Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
GedGoodLife
•
ติดตาม
7 พ.ย. 2022 เวลา 07:59 • สุขภาพ
โรคไข้ฉี่หนู และ โรคเนื้อเน่า อันตรายจากภัยน้ำท่วม
สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน เรียกได้ว่าหนักหนาสาหัสอย่างมาก และเรื่องอันตรายตามมาก็คือ โรคติดต่อที่มักมากับน้ำ โดยวันนี้ GED good life จะพาไปทำความรู้จักกับ “โรคไข้ฉี่หนู และ โรคเนื้อเน่า” ที่พบมากในหน้าฝน และในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะบุคคลที่ต้องทำงานการเกษตร เช่น ชาวไร่ ชาวนา และผู้ที่ต้องเดินลุยน้ำตลอดทั้งวัน ต้องระวังไว้ให้ดี!
โรคไข้ฉี่หนู
โรคเล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น หนู สุกร สุนัข (แต่พบมากในหนู) เชื้อจะปนเปื้อนอยู่ในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง
เข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผลรอยขีดข่วน ผิวหนังเปื่อยเนื่องจากแช่น้ำ หรือผ่านเยื่อบุตา จมูกและปาก มักจะพบการระบาดในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน เนื่องจากเป็นฤดูฝนต่อหนาว มีน้ำขัง
โดยปกติแล้วโรคฉี่หนูจะสามารถเป็นแล้วหายเองได้ หากต้องรับประทานยา แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลา 5-7 วัน เพื่อให้เชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดออกไปจนหมด แต่หากมีอาการรุนแรงแพทย์จะทำการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าเส้นเลือดโดยตรง และต้องนอนเพื่อดูอาการที่โรงพยาบาลเพราะเชื้อดังกล่าวอาจส่งผลให้อวัยวะนั้น ๆ หยุดทำงานได้
อาการของโรคไข้ฉี่หนู
เมื่อเชื้อโรคฉี่หนูเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือด และกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย บางรายมีอาการภายใน 2 วัน บางรายนานหลายสัปดาห์ หรืออาจจะถึง 1 เดือน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มมีอาการ 1-2 สัปดาห์หลังจากรับเชื้อ
• มีไข้เฉียบพลัน ไข้สูง
• ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง (โดยเฉพาะน่องขา)
• คลื่นไส้ อาเจียน
• ตาแดง
• ผื่นขึ้น
• ตาเหลือง ตัวเหลือง
พฤติกรรมที่ทำให้มีโอกาสติดโรคไข้ฉี่หนู
• เดินลุยน้ำเมื่อมีบาดแผลที่บริเวณขา และเท้า
• กินอาหารที่วางทิ้งไว้โดยไม่มีภาชนะปกปิด
• กินอาหารที่ค้างคืน และสงสัยมีหนูมาฉี่ราด
วิธีป้องกันโรคไข้ฉี่หนู
• ล้างผักที่เก็บมาจากไร่ จากนา ให้สะอาดก่อนรับประทาน
• เก็บอาหารใส่ตู้ หรือมีฝาชีปิดมิดชิดเสมอ
• เมื่อเดินลุยน้ำ และโคลนมา ให้รีบทำความสะอาดเท้าให้สะอาด
• สวมรองเท้าบู๊ทเมื่อมีแผลเวลาเดินลุยน้ำ
• ทำความสะอาดบ้านสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีหนูเข้ามาอาศัย
โรคเนื้อเน่า
โรคแบคทีเรียกินเนื้อ หรือ โรคเนื้อเน่า (Flesh-eating disease) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรงที่ผิวหนังชั้นลึก ตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ไปจนถึงชั้นเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ และอาจลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้
เป็นโรคที่ค่อนข้างน่ากลัว และแผลจะเป็นวงกว้าง และลึกมาก โรคนี้แม้พบไม่บ่อย แต่มีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิต หรือเกิดภาวะทุพพลภาพจากโรคตามมาได้สูง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที
สาเหตุของโรคนี้ คือการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ โดยพบว่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุที่สำคัญ คือ เชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A Streptococci) แต่เชื้อที่มีความรุนแรง คือ เชื้อแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas hydrophila)
