8 พ.ย. 2022 เวลา 10:25 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อยากลดหย่อนภาษี ซื้ออะไรดี ?
อย่างที่เราเข้าใจว่าในการเริ่มต้นบริหารภาษี ก้าวแรกที่ง่ายที่สุด คือ การใช้สิทธิ “ลดหย่อนภาษี” เพิ่มเติม คำถามอันดับแรก ๆ เลย คือ ถ้าอยากลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม ควรซื้อลดหย่อนอะไรเพิ่มดี
ซึ่งต้องบอกว่าคำตอบนั้นก็ไม่ได้ตายตัวว่าจะใช้เครื่องมือทางการเงินแบบใดในลักษณะไหน ขึ้นอยู่กับโจทย์และสถานการณ์ปัจจุบันของแต่ละคน
เนื่องจากสินค้าทางการเงินที่เปิดให้เราซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีทุกตัว ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันจะอยู่ที่แก่นของสินค้าทางการเงินนั้นว่าถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาในด้านใด
  • ประกันสุขภาพ
“ประกันสุขภาพ” สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อนับรวมกับเบี้ยประกันชีวิตห้ามเกิน 100,000 บาท
ซึ่ง “ประกันสุขภาพ” นั้น จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรมี ยิ่งใครก็ตามที่ไม่มีสวัสดิการประกันกลุ่มต่าง ๆ จากที่อื่น ๆ เลย เนื่องจากประกันสุขภาพเป็นเหมือนเกราะป้องกันเงินออมของเราจากเหตุการณ์เจ็บไข้ได้ป่วยต่าง ๆ จนดึงเงินเก็บของเราไปจนหมด
  • ประกันชีวิตแบบเน้นความคุ้มครองและแบบสะสมทรัพย์
“ประกันชีวิตแบบเน้นความคุ้มครองและแบบสะสมทรัพย์” สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • ประกันชีวิตแบบเน้นความคุ้มครอง
สำหรับ “ประกันชีวิตแบบเน้นความคุ้มรอง” นั้น จะเหมาะกับคนที่เป็นเสาหลักของครอบครัว เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมาจริง ๆ อย่างน้อยที่สุดครอบครัวจะมีเงินก้อนในการปรับตัวและยังสามารถดำเนินชีวิตต่อได้อย่างไม่สะดุด มีจุดเด่นคือค่าเบี้ยประกันชีวิตต่ำ แต่ความคุ้มครองสูง
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
หรือถ้าเป็นประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากสร้างผลตอบแทนแต่ไม่อยากเสี่ยงมาก ซึ่งประกันสะสมทรัพย์เองอาจจะไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่มากนัก แต่ถ้าหากรวมผลประโยชน์จากภาษีเข้าคำนวณด้วยก็ถือว่าให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งข้อดีของประกันสะสมทรัพย์ คือ การที่มีเงินคืนที่ชัดเจนและมีความคุ้มครองเพิ่มเติมขึ้นมา
  • ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
“ประกันชีวิตแบบบำนาญ” สามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริงไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อคำนวณรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนห้ามเกิน 500,000 บาท
ประกันแบบบำนาญเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คล้าย ๆ ประกันสะสมทรัพย์ แต่จะจ่ายเงินให้เราหลังเกษียณทุกปีเหมือนเงินบำนาญ เหมาะสำหรับการใช้ควบคู่กับการวางแผนเกษียณอายุและคนที่ใช้ตัวลดหย่อนอื่นเริ่มเต็มแล้ว ประกันแบบบำนาญก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยได้เช่นกัน
  • SSF
“กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)” สามารถนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% และไม่เกิน 200,000 บาท ของเงินได้ และเมื่อนับรวม กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนห้ามเกิน 500,000 บาท
ในด้านของเครื่องมือในการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีนั้น “กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)” จะเป็นทางเลือกเริ่มต้นสำหรับคนที่เริ่มอยากลงทุน เพราะเงื่อนไขที่เข้าใจไม่ยากจนเกินไปและระยะเวลาการลงทุนที่ 10 ปี ในระยะที่ยาวมากขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนได้ ซึ่ง SSF ไม่มีข้อจำกัดในการลงทุนแต่อย่างใด สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลายไม่ว่า ตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
“กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)” สามารถนำเงินลงทุนไปลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% และเมื่อนับรวม กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนห้ามเกิน 500,000 บาท
  • RMF
สำหรับในส่วนของ RMF ถือว่าเป็นกองทุนรวมที่เหมาะกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุเป็นอย่างมาก เนื่องจากเงื่อนไขที่ต้องซื้อทุกปี ที่ถือว่าเป็นการทยอยลงทุนอย่างต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี รวมถึงเงื่อนไขการถือที่จะต้องถืออย่างน้อย 5 ปี และขายออกได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์เท่านั้น
การลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีนั้น ทางที่ดีควรจะกระจายไปในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลาย เพราะแต่ละสินทรัพย์จะตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินและประโยชน์ที่แตกต่างกัน หากเราลงทุนผิดพลาดหรือเกิดวิกฤตในช่วงที่ต้องใช้เงิน (ซึ่งผลตอบแทนจากกองทุนอาจไม่ดีนัก และไม่ควรถอนเงินออกมาในช่วงนั้น) เราก็ยังมีเงินจากประกันสะสมทรัพย์ที่ได้เงินออกมาแน่นอนเป็นแผนสำรองได้ ก็จะทำให้ความเสี่ยงไม่กระจุกตัวและแผนการเงินของเราเดินไปได้อย่างมั่นคง
โฆษณา