8 พ.ย. 2022 เวลา 13:09 • ความคิดเห็น
17 Insights จากหนังสือ China Endgame
1. ความขัดแย้งของสหรัฐฯ จีน และรัสเซียมีความละม้ายคล้ายคลึงมากกับยุคสามก๊ก ก๊กของโจโฉ (สหรัฐฯ) แข็งแกร่งสุด รองลงมาคือก๊กของซุนกวน (จีน) ซึ่งจับมือกับก๊กของเล่าปี่ (รัสเซีย) เพื่อสู้กับโจโฉ
1
2. สหรัฐฯ นั้นแข็งแกร่งในทุกมิติ จีนแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจแต่ไม่ได้รบกับใครมานานแล้ว ส่วนรัสเซียอ่อนแอสุดแต่มีแสนยานุภาพสูงโดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงอาวุธนิวเคลียร์ จริงๆ แล้วจีนกับรัสเซียก็ไม่ได้รักกันเพราะมีปัญหาเรื่องชายแดนมานมนาน แต่ตอนนี้จะแตกกันไม่ได้เพราะต่างมีศัตรูร่วมกันคือสหรัฐฯ
2
3. เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ขนาดเศรษฐกิจของจีนคิดเป็น 2% ของเศรษฐกิจโลก แต่ตอนนี้ผงาดขึ้นมาเป็น 18% และน่าจะขึ้นมาเทียบชั้นกับสหรัฐฯที่ขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 20% ของเศรษฐกิจโลกในอนาคตอันใกล้ ส่วนเศรษฐกิจรัสเซียปัจจุบันคิดเป็นแค่ 2% เท่านั้น หากจีนจับมือกับรัสเซียก็ได้แค่ 20% แต่ยังไงก็สู้สหรัฐฯ+ยุโรป+ญี่ปุ่น+อินเดีย ที่มีขนาดเศรษกิจรวมกันมากกว่า 50% ไม่ได้
2
4. รัสเซียต้องการล้มระเบียบโลกเสรีนิยมของสหรัฐฯ และล้างแค้นที่เคยโดนสหรัฐฯทุบจนสหภาพโซเวียตล่มสลาย ส่วนจีนไม่ได้ต้องการโค่นสหรัฐฯ เพราะจีนเองก็ได้ประโยชน์จากระเบียบโลกปัจจุบันเช่นกัน สิ่งที่จีนต้องการคือขึ้นมาเป็นคู่บัลลังก์จักรพรรดิร่วมกับสหรัฐฯ และอยากให้โลกตะวันตกยอมรับว่าวิถีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็มีศักดิ์และศรีเท่าเทียมกับระเบียบโลกแบบเสรีนิยม
4
5. รัสเซียบุกยูเครนั้นมีผลเป็นบวกต่อสหรัฐฯ เพราะยุโรปต้องพึ่งพาพลังงานจากสหรัฐฯมากขึ้น รวมถึงต้องซื้ออาวุธจากสหรัฐฯมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยส่งให้ค่าเงิน USD แข็งค่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
2
6. ปี 1949 เจียงไคเช็กแห่งพรรคก๊กมินตั๋งแพ้สงครามกลางเมืองที่ปะทะกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมา เจ๋อตง จึงต้องหลบหนีไปตั้งรัฐบาลที่ไต้หวัน และตั้งชื่อประเทศว่า "สาธารณรัฐจีน" (Republic of China) ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ที่เหมาเจ๋อตงและพรรคคอมมิวนิสต์ปกครองตั้งชื่อประเทศของตัวเองว่า "สาธารณรัฐประชาชนจีน" (People's Republic of China) เจตนารมณ์ของพรรคก๊กมินตั๋งคือเฝ้ารอวันที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนล่มสลายเพื่อจะกลับมาทวงคืนแผ่นดินเกิดและให้จีนแผ่นดินใหญ่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองเสรีประชาธิปไตย
10
7. ในมุมนานาชาติ ไต้หวันยังไม่ได้รับการรองรับว่าเป็นประเทศ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของจีนเท่านั้น คนอายุ 40 ปีขึ้นไปในไต้หวันยังมีความทรงจำที่ผูกพันกับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้มีสายสัมพันธ์แบบนั้น มองว่าตัวเองคือคนไต้หวัน
3
พรรครัฐบาลปัจจุบันของไต้หวันก็มีแนวคิดอยากประกาศให้ไต้หวันเป็นเอกราชจากจีน แต่ยังทำไม่ได้เพราะจีนแผ่นดินใหญ่มีกฎหมายเขียนเอาไว้ว่าหากไต้หวันประกาศเอกราชเมื่อไหร่ก็จะส่งกองทัพบุกไต้หวันทันที เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ที่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐฯเดินทางไปเยือนไต้หวัน จีนก็ส่งสัญญาณไม่พอใจด้วยการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน
8. นักยุทธศาสตร์ความมั่นคงมีคำกล่าวว่า "ใครครองไต้หวัน ผู้นั้นครองโลก" หากจีนครองไต้หวันได้ จะคุมทะเลจีนตะวันออก และปิดช่องทางการเดินเรือของเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งจีนอาจจะใช้คำขู่ปิดเส้นทางการเดินเรือเป็นไพ่บังคับให้สหรัฐฯ ถอนทัพออกจากเอเชีย ถ้าวันนั้นมาถึงก็จะเป็นสัญลักษณ์ว่าจีนกลับมาเป็นพี่เบิ้มของเอเชียอย่างแท้จริงโดยไม่มีสหรัฐ เป็นกว้างขวางคอ
4
อีกประเด็นก็คือ ไต้หวันเป็นแหล่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์อันดับหนึ่งของโลก เป็นหัวใจสำคัญของซัพพลายเชนเทคโนโลยีโลก หากเกิดวิกฤติอ่าวไต้หวันเมื่อไหร่ การผลิตสินค้าไฮเทคทั่วโลกจะสุดลงแน่นอน และหากจีนบุกไต้หวันเมื่อไหร่ สหรัฐฯก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าร่วมเพราะไต้หวันสำคัญต่อสหรัฐฯมากในเชิงยุทธศาสตร์ วิกฤติในไต้หวันจึงมีโอกาสจุดชนวนสงครามครั้งใหญ่ยิ่งกว่าสงครามในยูเครนเสียอีก
4
9. ความฝันสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ใช่การได้ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลก แต่คือการรวมชาติจีนให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง นี่คือเหตุผลที่เราเห็นท่าทีที่แข็งกร้าวที่จีนมีต่อไต้หวัน ทิเบต และฮ่องกง และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงก็เคยประกาศไว้ว่าไต้หวันต้องกลับสู่อ้อมอกจีนภายในปี 2049 ซึ่งตรงกับการฉลองครบรอบ 100 ปีที่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
1
10. ความร่ำรวยของชนชั้นกลางในจีนล้วนสะสมอยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้นเหมือนประเทศอื่นๆ เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตเมือง รายได้สำคัญของรัฐบาลท้องถิ่นจึงมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่พร้อมจะประมูลที่ดินของรัฐบาลด้วยราคาที่สูงกว่าตลาด จนนักวิเคราะห์บอกว่าการลงทุนที่ปลอดภัยที่สุดในจีนคือภาคอสังหาริมทรัพย์เพราะว่ามัน Too Big to Fail
3
แต่เดือนสิงหาคม 2021 ก็เกิดวิกฤติหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ (China Evergrande Group) บริษัทอสังหาฯ ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของจีน เนื่องจากไม่สามารถกู้หนี้ใหม่มาโปะหนี้เก่าได้เพราะติดกฎเกณฑ์เรื่องเพดานหนี้ของรัฐบาลจีน หลายคนกังวลว่าเหตุการณ์นี้จะทำให้เศรษฐกิจพังระเนระนาดคล้ายกับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 แต่ปรากฎว่ารัฐบาลจีนจัดการได้อยู่หมัดด้วยการควบคุมข่าวสาร ทำให้ผู้คนไม่แตกตื่นเทขายอสังหาฯ จนราคาตก แทนที่ฟองสบู่อสังหาจะแตก จึงกลายเป็นเหมือนการปล่อยลมออกจากลูกโป่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป
5
