Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สยามเทศะ โดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
•
ติดตาม
15 พ.ย. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
การตั้งถิ่นฐานในเขตดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
แผนที่แสดงที่ตั้งของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์แสดงด้วยจุดกลมและชุมชนสมัยทวารวดี ที่สืบเนื่องมาจากชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่แสดงด้วยรูปสามเหลี่ยม ซึ่งมักอยู่ในสภาพภูมิศาสตร์ที่ราบลอนลูกคลื่นในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาเก่า ส่วนบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ที่อยู่ด้านล่างของภาพ เป็นชุมชนที่เกิดใหม่กว่าตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ เป็นต้นมา
ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนชายฝั่งทะเลในภาคกลางของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่า [Old Delta] และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ [Young Delta] ตลอดไปจนถึงคาบสมุทรภาคใต้ มีความเคลื่อนไหวในการผสมผสานของผู้คนต่างกลุ่มต่างชาติพันธุ์มาโดยตลอด นับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์บันทึกผ่านกระบวนการบอกเล่าในตำนาน จนถึงการบันทึกไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
ทำให้ผู้คนทั้งหลายในแถบภูมิภาคนี้เกิดการผสมผสานตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนจนเป็นพลเมืองของสยาม และกลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาทต่อการค้าภายในตลอดจนการค้าอย่างเข้มข้นเพื่อการส่งออกในยุคสมัยต่อมา สภาพสังคมและวัฒนธรรมในบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแห่งนี้จึงมีการเคลื่อนไหว ผสมผสาน และบูรณาการจนเป็น บ้าน เมือง รัฐ และอาณาจักร ในที่สุด
สังคมของมนุษย์ที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้จึงเป็นสังคมลุ่มแม่น้ำ [Riverine society] เพราะบ้านเมืองและชุมชนต่างตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลองทั้งสิ้น บริเวณที่ดอนริมลำน้ำก็มักถูกเลือกเป็นที่ตั้งของชุมชน การคมนาคม การทำมาหากินจึงต้องอาศัยทางน้ำเป็นหลัก ชุมชนในยุคแรกๆ จึงตั้งอยู่ในบริเวณเส้นทางทางน้ำที่สำคัญ
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เสนอไว้ว่า พัฒนาการของบ้านเมืองและสังคมมนุษย์ที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์ของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยามีอยู่ด้วยกันสามสมัยเวลาคือ สมัยโลหะตอนปลาย สมัยทวารวดี-ลพบุรี และสมัยอยุธยา-กรุงเทพฯ โดยการเติบโตของสังคมลุ่มแม่น้ำที่ชัดเจนและสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้ชัดเจนในช่วงเวลาที่กรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ เป็นราชธานีและศูนย์กลางของประเทศ
เพราะการตั้งถิ่นฐานก่อนสมัยการเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมีหลักฐานของการอยู่อาศัยไม่มากนักและส่วนใหญ่มักนิยมตั้งชุมชนบ้านเมืองในพื้นที่บริเวณขอบด้านตะวันตกและตะวันออกของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นที่ราบติดแนวเทือกเขาซึ่งเป็นที่สูง เป็นพื้นที่ซึ่งกระแสน้ำได้ไหลพัดพาเอาตะกอนมาทับถมในบริเวณดังกล่าวและเป็นแหล่งต้นแม่น้ำใหญ่หลายแห่ง ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นบริเวณที่เรียกว่าดินดอนสามเหลี่ยมเก่าหรือ Old Delta นั่นเอง
การตั้งถิ่นฐานของชุมชนบ้านเมืองก็มักตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำเก่าในเขตภายใน และมีการติดต่อค้าขายกับบ้านเมืองโพ้นทะเลในระยะเวลานี้แล้ว (ศรีศักร วัลลิโภดม. สังคมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา : พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงในการสัมมนา The Chao Phraya Delta: Historical Development, Dynamics and Challenges of Thailand’s Rice Bowl. Bangkok , Thailand, 2000)
ในขณะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมใหม่ หรือ New Delta พื้นที่ปรับเปลี่ยนจากที่ลุ่มชุ่มน้ำเป็นที่ดอนมากขึ้น ความสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มเห็นได้ชัดเจน มีการตั้งชุมชนอยู่ริมลำน้ำและศูนย์กลางที่ชุมทางน้ำสำคัญ เช่น กรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งมีพัฒนาการสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ในที่นี้จึงจะจัดแบ่งยุคสมัยของการตั้งถิ่นฐานออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มชุมชนในช่วงก่อนประวัติศาสตร์จนถึงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ และกลุ่มชุมชนในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ลงมา โดยจะเน้นการกล่าวถึงชุมชนบ้านเมืองที่อยู่ในระยะหลังซึ่งแสดงถึงการเชื่อมโยง
: การตั้งถิ่นฐานในช่วงก่อนประวัติศาสตร์
จนถึงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐
ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งบริเวณที่เป็นดินดอนสามเหลี่ยมเก่าและใหม่ พบว่า มีหลักฐานที่เป็นร่องรอยของการอยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ยุคโลหะที่เริ่มต้นเมื่อมีการใช้สำริด หรืออาจจะเรียกว่ายุคสำริดก็ได้เมื่อราว ๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว
สามารถกล่าวได้ว่า จากหลักฐานของโบราณวัตถุที่พบซึ่งอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับในหลุมฝังศพ มีรูปแบบทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงและใกล้เคียงกับวัฒนธรรมจากพื้นที่ภายนอก เช่น ในจีนตอนใต้ เวียดนาม อินเดีย และหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงถึงการติดต่อหรือเคลื่อนย้ายทั้งรูปแบบวัฒนธรรมและกลุ่มคนในภูมิภาคนี้
ทางฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา บริเวณที่ราบลอนลูกคลื่นซึ่งเป็นที่สูงและอยู่ชายขอบของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่ปัจจุบันเราเรียกพื้นที่นี้โดยรวมว่า วัฒนธรรมในเขตลุ่มลพบุรี-ป่าสัก
พบว่ามีการค้าระยะทางไกล เพราะนิยมเครื่องประดับที่ทำจากเปลือกหอยและหินมีค่า รูปแบบของเครื่องมือเครื่องใช้ที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากภูมิภาคอื่น การใช้โลหะตั้งแต่ยุคสำริด (ประมาณ ๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว) มาจนถึงยุคเหล็ก (ประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว) แสดงถึงการมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการถลุงโลหะเช่น ทองแดงและเหล็กเป็นอย่างมาก
ส่วนทางฝั่งตะวันตกพบว่าในบริเวณที่อยู่เข้าไปในเขตเทือกเขาซึ่งเป็นบริเวณต้นน้ำสายใหญ่ต่างๆ มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ยุคหินจนกระทั่งถึงยุคโลหะ
และชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางชายขอบของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เป็นดินดอนสามเหลี่ยมเก่า [Old Delta] ในเขตวัฒนธรรมที่อาจเรียกว่า ลุ่มท่าจีน-แม่กลอง ก็พบชุมชนที่มีการใช้เครื่องมือเครื่องใช้หรือเครื่องประดับที่สะท้อนให้เห็นว่ามีการติดต่อระหว่างชุมชนภายในเหล่านี้กับชุมชนโพ้นทะเล เช่น ตุ้มหูและกลองมโหระทึกสำริดที่พบแพร่หลายในวัฒนธรรมในเขตเวียดนามเหนือ ภาชนะสำริดที่แสดงถึงอิทธิพลวัฒนธรรมจากอินเดีย เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากสำริดและเหล็กที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับในวัฒนธรรมเขตเวียดนามตอนกลางและตอนล่าง
ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่ในบริเวณชะวากหรือใกล้กับชายทะเลในยุคก่อนโลหะจนถึงยุคสำริดและเหล็กที่พบคือ โคกพนมดี และหนองโน ที่อยู่ในเขตอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เป็นชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พึ่งพิงการใช้ทรัพยากรในป่าชายเลน โดยยังไม่พบหลักฐานการเพาะปลูกแต่อย่างใด นอกจากนี้ แหล่งที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มใกล้ทะเลอีกแห่งหนึ่งคือ ที่โคกพลับในอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ก็เป็นชุนชนที่มีการอยู่อาศัยในยุคสำริดและมีการติดต่อกับชุมชนที่อยู่ภายนอกอย่างชัดเจน
สำหรับการตั้งถิ่นฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์เช่นนี้ มักอยู่อาศัยในเขตที่ดอน บริเวณที่ราบแนวเชิงเขาซึ่งเป็นราบลอนลูกคลื่น [Undulating Plain] ซึ่งมีชุมชนในยุคโลหะ คือ ยุคสำริดและยุคเหล็กตั้งถิ่นฐานอยู่จำนวนมาก โดยใช้น้ำซับและตาน้ำใต้ดินที่กลายเป็นลำธารเล็กๆเป็นส่วนใหญ่ มิได้เป็นรูปแบบของชุมชนในลุ่มน้ำแต่อย่างใด
เท่าที่การสำรวจทางโบราณคดีค้นพบ มีการกระจายของการตั้งถิ่นฐานเช่น ลุ่มลพบุรี-ป่าสัก ในเขตจังหวัดลพบุรีและนครสวรรค์ ส่วนในลุ่มท่าจีน-แม่กลอง ก็กระจายอยู่ในบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี
ในเขตดินดอนสามเหลี่ยมเก่า ลำน้ำเก่าบางแห่งมีการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิศาสตร์ทำให้ตื้นเขิน ดังเช่น ชุมชนในยุคต่อมาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ในสมัยทวารวดี รัฐมีพัฒนาการซับซ้อนมากขึ้นและรับอิทธิพลวัฒนธรรมจากอินเดียอย่างชัดเจนแล้ว ชุมชนสมัยทวารวดีบางแห่งและมีจำนวนไม่น้อยมีการขุดคูคันดินล้อมรอบในพื้นที่ซึ่งเคยมีการอยู่อาศัยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มาก่อน
บริเวณที่มีการเคลื่อนไหวของการถิ่นฐานสูงกว่าพื้นที่อื่นใดคือ บริเวณลุ่มน้ำจระเข้สามพันซึ่งเป็นสาขาของลำน้ำท่าจีนในบริเวณต้นน้ำแถบอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรีไหลลงสู่อำเภอสองพี่น้องในจังหวัดสุพรรณบุรี บริเวณนี้พบหลักฐานการอยู่อาศัยของชุมชนโบราณตั้งแต่ในยุคเหล็ก (๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว) เรื่อยมาจนถึงในสมัยทวารวดีจำนวนมาก ที่สำคัญคือ บ้านดอนตาเพชรในจังหวัดกาญจนบุรี และบริเวณเมืองอู่ทองในจังหวัดสุพรรณบุรี
เมืองอู่ทองนี้นับได้ว่ามีลักษณะของการเป็นเมืองท่าภายในและพบโบราณวัตถุที่เห็นชัดว่ามีการติดต่อระยะทางไกลจากจีนและอินเดีย และมีอายุร่วมสมัยกับเมืองออกแอวที่เวียดนามซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนอันเป็นส่าวนหนึ่งของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม
