28 เม.ย. 2023 เวลา 13:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

"Stormquake - สตอร์มเควก"

พายุทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้อย่างไร?
พายุกับแผ่นดินไหว ดูจะเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่ค่อยเชื่อมโยงกันเท่าไหร่นัก
แต่บ่อยครั้งที่ผ่านมาเมื่อเกิดพายุขนาดใหญ่และตามด้วยเหตุแผ่นดินไหว ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยว่าภัยธรรมชาติสองอย่างนี้มีความเกี่ยวข้องกัน
แผ่นดินไหวใหญ่ภูมิภาคคันโต ประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1923 เกิดขึ้นภายหลังพายุใต้ฝุ่นขนาดใหญ่
แนวคิดแผ่นดินไหวจากพายุขนาดใหญ่มีมาราว 2,400 ปีล่วงมาแล้ว มีหลายทฤษฎี หลายแนวคิดที่พยายามอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว เช่น
แนวคิดของอริสโตเติลที่ว่า ลมพายุที่รุนแรงมากพัดผ่านช่องว่างของถ้ำใต้ดิน แล้วดันผนังถ้ำกับเพดานถ้ำจนเกิดการสั่นสะเทือน ส่งพลังงานขึ้นมาบนพื้นดินเป็นแผ่นดินไหว
อีกทฤษฎีหนึ่งที่ว่า พายุขนาดใหญ่ทำให้น้ำฝนปริมาณมหาศาลตกลงสู่พื้นดิน ส่งผลให้พื้นดินหนักขึ้น เกิดการสะสมของพลังงาน จนเมื่อถึงจุดที่แผ่นดินรับน้ำหนักไว้ไม่ไหวจึงเคลื่อนตัวเกิดเป็นแผ่นดินไหว
ในปีค.ศ. 2019 ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตต ในสหรัฐอเมริกา รายงานในวารสาร Geophysical Research Letters  ยืนยันปรากฏการณ์ Stormquake เป็นครั้งแรก
พายุเฮอริเคนที่เกิดในอ่าวแม็กซิโกกำลังขึ้นฝั่งที่สหรัฐฯ
คณะวิจัยได้นำข้อมูลการเกิดพายุขนาดใหญ่และแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.2006 - 2015 บริเวณชายฝั่งสหรัฐอเมริกามาวิเคราะห์
พบว่าพายุเฮอริเคนที่ทำให้เกิดคลื่นทะเลรุนแรงสามารถส่งพลังงานผ่านทะเลเขตน้ำตื้น ลงไปปะทะกับพื้นทะเล ทำให้เกิดคลื่นไหวสะเทิน (seismic wave) ถ่ายทอดพลังงานบนพื้นโลกเป็นแผ่นดินไหว
ไม่ใช่ว่าพายุขนาดใหญ่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ทุกลูก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางธรณีด้วย
รายงานดังกล่าวยังสอดคล้องกับงานวิจัยของ Christopher Johnson นักธรณีฟิสิกส์ และคณะ ไม่กี่เดือนก่อนการรายงานนี้ที่ศึกษาการสั่นสะเทือนของพื้นดินที่เกิดจากแรงลมใกล้เขตรอยเลื่อนอีกด้วย
การวิจัยของ Johnson และคณะ โดยการใช้เครื่องรับคลื่นไหวสะเทือน (Geophone) ในการวัดคลื่นไหวสะเทือนจากใต้ดินที่เป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ บนดิน
อย่างไรก็ตาม การศึกษาเรื่อง Stormquake ยังมีน้อยมากและจำกัดอยู่เฉพาะในสหรัฐอเมริกา อีกทั้งทฤษฎีอื่นๆ ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ยังต้องมีการศึกษาค้นคว้ากันต่อไปให้เป็นที่กระจ่างมากขึ้น
อ้างอิง :
โฆษณา