9 พ.ย. 2022 เวลา 02:30 • ธุรกิจ
ทำไม ไม้กฤษณา ถึงเป็นสินค้าราคาสูง ตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน
1
เชื่อหรือไม่ว่า “ไม้กฤษณา” อาจมีราคาสูงกว่า “ทองคำ”
โดย ทองคำ 1 กิโลกรัม มีมูลค่าอยู่ที่ 2.2 ล้านบาท
ส่วน ไม้กฤษณาคุณภาพเยี่ยม จะมีราคาสูงถึง 3.8 ล้านบาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าสูงกว่า ทองคำเกือบ 1 เท่าตัวเลยทีเดียว
นี่จึงไม่แปลกนัก ที่ไม้กฤษณาได้สมญานามว่า “ไม้ของพระเจ้า”
2
ซึ่งในสมัยอยุธยา ไม้กฤษณาเคยเป็นเครื่องราชบรรณาการที่ส่งให้กับแคว้นมหาอำนาจอื่น ๆ
รวมถึงยังเป็นสินค้าส่งออกยอดนิยม ที่ทั้งจีน, ญี่ปุ่น, อาหรับ, อินเดีย, โปรตุเกส และฮอลันดา ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงอยุธยา
แล้วทำไม ไม้กฤษณา ถึงมีราคาสูง ตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ไม้กฤษณา เป็นไม้พื้นถิ่นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความพิเศษของมัน อยู่ที่ “กลิ่นหอม” อันเป็นเอกลักษณ์
ซึ่งมาจากยาง หรือ “สารกฤษณา” ที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ไม้กฤษณา กลายเป็นวัตถุดิบสำคัญ ในหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ น้ำหอม, ยา, ความงาม และพิธีกรรมทางศาสนา
1
โดย Business Insider ได้รายงานว่า
ในปี 2020 ตลาดไม้กฤษณาทั่วโลก มีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท
และยังคาดว่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว
หรือคิดเป็นมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท ภายในปี 2029
1
ไม้กฤษณานับเป็นไม้เศรษฐกิจ ประจำภูมิภาคอาเซียน ที่มีประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ๆ ได้แก่ เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ลาว และไทย โดยมีสิงคโปร์และมาเลเซีย เป็นศูนย์กลางในการซื้อขายไม้กฤษณาของโลก
1
ส่วนประเทศที่นำเข้าไม้กฤษณามากที่สุด คือ
ประเทศแถบตะวันออกกลาง อย่าง
ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต
ซึ่งจะนิยมนำน้ำมันกฤษณา มาประกอบในพิธีกรรมต่าง ๆ รวมทั้งใช้ทา เพื่อป้องกันไรทะเลทราย
และรองลงมาจะเป็นประเทศแถบ “ยุโรป”
มักจะนำสารกฤษณา ไปสกัดเป็น “หัวเชื้อน้ำหอม” ในหลายแบรนด์ดัง เช่น
3
- น้ำหอม Louis Vuitton กลิ่น Ombre Nomade
- น้ำหอม Christian Dior กลิ่น Oud Ispahan
- น้ำหอม Jo Malone กลิ่น Oud & Bergamot Cologne
- น้ำหอม Tom Ford กลิ่น Oud Wood
1
ส่วนในเอเชีย อย่าง ญี่ปุ่น และไต้หวัน
ก็มีการนำเข้าไม้กฤษณาเช่นกัน
โดยจะนิยมนำไปเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง
แล้วสงสัยกันไหมว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ ไม้กฤษณา มีราคาสูง ?
1
ปัจจัยแรก คือ อุปทานของไม้กฤษณานั้นต่ำมาก เมื่อเทียบกับอุปสงค์
3
ต้นกฤษณาในธรรมชาติ เหลืออยู่น้อยมาก
โดยจากการสำรวจ พบว่า ป่าแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เคยมีต้นกฤษณาอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึง 10%
แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ในจำนวนไม่ถึง 10% นี้ ไม่ใช่ทุกต้นที่จะมีสารกฤษณา เนื่องจากสารกฤษณานั้น เกิดมาจากต้นกฤษณาที่ไม่สมบูรณ์
2
เมื่อเกิดบาดแผลบนเนื้อไม้กฤษณา ไม่ว่าจะเกิดจากการขูด-เสียดสี หรือจากสัตว์ มันจะสร้างสารเคมีออกมาเพื่อสมานแผล ซึ่งนั่นทำให้เกิดยางไม้ หรือ สารกฤษณา
และยิ่งแผล เกิดมานาน ก็จะยิ่งมีสารกฤษณามาก จนเนื้อไม้มีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ทำให้ราคายิ่งสูงตามไปด้วย
4
เนื่องจากกระบวนการนี้ต้องใช้เวลา
และสารกฤษณาที่เกิดขึ้น รอบแผลมักจะเป็นแถบแคบ ๆ แค่ 1-2 มิลลิเมตรเท่านั้น
ปัจจัยถัดมา ก็คือ กรรมวิธีที่จะได้มาซึ่งสารกฤษณานั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะหลังจาก พบต้นกฤษณาที่มีสารกฤษณาแล้ว
ก็ต้องนำไม้มาแงะ แล้วขูดอย่างละเอียดและพิถีพิถัน
เพื่อนำเนื้อไม้ส่วนที่มีสารกฤษณาที่สีเข้มกว่า แยกออกมา
1
เนื่องจากสารกฤษณากระจายอยู่ในเนื้อไม้ เฉพาะบริเวณที่เป็นแผล จึงต้องใช้แรงงานคน และไม่สามารถใช้เครื่องจักรทุ่นแรงได้
และถึงแม้ว่า จะมียางไม้หอมบางชนิดอย่าง มดยอบ หรือ ไม้จันทน์ และสารสังเคราะห์อย่าง Oud Synthetic 10760 E (Firmenich) ที่ว่ากันว่ามีกลิ่นคล้ายกับไม้กฤษณา แต่กลิ่นที่หอมติดทนนาน และเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ไม่มีสิ่งไหน สามารถทดแทนกลิ่นของไม้กฤษณาได้ 100%
1
อย่างไรก็ตาม เพราะราคาที่สูงและอุปทานที่ต่ำ ทำให้ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้คนปลูกต้นกฤษณากันมากขึ้น
อย่างในไทยก็ได้ทำการปลดล็อกไม้กฤษณา เมื่อปี 2561
ซึ่งจะอนุญาตให้ปลูกในที่ดินส่วนบุคคลได้ หลังจากที่เคยเป็นไม้ป่าหวงห้ามมานาน
นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยเพื่อหาเทคนิค ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดสารกฤษณา ตั้งแต่ การจงใจทำให้เนื้อไม้เป็นแผล ด้วยการขูดหรือเจาะรู ไปจนถึงการฉีดสารเคมี และเชื้อราบางชนิดเข้าไปในเนื้อไม้
ส่วนราคาของไม้กฤษณาสวน
จะเริ่มตั้งแต่กิโลกรัมละ 500,000-2,500,000 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพ
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้
เราอาจสรุปได้สั้น ๆ ว่า เหตุผลที่ทำให้ในสายตาของมนุษย์มอง “ไม้กฤษณา” เป็นของล้ำค่า มาตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี ก็เพราะคุณสมบัติที่หลากหลายของมัน และกลิ่นอันชวนหลงใหล ที่ยากจะเลียนแบบ
และที่สำคัญ ก็คือ ยิ่งมันหายากเท่าไร
มันก็ยิ่งกลายเป็น แรร์ไอเทม ที่ชวนให้หลายคนอยากลอง อยากครอบครองดูสักครั้ง..
โฆษณา