Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
My Paragraph
•
ติดตาม
10 พ.ย. 2022 เวลา 23:30 • หนังสือ
"ตรวจสุขภาพการเงินด้วยตัวเอง"
สุขภาพการเงินก็เหมือนกับสุขภาพร่างกาย ต้องหมั่นดูแลและตรวจสอบเป็นประจำ เพื่อให้เราได้ทราบถึงปัญหาการเงินที่เรากำลังพบเจอและหาวิธีรับมือแก้ไขกับสถานการณ์เหล่านั้น
วันนี้ผมมีวิธีตรวจสุขภาพการเงินด้วยตัวเองจากหนังสือ "เส้นทางสู่อิสรภาพทางการเงินอย่างแท้จริง" มาแบ่งปันให้คุณผู้อ่านได้ลองอ่านและตรวจสอบสุขภาพการเงินของตัวเองกันครับ
โดยจะมีตัวชี้วัดดังนี้ครับ ได้แก่
1. อัตราส่วนการออม
อัตราส่วนนี้เป็นตัวบอกว่า เราเก็บสะสมเงินเพื่ออนาคตของเราแค่ไหน โดยอัตราส่วนการออมที่ดีและมีผลต่อความมั่งคั่งคือ 10% ขึ้นไปของรายได้ครับ
วิธีการวัดก็คือ
* {เงินออมและเงินลงทุน (ต่อเดือน) ÷ รายได้ (ต่อเดือน)} x 100
เช่น ผมมีเงินเดือน 15,000 บาท ทุกเดือนผมจะแบ่งเงินไปออมและลงทุนดังนี้ครับ
-บัญชีเงินฝาก 500 บาท
-กองทุนรวมตลาดเงิน 1,000 บาท
-กองทุนรวมหุ้น 750 บาท
รวม 2,250 บาท
ดังนั้น อัตราส่วนการออมของผมคือ (2,250÷15,000) x 100 = 15%
อยู่ในเกณฑ์ดี
ถ้าใครยังไม่สามารถมีอัตราส่วนการออมมากกว่า 10% ได้ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะว่าภาระของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน
เราอาจจะปรับลดมาหน่อยให้เหลือสัก 5% 3% หรือ 1% ก็ได้ครับ พอเราเริ่มทำจนติดเป็นนิสัยแล้วก็ค่อยๆเพิ่มอัตราส่วนภายหลัง อย่างน้อยการออมเล็กๆน้อยๆก็ยังดีกว่าไม่ออมเลย
สำหรับผม "ปริมาณนั้นสำคัญแต่ความสม่ำเสมอและวินัยทางการเงินสำคัญกว่าครับ"
2.อัตราส่วนเงินชำระคืนหนี้
เป็นอัตราส่วนที่บ่งบอกว่า เรากำลังจะมีหนี้สินเกินตัวหรือเปล่า โดยเกณฑ์ที่ดีคือไม่ควรเกิน 40% ครับ
วิธีวัดก็คือ
* (รายจ่ายหนี้ทั้งหมดต่อเดือน ÷ รายได้ต่อเดือน) x 100
เช่น ผมมีรายการหนี้ที่ชำระเป็นรายเดือนดังนี้
- หนี้ กยศ. 2,000 บาท
- ค่าผ่อนโทรศัพท์ 2,000 บาท
รวม 4,000 บาท
ดังนั้น อัตราส่วนเงินชำระคืนหนี้ของผมคือ
(4,000 ÷ 15,000) x 100 = 27%
ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ก็ควรตระหนักไว้เสมอว่าใกล้จะถึง 40% แล้ว
สำหรับส่วนนี้ใครที่เกิน 40% ไปแล้วก็ไม่เป็นไรครับ เราอาจจะหาวิธีเพิ่มรายได้ของเราด้วยอาชีพเสริมหรือรับจ้างตามความสามารถของเรา หรืออาจจะลดหรือตัดรายจ่ายที่เป็น fixed cost เช่น อาจจะปรับลดแพ็กเกจโทรศัพท์มือถือหรือเปลี่ยนไปใช้ซิมเติมเงิน ถ้าผ่อนรถไม่ไหวก็อาจจะต้องยอมขายรถไปเพื่อให้สภาพคล่องกลับมาดีขึ้น หรือถ้าเป็นหนี้บัตรเครดิตหลายใบก็อาจจะเข้าไปคุยกับธนาคารเพื่อขอรีไฟแนนซ์รวมหนี้เป็นก้อนเดียวกันเพื่อให้ดอกเบี้ยถูกลง เป็นต้น
3.ระดับเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน
เป็นตัวชี้วัดว่าเราพร้อมรับมือกับเรื่องไม่คาดฝันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งระดับเงินฉุกเฉินที่ดีคือ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือนครับ
เราอาจจะรวมทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องสูงทั้งหมดเข้ามาในส่วนนี้ก็ได้นะครับ เช่น เงินฝาก กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ สลากออมทรัพย์ ทองคำ เป็นต้น
ในส่วนนี้อาจจะต้องใช้เวลาเก็บหอมรอมริบกันสักหน่อยนะครับ แต่ถ้าอดทน มีระเบียบวินัยทางการเงินยังไงก็สำเร็จครับ
4.ความมั่งคั่งสุทธิ (Net Worth)
เป็นตัวชี้วัดว่ามูลค่าทรัพย์สินปลอดภาระของเรานั้น มากกว่าหรือน้อยกว่าหนี้สินที่มี
วีธีวัดก็คือ
*ทรัพย์สินปลอดภาระทั้งหมด - หนี้สินรวม
เกณฑ์ที่ดีคือ ตัวเลขเป็น +
ในส่วนนี้อาจจะต้องใช้เวลานานกว่าตัวชี้วัดอื่นๆนะครับ เพราะว่าอาจจะต้องใช้เวลาสร้างมูลค่าทรัพย์สินและขจัดหนี้สินนานหน่อยกว่าจะเป็นบวก แต่ถ้ามันติดลบน้อยลงทุกปีก็ถือว่าความมั่งคั่งของเรามากขึ้นแล้วครับ
หมื่นลี้ต้องมีก้าวแรก การก้าวออกมาจากจุดเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยก็ถือว่าเข้าใกล้ความสำเร็จมากกว่ายืนอยู่เฉย ๆ เดินช้าแต่เดินสม่ำเสมอยังไงก็ถึงจุดหมายแน่นอนครับ
และนี่คือวิธีตรวจสุขภาพการเงินที่ผมเรียบเรียงมาให้คุณผู้อ่านได้อ่านกันนะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์และสร้างกำลังใจเล็กๆน้อยๆให้คุณผู้อ่านกันนะครับ ขอบคุณครับ 🙏🏻😊
เรียบเรียงบทความจาก
หนังสือ : เส้นทางสู่อิสรภาพทางการเงินอย่างแท้จริง
ผู้เขียน : จักรพงษ์ เมษพันธ์ุ ( The Money Coach)
จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย : บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด
ติดตามบทความดีๆ จากหนังสือดีๆ ได้ที่
Facebook :
https://www.facebook.com/profile.php?id=100083199540239
Blockdit :
https://www.blockdit.com/pages/62d36e1ff3c43550da6697be
การเงิน
พัฒนาตัวเอง
ออมเงิน
1 บันทึก
2
1
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย