Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Krungthai Asset Management
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
10 พ.ย. 2022 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ถ้าเสียภาษีให้คุ้มต้องเลือกลงทุนแบบไหน?
หนึ่งในความรับผิดชอบสำหรับคนที่มีรายได้ คือการเสียภาษี แต่ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจ รวมถึงเป้าหมายทางการเงินของแต่ละคนที่ต่างกันออกไป ทำให้การเสียภาษีในแต่ละปี จึงเป็นอุปสรรคเล็ก ๆ สำหรับหลายคน
นั่นจึงทำให้เกิดนโยบายการลดหย่อนภาษีหลากหลายรูปแบบ เพื่อช่วยให้เราสามารถจ่ายภาษีในจำนวนที่น้อยลง ไปพร้อมกับการมีเงินเก็บ และเงินหมุนเวียนในชีวิตที่มากขึ้น
ซึ่งวันนี้ KTAM มีคำแนะนำถึงวิธีการลดหย่อนภาษีแบบจัดเต็ม สำหรับกลุ่มคนหลาย ๆ แบบ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังมองหาช่องทางการลดหย่อนภาษีในปีนี้ !
เมื่อพูดถึงเรื่องของภาษีเงินได้ ต้องเข้าใจก่อนว่าจริง ๆ แล้วเงินได้พึงประเมิน จะสามารถจำแนกได้ทั้งหมด 8 ประเภท ซึ่งสำหรับมนุษย์เงินเดือน หรือคนวัยทำงานที่ได้รับเงินจากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส และบำเหน็จบำนาญ จะถูกนับเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 (อ้างอิง: ตามข้อมูลจากกรมสรรพากร เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2018)
โดยการคำนวณภาษีที่เราต้องจ่ายในแต่ละปีแบบเบื้องต้นสำหรับบุคคลที่มีรายได้จากเงินได้ประเภทที่ 1 ที่ไม่แน่ใจว่าอัตราภาษีของตนเองอยู่ในระดับที่เท่าไรนั้น สามารถคำนวณเบื้องต้นได้จาก “วิธีคิดอัตราภาษีเงินได้แบบขั้นบันได” ซึ่งจะมีสูตรการคำนวณเบื้องต้น คือ
“[(เงินได้สุทธิ – เงินได้สุทธิสูงสุดในขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษี] + ภาษีสะสมที่ต้องจ่ายในขั้นก่อนหน้า”
โดยขั้นอัตราภาษีต่าง ๆ จะสามารถอ้างอิงได้ตามนี้
●
กรณีที่มีเงินได้สุทธิตั้งแต่
- 150,001 บาท - 300,000 บาท
- อัตราภาษีจะอยู่ที่ 5% (จำนวนภาษีสะสมสูงสุดในขั้นนี้คือ 7,500 บาท)
- 300,001 บาท - 500,000 บาท
- อัตราภาษีจะอยู่ที่ 10% (จำนวนภาษีสะสมสูงสุดในขั้นนี้คือ 27,000 บาท)
- 500,001 บาท - 750,000 บาท
- อัตราภาษีจะอยู่ที่ 15% (จำนวนภาษีสะสมสูงสุดในขั้นนี้คือ 65,000 บาท)
- 750,001 บาท - 1,000,000 บาท
- อัตราภาษีจะอยู่ที่ 20% (จำนวนภาษีสะสมสูงสุดในขั้นนี้คือ 115,000 บาท)
- 1,000,001 บาท - 2,000,000 บาท
- อัตราภาษีจะอยู่ที่ 25% (จำนวนภาษีสะสมสูงสุดในขั้นนี้คือ 365,000 บาท)
- 2,000,001 บาท - 5,000,000 บาท
- อัตราภาษีจะอยู่ที่ 30% (จำนวนภาษีสะสมสูงสุดในขั้นนี้คือ 1,265,000 บาท)
- 5,000,001 บาท ขึ้นไป
- อัตราภาษีจะอยู่ที่ 35% (จำนวนภาษีสะสมสูงสุดในขั้นนี้ ขึ้นอยู่กับอัตราการคำนวณจริง)
ซึ่งอัตราภาษีขั้นแบบบันได และการคำนวณอัตราภาษีนี้ถูกอ้างอิงตามกฎหมายประมวลรัษฎากร และตัวอย่างของวิธีการคำนวณคร่าว ๆ นั้น เช่น
ตัวอย่างที่ 1 : หากเป็นกลุ่ม First Jobber ที่เริ่มทำงานมาได้ไม่นาน และมีเงินเดือนอยู่ที่ 18,000 บาท ต่อเดือน เงินได้สุทธิต่อปีโดยคร่าว ๆ จะอยู่ที่ 216,000 บาท
ซึ่งถือว่าอยู่ในช่วงเงินได้สุทธิ 150,001 บาท - 300,000 บาท
ดังนั้นภาษีเงินได้สุทธิทั้งปี จะเท่ากับ “(216,000 – 150,000) x 5% + 0 บาท” หรือ 3,300 บาท ต่อปี
ตัวอย่างที่ 2 : หากเป็นกลุ่มคนที่ทำงานมาได้สักระยะหนึ่ง และมีเงินอยู่ที่ 30,000 บาท ต่อเดือน เงินได้สุทธิต่อปีโดยคร่าวจะอยู่ที่ 360,000 บาท ซึ่งถือว่าอยู่ในช่วงเงินได้สุทธิ 300,001 บาท - 500,000 บาท
ดังนั้นภาษีเงินได้สุทธิทั้งปี จะเท่ากับ “[(360,000 – 300,000) x 10%] + 7,500 บาท” หรือ 13,500 บาท ต่อปี เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม เงินได้ที่เรามี ยังสามารถลดหย่อนเพิ่มเติมได้อีกเช่นกัน ซึ่งเมื่อรู้อัตราภาษีเบื้องต้นแล้ว เงินได้ที่เรามี สามารถนำไปลดหย่อนกับอะไรได้บ้าง ?
สำหรับการเสียภาษีในกรณีบุคคลธรรมดา เราสามารถเลือกหักลดหย่อนได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว ได้สูงสุดถึง 17 กรณี* ตามการอ้างอิงของกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 2021 ซึ่งประกอบไปด้วย
1) ผู้มีเงินได้ สามารถหักได้ 60,000 บาท
2) กรณีที่มีคู่สมรส และคู่สมรสไม่มีเงินได้ หัก 60,000 บาท
3) กรณีที่มีคู่สมรส และต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ สามารถลดหย่อนรวมกันได้ ไม่เกิน 120,000 บาท
4) กรณีที่มีบุตร (ทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมาย และบุตรบุญธรรม) สามารถหักตามจำนวนบุตรได้คนละ 30,000 บาท
สำหรับบุตรบุญธรรมจะหักได้ไม่เกิน 3 คน และ หากมีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมาย และ บุตรบุญธรรม ให้ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน
กรณีมีบุตรชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จะนำบุตรบุญธรรมมาหักอีกไม่ได้ (บุตรที่นำมาหักลดหย่อนต้องไม่มีเงินได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป, อายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษา)
5) กรณีที่ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถหักค่าลดหย่อนได้ไม่เกินคนละ 30,000 บาท (โดยบิดามารดา ต้องมีรายได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาท และสามารถหักลดหย่อนสำหรับบิดามารดาของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาท)
6) กรณีที่มีค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือทุพพลภาพ สามารถหักค่าลดหย่อนได้ คนละ 60,000 บาท (โดยผู้ทุพพลภาพต้องมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาท)
7) กรณีที่มีค่าเบี้ยประกันชีวิต จากกรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายเกินจริง โดยไม่เกิน 100,000 บาท
กรณีที่มีค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ของผู้มีเงินได้ และคู่สมรส โดยหักค่าลดหย่อนตามที่ใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท (โดยบิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี)
9) เงินสมทบจากกองทุนประกันสังคม สามารถหักค่าลดหย่อนได้ตามเท่าที่จ่ายจริง ในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท (แต่หากประกันตนโดยสมัครใจ ตามมาตรา 39 สามารถหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 5,184 บาท)
10) ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ สามารถหักค่าลดหย่อนได้ตามเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตต้องไม่เกิน 100,000 บาท
11) เงินบริจาค โดยแบ่งเป็น
■
เงินบริจาคเพื่อการศึกษา หรือการกีฬา สามารถหักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ
■
เงินบริจาคทั่วไป ซึ่งสามารถหักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ
■
เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง ซึ่งสามารถหักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
12) เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถหักค่าลดหย่อนอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีในแต่ละปี โดยไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี
13) ดอกเบี้ยกู้ยืมที่จ่ายให้แก่สถาบันการเงิน สามารถหักค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
14) เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุน หรือเบี้ยอื่น ๆ เพื่อการเกษียณอายุ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
15) เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง โดย 10,000 บาทแรกหักเป็นรายการลดหย่อน ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท หักเป็นรายการยกเว้นเงินได้ (เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับลดหย่อนและยกเว้น เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท)
16) เงินค่าซื้อ RMF จะได้รับยกเว้นเท่าที่จ่ายค่าซื้อหน่วยลงทุน ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมินเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
17) เงินค่าซื้อ SSF สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
จากข้อกำหนดที่เห็นได้ชัด จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่สามารถลดหย่อนได้เยอะ จะเป็นกลุ่มของการลดหย่อน จากเงินสะสมและการลงทุน ซึ่งได้แก่ เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ เงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินลงทุนใน RMF และ SSF
นั่นจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำไม ผู้ที่มีรายได้จากเงินได้ประเภทที่ 1 ถึงควรเลือกลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ให้ถูกประเภทกับเงินได้สุทธิ และอัตราภาษี โดยเฉพาะเมื่อต้องการลดหย่อนผ่านการลงทุน ซึ่งความสำคัญนั้น ไม่ใช่แค่การเลือกประเภทการลงทุนให้เหมาะกับตัวเองเท่านั้น แต่จำเป็นต้องคำนวณอัตราโดยรวม ของการลงทุนให้ไม่เกินข้อกำหนด ไปพร้อมกับตรวจสอบนโยบายการลงทุน และระดับความเสี่ยงของกองทุน SSF และ RMF ที่คุณต้องการลงทุนด้วยเช่นกัน
2
ซึ่งเบื้องต้นเราสามารถตรวจสอบได้ว่า อัตราภาษีของเราอยู่ในระดับที่สูงแค่ไหน จุดประสงค์ในระยะยาวต่อการลงทุนของเราคืออะไร แล้วค่อยหาวิธีว่าเราจะลดหย่อนอย่างไร ให้อยู่ในงบไม่เกิน 500,000 บาทตลอดทั้งปีได้ ถ้านึกไม่ออก ลองมาดูตัวอย่างกัน
ตัวอย่างที่ 1 : First Jobber ที่เริ่มทำงานมาได้ไม่นาน และมีเงินเดือนอยู่ที่ 18,000 บาท ต่อเดือน โดยมีเงินได้สุทธิต่อปีโดยคร่าว ๆ จะอยู่ที่ 216,000 บาท
แน่นอนว่าจากตัวอย่างนี้ ถือเป็นผู้ที่มีรายได้จากเงินได้ประเภทที่ 1 ที่มีอัตราภาษีต่อปีตั้งแต่ 5-15% ฉะนั้น หนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ จึงหนีไม่พ้นการลงทุนกับกองทุน RMF เพราะกองทุน RMF คือการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ เหมาะกับคนที่เพิ่งทำงาน และมีฐานรายได้ไม่สูงมากนัก แต่มีระยะเวลาที่ลงทุนยาวนาน
ซึ่งเงื่อนไขของ RMF คือ ต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี และจะถอนออกได้เมื่ออายุครบ 55 ปี แต่ถ้าจะถือครองต่อก็ย่อมได้
แถม RMF ยังสามารถเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินจำนวนไม่สูงมากนัก รวมถึงลดหย่อนภาษีในสัดส่วนไม่เกิน 30% ของเงินได้สุทธิ และไม่เกิน 500,000 บาท กรณีนำสินทรัพย์อื่นอย่าง กองทุน หรือประกันมารวมลดหย่อนด้วย RMF จึงเหมาะกับคนที่ต้องการเก็บออมควบคู่ไปกับการลงทุนเพื่อเกษียณ และมีเงินก้อนในบั้นปลายชีวิต
ตัวอย่างที่ 2 : คนที่ทำงานมาได้สักระยะหนึ่ง และมีเงินอยู่ที่ 30,000 บาท ต่อเดือน โดยมีเงินได้สุทธิต่อปีโดยคร่าว ๆ จะอยู่ที่ 360,000 บาท
