10 พ.ย. 2022 เวลา 13:05 • สุขภาพ
✈️ หูอื้อ​ จากการขึ้นเครื่องบิน​ 🛬
✈️ช่วงนี้คนเดินทางท่องเที่ยวกันกระหน่ำ​ สนามบินเชียงใหม่คนเป็นหนอน​ แถวสแกนกระเป๋ายาวเหยียด​ โรคหนึ่งที่เกิดขึ้นขณะเดินทางด้วยเครื่องบิน​ นั่นคือ​ อาการหูอื้อ​ บางคนอาจปวดหูในขณะที่​เครื่องบินลดระดับ​ โดยเฉพาะคนที่นั่งท้ายเครื่องจะเกิดปัญหา​นี้มากกว่าคนที่นั่งส่วนหน้า
🛬อาการแน่นหู ปวดหู หูอื้อ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความดันบรรยากาศอย่างกระทันหันระหว่างเดินทางโดยเครื่องบิน เพราะอากาศภายนอกที่มีความดันมากขึ้นเรื่อยๆ (ขณะเครื่องบินลดระดับลงเรื่อยๆ) จะถูกดันเข้ามาในรูหูชั้นนอกตลอด และเพิ่มแรงดันขึ้นเรื่อยๆ จึงดันเยื่อแก้วหูเข้าด้านในอย่างรุนแรง ซึ่งเคยมีถึงขนาดเยื่อแก้วหูฉีกได้
👨‍⚕️โดยปกติร่างกายจะมีการชดเชย โดยดันลมเข้าผ่านปากท่อยูสเตเชี่ยน (Eustachain Tube) เข้าสู่ช่องหูชั้นกลาง เพื่อเพิ่มความดันอากาศในช่องหูชั้นกลาง ให้สู้กับความดันอากาศในรูหูชั้นนอก แต่ในกรณีที่ปากท่อยูสเตเชี่ยนปิด เยื่อบุในท่อบวม ทำให้ท่อตีบ (มักพบในกรณีเป็นหวัด มีน้ำมูก เป็นภูมิแพ้จมูกที่ควบคุมไม่ดี นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ)
อากาศจากภายในหลังโพรงจมูกจะไม่สามารถดันผ่านปากท่อเข้าไปได้ ความดันในช่องหูชั้นกลางจึงยังต่ำ เยื่อแก้วหูจึงถูกดันเข้าตลอด นั่นเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่เป็นหวัด เจ็บคอ คออักเสบ ไซนัส จะเกิดอาการเหล่านี้ได้ง่าย และเจ็บมากกว่าปกติด้วย​ ถ้าเลี่ยงได้ ก็ไม่ควรขึ้นเครื่องบินในขณะเป็นหวัด ไซนัสอักเสบ หรือมีอาการภูมิแพ้กำเริบ​
🚀การปรับระดับความดันในหูของเรา ทำได้หลายวิธี
🥛พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนขึ้นเครื่อง และเตรียมสำรองไว้จิบเรื่อยๆ ระหว่างอยู่บนเครื่องบิน
ผู้ที่เป็นโรคจมูกหรือไซนัสอักเสบเรื้อรัง ควรป้องกันไม่ให้อาการทางจมูกหรือไซนัสกำเริบ โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ (เช่น ความเครียด, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, อารมณ์เศร้า, วิตกกังวล, เสียใจ, ของฉุน, ฝุ่น,ควัน, อากาศที่เปลี่ยนแปลง และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรือหวัด) เนื่องจากถ้ามีการอักเสบในโพรงจมูก จะส่งผลถึงรูเปิดของท่อยูสเตเชี่ยนซึ่งอยู่ที่โพรงหลังจมูก ทำให้การทำหน้าที่ของท่อยูสเตเชี่ยนผิดปกติไป เกิดปัญหาของหูดังกล่าว
😤 สาเหตุของการเกิดหูอื้อคือความดันอากาศ ดังนั้นการเคลียร์อากาศเพื่อปรับความดันในหูก็เป็นวิธีแก้ไขที่นักดำน้ำรู้จักกันดี​ การเคลียร์อากาศปรับความดันหูอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้คุณหายหูอื้อได้ ด้วยการสูดหายใจเข้าให้เต็มที่ แล้วบีบจมูกพร้อมปิดปากให้สนิท แล้วเบ่งลมออกเบา ๆ จากนั้นค่อยเอามือออกจากปากและจมูกแล้วกลืนน้ำลาย ทำได้เรื่อยๆ จนกว่าเครื่องบินจะหยุดลดระดับการบิน หรือลงพื้นดินแล้ว
