12 พ.ย. 2022 เวลา 01:00 • สุขภาพ
ไม่สูบบุหรี่ก็ป่วยเป็น มะเร็งปอด ได้ เช็กปัจจัยเสี่ยงที่ วัยทำงาน ต้องรู้! เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งก่อนจะสายเกินไป
1
เช็กปัจจัยเสี่ยงที่ #วัยทำงาน ต้องรู้! เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง
ทำเอาหลายคนแทบไม่เชื่อสายตา กับกรณี “หมอกฤตไท” อายุ 28 ปี ที่ป่วยเป็น “มะเร็งปอด” ระยะสุดท้าย ทั้งๆ ที่เขาไม่สูบบุหรี่ ใช้ชีวิตอย่างดี ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับดี และมีอนาคตสดใส หลังจากได้รับข่าวร้ายนี้เขาก็ตัดสินใจเปิดเพจ สู้ดิวะ เพื่อแชร์ประสบการณ์ และส่งเป็นพลังใจให้คนอื่นๆ
คำถามถัดมาที่เชื่อว่าหลายๆ คนสงสัย คงหนีไม่พ้น.. “ไม่สูบบุหรี่ แล้วป่วยเป็นมะเร็งปอดได้อย่างไร?”
2
ชาวเน็ตส่วนใหญ่ฟันธงคำตอบว่าอาจจะเกิดจาก “PM 2.5” ที่มีปริมาณพุ่งสูงทุกปีในช่วงหน้านาวของไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ ก็พบปัญหาฝุ่นพิษคุกคามประชาชนทุกปี
การคาดการณ์ข้างต้นมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากปัจจุบันมีการศึกษาและงานวิจัยหลายชิ้นรายงานผลไปในทิศทางเดียวกันว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีอุบัติการณ์ผู้ป่วย “มะเร็งปอด” เพิ่มจำนวนมากขึ้นทั่วโลก โดยมีสาเหตุหลักมาจาก “ฝุ่น PM 2.5” ที่เป็นปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม
1
ยกตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เพิ่งจะถูกเผยแพร่บนเวที ESMO Congress 2022 ในเดือน ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา รายงานผลวิจัยชี้ชัดว่า การเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด (ในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่) มีความเชื่อมโยงกับการสัมผัสมลพิษทางอากาศ
โดยในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดมากกว่า 300,000 รายทั่วโลก ซึ่งเชื่อมโยงกับการสัมผัสมลพิษทางอากาศในสภาพแวดล้อมกลางแจ้ง
งานวิจัยดังกล่าวยังบอกอีกว่า การได้รับฝุ่นละออง PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้น ก็จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิด “มะเร็งปอด” ชนิด non-small-cell ในผู้ไม่สูบบุหรี่ ที่มีการกลายพันธุ์ของเนื้อเยื่อปอดอยู่แล้วแต่เดิม โดยนักวิจัยจากสถาบันฟรานซิสคริก (Francis Crick Institute) อธิบายว่า ผลกระทบนี้เกิดจาก ฝุ่นละออง PM 2.5 เข้าไปทำให้เนื้อเยื่อปอดอักเสบ ส่งผลให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
อีกทั้งก่อนหน้านี้ มีข้อมูลจาก WHO's International Agency for PM Research on Cancer (IARC) ได้ประเมินการเกิด “โรคมะเร็งปอด” ที่สัมพันธ์กับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งมีผลสรุปออกมาว่า ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เป็น #สารก่อมะเร็งในมนุษย์ และมีความสัมพันธ์กับ "อุบัติการณ์การเกิดโรงมะเร็งปอดของคนทั่วโลก"
3
WHO จึงได้กำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ หรือค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เอาไว้ว่าห้ามเกิน 10 microgram/m3 (นี่เป็นข้อกำหนดเมื่อ 10 กว่าปีก่อน)
ต่อมาในปี 2564 WHO ได้ประกาศเกณฑ์วัดคุณภาพอากาศใหม่ในรอบ 16 ปี โดยปรับการกำหนดค่า PM2.5 จากเดิม 10 เหลือแค่ 5 microgram/m3 เพราะมีหลักฐานชัดเจนว่าระดับ PM2.5 ที่สูงเกินกว่า 5 microgram/m3 นั้น ส่งผลให้ผู้คนมี “อัตราการเสียชีวิต” ที่สูงขึ้น
ดังนั้น จึงพูดได้ว่าฝุ่น PM 2.5 เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนที่ไม่สูบบุหรี่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดได้จริง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด (ไม่นับการสูบบุหรี่) ได้แก่
📌ปัจจัยด้านพันธุกรรม คือผู้ป่วยเคยมีคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งปอดหรือมะเร็งอื่นๆ
📌เกิดจากเคยเป็นโรคปอดอื่นๆ แล้วพัฒนาสู่มะเร็งปอด เช่น เคยเป็นวัณโรคปอด หรือผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น
3
📌เกิดจากสูดดมเอาสารเคมี/มลพิษในอากาศ เช่น ฝุ่น PM 2.5, ควันธูปเทียน, ควันเผาขยะ/เผากงเต๊ก, สารหนู, นิกเกิล, โครเมียม
1
📌เกิดจากการสัมผัสสารเคมีในโรงงาน เช่น แร่ใยหิน (ฉนวนกันความร้อน ผ้าเบรค คลัช), อุตสาหกรรมสิ่งทอ, เหมืองแร่, ฝุ่นไม้, การก่อสร้าง, โครงสร้างอาคาร เป็นต้น
อ้างอิง : รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณ https://bit.ly/3US0sQV
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ https://bit.ly/3E2djZF
อ่านเพิ่มเติม : PM 2.5 สาเหตุอุบัติการณ์ “มะเร็งปอด” ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก https://bit.ly/3ExO57j
รู้จัก “มะเร็งปอด” TOP 5 ปัญหาสุขภาพคนไทย https://bit.ly/3fVyV1U
กราฟิก : จิรภิญญาน์ พิษถา
โฆษณา