แม้ว่าการจัดการฟองสบู่อสังหาฯ จะทำให้เศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงอย่างมาก แต่ก็ช่วยแก้ปัญหาราคาอสังหาพุ่งสูงอย่างไม่สมเหตุสมผลจนทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นและคนจีนไม่ยอมแต่งงานและไม่ยอมมีลูก
1
11. ปี 2021 รัฐบาลจีนจัดการบริษัท Big Tech รายแล้วรายเล่า ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดกับ Alibaba Tencent และ Meituan รวมถึงห้าม Ant Financial เข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าบริษัททั้งหมดนี้ล้วนเป็น Soft Tech ที่เป็นโซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ ฟินเทค แต่รัฐบาลไม่ได้เล่นงาน Hard Tech เลย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Semiconductor, Biotech หรือ Robotics นี่จึงเหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้เม็ดเงินลงทุนไหลจากภาค Soft Tech ไปยัง Hard Tech แทน
3
ในฝั่งสหรัฐฯ Silicon Valley ล้วนแข็งแกร่งจาก Soft Tech แต่สหรัฐฯแทบไม่มีภาคการผลิตหลงเหลืออีกต่อไป เพราะย้ายฐานการผลิตมาที่จีนตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ผิดกับเยอรมันที่ยังคงแข็งแกร่งเรื่อง Hard Tech มาก จีนจึงให้ความสำคัญกับ Hard Tech โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์เพราะที่ผ่านมาจีนถูกสหรัฐฯ สกัดกั้นไม่ให้ใช้เซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตโดยบริษัทของสหรัฐฯ และพันธมิตร
3
12. ต้นเดือนสิงหาคม 2021 สีจิ้นผิงได้ประกาศสโลแกนใหม่คือ "รุ่งเรืองร่วมกัน" (Common Prosperity) แสดงเจตนาอย่างชัดเจนที่จะรักษาความนิยมและอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยใช้รัฐวิสาหกิจเป็นตัวผลักดัน และสนับสนุนเอกชนที่พัฒนา "ในทางสร้างสรรค์" ซึ่งหมายความว่าเอกชนจะต้องไม่พัฒนาหรือแสวงกำไรในสิ่งที่เกิดโทษหรือผลลบต่อสังคม โดยสีจิ้นผิงตั้งเป้าว่าจะให้จีนเติบโตปีละ 5% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขการเติบโตของจีนที่ผ่านมา
1
13. เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าสีจิ้นผิงนั้นชื่นชมปูตินมาก ทั้งสองพบกันบ่อยครั้งและคุยกันถูกคอ แถมยังไม่พอใจตะวันตกเหมือนกันอีกด้วย จนมีภาพที่สีจิ้นผิงและปูตินจับมือกันในงานโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งเมื่อตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ปูตินจะบุกยูเครน นี่จึงทำให้ยุโรปและสหรัฐฯไม่ไว้ในจีนเข้าใปใหญ่
1
14. เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่นั้นมีปัจจัยแตกต่างกันไป
1
เงินเฟ้อในสหรัฐฯ (ร้อยละ 8 ถึง 9) เกิดจากการอัดเงินเข้าไปในระบบช่วงล็อกดาวน์ เมื่อมีเงินในระบบมากขึ้นแต่สินค้าในระบบมีเท่าเดิม จึงผลักให้สินค้าราคาแพงขึ้น
1
เงินเฟ้อในยุโรป (ร้อยละ 7 ถึง 8) เกิดจากวิกฤติด้านพลังงาน เพราะหลังจากยุโรปคว่ำบาตรรัสเซีย ราคาน้ำมันก็สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนสินค้าทุกอย่างแพงขึ้น
1
รัสเซียนั้นเงินเฟ้อไม่เยอะเพราะรัฐบาลรัสเซียออกมาตรการไม่ให้เงินไหลออกนอกประเทศ ส่วนเงินเฟ้อในจีนนั้นยังคุมให้ต่ำกว่าร้อยละ 2 ได้เพราะจีนสามารถผลิตและบริโภคภายในประเทศ
1
