8 พ.ย. 2022 เวลา 11:05 • คริปโทเคอร์เรนซี
อะไรคือสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDCs) แล้วมีประเทศไหนบ้างที่กำลังพัฒนาสิ่งนี้
คริปโตเคอร์เรนซีหรือว่าสกุลเงินดิจิทัลนั้นได้ปลุกกระแสการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแบบใหม่ที่จะมาแทนระบบการเงินแบบเดิม ด้วยการนำเทคโนโลยีแบบไร้ศูนย์กลางที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้อย่างบล็อกเชนมาใช้ อีกทั้งบล็อกเชนยังลดบทบาทของตัวกลางอย่างธนาคารลง ทำให้บรรดาธนาคารกลางของประเทศทั่วโลกได้เริ่มเข้ามาศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มขีดความสามารถ และการออกสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง หรือที่เรียกกว่า “CBDC”
อะไรคือสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDCs) แล้วมีประเทศไหนบ้างที่กำลังพัฒนาสิ่งนี้
วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกันว่า CBDC คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับระบบการเงินในปัจจุบัน และมีประเทศใดบ้างที่มี CBDC หรือกำลังศึกษาสิ่งนี้อยู่บ้าง
อะไรคือสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง
เงินเฟียต (Fiat Money) คือระบบของเงินที่ใช้ในปัจจุบัน โดย Fiat Money คือเงินที่ไม่ได้มีมูลค่าในตัวมันเอง ไม่ได้มีสินค้าหรือแร่ธาตุอย่างเช่น ทอง คอยหนุนหลัง แต่จะถูกรับรองด้วยรัฐบาลที่เป็นผู้ออกสกุลเงินนั้นๆ
โดยมูลค่าของ Fiat Money นั้นขึ้นอยู่กับ อุปสงค์ อุปทาน (demand-supply) ความมั่นคงของรัฐบาลผู้ออกสกุลเงิน และความเชื่อมันของผู้คนต่อสกุลเงินนั้นๆ
สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency : CBDC) คือ เงินที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ออกโดยธนาคารกลาง และจะมีค่าเท่ากับสกุลเงินหลักของประเทศนั้นๆ ซึ่งในปัจจุบันมีกว่า 105 ประเทศทั่วโลกกำลังเริ่มศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการนำ CBDC มาใช้ และมี 50 กว่าประเทศที่กำลังเดินหน้าอย่างจริงจัง
โดยการสร้างและออกแบบระบบมารองรับ CBDC นั้นสามารถเป็นได้หลายรูปแบบมาก แต่ธนาคารกลางหลายแห่งต่างก็เสนอให้นำระบบบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี Distrubuted Ledger Technology (DLT) มาใช้กับ CBDC
(โดย DLT คือการใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน โดยข้อมูลในการทำธุรกรรมนั้นจะถูกบันทึกไว้พร้อมกันในหลายๆ ที่ อาจจะเป็นเครือข่ายที่ถูกควบคุมโดยส่วนกลาง หรือว่าจะเป็นเครือข่ายแบบกระจายอำนาจโดยที่ไม่ส่วนกลางควบคุมก็ได้)
สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง ไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี
ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะคาดการณ์กันว่า CBDC จะถูกใช้งานบนระบบบล็อกเชน แต่ทว่า สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางนั้น ไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี เพราะคริปโตเคอร์เรนซี มีหลักการและแนวคิดเรื่องความเป็น Decentralized ไม่ได้ถูกควบคุมโดยคน หรือองค์กรใดๆ แต่ CBDC นั้นถูกกำกับดูแลด้วยหน่วยงานรัฐอย่างธนาคารกลาง และรัฐบาลของสกุลเงินนั้นๆ ซึ่งขัดกับแนวคิดและหลักการของคริปโตเคอร์เรนซี
เป้าหมายของ CBDC (ในมุมมองของรัฐบาล และธนาคารกลาง)
ธนาคารกลางได้กล่าวว่า CBDC จะมอบความเป็นส่วนตัว, ความสะดวกในการใช้งาน, เข้าถึงง่าย และมอบความปลอดภัยทางการเงินให้กับผู้ใช้งาน นอกจากนี้ CBDC ยังมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาน้อยกว่าระบบการเงินแบบเดิมค่อนข้างมาก และยังสามารถลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงินข้ามพรมแดนได้อีกด้วย
นอกจากนี้ สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางจะช่วยลดความเสี่ยงในการใช้สกุลเงินดิจิทัลในปัจจุบันอย่าง คริปโตเคอร์เรนซี ที่มีความผันผวนทางมูลค่าสูงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งความผันผวนของราคาอาจก่อให้เกิดปัญหาทางการเงิน และส่งผลเสียต่อเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจได้ CBDC ที่ควบคุมโดยรัฐบาลจะช่วยให้ผู้ใช้งาน รู้สึกได้ถึงความมีเสถียรภาพทางการเงิน
รูปแบบของ CBDC
CBDC นั้นแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ Wholesale CBDC และ Retail CBDC
Wholesale CBDC น้ันเปรียบเสมือนเงินสำรองของธนาคารกลาง เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่จะถูกใช้โดยสถาบันทางการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ต่างๆ และธนาคารกลางสามารถใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่น การเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อควบคุมการใช้งาน CBDC ได้
Retail CBDC เป็นเหมือนสกุลเงินดิจิทัลได้รับการรับรองจากรัฐบาล ซึ่งผู้บริโภคและภาคธุรกิจสามารถนำไปใช้งานได้อย่างสบายใจ ช่วยลดความเสี่ยงจากตัวกลาง และความเสี่ยงจากผู้ที่ออกสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตัวเอง ตัวอย่างเช่น Tether USD (USDT), Circle USD (USDC)
ประเทศที่มีการใช้งานและกำลังพัฒนาระบบสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง
จีน
หนึ่งในประเทศที่สนใจและเร่งเดินหน้าพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง โดยทางธนาคารกลางของประเทศจีน (the People’s Bank of China : PBOC) ได้ใช้ชื่อว่า Digital Currency Electronic Payment (DCEP) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “หยวนดิจิทัล (Digital Yuan : e-CNY)
PBOC ได้เริ่มดำเนินการทดลอง DCEP ตั้งแต่ปี 2014 โดยจีนเป็นประเทศแรกของโลกที่ได้เริ่มดำเนินการเกี่ยวกับ CBDC อย่างจริงจัง และได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในการพัฒนาเพื่อต่อสู้กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยได้คาดการณ์กันว่าระบบ DCEP นั้นจะทำงานด้วย DLT และ Blockchain
หมู่เกาะบาฮามาส
ธนาคารกลางของบาฮามาส (the Central Bank of The Bahamas) ได้ทำการเปิดตัว Sand Dollar ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองเมื่อปี 2022 โดย Sand Dollar นั้นเป็น CBDC สกุลแรกของโลก มีการใช้งานครั้งแรกบนเกาะ Exuma และ Abacos
โดยธนาคารกลางตั้งใจให้ชุมชนที่ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการชำระเงินแบบดิจิทัลได้มากขึ้น โดยผู้ที่ต้องการจะใช้ Sand Dollar นั้นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการ KYC (Know Your Customer) และ AML (Anti-Money Laundering)
สวีเดน
ในปี 2017 ธนาคารกลางของประเทศสวีเดน (Sweden’s Riksbank) ได้เริ่มมีการนำระบบ CBDC ทีมีชื่อว่าโครนาดิจิทัล (e-Krona) มาใช้ เนื่องจากจำนวนการใช้เงินสดของประชาชนนั้นลดลง โดยในปี 2010 ประเทศสวีเดินมีการใช้เงินสดประมาณ 40% แต่ในปี 2016 จำนวนการใช้เงินสดลดลงเหลือ 15%
ทางธนาคารกลางของสวีเดนก็ได้เสนอว่าเทคโนโลยี DLT นั้นสามารถใช้เป็นรากฐานของระบบสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางได้ โดยในปี 2020 ได้มีการทดสอบ e-Krona ร่วมกับบริษัทไอทีอย่าง Accenture ผ่านแพลตฟอร์ม Corda ของบริษัทชั้นนำด้านบล็อกเชน R3
แต่ถึงอย่างนั้นทางธนาคารกลางของสวีเดน ก็ได้มีความคิดเห็นว่าระบบ DLT มีข้อเสียหลายประการ เช่น ธุรกรรมที่ทำต้องได้รับการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบบนบล็อกเชนทุกคน ทำให้เสียเวลาและสิ้นเปลืองพลังงาน รวมไปถึงความเสี่ยงทางด้านความปลอดภัยของการใช้เครือข่ายแบบ Opensource
รัสเซีย
เมื่อเดือนตุลาคม 2020 ธนาคารกลางรัสเซีย (The Bank of Russia : BOR) ได้ประกาศว่าจะเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลของประเทศภายในปี 2021 โดยจะใช้ชื่อว่ารูเบิลดิจิทัล (Digital Ruble) โดยจะนำเทคโนโลยี DLT แบบ Open Source มาใช้
ในเดือนมิถุนายนปี 2021 BOR ประกาศว่าได้มีการร่วมมือกับ 12 ธนาคารในประเทศเพื่อพัฒนารูเบิลดิจิทัล และในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 BOR ได้ประกาศสร้างต้นแบบของแพลตฟอร์มสำหรับสกุลเงินดิจิทัล และธนาคารที่เข้าร่วมทดสอบก็สามารถโอนเงินรูเบิลดิจิทัลบนมือถือได้สำเร็จ
โดย BOR นั้นได้ประกาศการทดสอบเป็นระยะๆ และวางแผนที่จะเปิดตัว CBDC เมื่อการทดสอบนั้นเสร็จสิ้น
___
ติดตามข่าวอื่นๆ และบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่
Facebook Craft - facebook.com/entertostart
Twitter Craft - twitter.com/EntertoStart
Telegram Craft - t.me/entertostart
Telegram News - t.me/entertostart_news
___
ติดตามอ่านบนเว็บไซต์ได้ที่ https://entertostart.co/what-is-central-bank-digital-currency-cbdcs/
โฆษณา