10 พ.ย. 2022 เวลา 02:30 • ธุรกิจ
เซโรงัง สูตรยาญี่ปุ่น อายุกว่า 100 ปี ที่ตอนนี้ ยังขายได้มากกว่า 2,000 ล้าน
หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “เซโรงัง” จากเพลงของวง Pop Rock ชื่อดังอย่าง “Slur”
เนื้อหาในเพลง ให้ความหมาย เซโรงัง ว่า เซ็ง ที่อะไร ๆ ก็ไม่เป็นใจสักอย่าง
แต่จริง ๆ แล้ว “เซโรงัง” คือชื่อของ “ยาแก้ท้องเสีย” ตำรับเก่าแก่กว่าร้อยปี จากประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นที่นิยมในหลายประเทศทั้งในแถบเอเชีย และอเมริกา
ซึ่งในปัจจุบัน หลายบริษัทยาของญี่ปุ่น มีการผลิตยาสูตรนี้ขายกันทั่วไป
โดยเซโรงังมีส่วนแบ่งในตลาดของยาแก้ท้องเสีย ในญี่ปุ่นมากกว่า 50%
ส่วนบริษัทที่ครองส่วนแบ่งตลาดยาเซโรงังมากที่สุด ก็คือ Taiko Pharmaceutical ที่มียอดขายปี 2021 สูงถึงกว่า 2,900 ล้านบาท
ความเป็นมาของยาเซโรงัง เริ่มต้นขึ้นอย่างไร ?
แล้วทำไมยาแผนโบราณที่คิดค้นมากว่า 100 ปี ถึงยังคงได้รับความนิยม ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เรื่องราวทั้งหมด เริ่มต้นขึ้นหลังสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 จบลง
แม้ญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายชนะสงคราม
แต่ก็สูญเสียกองกำลังมากมาย จากอาการท้องร่วง ที่เกิดจากอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด
ดังนั้น ในปี 1903 แพทย์ประจำกองทัพจึงได้คิดค้นสูตรยา จากน้ำมันสกัดไม้บีชและไม้สน ที่ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย จากอาหารเป็นพิษได้
หลังจากนั้น 1 ปี สูตรยานี้จึงได้ผลิตให้ทหารใช้ในสงครามครั้งถัดมา คือ สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
ซึ่งในตอนแรก ยาสูตรนี้มีชื่อเต็ม ๆ ว่า ชูยู-เซโรงัง (Chuyu–Seirogan) ที่พ้องเสียงกับคำที่มีความหมายว่า “พิชิตรัสเซีย” ที่ตั้งเพื่อปลุกใจกองกำลังทหารญี่ปุ่น ในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น นั่นเอง
ซึ่งยาสูตรนี้ ได้ช่วยลดการสูญเสียกองกำลัง จากอาการท้องเสียได้อย่างชัดเจน แถมในสงครามครั้งนี้ ญี่ปุ่นก็เป็นฝ่ายชนะรัสเซีย อย่างเหนือความคาดหมาย ตามชื่อ “พิชิตรัสเซีย” ของยาเซโรงัง
และนั่นทำให้ชื่อเสียงของยาเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นยาสามัญประจำบ้านในญี่ปุ่น
โดยคำว่า เซโรงัง กลายเป็นชื่อสามัญ (Generic) ที่บริษัทยาอื่น ๆ ผลิตขึ้นมา เพื่อขายเป็นยาแก้ท้องเสียเช่นกัน
จนในปี 1954 บริษัทยาไทโก (Taiko Pharmaceutical) อ้างสิทธิ์ในเครื่องหมายทางการค้า ที่ประกอบด้วยชื่อยา “เซโรงัง”, โลโกรูป “แตร” และสี รวมถึงดิไซน์ของแพ็กเกจจิง
เหตุการณ์นี้ ทำให้เกิดสงครามในศาล ฟ้องร้องกันใหญ่โต เพราะแย่งกันใช้ชื่อ “เซโรงัง” และกินระยะเวลายาวนานถึง 20 ปีทีเดียว
สุดท้าย ศาลฎีกาตัดสินว่า “เซโรงัง” เป็นชื่อสามัญที่ใช้กันทั่วไป ไม่สามารถจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าโดยผู้ใดผู้หนึ่งได้
