9 พ.ย. 2022 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
โทษทุกอย่างยกเว้นตัวเอง? เข้าใจนิสัยไม่ยอมรับความผิดที่ปิดโอกาสในการพัฒนา
2
“เธอนั่นแหละผิด”
“ฉันไม่ผิด ทำไมฉันต้องเป็นฝ่ายขอโทษ”
หลายคนอาจเคยได้ยินหรืออาจเคยเป็นฝ่ายที่เริ่มต้นพูดประโยคดังกล่าวมาก่อน เช่น เมื่อลูกทำผิดแล้วต้องขอโทษพ่อแม่ แต่เมื่อพ่อแม่ทำผิดแล้วไม่เคยขอโทษลูก หรือการที่หัวหน้าและคนที่อายุมากกว่าไม่เคยคิดว่าตัวเองผิด
ในทางกลับกัน หากลองพิจารณาดีๆ และมองกลับมาที่ตัวเราเอง บางครั้งเราก็เคยไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองเช่นกัน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการยอมรับผิดไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน บางครั้งเราจึงเลือกที่จะทะเลาะหรือโต้เถียงกันมากกว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการยอมรับผิดหรือยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เลือกโยนความผิดให้ฝ่ายตรงข้ามแทน
แล้วทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่าทำไมการยอมรับผิดถึงเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน เพราะการขอโทษดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องยากอะไร บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจว่าทำไมการยอมรับผิดไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน พร้อมวิธีแก้ไขสำหรับคนที่กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่
#ทำไมการยอมรับผิดเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน?
นักจิตวิทยาได้ให้คำนิยามของสถานการณ์นี้ว่า “Cognitive Dissonance” หรือ “ภาวะการรับรู้ไม่ลงรอย” คือเมื่อเราเผชิญกับความเครียดของการไม่ลงรอยจากความขัดแย้งสองอย่าง โดยทั่วไปเราจะมีวิธีการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นสองวิธี ได้แก่ “การปรับเปลี่ยนความคิดของตัวเอง” กับ “การยอมรับความผิด”
แต่วิธีที่ผู้คนชอบใช้มากที่สุดคือการปรับเปลี่ยนความคิดของตัวเอง โดยจะมักหาเหตุผลต่างๆ มาเข้าข้างความคิด ความเชื่อ ความคิดเห็นของตัวเอง ทำให้ไม่ยอมรับความผิดและโยนความผิดไปให้คนอื่นแทน ตัวอย่างเช่น เมื่อขับรถตัดหน้าคนอื่นจนเกิดรอยบุบที่กันชนของรถตัวเอง สิ่งแรกที่ทำหลังจากนั้นคือการโทษคนอื่นว่าทำไมถึงขับรถไม่ดูตาม้าตาเรือ ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นคนผิดเอง หรือ เมื่อผู้ใหญ่ให้ข้อมูลผิดๆ มักจะบอกว่าอย่าเถียง เพราะผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อนย่อมรู้มากกว่า
จากข้อมูลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน European Journal of Social Psychology พบว่า คนที่ไม่ยอมรับผิดจะมีความนับถือในตนเอง (Self-esteem) และรู้สึกว่ามีอำนาจมากกว่า ทำให้บางคนเลือกที่จะปฏิเสธความผิดพลาดของตนเอง โดยเฉพาะคนที่อายุมากกว่า เช่น หัวหน้า พ่อแม่ และผู้อาวุโส เพราะยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งดื้อและมีความสามารถในการยอมรับผิดน้อยลงเท่านั้น
Tyler Okimoto ผู้เขียนงานวิจัยดังกล่าวยังได้อธิบายไว้อีกว่า “คำขอโทษสามารถให้อำนาจแก่ผู้ที่รับคำขอโทษได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น เมื่อเรายอมรับความผิดและขอโทษคนรัก คนรักของเราจะมีอำนาจในการเลือกว่าจะยอมยกโทษให้หรือจะทำให้ผู้ที่ขอโทษรู้สึกผิดยิ่งกว่าเดิมผ่านการแสดงความไม่พอใจ”
นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้บางคนไม่ขอโทษหรือยอมรับผิด เพราะรู้สึกว่าการทำแบบนั้นทำให้ตัวเองดูอ่อนแอหรือทำให้เกิดความอับอาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ เพราะการขอโทษต้องใช้ความมั่นใจและความแข็งแกร่งในจิตใจพอสมควร
#พลังของการยอมรับผิด
การเลี่ยงที่จะยอมรับความผิดของตัวเองเปรียบเสมือนการปิดหูปิดตาไม่ยอมรับฟังฟีดแบ็กจากคนอื่น ทำให้ไม่สามารถฝึกฝนทักษะในการแก้นิสัยที่ไม่ดีและไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ เพราะจะยึดวิธีการเดิมๆ และความเชื่อเดิมๆ ในการแก้ไขปัญหา แต่การยอมรับผิดสะท้อนให้เห็นถึงข้อดีในหลายๆ ด้าน เช่น
[ ] แสดงให้เห็นว่าเราเป็นคนมีความมั่นใจและซื่อสัตย์ เพราะสามารถลดอีโก้ลงเพื่อยอมรับความจริง และพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป
[ ] แสดงให้เห็นว่าเราเป็นมนุษย์ ไม่ได้คาดหวังว่าตัวเองจะต้องสมบูรณ์แบบและไม่ได้คาดหวังว่าใครจะสมบูรณ์แบบด้วย แค่เป็นตัวของตัวเอง ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามธรรมชาติ ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์ที่จริงใจต่อกันมากขึ้น
[ ] แสดงให้เห็นว่าเราเป็นคนที่พร้อมจะเรียนรู้ข้อผิดพลาด เพราะไม่ปิดกั้นตัวเองและยอมรับฟังฟีดแบ็กจากคนรอบข้าง
[ ] แสดงให้เห็นว่าเรามีความตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) และสามารถควบคุมตนเองได้ (Self-control) เพราะสามารถละทิ้งแรงกระตุ้นเชิงลบของตัวเองได้
โดยรวมแล้วคนที่ยอมรับความผิดของตัวเองคือคนที่มี ‘ความน่าเชื่อถือ’ สิ่งนี้จะช่วยเสริมความสัมพันธ์ทั้งในที่ทำงานและในชีวิตส่วนตัวให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ คือ ผู้นำที่ทำผิดแล้วออกมายอมรับความผิดพลาดย่อมได้รับการยกย่องจากคนอื่นๆ สูงกว่าผู้นำที่ชอบโทษผู้อื่น
#เลิกโทษคนอื่นแล้วหันมามองตัวเอง
คนเราสามารถหลีกเลี่ยงการทำผิดพลาดได้ยาก เพราะระดับของความผิดพลาดมีตั้งแต่ความผิดพลาดเล็กๆ เช่น การจำชื่อเพลงผิด ไปจนถึงความผิดพลาดที่อาจทำให้มีปัญหากับคนรอบข้าง สิ่งสำคัญคือเราต้องเรียนรู้วิธีที่จะยอมรับความผิดให้ได้ เพื่อก้าวออกไปจากความผิดพลาดเดิมๆ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1
1. ตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
คนส่วนใหญ่เมื่อมีความเชื่อหรือพฤติกรรมสองอย่างที่ขัดแย้งกันจนก่อให้เกิดความสับสน ความเครียด ความอับอาย หรือความรู้สึกผิด โดยทั่วไปจะลดความไม่แน่นอนนั้นผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจขึ้นมาใหม่ และรับข้อมูลเฉพาะในสิ่งที่ตัวเองปักใจเชื่อ รวมถึงปฏิเสธข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเชื่อของตัวเอง
เพราะเมื่อทำผิดหลายคนกลัวถูกกีดกันทางสังคมหรือกลัวว่าตัวเองจะอับอาย และด้วยความเป็นมนุษย์มักจะต้องการการยอมรับจากสังคม สิ่งที่เราสามารถทำได้คือ เมื่อเกิดสถานการณ์ใดๆ ก็ตามให้เริ่มจากการสำรวจสถานการณ์จากมุมมองที่เป็นกลาง และตั้งคำถามกับตัวเองว่าจริงๆ แล้วเราเป็นคนผิดหรือไม่
2. เปิดกว้างต่อความเป็นจริง
การที่เราจะตระหนักรู้ถึงภาวะการรับรู้ไม่ลงรอยได้เราจะต้องเปิดกว้างกับความเป็นจริงที่ว่า “คนเราสามารถทำผิดพลาดได้” และต้องลดอีโก้ลงเพื่อให้มองเห็นความจริงที่เกิดขึ้น หากเราสามารถยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้ เราก็จะเปิดกว้างต่อการที่เราทำผิด สิ่งสำคัญคือเมื่อเรารู้ตัวว่าตัวเองคิดผิด ให้รับผิดชอบต่อความผิดพลาดของตัวเองทันที
#ขอโทษแบบส่งๆ ไม่ช่วยอะไร
เมื่อตระหนักถึงความผิดของตัวเองแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ “การขอโทษ” แต่ต้องไม่ใช่การขอโทษแบบส่งๆ เช่น “ขอโทษก็แล้วกัน” เพราะวิธีการแสดงคำขอโทษทำให้เห็นได้ว่าเราจริงใจต่อคำพูดนั้นแค่ไหน และรู้สึกผิดจริงๆ หรือไม่ หากใช้คำพูดดีก็จะช่วยซ่อมแซมความสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
1
การยอมรับความผิดอาจไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดีเสมอไป แต่เราสามารถแสดงให้ผู้อื่นเห็นได้ว่าเราเป็นคนที่มีความเป็นมนุษย์ ความซื่อสัตย์ ความเห็นอกเห็นใจและพร้อมที่จะเข้าใจผู้อื่น คนเราไม่จำเป็นต้องพยายามทำตัวให้สมบูรณ์แบบหรือถูกต้องเสมอไป เมื่อทำผิดก็แค่ยอมรับผิด ขอโทษแบบจริงใจและปรับปรุงตัวเองไม่ให้ผิดพลาดซ้ำๆ อีก
แปลและเรียบเรียง
- Older people find it harder to admit when they are wrong, say scientists : Ross McGuinness, Yahoo News - https://yhoo.it/3zFgIwt
- How to admit you’re wrong : Allie Volpe, Vox - https://bit.ly/3UlA6q9
- How To Admit You're Wrong : Alex Lickerman, Psychology Today - https://bit.ly/3WmQF6Q
- The Power and Glory of Admitting You’re Wrong : SK Camille, Medium - https://bit.ly/3DSFGuM
- Why Is It So Hard to Admit When We Are Wrong? : Mike Brooks, Psychology Today - https://bit.ly/3SVcWWw
- Why It’s So Hard to Admit You’re Wrong : Kristin Wong, New York Times - https://nyti.ms/3FT9hWr
- Why it’s important to admit when you’re wrong : Paul Ratner, Big Think - https://bit.ly/3WnJnQ5
#selfdevelopment
#psychology
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา