Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Main Stand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
11 พ.ย. 2022 เวลา 04:37 • กีฬา
"ฮึง" : จิตวิญญาณที่ช่วย "ฮีล" ใจคนเกาหลีใต้ ผ่านวัฒนธรรมการเชียร์กีฬา | Main Stand
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2002 ถือเป็นช่วงเวลาที่ชาติเกาหลีใต้มีความสุขมากที่สุดครั้งหนึ่ง นั่นเป็นเพราะการแข่งขันฟุตบอลโลกที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ (ร่วม) ประสบความสำเร็จ
มากไปกว่านั้นคือการถือกำเนิดขึ้นของวัฒนธรรมการเชียร์กีฬาแบบอึกทึกครึกโครมชนิดที่ยากที่จะเห็นชาติอื่นใดในเอเชียเคยทำมาก่อน ถึงขั้นที่ว่าประธานธิบดี คิม แด จุง (ในขณะนั้น) เคยกล่าวว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ชาติเกาหลีมีความสุขมากที่สุดครั้งหนึ่ง นับแต่การสถาปนาโคโชซอน (อาณาจักรแรกของเกาหลี) ของพระเจ้าทันกุนในตำนาน
ประชาชนเกาหลีใต้ต่างพร้อมอกพร้อมใจเชียร์ทีมชาติของตัวเอง แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณแห่งความสุขที่มีร่วมกัน ภายใต้ห้วงอารมณ์แห่งความร่าเริงที่เรียกว่า "ฮึง" (흥)
Main Stand ชวนทุกคนมาหาคำตอบว่าดีเอ็นเอ (DNA) แห่งความสุขนี้เข้ามาเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงจิตใจคนในประเทศ ผ่านวัฒนธรรมการเชียร์กีฬาได้อย่างไร
"ฮึง" ความสุขล้ำของโคเรียนชน
จากแนวคิดของ คาร์ล ยุง (Carl Jung) นักทฤษฎีจิตวิทยาวิเคราะห์ บอกว่าการที่มนุษย์ทุกคนเกิดมานั้นย่อมมีชุดความคิดและข้อมูลที่ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษผ่านทางดีเอ็นเอ และมันเป็นการกำหนดจิตสำนึกที่พร้อมตอบสนองต่อประสบการณ์ภายนอก
และเมื่อพิจารณาถึงประวัติศาสตร์ชาติเกาหลีใต้ จะเห็นว่าเกาหลีผ่านภาวะสงคราม การโดนรุกรานจนตกเป็นอาณานิคมของต่างประเทศ มีการแบ่งประเทศออกเป็นเหนือและใต้ ฯลฯ กระทั่งมาเป็นประเทศเกาหลีใต้ในทุกวันนี้
นอกจากจะมีโอกาสตอบโต้จากภาวะสงครามในบางครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่คนเกาหลีใต้รู้สึกนึกคิดภายใต้ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านทั้งหมดนี้คือการเก็บความคับแค้นไว้ในใจ นำมาซึ่งภาวะทางอารมณ์ "ทุกข์ที่ฝังลึกในใจ" ถูกสั่งสมมายาวนาน จนกลายเป็นคำเรียกว่า "ฮัน" (한)
"ฮัน" หรืออารมณ์ด้านลบมักมากับความสิ้นหวังและความอยุติธรรม เป็นภาวะขุ่นเคืองและเจ็บปวดที่ฝังอยู่ในใจคนที่ได้แต่เก็บไว้ในใจ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้คนตลอดจนศิลปะวัฒนธรรมที่รังสรรค์ เป็นภาพสะท้อนว่า แม้คนเกาหลีจะเจอสถานการณ์ลำบากใจ แต่พวกเขาไม่หมดหวังและพร้อมจะอดทนต่อไป
แต่ในสหัสวรรษใหม่เกาหลีมีความเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะความโด่งดังของ "Korean Wave" หรือ กระแสเกาหลี ที่ทำให้ประชากรโลกได้รับรู้เรื่องราว อัตลักษณ์ ตลอดจนวัฒนธรรมของประเทศ จนกลายเป็น "Soft Power" ที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศเป็นจำนวนมหาศาล
ส่งให้อีกด้านหนึ่งอารมณ์และจิตวิญญาณที่ให้ความรู้สึกที่เป็นสุขสุดเหวี่ยงที่เป็นคู่ตรงข้ามกับ "ฮัน" นั่นคือ "ฮึง" (흥) ที่ได้เข้ามามีอิทธิพลร่วมกับจิตวิญญาณฮัน
"ฮึง" เปรียบเสมือนพลังที่มาบรรเทาความคับแค้นข้องใจแบบเก่า ๆ กลายเป็นภาพลักษณ์ของความเป็นเกาหลีสมัยใหม่ "ฮึง" เข้ามาเปลี่ยนภาพลักษณ์เดิมของเกาหลีที่เคยถูกนิยามว่าเป็น "ดินแดนแห่งความสงบในยามเช้า"
โดยเฉพาะภาพสะท้อนในสมัยฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่น และนั่นเป็นโอกาสที่ดีที่เกาหลีใต้จะได้แสดงศักยภาพของตัวเองบนเวทีโลก
แม้จะมีกระแสในแง่ลบเกิดขึ้นอยู่ไม่น้อยในทัวร์นาเมนต์ โดยเฉพาะการตัดสินที่น่ากังขาของทีมผู้ตัดสินในเกมรอบ 16 ทีมสุดท้ายที่ เกาหลีใต้ ดวลกับ อิตาลี และรอบ 8 ทีมสุดท้ายกับ สเปน จนกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่สวยในสายตาแฟนลูกหนังต่างชาติ
อย่างไรก็ตามภาพลักษณ์นี้ไม่มีผลกับภายในประเทศ เหนือสิ่งอื่นใดการจัดฟุตบอลโลก 2002 ได้ปลุกกระแสความรักในกีฬาและวัฒนธรรมเชียร์กีฬาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มีการเกิดขึ้นของอีเวนต์เชียร์ฟุตบอลในพื้นที่สาธารณะ แฟน ๆ พร้อมใจกันสวมชุดสีแดงร่วมให้กำลังใจทีมฉายา "พยัคฆ์แห่งเอเชีย" กันโดยมิได้นัดหมาย
"การพร้อมใจเชียร์บนท้องถนนในปี 2002 ของแฟนฟุตบอลถือเป็นอีเวนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลี ผู้คนต่างรู้สึกถึงความสุขที่มีร่วมกันในเวลานั้น" ศาสตราจารย์ โช ซอง-ซิก แห่งมหาวิทยาลัยฮันยาง กล่าว
ก่อนจะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการรวมตัวกันในทุก ๆ 4 ปีที่เวิลด์คัพ รอบสุดท้าย ที่จัดการแข่งขันไล่มาตั้งแต่ปี 2006, 2010, 2014 และ 2018 (ก่อนที่ปี 2022 นี้จะมีการยกเลิกไป จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมอิแทวอน ซึ่งเกิดก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่มไม่นาน)
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นภาพแทนที่ดีของการแสดงจิตวิญญาณแห่ง "ฮึง" ที่ได้สร้างวัฒนธรรมการเชียร์ใหม่ ๆ และคงอยู่เป็นคู่ตรงข้ามกับจิตวิญญาณแห่ง "ฮัน" อันบอบช้ำ และกลายเป็นประสบการณ์ร่วมของคนเกาหลีที่สามารถสืบทอดกันมาจนปัจจุบัน
รับอิทธิพลจากอเมริกา & การเรียกร้องประชาธิปไตย สู่ฉากใหม่ของวัฒนธรรมการเชียร์
สืบเนื่องจากเกาหลีใต้รับเอาอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ยุคสงคราม ทำให้ชาติจากคาบสมุทรเกาหลีนี้มีการรับเอาแนวคิดตลอดจนวัฒนธรรมใหม่ ๆ มาปรับเพื่อให้เข้ากับสังคมของตน จนกลายมาเป็นอัตลักษณ์ใหม่ทางวัฒนธรรมของตัวเอง
วัฒนธรรมการเชียร์แบบเชียร์ลีดเดอร์เกาหลีก็เช่นกัน นอกจากผู้แสดงจะมาพร้อม "ฮึง" แล้ว วัฒนธรรมการเชียร์ดังกล่าวยังเป็นฟันเฟืองสำคัญสู่การเชียร์กีฬาเกือบทุกชนิดในเกาหลีใต้ยุคปัจจุบันอีกด้วย
จุดเริ่มต้นของเชียร์ลีดเดอร์มาจากการเชียร์กีฬาในสถานศึกษาของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยที่ออกสตาร์ตจากมหาวิทยาลัยหนึ่งส่งต่อไปอีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง
จนกลายเป็นว่าในทุก ๆ การแข่งขันกีฬากับต่างมหาวิทยาลัยจะมีการเชียร์แบบเชียร์ลีดเดอร์คอยออกท่าทางโดยพร้อมเพรียง เพื่อให้กำลังใจสถาบันของตัวเอง กระทั่งถูกเผยแพร่สู่ต่างแดน และเกาหลีใต้ก็รับอิทธิพลเรื่องเชียร์ลีดเดอร์เข้ามาประยุกต์เป็นแนวทางของตัวเอง
นอกจากนี้รูปแบบเชียร์ลีดเดอร์เกาหลีใต้ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศด้วยเช่นกัน การออกมาประท้วงเรียกร้องสิทธิ์ต่าง ๆ ของประชาชนในประเทศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำหากเห็นว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ยุติธรรมต่อสังคม ซึ่งผู้ประท้วงเรียกร้องสิทธิ์ต่าง ๆ ครอบคลุมทั้งกลุ่มนักศึกษา สหภาพแรงงาน รวมทั้งประชาชนทั่วไป
และในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมามีหลายครั้งที่กลุ่มผู้ประท้วงที่เป็นนักศึกษาได้ใช้ช่องทางนี้เพื่อต่อต้านความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับทั้งตัวเองและสังคม
"วัฒนธรรมการเชียร์ในเกาหลีสามารถย้อนไปถึงการประท้วงบนท้องถนนกับการเรียกร้องสิทธิ์ในประชาธิปไตย เสียงตะโกนจากผู้ประท้วงและแนวความคิดที่แต่ละกลุ่มยืดถือนับเป็นพลังที่เปี่ยมล้นสู่การสนับสนุนประชาธิปไตย" อี กึน ประธานมูลนิธิเกาหลี หรือ Korea Foundation คนที่ 13 เผย
"โชคดีมากที่พลังเหล่านี้ได้มุ่งมาสู่การมีประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าได้ จากนั้นก็ได้กลายมาเป็นความจงรักภักดีต่อมหาวิทยาลัยในแต่ละแห่ง"
กีฬาประเพณี "ยอนโคจอน-โคยอนจอน"
"ยอนโคจอน-โคยอนจอน" (연고전-고연전) เป็นชื่อของการแข่งขันกีฬาประเพณีของสองมหาวิทยาลัยชั้นนำของเกาหลีใต้คือ มหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University) และมหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) โดยริเริ่มการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 1927 ในสมัยที่ยังใช้ชื่อเดิมว่า "Yonhi College" (ยอนเซ) และ "Bosung College" (ม.เกาหลี)
แรกเริ่มมีการแข่งขันแค่ฟุตบอล แต่ต่อมาได้กำหนดการแข่งขันเพิ่มอีก 4 ชนิดกีฬาคือ เบสบอล บาสเกตบอล รักบี้ และฮอกกี้น้ำแข็ง
ขณะเดียวกันแรงขับเคลื่อนชั้นดีที่ทำให้กีฬาประเพณีของสองมหาวิทยาลัยโดดเด่นก็คือวัฒนธรรมการเชียร์กีฬาแบบ "เชียร์ลีดเดอร์"
"ทุก ๆ คนจะพร้อมใจกันสวมเสื้อ (สีแดง - ม.เกาหลี, สีน้ำเงิน - ม.ยอนเซ) พวกเราร้องเพลงเชียร์ร่วมกัน มันให้ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน" คิม จี-อู กัปตันเชียร์ลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัยยอนเซ ให้สัมภาษณ์ "บางคนเต้นไม่เก่ง บางคนไม่ค่อยชอบเคลื่อนไหวร่างกาย ดังนั้นนี่ถือเป็นเรื่องแปลกมาก ๆ ที่ทุกคนพร้อมใจกันเชียร์ด้วยแนวทางที่ซับซ้อนของเชียร์ลีดเดอร์"
"ฉันพูดได้เลยว่าเหมือนแต่ละคนมี 'ฮึง' อยู่ในตัวเองค่ะ"
ว่ากันว่ากีฬาระหว่างสองสถาบันนี้มีคนร่วมติดตามกว่า 5 หมื่นคนในแต่ละปี เป็นอีเวนต์กีฬาระดับมหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้
บรรยากาศของการเชียร์กีฬาตลอดจนการแสดงสปิริตการเชียร์ผ่านเชียร์ลีดเดอร์มีการใช้เพลงสถาบัน เพลงพื้นบ้านไปจนถึงเพลงเคป๊อบ (K-pop) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง และประยุกต์ใช้เนื้อร้องและทำนองตามโอกาส โดยมีกัปตันเชียร์ลีดเดอร์เป็นผู้คุมกิจกรรมหลัก
ขณะเดียวกันประเพณีการเชียร์กีฬาและวัฒนธรรมเชียร์ลีดเดอร์จากสองสถาบันที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 90 ปีนี้ ถือว่ามี "จุดร่วม" ไปสู่วัฒนธรรมการเชียร์กีฬาอาชีพเช่นกัน
ร้องไปด้วยกัน เชียร์ไปด้วยกัน สนุกไปด้วยกัน
นักกีฬา สนามแข่งขัน และกองเชียร์ คือ 3 องค์ประกอบสำคัญของกีฬา เป็นรูปแบบของเกมการแข่งขันที่มีเป้าหมายสู่ชัยชนะในสนาม โดยมีแรงสนับสนุนจากข้างสนามในรูปแบบของแฟน ๆ กีฬา
"เบสบอล" ในฐานะกีฬาที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งของประเทศ เป็นภาพตัวแทนของวัฒนธรรมการเชียร์กีฬาและวัฒนธรรมการเชียร์ลีดเดอร์ที่ชัดเจนของเกาหลีใต้
เบสบอลถูกนำเข้ามาสู่จักรวรรดิเกาหลีในช่วงปี 1905 โดยมิชชันนารีชาวอเมริกัน ก่อนจะมีลีกอาชีพอย่างเป็นทางการหนแรกในปี 1982 จากนั้นก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างมูลค่าทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมาจนทุกวันนี้
และสิ่งที่เบสบอลเกาหลีใต้ทำให้เห็นถึงความแตกต่างจากการเชียร์ทั่วไปและกลายเป็นมิติใหม่ของการเชียร์กีฬาในประเทศคือ "วัฒนธรรมเชียร์ลีดเดอร์ในการเชียร์กีฬา"