สำหรับผู้ที่มีรายได้จากเงินได้ประเภทที่ 1 ที่มีอัตราภาษีต่อปีในระดับที่สูงขึ้น และยังอยู่ในช่วงวัยที่ยังไม่คิดจะเกษียณ ในอีก 10 ปีข้างหน้า สามารถเลือกลงทุนกับกองทุน SSF ไปพร้อม ๆ กับการลงทุนอื่น ๆ บางส่วน เพื่อลดหย่อนภาษี กับลงทุนเพื่อทำกำไรในเวลาเดียวกัน
สาเหตุเพราะอัตราการลดหย่อนของ SSF จะมีความเหมาะสมสำหรับคนที่มีฐานภาษีสูง อีกทั้งช่วงอายุที่ยังสามารถลงทุนกับสิ่งที่มีความเสี่ยงได้ จึงเหมาะสำหรับการทำกำไรในระยะยาว ผ่านข้อกำหนดที่ผู้ลงทุนจำเป็นจะต้องถือครองต่อเนื่อง 10 ปี
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างคร่าว ๆ ที่หลายคนสามารถนำไปปรับใช้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะรู้ถึงวิธีการ และความเหมาะสมสำหรับการลดหย่อนภาษีให้ตัวเองบ้างแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสนใจด้วยนั้น
ก็คือนโยบายการลงทุน และระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในกองทุน SSF และ RMF
1
เพราะกองทุน SSF และ RMF ต่างก็มีระดับความเสี่ยงในการลงทุน ตามรูปแบบสินทรัพย์ที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ระดับเสี่ยงน้อย (ที่เน้นความมั่นคง) ไปจนถึงเสี่ยงมาก (ที่เน้นโอกาสทำกำไร) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุนนั่นเอง
และสำหรับใครที่กำลังมองหา บลจ. ที่มีกองทุน SSF และ RMF ที่หลากหลาย สำหรับการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี หรือการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation)
บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย หรือ KTAM เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่พร้อมตอบโจทย์สำหรับคุณ
เพราะ KTAM มีกองทุนรวมให้เลือกมากมาย ทั้งในรูปแบบ SSF และ RMF ความหลากหลายด้านสินทรัพย์ลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมอีกมากมาย ให้คุณได้เลือกสรร
หรือถ้าหากต้องการคำนวณภาษี ผ่านเครื่องมือช่วยคำนวณ เพื่อความแม่นยำในการทราบผลภาษีในปีนี้ ก็สามารถตรวจสอบได้ผ่านโปรแกรมคำนวณภาษีจากทาง KTAM ได้ที่นี่ :
http://bitly.ws/w3U7
สุดท้าย…แม้ว่าการเสียภาษีจะเป็นหน้าที่สำคัญ แต่การออกแบบการเสียภาษี ด้วยการลงทุนในกองทุนรวม ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน
สนใจกองทุนรวม KTAM คลิกเลย :
https://bit.ly/3M5TO6e
สอบถามรายละเอียดหรือขอรับหนังสือชี้ชวนที่ ธนาคารกรุงไทย ผู้สนับสนุนการขาย หรือ บลจ.กรุงไทย โทร. 𝟎𝟐-𝟔𝟖𝟔-𝟔𝟏𝟎𝟎 กด 𝟗
* ข้อมูลการหักลดหย่อนภาษีเงินได้ที่อ้างอิงจากกรมสรรพากรนั้น อ้างอิงจากข้อมูลที่ทำให้เป็นปัจจุบันเมื่อช่วงปี ค.ศ. 2021 ซึ่งสำหรับปี ค.ศ. 2022 นั้นอาจต้องรอการทำให้เป็นปัจจุบันจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการอีกครั้งในอนาคต
คำเตือน :
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนใน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนรวมเพื่อการออม และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ หากลงทุนไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด อาจต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเสียเงินเพิ่ม
References :
-
https://www.rd.go.th/62777.html
- คู่มือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา from
www.rd.go.th
-
https://www.rd.go.th/557.html
-
https://www.facebook.com/.../a.1648.../10151616034094984/
...
-
https://www.thebangkokinsight.com/.../personal.../818282/
การลงทุน
วางแผนภาษี
12 บันทึก
8
20
12
8
20
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย