11 พ.ย. 2022 เวลา 04:15 • ปรัชญา
ปรากฏการเหมารวม หนึ่งในข้อด้อยของมนุษย์เรา (Stereotype)
การเหมารวม หมายถึง ทัศนคติที่เกิดจากประสบการณ์ในอดีตหล่อหลอมจนเป็นความเชื่อ และกลายเป็นมาตรฐานในการตัดสิน ซึ่งสามารถเป็นได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ ศาสนา การเมือง เพศ สิ่งของ สัตว์ นิสัยใจคอ พฤติกรรม ฯลฯ
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ การใช้ประสบการณ์ในอดีตเป็นตัวตัดสินสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวในปัจจุบัน และเมื่อทัศนคติเหมารวมเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะกำจัดมันเนื่องด้วยเหตุผลทั้งจิตใจและทางสังคม โจชัว แอรอนสัน (Joshua Aronson) เรียกสิ่งนี้ว่า ภัยคุกคามของการเหมารวม (Stereotype Threat)
นักจิตวิทยาชื่อดัง จอร์จ เคลลี ตั้งข้อสังเกตว่า ความเชื่อของเราเป็นเหมือนแว่นตาส่องความเป็นจริง เราใช้แว่นตานั้นทำความเข้าใจโลกและสำรวจสภาพแวดล้อมรอบตัว ภักคุกคามต่อความคิดเห็นของเราทำให้แว่นตาแตกร้าว
ส่งผลให้การมองเห็นของเราพร่ามัวลง จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกระแวดระวัง เราจะมีท่าทีเป็นศัตรูเป็นพิเศษเวลาที่พยายามปกป้องความคิดเห็นซึ่งเรารู้อยู่ลึก ๆ ว่าไม่ถูกต้อง แทนที่จะลองสวมแว่นตาอันอื่น เรากลับบิดเบือนความคิดของตัวเองไปมาจนกระทั่งเจอมุมที่ทำให้มุมมองปัจจุบันของเรายังคงสมบูรณ์เหมือนเดิม
ปรากฏการเหมารวมคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน แต่บางคนมีความสามารถที่จะบิดเบือนหรือพลิกความคิดของตัวเองจนกระทั่งเจอมุมที่เขาพอใจ และต่อให้เราจะไม่สามารถหามุมที่สอดคล้องกับความเป็นจริงได้เจอ ก็จะพยายามเสกมุมนั้นขึ้นมาเองจนได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดูน่าเหลือเชื่อแค่ไหนก็ตาม
ไม่ต่างอะไรกับคนที่เป็นโรคจิตเภท ที่มีความคิด ความเชื่อที่หลงผิด จึงเป็นเหตุให้เราพบความแปลก วิกลจริตในสังคมมากมาย ยกตัวอย่าง (แบบสุดโต่ง) เช่น การเห็นเหมารวมว่า อดีตนายกทักษิณ ชินวัตรจ้างนักเรียน นักศึกษาให้ออกมาชุมนุมจนติดคุก หรือ ชาวโรฮิงญาทุกคนเป็นคนชั่วที่ไม่ควรค่าต่อการมีชีวิตอยู่
เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ทัศนคติเหมารวมติดแน่นก็คือ เรามักมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีทัศนคติเหมารวมแบบเดียวกัน ซึ่งทำให้ทัศนคติเหมารวมนั้นสุดโต่งมากขึ้นไปอีก ในหนังสือ Think Again: The Power of Knowing What you don't know อดัม แกรนต์ (Adam Grant)
ผู้เขียนเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า การแบ่งขั้วของกลุ่ม (Group Polarization) และปรากฎให้เห็นในการทดลองหลายร้อยครั้ง คณะลูกขุนที่มีความเชื่อแบบอำนาจนิยมจะเสนอบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นหลังจากพิจารณาคดีร่วมกัน หรือความเชื่อเกี่ยวกับคนแอฟริกันอเมริกัน เป็นคนไม่ดี
การแบ่งขั้วนี้ได้รับการเสริมแรงโดยการคล้ายตามกัน (Conformity) กล่าวคือ สมาชิกกลุ่มระดับทั่วไปจะกลายเป็นที่ยอมรับและได้รับสถานะจากการเจริญรอยตามสมาชิกผู้เป็นต้นแบบชั้นยอดของกลุ่มซึ่งมักจะเป็นคนที่มีมุมมองแบบสุดโต่งที่สุด ดังเช่นตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาก่อนหน้านี้
จึงไม่แปลกว่าเมื่อเราเติบโตมาในครอบครัวที่เกลียดเสื้อแดง เกลียดอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ก็จะทำให้ความเกลียดเข้มข้นมากขึ้นจากการแบ่งขั่วของกลุ่ม และยิ่งเราได้รับข่าวสารเกี่ยวกับการสนุบสนุนของพรรคที่อยู่ตรงกันข้ามกับความเชื่อของเรา ไม่นานความรู้สึกรังเกียจของเราก็จะยิ่งทวีความรุนแรงฝังแน่นจนทำให้สังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ยากจะแก้ไขได้
ในหนังสือ The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control Over Their Lives ผู้เขียน วิลเลียม สติกซ์รัด (William Stixrud) และ เน็ด จอห์นสัน (Ned Johnson) ได้เล่าถึงปรากฎการเหมารวม โดยพวกเขายกตัวอย่างสถานการณ์ของเด็กชายชาวแอฟริกันอเมริกันที่นั่งท่ามกลางเด็กผิวขาวในห้องสอบ
เด็กคนนั้นเข้าห้องมาพร้อมสัมภาระที่มากกว่าเพียงดินสอดำสองบี เป็นไปได้ว่าเขานำเป้ที่บรรจุสิ่งที่คนอื่นจินจนาการเกี่ยวกับเขาไว้เต็มใบเข้ามาด้วย (เช่น ระเบิด)
ที่น่ากลัวก็คือ ต่อให้เด็กแอฟริกันอเมริกันคนนั้นรู้ว่าการเหมารวมที่เขากำลังจินตนาการไม่มีที่มาที่ไป เขาก็อาจเชื่อเต็มอกว่าคนอื่นคิดในทางร้ายเกี่ยวกับตัวเขาเอง สิ่งนี้ค่อนข้างน่ากลัวเพราะมันจะสร้างความเครียด ความกดดันแก่เขา และภายใต้ความเครียดนั้น ความคิดเขาอาจเลื่อนไถลจากความสำเร็จไปสู่ความล้มเหลว "ทุกคนที่เห็นคะแนนสอบต่ำ ๆ ของฉันต้องรู้แน่ ๆ ว่าฉันเป็นคนดำ แล้วพวกเขาก็จะยิ่งเชื่อว่าคนดำไม่เก่ง"
สิ่งที่ สติกซ์รัด และ จอห์นสัน ได้นำเสนอในหนังสือ The Self-Driven Child เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะภายคุกคามของการเหมารวมไม่ได้มาจากการถูกกระทำของเด็กผิวดำโดยคนอื่น ยังไม่มีใครกล่าวหาเขาเลยว่าเด็กคนนี้พกระเบิดพลีชีพเข้ามาในห้องสอบ แต่เด็กผิวดำคนนี้กลับมองว่าคนอื่นต้องคิดแบบนี้อย่างแน่นอน กล่าวคือ เขาถูกกระทำโดยความคิดของเขาเอง เขาได้เหมารวมตัวเองว่าคนอื่นต้องคิดในเชิงลบต่อตัวเขาเองอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม สติกซ์รัด และ จอห์นสัน ก็ได้ให้คำแนะนำแก่กับบุคคลที่โดนความคิดของตัวเองเล่นงาน โดยพวกเขาแนะนำว่า ให้ลองตั้งคำถามเกี่ยวกับภาพใหญ่ในชีวิต เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและเสริมสร้างความสามารถในการกำกับตัวเอง เช่น "แก่นของคุณค่าในตัวฉันคืออะไร" "อะไรที่สำคัญกับฉันจริง ๆ กันแน่" หรือ "ฉันเป็นใครกันแน่" คำถามเหล่านี้จะเป็นการเตือนสติตัวเอง และตระหนักว่าตัวเองเป็นมากกว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ในตอนนี้
คำแนะนำเกี่ยวกับการคิดทบทวนของสติกซ์รัด และ จอห์นสันเป็นความคิดที่น่าสนใจมาก และทำให้ผมอยากให้คำแนะนำเพื่อให้เราหลุดพ้นจากการเป็นคนประเภทที่ชอบเหมารวม เพราะเราคงทำให้ใครเปลี่ยนความคิดไม่ได้ (หรือทำได้ยาก) ดังนั้นหากเราสามารถเปลี่ยนความคิดของตัวเองได้
อย่างน้อยเราก็จะสามารถหยุดตัวเราเองจากการทำร้ายตัวเองโดยไม่เจตนาได้ เหมือนกับตัวอย่างเด็กแอฟริกันอเมริกันที่คิดว่าคนอื่นต้องมองตัวเองเป็นมือระเบิดอย่างแน่นอน
อ้างอิง
Aronson, J. (2004). The Threat of Stereotype. Educational leadership: journal of the Department of Supervision and Curriculum Development, N.E.A. 62(3): 14-19.
Grant, A. (2021). Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know. NY: Viking.
Stixrud, W., & Johnson, N. (2018). The Self-Driven Child: The Science and Sense of Giving Your Kids More Control Over Their Lives. NY: Viking.
เราบิดเบือนความคิดของตัวเองไปมาจนกระทั่งเจอมุมที่ทำให้มุมมองปัจจุบันของเรายังคงสมบูรณ์เหมือนเดิม
โฆษณา