นอกจากนี้ สีและดิไซน์ของกล่องยาที่ไทโกอ้างสิทธิ์ ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเช่นกัน
มีเพียงโลโกรูป “แตร” ที่ศาลอนุญาตให้เป็นสิทธิ์ของไทโกได้แต่เพียงผู้เดียว
อ่านมาถึงตรงนี้ สงสัยกันไหมว่า ทำไมยาตำรับนี้ถึงอยู่ยืนยาวเกือบ 120 ปี
อันดับแรก ยาที่ดี คือ ยาที่กินแล้วเห็นผล
สรรพคุณของเซโรงัง คือ บรรเทาอาการท้องเสีย และมันสามารถทำหน้าที่ของมันได้
โดยน้ำมันสกัดจากไม้บีช และไม้สนที่เป็นส่วนประกอบหลัก ทำงานกับสารสื่อประสาทในลำไส้ ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ ที่เป็นสาเหตุหลักของอาการท้องเสีย และยังช่วยลดการคายน้ำในลำไส้ ทำให้ร่างกายไม่เสียน้ำมากเกินไปอีกด้วย
ที่แตกต่างจากยาแก้ท้องเสียอื่น ๆ คือ เซโรงังไม่มีฤทธิ์ในการฆ่า หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียดีในลำไส้ที่ทำหน้าที่รักษาสมดุล ยังทำงานได้ปกติ ทั้งระหว่างและหลังหายจากท้องเสียแล้ว
และที่สำคัญ คือ สูตรยาเซโรงัง ก็ยังทำจากสารสกัดธรรมชาติทั้งสิ้น
นอกจากนี้ “การพัฒนา แก้จุดด้อยของยา”
เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เซโรงังยังอยู่ได้
โดยเซโรงังมีหน้าตาคล้ายยาลูกกลอนบ้านเรา คือ มีเม็ดกลม สีน้ำตาลเกือบดำ
แต่ที่แย่กว่าหน้าตาคือ กลิ่น ที่แรงมาก
จนว่ากันว่า ทหารที่อาการปางตาย จากอาหารเป็นพิษ ยังหลีกเลี่ยงที่จะกินเซโรงัง จนทำให้จักรพรรดิต้องออกพระราชโองการให้ทหารที่ป่วย กินยาเซโรงังทีเดียว
แต่สำหรับในยุคปัจจุบัน ที่เราไม่ต้องถูกบังคับ และยาแก้ท้องเสียก็มีทางเลือกที่มากขึ้น แน่นอนว่า ผู้บริโภคก็ย่อมหันไปหาตัวเลือกอื่นที่สบายใจมากกว่า
ดังนั้น แม้ว่ายาจะดีแค่ไหน
แต่ด้วยกลิ่นที่ยากจะกลืนลง
ก็คงจะมีผลกับยอดขายอย่างแน่นอน
1
เมื่อเป็นเช่นนี้ หลายบริษัทยาในญี่ปุ่น จึงได้เริ่มวิจัยและพัฒนาสูตร เพื่อกำจัดกลิ่นอันไม่น่าพิสมัย แต่ยังคงสรรพคุณเอาไว้อยู่
อย่างบริษัทไทโก ได้ออกยา เซโรงัง Toi-A ที่เคลือบน้ำตาล เม็ดสีขาวสะอาดตา และไม่มีกลิ่น แต่มีสรรพคุณไม่แพ้ตัวเดิม..
สำหรับปัจจัยสุดท้าย ที่ทำให้เซโรงังอยู่มาได้อย่างยาวนาน ก็คือ “ความน่าเชื่อถือ”
ซึ่งสั่งสมมานานนับร้อยปี บอกกันปากต่อปาก ส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่น
ดังนั้น เพื่อคงความน่าเชื่อถือนี้ไว้
บริษัทยาต่าง ๆ แทบจะไม่เปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์
และยังคงใช้โลโกเดิม แพ็กเกจจิงเดิม เพื่อให้ภาพจำเดิมยังคงอยู่ต่อไป
และความคลาสสิกนี้เอง ในปี 2015 แพ็กเกจจิงยาเซโรงัง ของบริษัทไทโกที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1972 จึงได้รับรางวัล G Mark หรือ Good Design Award สาขา Long Life Design Award อีกด้วย
เราจะเห็นว่า ไม่ใช่ว่าของเก่าจะไม่ดีเสมอไป
ถ้าคุณค่าของเดิมมันดีอยู่แล้ว การไม่เปลี่ยนอะไรเลย ก็อาจจะเป็นทางที่ดีที่สุด
อย่างเซโรงัง ที่อยู่มาได้เป็นร้อยปี..
โฆษณา