15. จุดแข็งของจีนก็กลับมาเป็นจุดอ่อนได้เช่นกัน เพราะเมื่อจีนควบคุมการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี ก็ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรจีนต่ำมาก อัตราการฉีดวัคซีนในหมู่ผู้สูงวัยก็ยังต่ำอยู่ ยังไม่นับว่าวัคซีนของจีนก็มีประสิทธิภาพต่ำกว่าของฝั่งตะวันตกด้วย เมื่อเดือนเมษายน 2022 จีนต้องล็อกดาวน์เมืองใหญ่ที่สุดอย่างเซี่ยงไฮ้เป็นเวลากว่าเดือนครึ่ง ซึ่งยาวนานกว่าความคาดหมายของทุกคน ตราบใดที่จีนยังแก้ปัญหานี้ไม่ตก ความเสี่ยงนี้จะยังคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ
1
16. เรากำลังเข้าสู่จุดสิ้นสุดของยุคโลกาภิวัฒน์ที่ใครเก่งอะไรก็ผลิตสิ่งนั้นแล้วค้าขายได้อย่างเสรี แต่วิกฤติช่วง 3 ปีที่ผ่านมาทำให้ supply chain ทั่วโลกต้องสะดุดครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ละประเทศจึงต้องหันมาสนใจเรื่องความมั่นคงด้านซัพพลายมากขึ้นด้วยการทำ Friend-shoring นั่นคือการให้ประเทศที่เราไว้ใจได้ผลิตสินค้าให้เรา มากกว่าจะให้ประเทศที่ถูกที่สุดทำให้ รวมถึง Reshoring หรือการเอางานผลิตบางส่วนกลับมาทำที่ประเทศตนเองแม้ต้นทุนจะสูงกว่ามากก็ตาม
4
การปรับตัวใหญ่ครั้งนี้จะทำให้ปัจจัยที่เคยสำคัญอย่างต้นทุนและสิ่งแวดล้อมค่อยๆ หายไปจากสมการ เพราะว่าในยุคแห่งความผันผวนนี้ความมั่นคงทางซัพพลายเชนนั้นสำคัญยิ่งกว่า
1
17. เป้าหมายของสีจิ้นผิงต่อจากนี้คือการเพิ่มชนชั้นกลางในจีนจาก 400 ล้านคนเป็น 800 ล้านคนในเวลา 15 ปี เปลี่ยนโครงสร้าง "พีระมิด" ที่ "รวยกระจุกบน จนกระจายล่าง" เป็นโครงสร้างแบบ "ลูกรักบี้" ที่ "ตรงกลางกว้าง บนล่างแคบ"
ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา จีนต้องโดนสงครามการค้า วิกฤติล็อกดาวน์อู่ฮั่น การจัดการฮ่องกงแบบไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหม วิกฤติเอเวอร์แกรนด์ การล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้เดือนครึ่ง แต่ละข้อล้วนส่งผลกระทบต่อเศรฐกิจจีนอย่างมหาศาลแต่จีนก็ยังยืนหยัดมาได้
5
แม้ว่า 40 ปีต่อจากนี้ประชากรจีนจะลดลง 200 ล้านคน แต่ก็จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจของจีนจะแซงสหรัฐฯภายในเวลาไม่เกิน 15 ปี ขอเพียง GDP ต่อหัวของจีนขึ้นมาเท่า 1 ใน 4 GDP ต่อหัวของสหรัฐฯ จีนก็แซงหน้าได้แล้ว
3
สิ่งที่ไม่อยู่ในหนังสือแต่ผมอยากจะบอกไว้ก็คือเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม สี จิ้นผิงในวัย 69 ปีเพิ่งได้รับการมอบตำแหน่งประธานาธิบดีจีนและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 3 อย่างเป็นทางการ ดังนั้นการดำเนินตามแผนที่ระบุไว้ในหนังสือน่าจะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่
2
หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า China Endgame แล้วเกมนี้จะจบอย่างไร?
แน่นอนว่าไม่มีใครรู้อนาคต แต่อาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้เขียนก็ได้ไขข้อสงสัยนี้เอาไว้ในบทท้ายๆ แล้ว ถ้าผมเอามาเล่าก็จะเป็นการสปอยล์ อยากให้ทุกคนไปอุดหนุนและซื้อมาอ่านเองมากกว่า
2
นี่คือหนังสือภาษาไทยที่ดีที่สุดที่ผมได้อ่านในปี 2022
ขอให้คะแนน 10 เต็ม 10 ครับ
China Endgame อ่านเกมสามก๊ก จีน สหรัฐฯ รัสเซีย อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียน สำนักพิมพ์ bookscape
โฆษณา