ช่วงระยะเวลาที่พบผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากที่สุดในประเทศไทย คือ ช่วงเดือนมีนาคม ถึง มิถุนายน และรองลงมา คือ เดือนกรกฎาคม ถึง ตุลาคม ของทุกปี และมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง มักพบในเกษตรกรที่ทำไร่ทำนา
อาการของโรคเนื้อเน่า
• ในระยะแรกของการติดเชื้อ จะเกิดอาการ เจ็บ ปวด บวม แดง ร้อนที่ผิวหนังอย่างรวดเร็ว
• เมื่อเชื้อลุกลามมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ร่วมกับผิวหนังบริเวณที่มีการติดเชื้อจะเริ่มบวม แดง ร้อนอย่างชัดเจน
• ผิวหนังบริเวณบาดแผลมีสีคล้ำ ม่วง ดำ หรือมีถุงน้ำเกิดขึ้น
• ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือ การช็อคจากการติดเชื้อในกระแสเลือด เบาหวาน และภาวะไตวาย
• ตำแหน่งที่พบรอยโรคส่วนใหญ่ คือ บริเวณแขน ขา และเท้า
บุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค
1. ผู้ที่มีบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นมีดบาด ตะปูตำ สัตว์กัดหรือข่วน แล้วไม่มีการทำความสะอาดบาดแผล หรือทำความสะอาดบาดแผลอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มดังกล่าว จนเกิดการอักเสบอย่างรุนแรง
2. ผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานโรคไม่ดี เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน ภาวะไตวาย หลอดเลือดผิดปกติ มะเร็ง ผู้สูงอายุที่ได้เคมีบำบัด ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ เป็นต้น
การรักษา
• หัวใจสำคัญของการรักษาโรคแบคทีเรียกินเนื้อ คือ การวินิจฉัยโรคให้เร็ว และผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อหรือเนื้อเยื่อที่เน่าตายออกให้มากที่สุด
• ถ้ามีบาดแผลเกิดขึ้นไม่ว่าจะเล็ก หรือใหญ่จากสาเหตุใด ๆ ก็ตาม เช่นถูกของมีคมข่วน ตำ แทง บาด หรือถูกสัตว์เลี้ยงข่วนหรือกัด ควรทำความสะอาดทันที โดยใช้น้ำสะอาด สบู่ หรือแอลกอฮอล์ 70% ทำความสะอาดบริเวณรอบบาดแผล และใส่ยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม เช่น โพวิโดนไอโอดีน ที่บาดแผล ห้ามใช้ยาผงโรยใส่แผลโดยตรง และควรสังเกตว่าบาดแผลนั้นลึกหรือไม่ ถ้าลักษณะของบาดแผลรวมถึงสิ่งที่ทำให้เกิดบาดแผลนั้น มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นแหล่งของเชื้อโรค ควรปรึกษาแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง และป้องกันการติดเชื้อ
• กินอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ต่าง ๆ และผักผลไม้ เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
• รีบพบแพทย์ ถ้ามีอาการผิดปกติภายหลังการเกิดบาดแผล เช่น มีไข้ ปวด บวมบริเวณบาดแผลเพิ่มมากขึ้น
การป้องกัน
• ระวังอย่าให้มีบาดแผลเกิดขึ้น
• รักษาความสะอาดของร่างกายเสมอ
• ในช่วงน้ำท่วมขอให้ใส่รองเท้าบู๊ทยาว ป้องกันถูกของมีคมทิ่มแทงที่เท้า และป้องกันบาดแผลที่ขา
• หากมีบาดแผลขอให้หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ
จะเห็นได้ว่าทั้ง โรคไข้ฉี่หนู และ โรคเนื้อเน่า เป็นโรคที่น่ากลัว และเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทั้ง 2 โรค ซึ่งโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นมีความอันตรายร้ายแรงมากกว่าโรคที่เกิดจากเชื่อไวรัสเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะโรคเนื้อเน่า หากได้เห็นสภาพแผลของผู้ป่วยแล้ว อาจทำให้เป็นลมได้เลยทีเดียว ฉะนั้นในช่วงฝนตก น้ำท่วมขัง พยายามป้องกันตนเองอย่างถูกต้องตามที่กล่าวไป ก็จะช่วยให้รอดพ้นจากโรคร้ายทั้ง 2 นี้ได้อย่างแน่นอน
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย