเสบเพื่อทำลายสิ่งแปลกปลอมนี้ออกไปจากร่างกาย รวมถึงจับกินด้วย ฟังดูโหดดีนะครับ ขั้นตอนในการจับกุมและทำลายนี้กินเวลาราว ๆ 4 ถึง 12 สัปดาห์ หมอนรองกระดูกส่วนที่ปลิ้นออกมาก็จะหายไป
หมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมาส่วนใหญ่หายได้เองด้วยกลไกตามธรรมชาติโดยไม่ต้องผ่าตัด
🔸 แล้วทำไมบางคนยังปวดอยู่
ในคนไข้บางคนหมอนที่ปลิ้นออกมามีขนาดใหญ่ ภูมิคุ้มกันไม่สามารถทำลายได้หมด อาการปวดที่เหลืออาจไม่ใช่จากปฏิกริยาการอักเสบอย่างเดียว แต่อาจมาจากการกดทับเส้นประสาทที่อยู่รอบ ๆ ด้วย
อาการปวดของโรคหมอนรองกระดูกปลิ้น นอกจากจะเกิดจากปฏิกริยาการอักเสบแล้ว ส่วนหนึ่งยังเกิดจากแรงกดทับของตัวหมอนรองกระดูกที่ฉีกปลิ้นต่อตัวเส้นประสาทด้วย
นอกจากนี้ ยังมีคนไข้บางคนที่มีโพรงกระดูกสันหลังแคบกว่าคนทั่วไป หมอนรองกระดูกชื้นที่ไม่ใหญ่มากก็อาจก่อให้เกิดแรงกดทับเหมือนกับหมอนชิ้นใหญ่ได้เหมือนกัน
🔸 โรคของกระดูกสันหลัง แต่ทำไมปวดขาหรือแขนมากกว่าปวดหลังหรือคอ
อันนี้แปลกแต่จริงครับ เนื่องจากหมอนรองกระดูกนั้นอยู่ใกล้ชิดมากกับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงแขนขา เมื่อมีการอักเสบรบกวนเส้นประสาท อาการเหล่านั้นก็จะเกิดขึ้นตามเส้นทางที่เส้นประสาทเส้นนั้นวิ่งไป ซึ่งอาการของเส้นประสาทแต่ละเส้นก็จะมีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน บางครั้งเพียงแค่ฟังประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียดก็สามารถบอกได้แล้วว่าเป็นปัญหาจากเส้นประสาทเส้นไหน
การตรวจ MRI ก็จะเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อยืนยันการวินิจฉัย และช่วยในการวางแผนการรักษา
1
🔸 ทำไมจึงควรมาพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ
ถึงจะเป็นโรคที่หายเองได้ก็ควรมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ ครับ โรคนี้เป็นหนึ่งในโรคที่สร้างความเจ็บปวดทรมานที่สุดโรคหนึ่งเลยทีเดียว ใครที่เคยเป็นกับตัวเองหรือมีคนใกล้ชิดเป็นจะเข้าใจได้ดี การใช้ยาแก้ปวดสำหรับโรคนี้มักจะต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกันคุมอาการ ดังนั้นไม่ควรซื้อยากินเองนะครับ นอกจากนั้นแล้วมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีสัญญาณอันตรายที่ต้องตรวจให้พบและรักษาให้รวดเร็วอีกด้วยครับ
🔸 สัญญาณอันตรายที่ต้องพบแพทย์ด่วน
อาการปวดขาหรือแขนรุนแรงจนมีอาการชาหรืออ่อนแรงของแขนหรือขาร่วมด้วย กระดกข้อเท้าไม่ขึ้น ชารอบ ๆ ก้น ปัสสาวะอุจจาระไม่ออก ถ้ามีอาการเหล่านี้รีบมาเลยครับ อาการพวกนี้แสดงว่าเส้นประสาทถูกกดทับอย่างรุนแรง หรือโดนกดทับมานานจนมันเริ่มจะทำงานไม่ไหวแล้ว
🔸 การรักษาแบบไม่ผ่าตัดมาก่อนเสมอ
นอกเสียจากมีอาการเร่งด่วนทางด้านบนนะครับ การรักษาด้วยยาแก้ปวดที่เหมาะสม ร่วมกับการเข้ารับการกายภาพบำบัดที่เหมาะสมมักจะเพียงพอแล้วในคนไข้ส่วนใหญ่
🔸 ทางเลือกในการรักษา
ในกรณีที่ยาแก้ปวดแบบรับประทานไม่ได้ผล การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาท ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ให้ผลการรักษาดีมาก ๆ
🔸 เมื่อไรที่ควรตัดสินใจผ่าตัด
อย่างแรกเลยคือเมื่อมีสัญญาณอันตรายตามข้างบนครับ มีเมื่อไรควรจะผ่าทันที โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการขับถ่ายเป็นขึ้นมาแล้วจะแก้ยากมาก ๆ
หมอมักจะให้คนไข้จดบันทึกระดับความรู้สึกปวดของตัวเองไว้ในแต่ละวัน พอเวลาผ่านไป เราก็จะมาดูคะแนนความปวดกันว่ากราฟมันค่อย ๆ ลดลงอย่างที่คาดหรือเปล่า ถ้าอาการปวดแย่ลงจนคุณภาพชีวิตเสียหรือแขนขาอ่อนแรงเพิ่มขึ้นก็ควรจะพิจารณาไปหยิบสิ่งที่กดเส้นประสาทออกแล้วล่ะครับ
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกเคลื่อนด้วยกล้องเอ็นโดสโคปผ่านทางแผลขนาดราว 8มม. เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังการผ่าตัด
แน่นอนว่าใคร ๆ ก็ไม่อยากผ่าตัดครับ แต่การหยิบเอาสิ่งที่ทับเส้นประสาทอยู่ออกไปเร็ว เส้นประสาทก็ย่อมมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่า ในการผ่าตัดแพทย์ทำได้แค่หยิบเอาสิ่งที่ทับเส้นประสาทอยู่ออกไป ส่วนการฟื้นฟูจะดีหรือไม่นั้นยังขึ้นกับสภาพของเส้นประสาทเองอีกด้วย
ไม่รีบ.. แต่ก็อย่าช้าเกินไปนะครับ
โรคหมอนรองกระดูกปลิ้นโดยส่วนใหญ่เป็นแล้วหายเองได้ด้วยกลไกตามธรรมชาติ ความเจ็บปวดแม้จะรุนแรงในช่วงแรกแต่มักจะดีขึ้นเป็นลำดับ การเข้ารับการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ ทำให้ผลการรักษาดีกว่า การผ่าตัดจะถูกพิจารณาเป็นกรณีท้าย ๆ เมื่อการรักษาอื่นไม่ได้ผลหรือเริ่มมีการสูญเสียการทำงานของเส้นประสาท

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา