18 พ.ย. 2022 เวลา 11:00 • สิ่งแวดล้อม
องค์ประกอบของ Green city หรือ เมืองสีเขียว
.
เกณฑ์การชี้วัดความเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของทุกทวีปทั่วโลก พบว่า ในทวีปเอเชียจะพิจารณาองค์ประกอบของการเป็นเมืองสีเขียว ออกเป็นด้านต่างๆ 8 ด้าน เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาและใช้ในการนำร่องพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็น Green city ได้ ดังนี้
.
1. ด้านการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจะมีการคำนวนปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคน และปริมาณการใช้พลังงานต่อหน่วยผลิตภัณฑ์รวมของประเทศ
.
2. ด้านการใช้ที่ดินและอาคาร จะคำนวนสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร (ตารางเมตรต่อคน) ความหนาแน่นของประชากร (คนต่อตารางเมตร) รวมถึงนโยบายด้านการใช้ประโยชนที่ดินและอาคารเขียว
.
3. ด้านการขนส่งและจราจร จะพิจารณาจากนโยบายการให้บริการรถขนล่งสาธารณะ เครือข่ายการให้บริการรถขนล่งสาธารณะ และนโยบายการลดปัญหาจราจรติดขัด
.
4. ด้านของเสีย จะคำนวณอัตราการเกิดขยะมูลฝอยต่อประชากร (กิโลกรัมต่อคน) สัดส่วนของขยะมูลฝอยที่สามารถเก็บขนได้และได้รับการกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาล นโยบายการลดของเสียใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงนโยบายการเก็บขนและการกำจัดของเสียของเมือง
.
5. ด้านน้ำ จะคำนวณอัตราการใช้น้ำต่อคน (ลิตรต่อคน) สัดส่วนปริมาณน้ำสูญเสียของระบบจ่ายน้ำประปา นโยบายด้านคุณภาพน้ำผิวดินและน้ำดื่ม และนโยบายด้านการจัดการแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน
.
6. ด้านการสุขาภิบาล จะคำนวนสัดส่วนของประชาชนที่เข้าถึงระบบสุขาภิบาล เช่น มีระบบจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลที่ถูกสุขลักษณะ สัดส่วนปริมาณน้ำเสียที่สามารถรวบรวมและบำบัดได้ และนโยบายด้านการสุขาภิบาลของเมือง
.
7. ด้านคุณภาพอากาศ จะคำนวณระดับความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ อนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10) ในอากาศ รวมถึงนโยบายการรักษาคุณภาพอากาศ
.
8. ด้านธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม พิจารณาจากนโยบายและแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อม แนวทางการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม
.
โดยองค์ประกอบที่ใช้พิจารณาการเป็นเมืองสีเขียวนี้ สอดคล้องกับตัวชี้วัดสำหรับมาตรฐานของการเป็นเมืองสีเขียว หรือ European Green City Index ที่กลุ่มประเทศสมาชิกแห่งยุโรป ได้ร่วมกันกำหนดการออกแบบและวางผังให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองให้มีความร่มรื่นและรื่นรมย์ และนำไปสู่การเป็นเมืองสีเขียว ที่ประกอบด้วยการกำหนดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ระดับการใช้พลังงาน (Energy)
จำนวนอาคารที่ออกแบบโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม (Buildings) ปริมาณของระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Transport) ระบบการจัดการขยะและของเสีย (Waste and land-use) ปริมาณการใช้น้ำและระบบบำบัดน้ำเสีย (Water) ปริมาณไนโตรเจนในอากาศ ซึ่งแสดงถึงคุณภาพของอากาศ (Air quality) และระบบการจัดการบริหารเมือง (Environmental governance)
.
ที่มา: กรุงเทพมหานครและศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพประกอบ: worldatlas.com
โฆษณา