10 พ.ย. 2022 เวลา 00:48 • หุ้น & เศรษฐกิจ
‘ใช้’ หรือ ‘เก็บ’ คนไทยมีนิสัย-ทักษะทางการเงินอย่างไร?
เราต่างรู้ว่าการคิดวางแผนรับมือกับอนาคตและการเก็บออมเป็นเรื่องสำคัญจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงอายุ การเก็บออมยิ่งมีความจำเป็น
และตั้งแต่เกิดวิกฤติ โควิด-19 ยิ่งทำให้เราเห็นความสำคัญของการเก็บออมมากยิ่งขึ้น แต่ "การเห็นความสำคัญ" ของการเก็บออมอาจ "ยังไม่เพียงพอ" ที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมการออมของคนไทย
การสำรวจการติดตามระดับความรู้และการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนในปี 2561 จำนวน 11,129 คนทั่วประเทศ ที่จัดเก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย
พบว่ามีคนไทยเพียง 13.1% ที่มีเงินออมสำหรับใช้จ่ายได้มากกว่า 1 ปี สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือเมื่อต้องหยุดงานกะทันหัน และมีคนไทย 23.8% ที่บอกว่าเงินออมที่มีอยู่สามารถใช้จ่ายได้ไม่เกิน 3 เดือน
และเพื่อเป็นการศึกษาความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการออมเงิน และทัศนคติทางการเงินของคนไทย เจาะจงวัย 20-40 ปี หรือวัยทำงานที่ต้องเตรียมความพร้อมสู่วัยเกษียณ
เราจึงขอชวนผู้อ่านวัย 20-40 ปี ร่วมตอบแบบสำรวจ พฤติกรรมทางการเงินของคนไทย 2565 >>> https://bit.ly/3WEHQ8o <<< หรือสแกน QR code เพื่อมีส่วนในการออกแบบมาตรการส่งเสริมการออมที่เหมาะสมกับวัยทำงาน
ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามจะมีสิทธิในการลุ้นรับบัตรกำนัลมูลค่า 500 บาท จำนวน 10 รางวัล (ร่วมตอบภายในวันที่ 30 พ.ย.นี้) ซึ่งหากท่านเป็นผู้โชคดี ทางทีมงานจะติดต่อท่านกลับไป ตามข้อมูลการติดต่อที่ท่านได้ให้ไว้
= = = = = =
ปกติเรามีพฤติกรรมทางการเงินอย่างไร ระหว่างการใช้เงินและเก็บออมเงินมักเลือกอะไรก่อน และเมื่อมีเงินต้องรีบใช้เลยหรือไม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้อง อาศัยการมี “ทักษะทางการเงิน” ที่ดีด้วย
“ทักษะทางการเงิน หรือ Financial Literacy” เป็นความรู้หรือความเชี่ยวชาญที่ไม่สามารถวัดและประเมินผลได้โดยตรง ต้องอาศัยการวัดจากปัจจัยต่างๆ ที่แสดงคุณลักษณะของผู้มีทักษะทางการเงิน
OECD จึงได้พัฒนากรอบนิยาม แนวทางการประเมิน รวมทั้งออกแบบสอบถามที่ใช้ในการประเมินทักษะทางการเงิน ซึ่งประเทศไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกแบบการสำรวจการติดตามระดับความรู้และการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนในปี 2561 และผลการคำนวณคะแนนทักษะทางการเงินโดยผู้เขียนและทีมวิจัย พบว่าคะแนนเฉลี่ยทักษะทางการเงินของคนไทยอยู่ที่ 62.8% ใกล้เคียงกับคะแนนทักษะทางการเงินของกลุ่มประเทศ OECD ในปี 2558 (62.9%)
แม้ว่าคะแนนทักษะทางการเงินของไทย ดูเหมือนจะใกล้เคียงกับ OECD แต่เมื่อพิจารณาในองค์ประกอบซึ่งคะแนนทักษะทางการเงินมาจาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ “ความรู้ทางการเงิน” “พฤติกรรมทางการเงิน” และ “ทัศนคติทางการเงิน” พบว่า
“ความรู้ทางการเงิน” เป็นด้านที่คนไทยอ่อนที่สุด โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 56.7% ทั้งนี้ ความรู้ทางการเงินคือทักษะในการคิดคำนวณดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ ดอกเบี้ย ทบต้น ความรู้เรื่องเงินเฟ้อ การกระจายความเสี่ยง และผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจด้านการเงินของแต่ละคน
ด้าน “พฤติกรรมทางการเงิน” คือพฤติกรรมการใช้จ่ายและการออม รูปแบบการเก็บออม การแก้ปัญหาทางการเงิน การไตร่ตรองก่อนซื้อ การชำระค่าใช้จ่ายตรงเวลา การเปรียบเทียบศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ
และการตั้งเป้าหมายทางการเงินระยะยาวผลสำรวจพบว่า คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมทางการเงินของคนไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 59.6%
และ “ทัศนคติทางการเงิน” คือความคิดเห็นด้านการเงิน เช่น มีความสุขกับการใช้เงินมากกว่าการออม มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้และ ไม่คิดวางแผนเพื่ออนาคต และมีเงินต้อง รีบใช้ ซึ่งผลการสำรวจพบว่าคะแนนทัศนคติทางการเงินของคนไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 77.3% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงที่สุด
แม้ว่าคะแนนทักษะทางการเงินของคนไทยจะใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศ OECD แต่คะแนนความรู้ทางเงินของคนไทยยัง ต่ำกว่าคะแนนของกลุ่มประเทศ OECD มาก 56.7% เทียบกับ 65.7%
ผลสำรวจนี้พอจะสรุปได้ว่า แม้จะมีทัศนคติทางการเงินที่ดี หรือมีพฤติกรรมทางการเงินเช่นการเก็บออม แต่หากขาดความรู้ ทางการเงิน เช่น การคำนวณดอกเบี้ยทบต้น ความรู้เรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทน และกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ก็จะส่งผลต่อความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงิน
แตกต่างจากผลสำรวจในกลุ่มประเทศ OECD ที่คะแนนเฉลี่ยทักษะทางการเงินโดยรวมแม้ใกล้เคียงกับคนไทย คืออยู่ที่ 62.9 แต่คะแนนความรู้ พฤติกรรม และทัศนคติทางการเงิน กลับมีค่าเฉลี่ยที่ไม่ต่างกันมากนัก โดยอยู่ที่ 65.7, 60.0 และ 66.0 ตามลำดับ
เพื่อส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงินในระดับบุคคลและครัวเรือนได้อย่างตรงจุดจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือน วัดความรู้และพฤติกรรมทางด้านการเงินของคนไทยเพื่อกำหนดกลยุทธ์ ส่งเสริมให้คนไทย มีความรู้ ปรับทัศนคติ และเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาเก็บออมมากขึ้น
ส่งเสริมการออมและการให้ความรู้ทางการเงินควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเป็นช่วงวัยที่สามารถปลูกฝังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายกว่าช่วง วัยอื่น และการมีวินัยในการออมและการใช้จ่าย เงินจะติดตัวเด็กไปจนโต
สำหรับคนวัยทำงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่ไม่มีประกันสังคม การบังคับออม (force saving) อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้ประเทศไทยไม่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีเงินใช้จ่ายอย่าง เพียงพอในยามชรา และต้องพึ่งพิงเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุจากรัฐเพียงด้านเดียว
บทความนี้เป็นหนึ่งในผลงานโครงการวิจัย มาตรการที่ได้ผลในการส่งเสริมการวางแผนทางการเงินของประชากรไทยสำหรับสังคมอายุยืน โดยการสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โฆษณา