9 พ.ย. 2022 เวลา 05:19 • ธุรกิจ
สรุป Big C ในไทย เซ็นทรัลปั้นแบรนด์ ตอนนี้เจ้าสัวเจริญ เป็นเจ้าของ
เมื่อวาน มีข่าวจาก Bloomberg ว่า Big C Supercenter เจ้าของเชนร้านซูเปอร์มาร์เก็ตและห้าง ของเสี่ยเจริญ กำลังจะ Spin-off หรือแยกธุรกิจออกมาจากกลุ่ม BJC จดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นไทย
อย่างไรก็ตาม นายธีรศักดิ์ นาทีกาญจนลาภ กรรมการบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้
1
ว่าบริษัทยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว ณ ขณะนี้ โดยเมื่อบริษัทมีความคืบหน้าที่ชัดเจน จะแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป
1
แต่ถ้าใครสงสัยว่า เส้นทางของ Big C จากวันแรก มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?
BrandCase จะสรุปให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
ต้องบอกว่า ห้าง “บิ๊กซี” (Big C) กลุ่มเซ็นทรัล เป็นคนปลุกปั้นแบรนด์นี้ขึ้นมา ให้เป็นห้างสรรพสินค้าแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต แห่งแรกของเมืองไทย
ในเวลาต่อมา ห้าง Big C ก็เปลี่ยนมือหลายครั้ง
จนมาถึงเจ้าของคนปัจจุบัน คือกลุ่ม BJC บริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของเมืองไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจของ เจ้าสัวเจริญ เจ้าของเบียร์ช้าง
ราว 30 ปีก่อน ในปี 2536 กลุ่มเซ็นทรัล ได้เปิดห้างค้าปลีกชื่อ “เซ็นทรัลซูเปอร์สโตร์” ที่แยกวงศ์สว่าง
โดยตั้งใจให้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท ในราคาย่อมเยา
ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัล ได้ตั้งชื่อห้างซูเปอร์มาร์เก็ตใหม่ที่ว่านี้ขึ้นมาใหม่ว่า “Big C”
โดยร่วมทุนกับ กลุ่มอิมพีเรียล ซึ่งเป็นเจ้าของศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ในปัจจุบัน
ชื่อห้าง Big C เปิดตัวที่แจ้งวัฒนะเป็นสาขาแรกในปี 2537
ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้า รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต แห่งแรกของเมืองไทย
ไล่เลี่ยกับการเปิดตัวห้าง Lotus ของกลุ่ม CP ซึ่งเปิดตัวในช่วงปลายปีเดียวกัน
1
ส่วนกลุ่มโรบินสันในเวลานั้น ก็ได้จับมือกับ Land & House เปิด Save One Supercenter ที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต
1
และในเวลาต่อมา ซูเปอร์มาร์เก็ต หลาย ๆ แห่งของกลุ่มเซ็นทรัล ได้ถูกรีแบรนด์เป็นห้าง Big C อย่างเช่น
-ห้างเซ็นทรัลซูเปอร์สโตร์ ของกลุ่มเซ็นทรัล ทั้ง 2 สาขา ก็ได้เปลี่ยนเป็น Big C วงศ์สว่าง และ Big C ราษฎร์บูรณะ
1
-ในช่วงที่กลุ่มเซ็นทรัล ได้เข้าซื้อกิจการของกลุ่มโรบินสันในปี 2539
Save One Supercenter ถูกโอนมาอยู่กับ Big C ซึ่งในเวลาต่อมาก็คือ Big C สาขารังสิต
โดยในช่วงแรก ห้าง Big C มักจะขยายสาขา โดยใช้ที่ดินของกลุ่มเซ็นทรัล โดยการทำสัญญาเช่าระยะยาว
ซึ่งห้าง Big C ก็ได้ขยายสาขาไปเรื่อย ๆ จนมีจำนวนมากกว่า 20 สาขา
1
จนกระทั่งถึงปี 2541 กลุ่มเซ็นทรัลได้ประสบปัญหา ภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นมาก จากการปล่อยลอยตัวค่าเงินบาท เพราะวิกฤติต้มยำกุ้ง
ทำให้กลุ่ม Big C ได้ตัดสินใจหากลุ่มนายทุนต่างชาติเข้ามาช่วยเหลือ
และก็มีบริษัทชื่อ Casino Group จากฝรั่งเศส ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน Big C ด้วยสัดส่วน 63%
1
และในช่วงเวลานั้น กลุ่ม Tesco จากประเทศอังกฤษ ก็เข้ามาซื้อกิจการ Lotus จากกลุ่ม CP ที่เจอปัญหาคล้าย ๆ กันกับกลุ่มเซ็นทรัล ด้วยเช่นกัน
หลังจาก Casino Group เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ Big C ก็ได้ขยายสาขาออกไปในต่างจังหวัดมากขึ้น
จนเริ่มมีสาขาในต่างจังหวัด มากกว่าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปี 2550
ต่อมาในปี 2553 Casino Group ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Big C ได้เข้าซื้อกิจการห้าง “Carrefour” ในประเทศไทย และเปลี่ยน Carrefour ทุกสาขา ให้กลายเป็น Big C ทั้งหมด
ซึ่งในบางสาขา ก็จะอัปเกรดเป็น Big C Extra เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนมากขึ้น
นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ห้าง Carrefour ที่หลายคนคุ้นเคยในช่วงเวลานั้น หายไปเลย เพราะถูกเปลี่ยนเป็น Big C แทน
ทำให้ในต้นปี 2554 Big C ในตอนนั้น มีสาขาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 71 สาขา เป็น 105 สาขา และสามารถตีตื้นพี่ใหญ่แห่งวงการค้าปลีกอย่าง Tesco Lotus
ที่มีสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตอยู่ราว 121 สาขาในขณะนั้น
ต่อมา ตลาดค้าปลีกเริ่มแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากขึ้น และผู้คนเริ่มมองหาความสะดวกสบาย จากร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านมากขึ้น
ทำให้ Big C ต้องหันมาศึกษา และพัฒนาโมเดลธุรกิจร้านสะดวกซื้ออย่าง Mini Big C
และร้านขายยา Pure ขึ้นมาอย่างจริงจัง เพื่อเจาะตลาดคนในชุมชนมากขึ้น
รวมถึงแข่งขันกับ Tesco Lotus Express ที่ได้พัฒนาโมเดลร้านสะดวกซื้อมาก่อน
จุดเปลี่ยนสำคัญของ Big C เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2559
เมื่อทาง Casino Group ประสบปัญหาด้านการเงิน จึงได้ทำการเปิดประมูลเพื่อขายกิจการ
โดยกลุ่ม TCC Group ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้กิจการ Big C ในประเทศไทยไป
ขณะที่ผู้ปลุกปั้นเดิมอย่าง กลุ่มเซ็นทรัล ประมูลได้สิทธิ์บริหาร Big C ในประเทศเวียดนาม
เรื่องนี้ทำให้ Big C ในไทย มาอยู่ภายใต้บริษัท BJC หรือ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)
ที่เป็นหนึ่งในเครือ TCC Group
และทำให้ BJC มีทั้งธุรกิจต้นน้ำ ที่คอยผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในหลากหลายแบรนด์ แล้วส่งให้กับห้างร้านต่าง ๆ
และธุรกิจปลายน้ำ ที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Big C คอยกระจายสินค้าที่ตัวเองผลิต ให้ถึงมือผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม Big C เองก็ยังคงต้องเจอกับคู่แข่งตลอดกาลอย่าง Tesco Lotus
ที่ทำห้างสรรพสินค้าและร้านค้า เพื่อเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มเดียวกัน
ซึ่งในปี 2563 Tesco จากประเทศอังกฤษ ได้ขายกิจการ Tesco Lotus
ในประเทศไทย กลับคืนให้กับกลุ่ม CP
และกลุ่ม CP ก็ได้มีการรีแบรนด์ Tesco Lotus ใหม่ทั้งหมด และปรับปรุงห้างร้าน เพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
1
โดยเปลี่ยนจาก Tesco Lotus เป็น Lotus’s และเปลี่ยนจาก Tesco Lotus Express เป็น Lotus’s Go Fresh
ส่วนทาง Big C เอง ก็ได้ออกโมเดลซูเปอร์มาร์เก็ตใหม่
ในชื่อ Big C Food Place เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในเมือง
และมีแผนในการเปลี่ยนโฉมห้างสรรพสินค้า ในบางสาขาของตัวเองเช่นกัน
เช่น ปรับปรุงห้าง Big C สาขารัชดาภิเษก ให้กลายเป็น Big C Place ภายในปี 2565
หากพูดถึงสภาพการแข่งขันในปัจจุบัน เราลองไปดูสาขาของซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งสองแบรนด์ ในปี 2565
กลุ่ม BJC มี Big C ไฮเปอร์มาร์เก็ต 154 สาขา และ Mini Big C 1,431 สาขา
กลุ่ม CP มี Lotus’s ไฮเปอร์มาร์เก็ต 224 สาขา และ Lotus’s Go Fresh 2,171 สาขา
จะเห็นว่า ถ้าเทียบกันแบบไซซ์ต่อไซซ์
ห้าง Big C จะมีช่องทางในการขายที่น้อยกว่า Lotus’s ทั้ง 2 รูปแบบนี้
ทีนี้ถ้ากลับไปพูดถึง กลุ่มเซ็นทรัล
หากยังจำกันได้ ในช่วงต้นของบทความนี้ Big C สมัยที่เซ็นทรัลเป็นผู้ปลุกปั้นนั้น หลายสาขาตั้งอยู่บนที่ดินของกลุ่มเซ็นทรัล และทำสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว
เช่น Big C โคราช, Big C ขอนแก่น ที่ทำสัญญาเช่าที่ดินของกลุ่มเซ็นทรัลเป็นเวลา 30 ปี มาตั้งแต่ปี 2539
หมายความว่า กลุ่มเซ็นทรัล ก็น่าจะยังได้ประโยชน์จาก Big C ทางอ้อม จากการเก็บค่าเช่า สำหรับสาขาที่ยังตั้งอยู่บนที่ดินของกลุ่มเซ็นทรัล
 
สรุปเรื่องนี้ก็คือ ห้าง Big C ในประเทศไทย มีกลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้ปลุกปั้น
1
ก่อนจะต้องขายกิจการให้ต่างชาติ ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง
และปัจจุบัน Big C ในไทย ก็อยู่ในการดูแลของกลุ่ม BJC ในเครือ TCC Group
ซึ่งเป็นเครือธุรกิจของ เจ้าสัวเจริญ และตระกูลสิริวัฒนภักดี
โฆษณา