9 พ.ย. 2022 เวลา 12:54 • นิยาย เรื่องสั้น
คาร์มีลลาในฮาโลวีน
ขณะกำลังพลิกอ่านหนังสือขนาดเหมาะมือเล่มนี้ เกิดคำถามเล็กๆขึ้นภายในใจว่า แท้จริงแล้ว เราควรอ่านนิยายเรื่อง 'คาร์มีลลา' ในค่ำคืนวันฮาโลวีน หรือควรเก็บไว้อ่านในคืนรำลึกถึงนักบุญวาเลนไทน์กันแน่
'คาร์มีลลา' นวนิยายขนาดสั้นของ โจเซฟ ช. เลอฟานู นักเขียนเรื่องสยองขวัญชาวไอริส ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1871-1872 เรื่องราวว่าด้วยหญิงสาวลึกลับผู้เลอโฉมนาม 'คาร์มีลลา' กับ ‘ลอร่า’ ลูกสาวเจ้าของปราสาทอันห่างไกลในประเทศแถบยุโรปตะวันออก ช่วงวัยที่ใกล้เคียงกันทำให้ทั้งคู่สนิทสนมกันอย่างรวดเร็วและลึกซึ้ง ทว่าความสัมพันธ์นั้นกลับผลิบานขึ้นท่ามกลางหายนะจากสิ่งที่มองไม่เห็น ซึ่งต่อมาถูกป้ายสีให้เป็นฝีมือของผีดูดเลือด
'คาร์มีลลา' ถือเป็นเรื่องราวของแวมไพร์ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นต้นแบบของวรรณกรรมกอธิคในยุคถัดมาและเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้กับ บราม สโตกเกอร์ ผู้สร้างสรรค์ผลงานอมตะเรื่อง 'แดรกคิวลา'
**ข้อความต่อจากนี้มีการกล่าวถึงเนื้อหาบางส่วน**
<< พงไพรและนัย “เขี้ยว” >>
สิ่งที่ทำให้ตำนานแวมไพร์ ผีดูดเลือด ใน 'คาร์มีลลา' ดูสมจริงขึ้นมานั้นคือฉาก การที่โจเซฟ ช. เลอฟานู หยิบยกยุโรปตะวันออกมาเป็นฉากหลังของเรื่อง ส่วนหนึ่งเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ในแถบนี้ยังคงเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เรื่องราวลี้ลับเหนือธรรมชาติ รวมถึงตำนานปรัมปราเล่าขานถึงผีสางและอสูร
จากเรื่องจะเห็นว่า นอกจากตำนานผีสางแล้ว ยังมีการกล่าวถึง “ตัวอูไพร์” ซึ่งเป็นปีศาจตามตำนานสโลวัก เป็นต้นแบบของแวมไพร์ ดังคำกล่าวของชายเร่แสดงกลที่ว่า “ได้ยินมาว่าป่าแถบนี้มีท่อมๆ อยู่ตัวหนึ่งเหมือนหมาป่า” (น.56) ทั้งหมดนี้ล้วนแสดงถึงความลึกลับน่าสะพรึงที่ปกคลุมพื้นที่นี้อย่างแยกยาก
และเมื่อกล่าวถึงแวมไพร์ เอกลักษณ์ประจำตัวที่ขาดไม่ได้ก็คือ "เขี้ยว" อาวุธที่ใช้ปลิดชีพและเลี้ยงชีพในเวลาเดียวกัน ซึ่งบางครั้งการขบกัดก็มีนัยแฝงเร้น นัยหนึ่ง การเจาะ กัดหรือทิ่มแทงเข้าไปในเนื้อของอีกฝ่ายเป็นการสื่อความหมายไปในเรื่องเพศ นั่นคือการ “สอดใส่” และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เขี้ยวของแวมไพร์ในเรื่องนี้ถูกใช้โดย “ผู้หญิง”
<< ทาบมือบนมือฉัน >>
แวมไพร์สาวกับหญิงสาว นี่คือความขบถอีกอย่างของโจเซฟ ช. เลอฟานู ลำพังให้เป็นความรักที่ยากจะสมหวังก็หนักหนาพออยู่แล้ว ชีวิตของพวกเธอยังขมขื่นกว่านั้นด้วยเรื่อง “หญิงรักหญิง” และเป็นเรื่อง ผู้หญิงกับผู้หญิง ในยุควิกตอเรียนที่กดขี่ผู้หญิงและปลูกฝัง ‘ความเป็นเมียและแม่’ ความต้องการทางเพศของพวกเธอจึงเป็นเรื่องต้องห้าม จะมีเพศสัมพันธ์กันได้เฉพาะเพื่อทำหน้าที่ตั้งครรภ์เท่านั้น
แม้ว่าตัวละครหลักในเรื่องจะเป็น “ชายขอบของชายขอบ” ของสังคมอีกชั้นหนึ่ง แต่การแสดงออกในเรื่องความรักกลับเป็นไปอย่างเปิดเผยและยิ่งใหญ่ในพื้นที่ของพวกเธอเอง “ฉันไม่เคยมีความรัก และจะไม่มีด้วย” เธอผู้นี้กระซิบ “ยกเว้นแต่เพียงความรักที่มีให้เธอ” (น.67) ประโยคที่หยิบยกมานี้ เพียงพอแล้วที่จะยืนยันความรู้สึกระหว่างตัวละคร ว่าพวกเธอแน่วแน่และกล้าหาญท้าทายขนบเพียงไร
ไม่แปลก หากสุดท้ายแล้ว เรายังคงตั้งคำถามอย่างตัวละครในเรื่องว่าการผูกสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับแวมไพร์ เป็นไปเพราะความรักอย่างแท้จริง หรือเป็นเพียงกลอุบายชั้นเลวที่สร้างขึ้นเพื่อให้ตัวเองได้บรรลุเป้าหมายเท่านั้น
แต่จะอย่างไร ในโลกนี้มีความรักใดบ้างเล่าที่มีแต่ได้ฝ่ายเดียว
ความรักทุกความรัก ก็ล้วนต้องแลกสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้ได้มามิใช่หรือ?
เหมือนอย่างที่ คาร์มีลลา กล่าวไว้ว่า
“เมื่อมีความรัก ย่อมมีสิ่งต้องสังเวย” (น.74)
Carmilla :: Joseph S. Le Fanu
เพียงออ พัชรสรวุฒิ แปล
สำนักพิมพ์วรรข
โฆษณา