ในระยะต่อมาความสำคัญของการเป็นเมืองท่าภายในลดลงและมีเมืองในสมัยทวารวดีขนาดใหญ่ที่อยู่ต่ำลงมาในบริเวณลุ่มน้ำท่าจีนที่นครปฐม คือเมืองนครไชยศรีโบราณที่ลำน้ำบางแก้วและเมืองคูบัวที่ลำน้ำแม่กลองในจังหวัดราชบุรี ทั้งสองแห่งเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่และเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา การค้าและวัฒนธรรม ซึ่งอาจหมายรวมถึงการเมืองของบ้านเมืองทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ส่วนทางฝั่งตะวันออกก็พบเมืองศรีมโหสถ ในจังหวัดปราจีนบุรีและเมืองพระรถในอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ในเขตลุ่มน้ำบางปะกง ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่สมัยทวารวดี ซึ่งมีลักษณะเป็นเมืองท่าภายในเช่นเดียวกัน
ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งอยู่ภายในและห่างไกลจากลำน้ำสายใหญ่ แต่ใช้ลำธารขนาดเล็กๆ ที่ไม่ต้องปรับให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศเป็นตัวกำหนดสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม และเมื่อมีพัฒนาการเข้าสู่ช่วงสมัยประวัติศาสตร์ในยุคทวารวดีเป็นต้นมา ก็เริ่มปรับเปลี่ยนลักษณะการตั้งบ้านเมืองถิ่นฐานของเมืองสำคัญที่อยู่ใกล้กับลำน้ำในรูปแบบของการเป็นเมืองท่าภายในที่ต้องพึ่งพาอาศัยการคมนาคมติดต่อทางน้ำเป็นสำคัญ
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ให้ความเห็นไว้ว่า[1]สังคมมนุษย์ที่เคยอยู่อาศัยในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมในยุคนี้มีทีมาพออนุมานได้ว่า เป็นคนกลุ่มเดิมที่เคยอยู่อาศัยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้วเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่เขตลุ่มน้ำ กลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายมาจากที่ราบสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกลุ่มคนที่เข้ามาทางทะเล
ชุมชนขนาดใหญ่ใกล้ชายทะเลที่เห็นการสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยลพบุรีและอยุธยา คือบริเวณปากน้ำแม่กลองและแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณเมืองท่าภายในที่สำคัญคือ เมืองคูบัวที่มีลำน้ำอ้อมสาขาของแม่น้ำแม่กลองผ่าน และมีกาสรอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่นที่ โคกพริกและสืบเนื่องตลอดมาเพราะพบเครื่องถ้วยจีนตั้งแต่สมัยห้าราชวงศ์ ราชวงศ์ซุ้ง ราชวงศ์หยวน และราชวงศ์หมิง ที่พบบริเวณลำน้ำแม่กลองจนถึงเมืองราชบุรีตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยาจนถึงสมัยอยุธยา
เมืองราชบุรี เป็นเมืองที่มีความสืบเนื่องจากเมืองสมัยทวารวดีที่คูบัว เพราะห่างกันเพียง ๕ กิโลเมตร กลายเป็นเมืองที่อยู่ชิดกับลำน้ำสายใหญ่ในสมัยลพบุรีในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘–๑๙
และเกิดบ้านเมืองใหม่ที่ตั้งอยู่ตามแนวชายหาดทะเลเดิมซึ่งต่อเนื่องไปถึงชะอำ คือเมืองเพชรบุรีซึ่งเป็นเมืองท่าภายในอันเชื่อมต่อระหว่างการเดินทางทางน้ำและทางบกในสมัยอยุธยา เมื่อต้องการเดินทางผ่านช่องเขาข้ามไปทางฝั่งทะเลอันดามันบริเวณเมืองทวายและมะริด ตลอดจนการเดินทางเลียบชายฝั่งไปสู่หัวเมืองในคาบสมุทรมลายู และเป็นจุดพักสำคัญของการเดินเรือเลียบชายฝั่งในยุคที่การค้าทางทะเลเฟื่องฟูในสมัยอยุธยา
: การตั้งถิ่นฐานในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ลงมา
พื้นที่ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่หรือ Young Delta เพิ่งเริ่มมีการตั้งชุมชนของมนุษย์เป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่เมื่อไม่เกิน ๗๐๐–๘๐๐ ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ก่อนการเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ ปรากฏมีชุมชนอยู่หลายแห่งตามริมน้ำเจ้าพระยา เท่าที่สำรวจพบหลักฐานสำคัญโดยวิเคราะห์จากโบราณสถาน โบราณวัตถุ และตำนานหลายเรื่องประกอบกัน
แม้จะยังไม่มีการกล่าวถึงของนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีทั่วไปมากนัก แต่เมื่อวิเคราะห์แล้วก็เห็นร่องรอยรากฐานการมีอยู่ของชุมชนต่างๆ สืบเนื่องมาเป็นระยะ และการศึกษา ตำนานหรือนิทานปรัมปรา [Myth] และนิทานพื้นบ้าน [Folk tale] สามารถชี้ให้เห็นถึงการแพร่กระจายทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งมีประโยชน์ในการศึกษาเรื่องตั้งถิ่นฐานและประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของผู้คนท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ
ในระยะแรกของการตั้งถิ่นฐานของชุมชนที่อยู่ต่ำกว่าเมืองอยุธยา มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคนจีนเข้ามาในบริเวณนี้อย่างชัดเจนกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่น โดยใช้การเดินทางโดยสารมากับเรือสำเภาซึ่งเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายร้อยปี กล่าวได้ว่าชุมชนในเขตลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างและแถบคาบสมุทรเกิดขึ้นจากการการผสมกลมกลืนของชาวพื้นเมืองและการเข้ามาเผชิญโชคของชาวจีนชายฝั่งทางตอนใต้หลายยุคหลายสมัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แผนที่แสดงบริเวณทุ่งพญาเมืองที่สามโคกซึ่งปรากฏในโคลงกำสรวลฯ และทุ่งพระเสด็จที่เชียงราก โคลงกำสรวลฯ กล่าวถึงการเดินทางผ่านบริเวณทั้งสองแห่งซึ่งอยู่ในเส้นทางริมแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ช่วงก่อนที่จะมีการขุดคลองลัดที่เกร็ดใหญ่เมื่อราว พ.ศ.๒๑๕๑
การเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยาในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ สัมพันธ์กับตำนานเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางมาถึงของชาวจีนที่อาจหมายถึงขุนนางหรือพ่อค้า
เช่นที่กล่าวถึงในพงศาวดารเหนือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับ วันวลิต ตำนานเรื่องท้าวอู่ทองที่เป็นพ่อค้า[ท้าวอู่ทองที่กล่าวถึงนี้ เป็นบุคคลในตำนาน ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนกับพระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นรัฐใหญ่เมื่อ พ.ศ.๑๘๙๒ โปรดดูรายละเอียดในบทความเรื่อง “ตำนานการเคลื่อนย้ายของคนกลุ่มใหม่ที่มากับเรือสำเภากับการสร้างบ้านแปงเมืองในสมัยอยุธยา” วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (เมืองโบราณ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๔, ตค-ธค. ๒๕๔๓)]
ซึ่งโดยเนื้อเรื่องก็เกี่ยวกับ คนจีนผู้มาใหม่กับคนพื้นเมืองผู้อยู่มาก่อน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการมีอิทธิพลของคนกลุ่มใหม่ นั่นคือ ชาวจีนที่เคลื่อนย้ายอพยพเข้ามากับเรือสำเภา ซึ่งสัมพันธ์กับเหตุการณ์ของบ้านเล็กเมืองน้อยในยุคนั้นที่พัฒนาเข้าสู่การแสวงหาศูนย์กลางแห่งใหม่ระดับนครรัฐที่สามารถรองรับคลื่นของพัฒนาการการเป็นเมืองท่า [Maritime State] จากอิทธิพลของการค้าทางทะเลที่เริ่มจะมีบทบาทสูงต่อรัฐต่างๆ ในภูมิภาคนี้
ตำนานวีรบุรุษทางวัฒนธรรม [Culture Hero] ที่ชื่อท้าวอู่ทอง ตำนานเรื่องนี้อาจกำหนดเวลาได้กว้างๆ ว่าอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๐ อันเป็นช่วงเวลาของการรวบรวมแว่นแคว้นในเขตลุ่มเจ้าพระยาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้แสดงถึงการเข้ามาของคนกลุ่มใหม่จากทางทะเล นั่นคือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนจีน และพ่อค้า ที่เดินทางเข้ามาสู่บ้านเมืองภายใน
ความสำคัญของตำนานเรื่องท้าวอู่ทองที่เป็นพ่อค้าเดินทางรอนแรมไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีหลักฐานเป็นโบราณสถานโบราณวัตถุรองรับอยู่ที่สามโคก ในจังหวัดปุทมธานี บริเวณวัดมหิงสารามซึ่งเป็นวัดร้างเหนือบ้านสามโคกราว ๓-๔ กิโลเมตร ห่างจากฝั่งน้ำเจ้าพระยาราว ๒ กิโลเมตร บริเวณนี้ปรากฏหลักฐานโคกเนินและเศษภาชนะดินเผาหลากแหล่งที่มาและมีอายุเก่าไปถึงราชวงศ์ซุ้ง (พ.ศ.๑๕๐๓-๑๘๒๒) และราชวงศ์หยวน (พ.ศ.๑๘๒๓ – พ.ศ.๑๙๑๑)
ภาพถ่ายทางอากาศ เมืองโบราณที่ทุ่งพญาเมืองมีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฝั่งตรงข้ามกับเมืองสามโคก ปทุมธานี เมืองโบราณที่ทุ่งพระเสด็จรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ที่เป็นคลองบ้านพร้าวมาต่อกับคลองบางหลวงเชียงราก
อีกทั้งฝั่งตรงกันข้ามยังปรากฏเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอีกสองแห่งคือ ทุ่งพญาเมืองและทุ่งพระเสด็จ ในเขตอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานีในปัจจุบัน คือชุมชนบ้านเมืองขนาดใหญ่ที่มีอายุร่วมสมัยกับเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร มีหลักฐานเก่าไปถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการ
และบริเวณนี้ยังสัมพันธ์กับสถานที่ซึ่งปรากฏในพงศาวดารเหนือซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาที่ว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งต้องการไปสร้างบ้านเมืองที่บางเตย แต่ถูกห้ามเพราะน้ำเค็มขึ้นมาถึง[ใน “พงศาวดารเหนือ” ที่พระวิเชียรปรีชา (น้อย) รวบรวมเรียบเรียงเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๐ มีตอนหนึ่งกล่าวว่า “พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงยกพลลงไปขุดบางเตย จะสร้างเมืองใหม่ พระอาจารย์ห้ามว่าน้ำเค็มนัก ยังไม่ถึงพุทธทำนายสร้างไม่ได้”]และที่ตั้งของคลองบางเตยก็อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับเมืองโบราณที่ทุ่งพญาเมือง
เมื่อพิจารณาจากโคลงกำสรวลสมุทร ที่คาดว่าน่าจะแต่งขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช หมายถึงในราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ในช่วงนั้นทุ่งพญาเมืองกลายเป็นเมืองร้างไปแล้ว ดังนั้น เมืองโบราณที่ทุ่งพญาเมืองนี้จึงน่าจะมีอายุในช่วงก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการและมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องเรื่อยมาจนราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ก่อนจะกลายเป็นเมืองร้างและมีการอพยพชาวมอญเข้ามาอยู่อาศัยเป็นชุมชนใหญ่อีกครั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ
อีกทั้งเมืองโบราณที่ทุ่งพระเสด็จ อยู่ในคลองบ้านพร้าวมาจนถึงคลองบางหลวงเชียงรากในปัจจุบัน จึงเป็นชุมชนมาก่อนที่จะมีการขุดคลองลัดเกร็ดใหญ่หรือลัดเตร็ดใหญ่ ในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมเมื่อราว พ.ศ.๒๑๕๐-๒๑๕๑
ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า ก่อนการเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการมีหลักฐานชัดเจนของบ้านเมืองที่มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา นั่นคือ “อโยธาศรีรามเทพนคร” ที่ใต้เกาะเมืองอยุธยาอันเป็นเมืองใหญ่และสัมพันธ์กับเมืองละโว้หรือลพบุรี
ในช่วงเวลาดังกล่าว อาจมีชุมชนที่อยู่ตามลำน้ำเจ้าพระยาอีกหลายแห่งที่มีอายุร่วมสมัย เช่น ทุ่งพญาเมืองที่สามโคก เชียงรากที่ทุ่งพระเสด็จ แควน้ำอ้อมที่บางขนุนบางขุนกองและบางนายไกร ซึ่งมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเจ้าอู่ทองปรากฏอยู่และพบโบราณสถานหลายแห่งที่ถูกทำลายทิ้งไป อีกทั้งพระพุทธรูปหินทรายสีแดง ซึ่งปรากฏเป็นที่นิยมสร้างกันในช่วงอยุธยายุคแรกๆ รวมทั้งพระปรางค์ที่วัดปรางค์หลวงบริเวณแม่น้ำอ้อมก็เป็นพระสถูปตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นอีกเช่นกัน
ชุมชนที่อยู่ตามริมแม่น้ำลำคลองในเขตเมืองธนบุรีดังกล่าว คือชุมชนที่เป็นชุมชนชาวสวนอย่างแน่นอนและวิธีการทำสวนก็ดูแตกต่างไปจากการทำสวนแบบทั่วๆ ไปในที่อื่นๆ นั่นก็คือเป็นการทำสวนแบบยกร่อง แบบอย่างเช่นนี้กล่าวกันว่าเป็นสิ่งที่นิยมกับวิธีการทำสวนที่พบแถวมณฑลกวางตุ้งและกวางสีทางตอนใต้ของประเทศจีน จึงเป็นสิ่งสะท้อนให้แลเห็นความสัมพันธ์กันทางเทคโนโลยีของคนในประเทศจีนตอนใต้ กับผู้คนในเขตป่าชายเลนและลุ่มน้ำในภาคกลางของประเทศไทยที่ค่อนข้างชัดเจน
ในช่วงระหว่าง พ.ศ.๒๐๗๗-๒๐๘๐ ก่อนหน้านั้นมีหลักฐานจากโคลงกำสรวลสมุทรที่ยังคงใช้เส้นทางลำน้ำเจ้าพระยาเดิมผ่านคลองบางระมาดและคลองบางเชือกหนัง แต่มิได้เอ่ยถึงเมืองบางกอกไว้แต่อย่างใด
โคลงกำสรวลศรีปราชญ์หรือกำสรวลสมุทร ที่เคยสันนิษฐานกันว่าศรีปราชญ์เป็นผู้แต่งและประพันธ์ขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ แต่จากหลักฐานจากข้อความที่เขียนถึงการเดินทางตามลำน้ำเจ้าพระยาไปออกทะเลไม่ผ่านคลองลัดบางกอกที่ขุดขึ้นในสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช และกล่าวถึงชุมชนหลายแห่งที่มีอยู่แล้วบนเส้นทางตามลำน้ำเจ้าพระยาไปออกปากอ่าว
ความเห็นว่าน่าจะอยู่ในสมัยรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ขึ้นไป [กำสรวลศรีปราชญ์-นิราศนรินทร์ : ศรีปราชญ์และกำสรวลศรีปราชญ์ ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี, นครหลวงฯ : แพร่พิทยา, ๒๕๑๕ ] ดังที่กล่าวถึงชุมชนในแถบแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่บางระมาด (บางรมาต) และบางเชือกหนัง (บางฉนงง) ซึ่งเป็นชุมชนชาวสวนและเป็นการเดินทางตามเส้นทางน้ำที่คดโค้งของลำน้ำเจ้าพระยาก่อนที่จะมีการขุดคลองลัดบางกอกในสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราชแน่นอน
๕๕ กล้วยอ้อยเหลืออ่านอ้าง ผักนาง
จรหลาดเลขคนหนา ฝ่งงเฝ้า
เยียมาลุดลบาง รมาต
ถนัดรมาตเต้าเต้า ไต่ฉนยร
๕๙ มุ่งเหนดยรดาษสร้อย แสนส่วน
แมนม่วงขนุนไรรยง รุ่นสร้อย
กทึงทองรำควรโดร รศอ่อน พี่แม่
ปรางประเหล่แก้มช้อย ซาบฟนน
๖๐ เยิยมาแอ้วใส้ย่อน บางฉนงง
ฉนงงบ่อมาทนนสาย แสบท้อง
ขนํทิพยพงารงง รจเรข มาแม่
ยินข่าวไขหม้อหน้อง อิ่มเอง
ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ชุมชนที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำมักจะมีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “บาง” อยู่เสมอ ในพจนานุกรมทั่วไป คำว่า “บาง” หมายถึงชุมชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำแต่ในคำอธิบายจาก “สาสน์สมเด็จ” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ให้ความหมายของคำว่า “บาง” หมายถึง “คลองตันที่ทำขึ้นเพื่อชักน้ำในแม่น้ำไปใช้ในที่ทำกิน”ซึ่งนับเป็นรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในเขตริมแม่น้ำลำคลองที่สำคัญประการหนึ่ง
: การตั้งถิ่นฐานบริเวณลำน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน การตั้งถิ่นฐานบริเวณลำน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในทางสังคมและวัฒนธรรมอาจแบ่งพื้นที่ตามลักษณะภูมิประเทศและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมได้ราว ๔ กลุ่ม แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นลำน้ำใหญ่สายเดียวที่มีคลองแยกหรือบางต่างๆ อันเป็นที่ตั้งของชุมชน และแควน้ำอ้อมอีกหลายแห่งซึ่งเห็นพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมร่วมกันอย่างชัดเจน และทั้งหมดมีสภาพทางนิเวศที่เป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่ได้รับอิทธิพลของการเป็นพื้นที่ติดต่อกับฝั่งทะเลอย่างชัดเจน
และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม แม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขาตั้งแต่อยุธยาเป็นต้นมาก็ได้รับผลกระทบที่คล้ายคลึงกันแม้จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันก็ตาม ทั้ง ๔ กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่กว้างๆ ซึ่งมีความแตกต่างกันทางสภาพแวดล้อมและทางวัฒนธรรม อาจกล่าวได้ว่ามีเอกลักษณ์ของตนเอง ได้แก่
ปากน้ำเป็นบริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยาติดต่อกับชายทะเล มีป่าชายเลน [Mangrove] ที่เอื้อให้เกิดแหล่งอาหารตามธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ มีทั้งประมงชายฝั่งและการเพาะปลูก พื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อการชลประทานเพาะปลูกและเป็นเขตที่ผลิตอาหารสำคัญแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงกลายเป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างเสื่อมโทรม กลุ่มชาติพันธุ์ที่แม้มีความหลากหลาย แต่ก็กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนอยู่มาก
ธนบุรีต่อเนื่องกับนนทบุรี เพราะเป็นเขตชาวสวนเหมือนกัน พื้นที่นี้เป็นแหล่งปลูกผลไม้ที่เก่าที่สุดของประเทศ แต่ปัจจุบันพื้นที่กลายเป็นที่อยู่อาศัยใหม่ ทั้งสวนผัก สวนผลไม้เปลี่ยนสภาพไปหมดแล้ว ทั้งที่เป็นพื้นที่เหมาะแก่การทำสวนเพราะเป็นเขตน้ำกร่อยกึ่งน้ำจืดและน้ำเค็ม และมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์อีกเช่นกัน
ที่ลุ่มปทุมธานี กลุ่มนี้ต่อเนื่องกับนนทบุรีบางส่วนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวขนาดใหญ่เช่นกัน ในขณะเดียวกันก็ได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากและบางส่วนกลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยใหม่ของคนเมือง ในบางพื้นที่ก็มีความต่างทางวัฒนธรรมอยู่สูงแม้จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน คือ คนเชื้อสายมอญ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมทำให้มีวีถีชีวิตที่แตกต่างกัน
ที่ลุ่มอยุธยาคือพื้นที่ปลูกข้าวขนาดใหญ่ ทั้งมีจุดกำเนิดในสมัยอยุธยาในการเกิดเป็นรัฐที่มีรากฐานจากการพาณิชย์นาวี การเป็นเมืองท่าภายใน และมีพื้นที่ปลูกข้าวอันกว้างใหญ่ไพศาลจนถึงปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายและน่าสนใจมาก แต่กลายเป็นพื้นที่ในเขตอุตสาหกรรมที่มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมากตั้งอยู่ และระบบการชลประทานที่มีเครือข่ายซับซ้อนเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการผลิตของผู้คนในเขตนี้อย่างชัดเจน
: ความสำคัญของเมืองบางกอก (เมืองธนบุรี) ทางประวัติศาสตร์
ในรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช มีการขุดคลองลัดกลายสภาพเป็นแม่น้ำ ส่วนเส้นทางของแม่น้ำเดิมกลับคับแคบลงกลายเป็นลำคลอง หากใช้หลักฐานจากโคลงกำสรวลสมุทร บริเวณเดิมเหล่านี้มีการตั้งถิ่นฐานแล้วตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ รวมทั้งย่านต่างๆ มีผู้คนอยู่อาศัยหนาแน่นทั้งเป็นชาวประมงและมีการทำสวนปลูกผลไม้ชนิดต่างๆ เป็นจำนวนมาก
มีหลักฐานว่า ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีการยกฐานะเมืองบางกอกเป็นเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรให้เป็นเมืองหน้าด่าน เมื่อ พ.ศ.๒๑๐๐ เรียกเก็บภาษีปากเรือจากเรือสินค้าที่เข้าไปค้าขายยังกรุงศรีอยุธยา ผู้คนอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำทั้งสองฝั่ง ทางตอนใต้และบริเวณภายในเป็นท้องทุ่งและเรือกสวนไร่นา เมืองบางกอกหรือเมืองธนบุรีฯ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงเป็นเมืองที่ใช้พื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ
เนื่องจากเมืองธนบุรีเป็นเมืองหน้าด่านมีชัยภูมิที่ดี และมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ อีกทั้งยังตั้งอยู่บริเวณโค้งของแม่น้ำ สมเด็จพระนารายณ์ฯ (พ.ศ.๒๒๐๑- พ.ศ.๒๒๓๑) โปรดให้วิศวกรชาวฝรั่งเศสสร้างป้อมสำหรับทั้งสองฝั่งน้ำเพื่อรับศึกทางทะเลที่อาจมีปัญหากับกองเรือของชาวดัชท์หรือฮอลันดา เรียกว่า “ป้อมวิชาเยนทร์” ต่อมาป้อมทางตะวันออกถูกรื้อไปในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาคงเหลือแต่ป้อมทางฝั่งตะวันตกแต่เพียงป้อมเดียว
ป้อมวิไชเยนทร์หรือป้อมบางกอก ที่วิศวกรชาวฝรั่งเศสสร้างและเขียนแบบบันทึกขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ อยู่ทางด้านบนที่ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยแล้ว ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตรงข้ามและปรากฏมาจนทุกวันนี้
สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๓ โปรดเกล้าฯ ให้ขยายเมืองไปทางทิศเหนือจนจรดคลองบางกอกน้อย พร้อมกับสร้างกำแพงเมืองตามแนวคลองขุดใหม่มีชื่อเรียกเป็นตอนๆ เช่น คลองบ้านขมิ้น คลองบ้านช่างหล่อ คลองบ้านหม้อ คลองวัดท้ายตลาดส่วนทางทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาขยายไปจนจรดคลองคูเมืองที่ขุดขึ้นใหม่ ปัจจุบันเรียกว่าคลองหลอด แล้วสร้างกำแพงเมืองขึ้นตามแนวคลองคูเมือง ดังปรากฏหลักฐานที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อไม่กี่ปีมานี้
ส่วนป้อมวิไชยเยนทร์ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ป้อมวิไชยประสิทธิ์" พร้อมทั้งให้ขุดที่สวนเดิมเปลี่ยนเป็นท้องนานอกคูเมืองทั้ง ๒ ฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเรียกว่า ทะเลตมไว้เป็นที่สำหรับทำนาใกล้พระนคร แม่น้ำเจ้าพระยาจึงตัดผ่านกลางเมือง พื้นที่ในกำแพงเมืองฝั่งตะวันตกเริ่มตั้งแต่เขตเมืองธนบุรี เดิมริมคลองบางกอกใหญ่ ไปจนถึงบริเวณหลังวัดบางหว้าน้อย (วัดอินทาราม) ริมคลองบางกอกน้อย
ภายในกำแพงเมืองธนบุรีเป็นที่ตั้งของพระราชวังกรุงธนบุรี ส่วนฝั่งตะวันออกเริ่มตั้งแต่ศาลเทพารักษ์หัวโชค (เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร) เลียบตามแนวคูเมือง (คลองคูเมืองบริเวณหลังกระทรวงมหาดไทย) ไปจรดแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด
ปรากฏว่าวัดโพธิ์ในปัจจุบันนี้เป็นวัดสำคัญในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรงธนบุรีเมื่อพิจารณาจากแผนที่เก่าที่ชาวพม่าทำไว้ ซึ่งพบจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง [แผนที่ดังกล่าวอาจารย์สุเนตร ชุตินทรานนท์ ได้รับมาจากผู้คัดลอกมาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และมีจัดแสดงภาพจำลองไว้ในพิพิธภัณฑ์วังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายในกองทัพเรือ]
กรุงธนบุรีเป็นราชธานีเพียง ๑๕ ปี หลังจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงย้ายราชธานีจากฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ธนบุรีจึงถูกลดความสำคัญและกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ในที่สุด
ในยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๓ เป็นช่วงเวลาของการสร้างราชธานี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงย้ายราชธานีมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่ออยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมและขยายพื้นที่ของพระนครออกไป โดยโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองคูเมืองเพิ่มขึ้นจากสมัยกรุงธนบุรีอีกชั้นหนึ่ง คือ "คลองรอบกรุง" สร้างป้อม ประตู กำแพงเมือง โดยมีป้อมพระมหาสุเมรุเป็นป้อมใหญ่มีหอรบสูงเลียนแบบป้อมเพชรที่กรุงเก่าและนำอิฐเก่ามาจากพระนครที่ร้างไปที่อยุธยา
และสร้างพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพมหานครให้คล้ายคลึงกับพระราชวังหลวงที่กรุงศรีอยุธยา สืบทอดอุดมคติการสร้างราชธานีรวมทั้งการจัดการปกครองมาจากกรุงศรีอยุธยา พระบรมมหาราชวังภายในเมืองจึงเป็นศูนย์กลางความศักดิ์สิทธิ์เชิงสัญลักษณ์ของราชธานีแบบเก่า
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๓๖๗ - พ.ศ.๒๓๙๔) สังคมเปิดให้กับเศรษฐกิจการค้ากับผู้คนต่างชาติต่างภาษา ทำให้บ้านเมืองมั่งคั่งบริบูรณ์ขึ้นกว่าเดิม ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามมากมาย
กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองท่าและเมืองหลวงที่เรือสินค้านานาชาติเข้ามาค้าขาย ผู้คนเพิ่มมากขึ้นจากนโยบายกวาดต้อนเชลยศึกจากบ้านเมืองต่างๆ โดยมีคนจีนที่ผสมผสานกับชนชั้นปกครองทำให้เกิดสังคมกระฎุมพีหรือกลุ่มชนชั้นกลางที่เป็นพ่อค้าและสร้างความสนิทสนมกับกลุ่มขุนนางและพระราชวงศ์ชั้นสูง จนกลายเป็นกลไกทางสังคมและเศรษฐกิจที่สำคัญในยุคต้นรัตนโกสินทร์
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๓๙๔ - พ.ศ.๒๔๐๔) วัฒนธรรมหลวงยุคนี้ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างมาก เพราะพระองค์มีพื้นฐานของความเป็นปราชญ์ที่ผนวชในพระพุทธศาสนาถึง ๒๗ ปีก่อนขึ้นครองราชย์ ทำให้ทรงสามารถรับศิลปะวิทยาการและความคิดใหม่ๆ มาปรับปรุงบ้านเมือง รวมทั้งเปลี่ยนแปลงขนบประเพณีทั้งที่สร้างขึ้นใหม่และแก้ไขตามที่ทรงเห็นควร
ส่งผลให้สังคมภายในกรุงเทพมหานครเปิดรับความทันสมัยที่เป็นแบบแผนบ้านเมืองอย่างตะวันตก เช่น การสร้างถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร ทั้งสามสายเป็นถนนรุ่นแรกที่ใช้เทคนิคการสร้างตามเเบบยุโรป โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษมเพื่อขยายพระนครไปทางตะวันออก ชักชวนพระราชวงศ์และข้าราชบริพารสร้างสะพานข้ามคลองต่างๆ ในพระนคร
งานประติมากรรมและจิตรกรรมไทยในสมัยรัชกาลนี้ได้นำวิธีแบบตะวันตกมาผสมผสานจนเป็นเอกลักษณ์ใหม่ รวมถึงการขุดคลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก เพื่อประโยชน์ในการเดินทางและส่งผลผลิตจากเมืองภายในสู่เมืองท่าที่กรุงเทพเพื่อการค้าส่งออก อันเป็นผลมาจากอิทธิพลของเศรษฐกิจเพื่อการค้าและส่งออกจากการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง [Bowring Treaty] เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แล้ว
ในระยะนั้นบริเวณสองฝั่งน้ำเจ้าพระยาที่เป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ [Young Delta] ยังคงสภาพในแบบธรรมชาติอยู่ในลักษณะที่เป็นพื้นที่กึ่งหนองบึงที่ยังไม่ถูกรบกวนปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม
เรือที่เข้ามาจอดรอเทียบท่าค้าขายบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาที่กรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๕
สภาพสังคมของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากปัจจัยภายนอก การสร้างอำนาจรวมศูนย์ขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดขึ้นพร้อมกับการรับความทันสมัยแบบชาติตะวันตก มีการขุดคลองเพื่อการพาณิชย์และการชลประทานบุกเบิกพื้นที่ทำนา พร้อมกับเริ่มมีโฉนดที่ดินเป็นของราษฎรครั้งแรก
เมื่อมีถนนก็มีพาหนะเพื่อการคมนาคมที่เป็นเครื่องจักรทั้งรถยนต์ รถราง และรถไฟ ระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้าและน้ำประปา มีการสร้างอนุสาวรีย์ที่ระลึกต่างๆ โรงมหรสพ โรงพยาบาล สถานที่ราชการ เกิดสถาบันการศึกษาตามแบบตะวันตกนับแต่โรงเรียนจนถึงมหาวิทยาลัย การพิมพ์หนังสือเผยแพร่ทั้งของชาวตะวันตกและชาวสยาม