ห้าม! เป่าแรงอย่างเด็ดขาด ไม่งั้นอาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้
ขณะที่เป็นหวัดหรือไซนัสอักเสบซึ่งมีการติดเชื้อในจมูก ไม่ควรบีบจมูก และเป่าลมให้เข้ารูเปิดของท่อยูสเตเชี่ยน เพราะจะทำให้เชื้อโรคในจมูกเข้าไปสู่หูชั้นกลางได้
🍡 พกลูกอม หรือหมากฝรั่งติดไว้ จะได้กลืนน้ำลายบ่อยๆ ทำเป็นระยะๆ เป็นการช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณปากท่อยูสเตเชี่ยนเปิด
🥤 อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยแก้อาการหูอื้อ ที่คุณอาจจะมองข้าม คือ “การใช้หลอดดูดน้ำ” การใช้หลอดดูดน้ำหรือเครื่องดื่มต่าง ๆ เวลาคุณกลืนเครื่องดื่มลงไป ความดันภายในหูก็จะทำการปรับระดับให้เท่ากับความดันภายนอกหู ทำให้แก้ปัญหาหูอื้อได้ วิธีการกลืนเครื่องดื่มจึงแก้ได้คล้าย ๆ กับวิธีการกลืนน้ำลายเช่นกัน
😅 การหาว เป็นวิธีที่ไม่ต้องพกพาอุปกรณ์ และสามารถช่วยลดอาการหูอื้อได้ เพราะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยปรับระดับความดันภายในและความดันภายนอกหูให้มีระดับเท่ากัน เป็นวิธีง่าย ๆ ช่วยได้ยามหูอื้อ ซึ่งหลาย ๆ คนอาจเคยเผลอหาวไม่รู้ตัวแล้วมารู้ตัวอีกทีตอนที่อาการหูอื้อหายไปแล้ว
👂 ลองใช้ Flight Earplugs ที่ออกแบบมาสำหรับใช้อุดหูบนเครื่องบินเท่านั้น ใช้ตอนเครื่องบินจะขึ้นหรือลง จะช่วยปรับความดันอากาศในหูชั้นกลางให้พอดีกับภายนอกหูได้ (หาซื้อได้ตามร้านยาทั่วไป)​
💊 ถ้ามีอาการทางจมูก เช่น คัน, จาม, คัดจมูก, น้ำมูกไหล และจำเป็นต้องขึ้นเครื่องบิน ควรใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการทางจมูก เช่น กินยาแก้แพ้, ยาหดหลอดเลือด หรือใช้ยาพ่นจมูก อาจร่วมกับการล้างจมูก หรือการสูดไอน้ำร้อน เพื่อทำให้การอักเสบภายในจมูกลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้เยื่อบุรอบรูเปิดท่อยูสเตเชี่ยนยุบบวมลง ทำให้ท่อยูสเตเชี่ยนทำงานปกติได้เร็วขึ้น เช่น
- กินยาหดหลอดเลือด (oral decongestant เช่น สูโดเอฟีดรีน) ก่อนเครื่องบินขึ้นหรือลง ประมาณครึ่งชั่วโมง หรือ
- พ่นยาหดหลอดเลือด (topical decongestant เช่น oxymetazoline) ก่อนเครื่องบินขึ้นหรือลง ประมาณ 5 นาที
ถ้าได้ป้องกันอาการของหูก่อนขึ้นหรือลงเครื่องแล้วยังมีอาการทางหูอยู่ อาจพ่นหรือหยอดยาหดหลอดเลือดเข้าไปในจมูกอีกทุก 10 -15 นาที
 
หลังจากลงเครื่องแล้ว อาการแน่นหู เจ็บหู ควรจะหายไปภายในหนึ่งชั่วโมง ถ้ายังเป็นอยู่อย่างยาวนาน ไม่หายภายใน 2-3 วัน ควรปรึกษาแพทย์ทันที
สำหรับคนที่มีอาการหูอื้อ ปวดหูอย่างรุนแรง หรือเป็นมากจนเรื้อรัง แพทย์อาจจะใช้วิธีการผ่าตัด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง
😀 มีปัญหา​เรื่อง​การ​ใช้​ยา​ เชิญ​ปรึกษา​เภสัชกร​
.
.
💢
.
.
POSTED 2022.11.09
บทความอื่น
ตะกอนหินปูน​ในหูชั้นในหลุด
หูอักเสบ
หูชั้นกลางอักเสบ
การดูแลสุขภาพหู
โรคที่พบบ่อยในช่องหู
โฆษณา