11 พ.ย. 2022 เวลา 02:00 • สิ่งแวดล้อม
#ConsciousBody ของมันไม่ต้องมี: เมื่อฤดูท่องเที่ยวกลับมาคืนชีพ สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือไอเท็มกันหนาว และเทรนด์หน้าหนาวที่เราเห็นเกลื่อนกลาดในตลาดฟาสต์แฟชั่นก็คือ puffer jacket หรือ down jacket ตัวอวบอ้วน ด้วยราคาที่พอสู้ไหว น้ำหนักเบา กันน้ำ และความอบอุ่นที่มันมอบให้ เป็นเหตุผลที่เรา (และใครอีกหลายๆ คน) ยอมกลายร่างเป็นมาสคอตมิชลินเข้าจนได้ แต่ถ้ามองข้ามรูปลักษณ์ที่ใส่แล้วสวยยากของมันไป ก่อนซื้อ เคยสงสัยเรื่องความยั่งยืนของมันกันบ้างรึเปล่า?
สิ่งแรกที่ต้องรู้ สำหรับคนที่อาจยังไม่รู้ คือ puffer jacket ส่วนใหญ่มันทำให้เราอุ่นได้ เพราะมันบรรจุด้วย ‘ขนเป็ด’ หรือ ‘ขนห่าน’ (down) อยู่ข้างใน แม้บางแบรนด์จะเนียนๆ เรียกมันว่าวัสดุยั่งยืนเพราะนี่คือขนสัตว์คือวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้จ้า แต่เดี๋ยวนะ ถ้ามองว่าความยั่งยืนต้องมาคู่จริยธรรม
การได้มาซึ่ง ‘ขน’ เหล่านี้ซึ่งมักมาจากการถอนสด หรือ live plucking นั้นเป็นการทรมานสัตว์หรือเปล่า? ว่ากันว่าการที่อุตสาหกรรมดาวน์ทำแบบนี้ไม่เพียงสร้างความเจ็บปวดให้น้องๆ เป็ดและห่าน แต่ยังอาจทำให้พวกมันบาดเจ็บหรือตายได้เหมือนกัน
ความจริงที่น่าเศร้าจาก the International Down and Feather Bureau คือแทบไม่มีฟาร์มไหนเลยที่ตั้งใจเลี้ยงเป็ดและห่านเพื่อเอาขนอย่างเดียว แต่มักเป็น co-product ของฟาร์มที่เลี้ยงเพื่อเอาเนื้อ (ซึ่งแปลว่าน้องต้องสละชีพด้วยเสมอ) หรือเพื่อฟัวกราส์ (ซึ่งแปลว่าน้องต้องโดนขุนอย่างโหดร้ายก่อนตาย) และด้วยความที่อุตสาหกรรมดาวน์กำลังเติบโตอย่างมาก ตัวเลขที่คาดไม่ถึงคือในแต่ละปี มีการฆ่าเป็ดห่าน 3.3 พันล้านตัวทั่วโลก หรือ 9 ล้านตัวในแต่ละวัน
และที่เศร้าไปอีกคือ แม้ว่าจะมี Responsible Down Standard ซึ่งเป็นตรารับรองว่าการผลิตขนเป็ดของแบรนด์นี้มีจริยธรรม ก็ยังอาจมีการย้อมแมวขายเพื่อให้ขนเป็ดของพวกเขาดูดีและขายได้ หรือแบรนด์ที่อ้างว่าฉันเก็บขนเป็ดอย่างเป็นธรรมตามฤดูกาลผลัดขนของน้องๆ ก็ยังการันตีไม่ได้ว่าพวกเขาไม่ได้โกหก เพราะที่จริงแล้วเป็ดแต่ละตัวน่ะผลัดขนไม่พร้อมกัน จึงเป็นไปได้ยากที่อุตสาหกรรมจะจัดการกับความไม่แน่นอนนี้ได้อยู่ดี
นี่ยังไม่นับสวัสดิภาพของเป็ดห่านในบางฟาร์มที่อาจไม่ได้มาตรฐานจนทำให้น้องๆ พิการหรือเครียดหนัก รวมไปถึงเรื่องผลกระทบต่อโลกทั้งสารพิษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรม น้ำเสีย แถมที่บอกว่าขนเป็ดย่อยสลายได้ แต่ถ้ามันบุอยู่ข้างในโพลีเอสเตอร์อย่างแน่นหนามาจนแยกชิ้นส่วนยากแล้ว ก็กลายเป็นว่ามันเป็นกำแพงปิดกั้นให้มันย่อยสลายไม่ได้อยู่ดี (ฝังกลบกันไปยาวๆ 200 ปีนะ)
“อย่าซื้อเสื้อขนเป็ดตัวใหม่เลย” อาจจะคือข้อสรุปแบบสั้นง่ายที่สุด ถ้ามีอยู่แล้วก็ใส่ให้คุ้มค่าซะ สำหรับคนที่ไม่อยากสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ไม่ใจดีกับสัตว์ คุณอาจเจอเสื้อแจ็กเก็ตหรือเสื้อโค้ทมือสองที่อุ่นได้โดยไม่จำเป็นต้องทำจากขนน้องๆ เลย
หรือถ้าคุณมีสตุ้งสตางค์พร้อมลงทุนกับทางเลือกอื่นๆ ที่ยั่งยืนและมีจริยธรรม ตอนนี้ก็มีวัสดุทดแทนดาวน์ที่เป็นนวัตกรรมให้พอได้ยินแล้ว เช่น PrimaLoft (ทำจากพลาสติกเหลือทิ้ง) Thermore (ทำจากขวด PET) Flowerdown (ทำจากดอกไม้ป่า) หรือชี้เป้าแบบง่ายๆ ให้ไปลงทุนกับแบรนด์ที่เอาจริงเรื่องปิ้งย่างอย่าง Patagonia ลงทุนมากหน่อยแล้วซื้อตัวเดียวให้ใช้ไปจนแก่ ก็เป็นไอเดียอบอุ่นร่างกายที่ไม่เลว
/ บีเขียน ตะเกียบทำภาพ
อ่านโพสต์นี้เวอร์ชั่นเว็บที่ www.ili-co.me/single-post/single-body-unshoppinglist04-pufferjacket
#iliU #ไอแอลไอยู #Body #PufferJacket #DownJacket
คอลัมน์ ‘ของมันไม่ต้องมี?’ เขียนโดยมนุษย์วัยสามสิบกลางๆ คนหนึ่ง ที่บางครั้งก็ยังหนีไม่พ้นการบำบัดความเครียดด้วยการกดช้อปของที่ชอบใส่ลงตะกร้า แต่ปัญหาคือวินาทีก่อนที่จะจ่ายเงินให้ลุล่วงกระบวนการบำบัดทุกข์ไป ดันเกิด eco-guilt ว่าการช้อปปิ้งของฉันมันฝืนจรรยาบรรณในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์เรื่องผลกระทบของฟาสต์แฟชั่นหรือเปล่า จึงเกิดเป็นกระบวนการตกตะกอนส่วนตัวว่า ก่อนจะลงมือช้อปสิ่งใด อย่างน้อยขอรู้ให้ได้ก่อนว่าตกลงของชิ้นนี้เป็น ‘ของมันต้องมี’ หรือ ‘ของมันไม่ต้องมี?’ กันแน่
โฆษณา