ในกรุงเทพมหานคร ชุมชนขยายตัวไปตามถนนหนทางที่ตัดขึ้นใหม่บ้านที่อยู่อาศัย ตลาดร้านค้า ตึกแถว ห้องแถว ย่านธุรกิจ โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกของพระนคร ส่วนฝั่งธนบุรีไม่มีการเติบโตมากนัก คงเป็นพื้นที่สวน ลำคลอง และย่านที่พักของพระบรมวงศานุวงศ์รุ่นเก่าและขุนนางผู้ใหญ่
ผู้คนต่างภาษาและวัฒนธรรมที่ถูกกวาดต้อนมาเนื่องจากการสงครามแล้ว ยังมีพ่อค้า คหบดี ข้าราชการผู้ชำนาญการชาวต่างชาติอีกไม่น้อยที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานถาวรในช่วงที่เปิดการค้าเสรีและพัฒนาบ้านเมืองไปสู่ความทันสมัย และครั้งรัชกาลที่ ๔-๕ มีการตัดถนนเชื่อมสถานที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้ราษฎรเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยทำมาหากินทั้งในพระนครและบริเวณใกล้เคียง เกิดเป็นย่านร้านตลาด อาคารพาณิชย์มากมายซึ่งยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
ถนนสายแรกของกรุงเทพฯ ผ่านเสาชิงช้าไปยังย่านคนจีน
กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยชาวต่างชาติต่างภาษาอาศัยตามย่านต่างๆ เป็นชุมชนแบบดั้งเดิมที่รู้จักกันทั้งชุมชน โครงสร้างทางสังคมไม่ซับซ้อน และมีศูนย์รวมทางความเชื่ออย่างอิสระตามวัฒนธรรมของตน บางแห่งเป็นย่านการค้า บางแห่งเป็นย่านช่างฝีมือ เช่น จีนที่สำเพ็ง เยาวราช กุฎีจีน ตลาดพลู คลองสาน แขกจามบ้านครัว แขกมุสลิมช่างทองตรอกสุเหร่าบางลำพู แขกมุสลิมปัตตานีตึกดิน แขกมุสลิมบางอ้อ บางพลัด แขกสุหนี่สุเหร่าต้นสน สุเหร่าบางกอกน้อย สุเหร่าบางหลวง สุเหร่าบ้านสมเด็จ สุเหร่าตึกแดง สุเหร่าสวนพลู
แขกเจ้าเซ็นกุฎีเจริญพาศน์ กุฎีหลวง สุเหร่าผดุงธรรม สุเหร่าตึกขาว แขกสิกข์พาหุรัด สี่แยกบ้านแขก พราหมณ์โบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้า มอญวัดชนะสงคราม มอญบางไส้ไก่ มอญบางกระดี่ ลาวบางไส้ไก่ เขมรบ้านบาตร มอญนางเลิ้ง ญวนสะพานขาว ญวนคริสตังสามเสน ญวนพาหุรัด ญวนบางโพ โปรตุเกสและเขมรที่วัดคอนเซ็ปชัญ ฝรั่งโปรตุเกสกุฎีจีน เป็นต้น
การค้าขายในช่วงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ส่วนใหญ่จะมีตลาดน้ำกระจายอยู่ตามแม่น้ำลำคลองสายต่างๆ ส่วนตลาดบกที่อยู่ในเขตคลองรอบกรุง บางแห่งเป็นที่มาของชื่อย่านต่างๆ เช่น ตลาดเสาชิงช้า ตลาดสำเพ็ง ตลาดบ้านหม้อ ภายในกำแพงพระนครนับจากพระบรมมหาราชวังด้านที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดพระเชตุพน เป็นชุมชนริมน้ำมีย่านตลาดท่าเตียน ปากคลองตลาด เป็นสถานที่จับจ่ายข้าวปลาอาหารสดและแห้งนานาชนิด มีท่าน้ำเป็นที่ขนส่งสินค้าคมนาคม ทั้งท่าวัดโพธิ์ ท่าเตียน ท่าช้าง ท่าพระอาทิตย์ ท่าพระจันทร์
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนและสภาพแวดล้อมหักเหไปจากเดิมอย่างมากเพื่ออุดหนุนแก่แหล่งอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร การสร้างระบบควบคุมน้ำเช่นเขื่อนขนาดใหญ่บริเวณต้นน้ำเจ้าพระยาเมื่อสี่สิบกว่าปีมาแล้ว ทำให้บริเวณภาคกลางซึ่งอยู่ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำได้รับผลกระทบรุนแรง
ฤดูกาลเพื่อการเพาะปลูกตามที่เคยเป็นมาแบบเมืองลุ่มน้ำเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง น้ำในลำคลองเน่าเสียท่วมซ้ำซากซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างถาวร ธรรมชาติการขึ้นลงและไหลเวียนของน้ำซึ่งเอื้อแก่สวนผลไม้คุณภาพดีจึงกลายเป็นอดีตที่ไม่อาจหวนคืน
กรุงเทพฯ และธนบุรีในปัจจุบันเป็นศูนย์รวมของการปกครอง ระบบราชการ ธุรกิจการค้า ความทันสมัย เช่น ถนนหนทาง รถยนต์ ตึกสูง ศูนย์การค้าใหญ่โต และคนชั้นกลางซึ่งมีโอกาสทางชีวิตและสังคมสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ส่งผลให้เกิดการหลั่งไหลของคนชนบทเข้าสู่เมืองซึ่งขยับขยายออกไปทุกทิศทางโดยขาดการควบคุมระบบผังเมืองที่เคร่งครัด ทำให้เกิดปัญหาด้านสาธารณูปโภคและเผชิญหน้ากับปัญหามลพิษรุนแรงมาหลายทศวรรษ
จากพระนครที่เคยมีประชากรเพียงไม่มากกลับกลายเป็นเมืองในระดับมหานครที่มีผู้อยู่อาศัยแบบสังคมเมืองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแทบทั้งหมดมีความสัมพันธ์ทางสังคมกันอย่างผิวเผิน จำนวนประชากรอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ราวห้าล้านห้าแสนคน แต่เป็นที่รู้ว่าน่าจะมีมากกว่านี้เกือบเท่าตัวเมื่อนับรวมคนที่ย้ายเข้ามาชั่วคราวเพื่อหางานทำ และผู้ที่อยู่ในเขตปริมณฑลที่เดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับเพื่อเข้ามาทำงานในเมือง
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
- Official Web :
https://siamdesa.org
-
https://www.facebook.com/สยามเทศะ-โดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ-วิริยะพันธุ์-323215901674254
-
https://www.youtube.com/user/lekprapai/featured
-
https://www.instagram.com/siamdesa_lekprapai/?hl=th
-
https://lek-prapai.org/home
-
https://www.blockdit.com/pages/60934dc31b39400c4b221773
1 บันทึก
5
1
1
5
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย