10 พ.ย. 2022 เวลา 15:09 • หนังสือ
“อุดมคติ” คำที่บางทีดูเหมือนจะมีตัวตน แต่บางครั้งก็สุดจะพร่ามัว บางทีดูสัมผัสได้ แต่บางครั้งก็คล้ายร่องรอยแห่งวิญญาณ เปรียบเสมือนบางสิ่งที่ดำรงอยู่ไปพร้อมๆกับความว่างเปล่า
 
อุดมคติ คือม่านหมอกแห่ง “ความคิด” ที่คอยหลอกล่อจิตใจที่ขาดพร่องให้ฝักใฝ่ไล่ตามภาพฝันอันมิสิ้นสุด
ตัวมันเองประกายจุดเริ่มต้นร้อยพันแต่กลับทอดทิ้งปลายทางให้เป็นภาระอำนาจแห่งโชคชะตา
 
เมื่อช่องว่างของ “สิ่งที่เป็น” กับสิ่งที่ “ปรารถนาให้เป็น” แทบไม่เคยตีบแคบลง มันจึงไม่ต่างกับการวิ่งไล่ตามเงาเรื่อยไป เหน็ดเหนื่อยเท่าไรก็ไม่เคยได้ลิ้มลองรสชาติของมัน
 
พระพุทธเจ้าสอนให้เราออกห่างจากอุดมคติ นั่นเพราะมันเป็นเพียงมโนภาพทางความคิดอันไร้ตัวตน
อุดมคติบีบคั้น ดัดแปลง เคียดเค้นตัวเราให้แยกขาดจากธรรมชาติ อัดเร่งความตึงเครียดให้ชีวิตผ่านการเหนี่ยวรั้ง “ความเป็นไป” สู่จารีตแห่ง “การตามใจ”
 
เมื่ออุดมคติเป็นรูปหนึ่งของความคิด ท่านจึงสอนว่า “เราไม่อาจหลุดพ้นจากความคิดได้ด้วยความคิด” ทางเดียวที่จะตัดวงจรอันไร้ที่สิ้นสุดนี้ก็คือการละวางความคิดนั้นลง
 
เราอาจสังเกตได้ว่าอุดมคติ คือการไล่ การได้ การบรรลุ การมุ่งหาความสุข ณ ปลายทาง หากแต่คำสอนของพระพุทธเจ้า “นิพพาน” คือการละ การดับ การวาง
หนทางแรกมีเป้าหมายเป็น "ความคาดหวัง" ดุจเครื่องเหนี่ยวรั้ง
หากแต่หนทางหลังกลับใช้ "การละวาง" เป็นทางออก
การดับแห่งเครื่องผูกมัด การหลุดจากการเกาะเกี่ยวกับวัตถุข้าวของเงินทอง รวมไปถึงขั้นสูงสุดนั่นก็คือ อัตตาอันฝังราก เหล่านี้เป็นแนวทางที่ท่านชี้ทางให้เราเสมอมา
น่าคิดที่ว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราละวางการไขว่คว้าที่ไม่จบสิ้น ทั้งๆที่มนุษย์ส่วนใหญ่มิได้ทำเช่นนั้นเลย หรือนั่นเป็นเพราะท่านรู้ความลับแล้วว่า
“อุดมคติ” นั้นอาจไม่ต่างกับเส้นชัยที่ไม่มีจริง และไม่มีรสสุขใดที่เทียบได้เท่ากับอมฤตแห่งปัจจุบัน
...พะโล้
โฆษณา