9 พ.ย. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เจสซี ลิเวอร์มอร์ ผู้ปั้นเงินจากหลักแสนสู่พันล้านบาท ที่สุดท้ายกลับจบชีวิตตัวเอง
ชื่อของ “จอร์จ โซรอส” คงเป็นชื่อที่คนไทยที่เกิดทันยุควิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 1997 จดจำมากที่สุด แต่สำหรับชาวอเมริกันช่วงต้นยุค 1900 คนที่สร้างความกลัวให้กับตลาดหุ้นมากสุด คือ “เจสซี ลิเวอร์มอร์”
เขาคือหนึ่งในคนที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริการ่วงถึง 50% ภายในเวลาสั้น ๆ จน J.P. Morgan บริษัทการเงินระดับโลกต้องขอให้หยุดการเทรดเลยทีเดียว และเขาเป็นคนแรก ๆ ในตลาดหุ้นที่ใช้การเทรดที่เป็นรูปแบบและมีหลักการ ทำให้คุณลิเวอร์มอร์สามารถสร้างผลตอบแทนมหาศาล และกลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยสุดของโลก
แต่อย่างไรก็ดี บั้นปลายชีวิตของเทรดเดอร์ผู้ยิ่งใหญ่รายนี้กลับหมดตัว และสุดท้ายฆ่าตัวตายเรื่องราวของคุณเจสซี ลิเวอร์มอร์ เป็นอย่างไร ? และให้บทเรียนอะไรแก่เราบ้าง ?
Dime! จะพาเพื่อน ๆ ไปย้อนอดีตกัน
คุณลิเวอร์มอร์ เกิดในรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1877 ด้วยความที่เกิดท่ามกลางครอบครัวที่มีฐานะยากจน ทำให้เขาต้องออกจากโรงเรียน ตั้งแต่อายุ 14 เพื่อมาช่วยที่บ้านทำฟาร์มหาเงิน ก่อนที่จะหนีออกจากบ้าน เพื่อไปหาโอกาสที่ดีกว่า ตามคำขอร้องของแม่
โดยภายในปีเดียวกันนั้น คุณลิเวอร์มอร์ก็ได้ก้าวเข้าสู่โลกตลาดหุ้น ด้วยการทำงานเป็นเด็กเขียนกระดานราคาซื้อขายหุ้น ให้กับบริษัทโบรกเกอร์หุ้นรายหนึ่ง ซึ่งที่แห่งนี้เอง ที่ทำให้หนุ่มน้อยเริ่มสนใจการเทรด
แน่นอนว่า ต่อให้สนใจมากเพียงใดก็ตาม ด้วยเงินลงทุนและอายุที่น้อย ทำให้เขาไม่สามารถลุยในตลาดหุ้นได้อย่างทันที เลยต้องหาทางเลือกอื่นแทน นั่นคือ การเก็งกำไรหุ้นใน Bucket shop หรือห้องค้าเถื่อน สถานที่ให้ผู้คนสามารถวางเงินเดิมพันในราคาหุ้น แต่ไม่ได้มีการซื้อหรือขายหุ้นกันจริง
ด้วยนิสัยที่ชอบสังเกต บันทึกข้อมูลราคาหุ้น และติดตามผลอยู่เสมอ เพียง 2 ปี คุณลิเวอร์มอร์ก็สามารถจับแพทเทิร์นหุ้น และสร้างรายได้จากการเก็งกำไรถึง 7,600 บาทต่อสัปดาห์ ซึ่งแซงรายได้ประจำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้เวลาต่อมา เขาตัดสินใจออกจากบริษัทโบรกเกอร์ เพื่อเก็งกำไรอย่างเต็มตัว
ในที่สุดคุณลิเวอร์มอร์มีเงินในกระเป๋าถึง 380,000 บาท ที่นับว่ามาไกลจากจุดเริ่มต้นพอสมควร อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วห้องค้าเถื่อนต่างพากันแบนเขา บางห้องค้าเถื่อนที่ไม่แบน ก็ตั้งกฎเกณฑ์เพิ่ม ทำให้การสร้างกำไร ในความเสี่ยงที่ต่ำ ไม่ง่ายอีกต่อไป ชายผู้หลงรักการเก็งกำไร จึงจำเป็นต้องหาลู่ทางใหม่ และนั่นนำไปสู่ตลาดหุ้นนั่นเอง
แม้ว่าห้องค้าเถื่อน และตลาดหุ้นของจริง จะมีความแตกต่างกันที่รายละเอียด เช่น จำนวนคนลงทุน และเม็ดเงินที่ไหลเข้ามา แต่ก็ใช้หุ้นอ้างอิงเหมือนกัน จึงไม่ใช่เรื่องยากเลย ที่คุณลิเวอร์มอร์จะสามารถปรับตัว และประสบความสำเร็จ จนเปลี่ยนเงินจาก 380,000 บาท กลายเป็น 1,890,000 บาท
ต่อมาไม่นานเขาก็หมดตัว เพราะดันไปเทรดผิดจังหวะ และใช้มาร์จินที่สูงเกินไป แต่ด้วยความที่มีเครดิตดี เลยยังคงสามารถขอเงินกู้มาลงทุนกลับมาลุกสู้ได้อีกครั้ง และจากบทเรียนที่ผ่านมา ทำให้หนุ่มวัย 24 ปีมีทักษะการเทรดที่ดีขึ้น สร้างกำไรได้อย่างต่อเนื่อง จนมีเงินถึง 18.9 ล้านบาท
แม้ว่าเรื่องราวที่เล่ามาจะดูน่าทึ่งแล้ว แต่ก็ไม่เท่ากับเหตุการณ์ต่อไป นั่นคือ วิกฤติการเงินปี 1907
ก่อนเกิดวิกฤติไม่นาน ท่ามกลางความคึกคักของนักลงทุน คุณลิเวอร์มอร์กลับมองเห็นความไม่สมเหตุสมผล ที่ตลาดหุ้นเติบโตอย่างร้อนแรง แต่เศรษฐกิจนั้นถดถอยสวนทาง ตัวเองจึง Short หรือการเก็งกำไรว่าราคาตลาดหุ้นสูงเกินไป อย่างจัดเต็ม
1
และแล้วก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้จริง ตลาดหุ้นถล่มลงอย่างรวดเร็ว แต่คุณลิเวอร์มอร์ก็ยังคงทยอย Short เพิ่ม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ตลาดหุ้นพบกับเจอแรงขายหนักอยู่ตลอด ในที่สุด J.P. Morgan ต้องออกโรง มาขอให้เขาหยุด Short เพราะเศรษฐกิจอาจพังได้
1
ซึ่งคุณลิเวอร์มอร์เห็นด้วย จึงหยุด Short และได้กำไรไปอย่างมหาศาลที่ 113 ล้านบาท ทำให้ชายคนนี้กลายเป็นเศรษฐีสามารถใช้ชีวิตได้อย่างหรูหรา ตั้งแต่มีเรือยอร์ชส่วนตัว มูลค่า 7.6 ล้านบาท อพาร์ทเม้นท์ย่านคนรวย และเปย์สาว ๆ
แต่ต่อมาฝันทั้งหมดก็สูญสลาย เมื่อเขาเทรดผิดฝั่ง แล้วไม่ยอมตัดขาดทุน รวมถึงเทรดเพิ่มมากกว่าเดิม จนสูญเสียเงินไปเกือบหมด
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ก็กลับไปเป็นเช่นเดิม ด้วยชื่อเสียงที่สะสมไว้ ทำให้เขาสามารถกู้ยืมเงินมาลงทุน และตั้งตัวได้อีกครั้ง ก่อนที่จะมาสร้างชื่อเสียงสูงสุดของการเป็นเทรดเดอร์ ในปี 1929 หรือช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)
คุณลิเวอร์มอร์วิเคราะห์แล้วว่า ตลาดหุ้นในช่วงเวลานั้นดูดีเกินไป เลยไม่รอช้าใช้บริการโบรกเกอร์กว่า 100 บัญชี สำหรับ Short ตลาดหุ้น เพื่อปกปิดออเดอร์ขนาดใหญ่ ไม่ให้ตลาดรู้ตัวว่าเขาทำอะไรอยู่
และแล้วก็อย่างที่รู้กันว่าปี 1929 ก็เกิดวิกฤติจริง ๆ จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาได้รับฉายาว่า Great Bear of Wall Street จากทรัพย์สินที่เพิ่มถึง 3,800 ล้านบาท แน่นอนว่าสูงมากเมื่อเทียบกับเวลานั้น
ดูเหมือนว่าชีวิตหลังจากนี้คงจะสวยหรู แต่เรื่องจริงกลับไม่เป็นไปอย่างนั้น เพราะลูกของเขาบางคนกลับติดยา ภรรยาก็ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย รวมถึงตัวเขาเองก็มีปัญหาโรคความจำเสื่อม ทำให้การเทรดไม่เฉียบคมเท่าเก่า ซึ่งส่งผลให้เครียดกว่าเดิม จนสุดท้ายคุณลิเวอร์มอร์ก็ฆ่าตัวตาย
1
แม้ว่าสุดท้ายแล้วชีวิตของคุณลิเวอร์มอร์จะจบลงไม่ดีนัก แต่เราก็ได้บทเรียนอะไรมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
1. จะลงทุนหรือเก็งกำไร ถ้ามีหลักการก็ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
คุณลิเวอร์มอร์คือตัวอย่างที่ดี จะเห็นได้ว่า แม้ห้องค้าเถื่อนเป็นแหล่งเสี่ยงโชคสำหรับคนอื่น ๆ แต่เขากลับเลือกเก็งกำไรอย่างมีหลักการ มีการสังเกต บันทึก และติดตามผลอยู่เสมอ จนสร้างกำไรได้มากกว่ารายได้ประจำซะอีก
2. จำกัดความเสี่ยง ไม่เทหมดหน้าตัก
เราจะเห็นได้ว่าหากคุณลิเวอร์มอร์ไม่เทหมดหน้าตัก หลายครั้งเขาก็คงรักษาความร่ำรวยต่อไปได้ แต่โชคดีที่ปัจจุบันการจำกัดความเสี่ยงกลายเป็นองค์ประกอบที่นักลงทุนและเทรดเดอร์ให้ความสำคัญกันแล้ว
3. ยอมแพ้ให้เป็น เพื่อมีชีวิตรอด
ถ้าเราเห็นแล้วว่าผลลัพธ์เริ่มไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ ก็ควรกลับมาคิดใหม่อีกครั้ง ว่าเราอาจจะผิดจริง ๆ ก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น เราก็ต้องยอมตัดขาดทุน เพื่อรักษาเงินที่เหลือ ไม่ปล่อยให้อารมณ์นำทางไปจนผิดพลาด เหมือนกับคุณลิเวอร์มอร์ หลังจากวิกฤติการเงินปี 1907
และนี่คือเรื่องราวโดยสรุปของคุณเจสซี ลิเวอร์มอร์ เทรดเดอร์ระดับตำนาน ผู้เคยเขย่าขวัญตลาดหุ้น
📌 สำหรับคนที่สนใจหุ้นสหรัฐฯ สามารถซื้อบนแอป Dime! เลย เพราะเปิดบัญชีภายในปี 2565 ฟรีค่าคอมมิชชันทุกรายการซื้อขายถึง 30 มิ.ย. 66 และถ้าทำภารกิจซื้อหุ้นสหรัฐฯ หรือกองทุนรวมบนแอป ก็รับหุ้นสหรัฐฯ เพิ่มอีกสูงสุดถึง 200 บาท*ไปเลย
โหลดแอปได้เลยที่ bit.ly/3qFsL89
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
◤ = = = = = = = = = = = = = = =
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
= = = = = = = = = = = = = = =  ◢
Dime! ครบเครื่องเรื่องการเงิน แอปพลิเคชันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้อย่างเท่าเทียม
บริษัทหลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จากสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Dime! และแนะนำบัญชีเงินฝากของธนาคารเกียรตินาคินภัทร
ติดตามเราหรือศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://linktr.ee/dime.finance
โฆษณา