นอกจากรูปเกมการแข่งขันที่มีทั้งจังหวะหวดรับลูกเบสบอล วิ่งไปที่เบส ตลอดจนการทำโฮมรันแล้ว บรรยากาศบนอัฒจันทร์ก็เรียกได้ว่า "สนุกสุดเหวี่ยง" และเปี่ยมไปด้วยพลังของการเชียร์ มีกัปตันเชียร์ลีดเดอร์พร้อมเชียร์ลีดเดอร์คอยกำหนดกิจกรรม ทั้งการร้องเพลงเชียร์นักกีฬา มีการใช้ทำนองเพลงเพื่อให้จำง่าย มีการเครื่องเสียงเข้าช่วย บ้างก็ใช้อุปกรณ์ประกอบเสียงอิเล็กทรอนิกส์ชวนกระหึ่ม ไปจนถึงการออกท่าออกทางตามเอกลักษณ์ของแต่ละสโมสร เพื่อให้ทุกคนได้รู้สึกสนุกร่วมกัน
วัฒนธรรมดังกล่าวยังขยายสู่ "เคลีก" (K League) ฟุตบอลลีกอาชีพในประเทศ โดยเฉพาะกับแฟนบอลเจ้าบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างเกมการแข่งขันกับแฟน ๆ ที่ชมเกมในสนาม เช่นในช่วงพักครึ่งเวลา หน้าที่ของกัปตันเชียร์ลีดเดอร์และบรรดาเชียร์ลีดเดอร์คือการสร้างกิจกรรมและความบันเทิงผ่านกิจกรรมคล้ายคลึงกับเบสบอล เพื่อให้ตลอดช่วงเวลากว่า 90 นาทีในสนามเปี่ยมไปด้วยความสนุกสนาน
"วัฒนธรรมการเชียร์ในเกาหลีนั้นเปี่ยมไปด้วยพลัง ที่ทำให้แม้แต่คนที่ไม่ชอบดูเบสบอลก็สามารถมาสนุกกับกีฬาชนิดนี้ที่สนามได้" ศาสตราจารย์ จอน ยง-แพ แห่งภาควิชาการจัดการกีฬา มหาวิทยาลัยดันกุก กล่าว "คนเกาหลีมีวัฒนธรรมที่เรียกว่า 'ฮึง' ซึ่งเกี่ยวข้องกับการร้องเพลงและเชียร์ร่วมกันด้วยความหลงใหล"
หากในวันที่ใจของคนเกาหลีใต้รู้สึกอ่อนล้า เสียใจ หรือคับแค้นใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง วิธีการสำคัญที่ช่วยผ่อนคลายจากความรู้สึกนึกคิดนี้ก็คือการปล่อยจิตวิญญาณแห่ง "ฮึง" ออกมาช่วย "ฮีล" ใจให้ไม่หม่นหมอง โดยมีการเชียร์กีฬาเป็นตัวขับเคลื่อน
ต่อให้เป็นแค่การเชียร์กลุ่มเล็ก ๆ ในบางสถานการณ์ ทว่ามันก็เป็นกิจกรรมซัปพอร์ตใจชั้นดี
บทความโดย พชรพล เกตุจินากูล
แหล่งอ้างอิง
https://youtu.be/GYBAjQhtY7E
https://www.facebook.com/KTOThailand/photos/a.121286271278400.21744.116607928412901/426331290773895/?paipv=0&eav=Afbzn0GLjj-v8trrsw2nwfbwp7Sa8ei8Of9vNLpr9Xxx-mydjHxsXSJU-r0LfK4ozh4&_rdr
https://themomentum.co/history-of-cheerleading/
https://koreajoongangdaily.joins.com/2014/03/20/columns/A-mix-of-han-and-heung/2986690.html
https://www.blockdit.com/posts/5f3e56b290c1b228e378180d
https://www.dek-d.com/studyabroad/51083/
https://thaihypnosis.com/Content/page/%E0%B8%97%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E:-Carl-G.-Jung
https://www.washingtonpost.com/sports/2022/10/26/south-korea-baseball-fans-cheers/
3 บันทึก
3
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย