12 พ.ย. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ย้อนประวัติศาสตร์ “เลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ” หนึ่งในการเลือกตั้งระดับชาติที่น่าจับตามอง
เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งกลางเทอม 2022 (midterm election) หลังจากที่นายโจ ไบเดน ครองตำแหน่งประธานาธิบดีมากว่า 2 ปี
แม้การเลือกตั้งกลางเทอมจะไม่เป็นที่น่าจับตามองเท่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ แต่ต้องยอมรับว่ามีผลไม่มากก็น้อยกับทิศทางนโยบายของอเมริกาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน หรือ Geopolitics ซึ่งอาจจะส่งผลกับการเมืองและเศรษฐกิจโลกไม่มากก็น้อย
Bnomics วันนี้จึงมาเล่าประวัติศาสตร์การเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ เพื่อเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้ทุกคนฟังกันค่ะ
📍 ประวัติศาสตร์การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา
‘ระบบการเลือกตั้ง’ ของสหรัฐอเมริกาขึ้นชื่อว่าเป็นระบบที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่กว่าจะมาเป็นระบบแบบทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะผ่านการถกเถียงระหว่างหลายฝ่ายและมีการปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอดหลังจากที่สหรัฐอเมริกาประกาศเอกราชจากอังกฤษในปี 1776
แต่ไม่ว่าจะถกเถียงกันแค่ไหน ทุกฝ่ายต่างตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่าระบบเลือกตั้งต้องสะท้อน “เจตจำนง” ของประชาชนให้ได้มากที่สุด
ในปี 1788 มีการจัดการเลือกตั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรขึ้นครั้งแรก (หลังประกาศเอกราชได้ 10 ปี)
ช่วงแรกมีการจำกัดสิทธิเฉพาะชายผิวขาวเท่านั้นที่สามารถเลือกผู้แทนได้ อีกเกือบ 100 ปี (ในปี 1870) จึงมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มให้สิทธิชายผิวดำ
และในปี 1920 จึงขยายสิทธิให้ผู้หญิงทุกคนเลือกตั้งได้ ถัดมาอีก 4 ปีจึงประกาศให้สิทธิเลือกตั้งแก่ “ทุกคนที่เป็นพลเมืองอเมริกัน”
หากพูดถึงวาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐก็มีเกร็ดที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
เป็นที่ทราบกันดีกว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปีและสูงสุดได้ 2 สมัยเท่านั้น
เราเลยแทบไม่เคยเห็นประธานาธิบดีสหรัฐที่อยู่มากกว่า 2 สมัย (ยกเว้น Roosevelt) ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากสมัยจอร์จ วอชิงตัน (ประธานาธิบดีคนแรก) ดำรงตำแหน่งในปี 1789-1797 (8 ปี 2 สมัย) ปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งต่อในสมัยที่ 3 จึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาว่าประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งเพียง 2 สมัยเท่านั้น
โดยภายหลังมีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน แต่ก็มีความพยายามที่แก้กฎหมายข้อนี้ หากแต่ชาวอเมริกันก็ยังยึดมั่นในธรรมเนียมปฏิบัติเดิมจากจอร์จ วอชิงตัน รวมถึงต้องการกำหนด ‘กรอบอำนาจ’ ของฝ่ายบริหารเพื่อไม่ให้ประธานาธิบดีสร้างฐานอำนาจในระยะยาวมากเกินไป
ในส่วนของระดับการเลือกตั้ง สหรัฐอเมริกามีการเลือกตั้งในทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับเมือง ระดับมณฑล ระดับรัฐ และระดับมลรัฐ (รัฐบาลกลาง) รวมถึงการให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งใน “วุฒิสภาหรือสภาสูง” ซึ่งแตกต่างจากอังกฤษและไทยที่สภาสูงมาจากการแต่งตั้ง (แต่อำนาจส.ว.ของอังกฤษน้อยกว่าของอเมริกาและไทย)
[เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย: ประเทศไทยเคยมีการให้ประชาชนเลือกตั้งสภาสูงภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในโลก]
📍 เลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ คืออะไร?
จากที่กล่าวไปข้างต้น การเลือกตั้งสหรัฐมีหลายระดับ และการเลือกตั้งกลางเทอมคือหนึ่งในการเลือกตั้งระดับรัฐบาลกลางซึ่งสำคัญไม่แพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดี
การเลือกตั้งกลางเทอมคือการเลือกตั้ง ส.ว. ส.ส. และผู้ว่าการรัฐ แต่อยู่ในช่วงกลางวาระของประธานาธิบดี (วาระ 4 ปี) จึงเรียกว่าเลือกตั้งกลางเทอม โดยมีการเลือกตั้ง ดังนี้
1) วุฒิสภา (ส.ว.) เฉพาะจำนวน 1 ใน 3 โดยแบ่งเป็น 3 รุ่นเพราะส.ว.ในแต่ละรุ่นมีการเข้า-ออกวาระไม่เท่ากัน แต่ต้องดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี ดังนั้น การเลือกตั้งส.ว. ในแต่ละครั้งจึงไม่ได้เลือกทั้งหมดแต่เลือกหมุนเวียนเป็นรุ่นไป
2) สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งหมด 435 คนวาระวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี (ทุก ๆ 2 ปีจะมีการเลือกส.ส. แตกต่างจากไทยที่ส.ส.ดำรงตำแหน่ง 4 ปี)
3) ผู้ว่าการรัฐ ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของประธานาธิบดีในอีก 2 ปีที่เหลือ หรืออาจบ่งบอกความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อการทำงานตลอด 2 ปีที่ผ่านมาของประธานาธิบดีด้วยเช่นกัน
📍 การเลือกตั้งกลางเทอมที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์
ในปี 1946 สมัย Harry S. Truman (จากพรรคเดโมแครต) ถือเป็นการเลือกตั้งกลางเทอมที่น่าสนใจอันหนึ่งในประวัติศาสตร์เพราะพรรคฝั่งตรงข้ามประธานาธิบดีอย่างรีพับลิกันสามารถเอาชนะและครองเสียงข้างมากในสภาได้นับตั้งแต่ปี 1928 ที่พรรคเดโมแครตครองที่นั่งในสภามาโดยตลอด
ทำให้พรรครีพับลิกันเข้ามามีบทบาทการกำหนดทิศทางนโยบายของสหรัฐอเมริกาภายใต้ Truman
โดยสาเหตุที่ประชาชนหันไปเลือกรีพับลิกันเป็นผลพวงมาจากการเพิ่งจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาวะเงินเฟ้อและการว่างงานพุ่งสูงขึ้น เศรษฐกิจย่ำแย่ รวมถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของพรรคเดโมแครต ส่งผลให้ประชาชนเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งกลางเทอมและเลือกพรรคตรงข้ามอย่างรีพับลิกันเข้าไปนั่งในสภา
โดยพรรครีพับลิกันได้ ส.ส. เพิ่มถึง 55 ที่นั่งและ ส.ว. เพิ่มอีก 12 ที่นั่งซึ่งมากพอที่ทำให้รีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาได้ (ส.ส. รีพับลิกันต่อเดโมแครตคือ 246:188 คน)
Truman ได้กล่าวถึงสภาในครั้งนี้ว่า “Do Nothing 80th Congress” หรือสภารุ่นที่ 80 ไม่ทำอะไรเลยเพราะแน่นอนว่าเมื่อพรรคฝั่งตรงข้ามได้เสียงในสภา การดำเนินงานหรือออกนโยบายของ Truman จึงเป็นเรื่องที่ยาก
อย่างไรก็ตาม สภาที่เต็มไปด้วยรีพับลิกันได้ดำเนินนโยบายที่สำเร็จหลายอย่าง เช่น
  • 1.
    การกดดันให้ Truman ยุติการเกณฑ์ทหารเพื่อนำไปรบในสงคราม
  • 2.
    การอนุมัติแผน Marshall และการช่วยเหลือกรีซกับตุรกี
  • 3.
    การจำกัดอำนาจวาระประธานาธิบดีสหรัฐ 2 สมัย
  • 4.
    การลดหย่อนภาษีครั้งใหญ่
  • 5.
    การตราพระราชบัญญัติความมั่นคงแห่งชาติ 1947 มีการก่อตั้งกองทัพอากาศ กระทรวงกลาโหม คณะความมั่นคงแห่งชาติและสำนักข่าวกรอง
แม้จะเป็นการทำงานที่มีประธานาธิบดีเป็นเดโมแครตและสภาส่วนใหญ่เป็นรีพับลิกัน แต่นักวิชาการอย่าง Andrew E. Busch มองว่า สภารุ่นที่ 80 มีส่วนช่วย Truman ให้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 แบบไม่มากก็น้อย
เพราะการที่ Truman ทำงานได้ยากในสภาที่เต็มไปด้วยพรรคฝั่งตรงข้ามส่งผลให้เขามีภาพลักษณ์เป็น “นักสู้ของประชาชน”
รวมถึงนโยบายที่แข็งกร้าวของ Truman เช่น การขึ้นภาษีสูง สหภาพแรงงานที่เข้มแข็งมากเกินไป หรือ การรวมอำนาจที่มากเกินไปอาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว ซึ่งนโยบายเหล่านี้ก็ถูกขัดขวางโดยสภาคองเกรส
📍 การเลือกตั้งกลางเทอมปี 2022 บอกอะไร?
หากมามองเลือกตั้งกลางเทอมในปี 2022 บทบาทของสหรัฐอเมริกากับขัดแย้งระหว่างจีน - ไต้หวัน และ รัสเซีย - ยูเครน ไม่ว่าฝ่ายเดโมแครตหรือรีพับลิกันได้ครองสภาก็อาจไม่ได้ส่งผลให้บทบาทของสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนไปมากนักเพราะทั้งสองพรรคยังยึดมั่นบทบาทที่จะสนับสนุนไต้หวันและยูเครน
แต่อาจส่งผลต่อนัยยะการกำหนดหรือตัดสินใจเชิงนโยบายที่เข้มข้นและซับซ้อนขึ้น โดยหากพรรครีพับลิกันได้ครองเสียในสภา นโยบายกับจีนอาจมีความแข็งกร้าวขึ้น เช่น การควบคุมเรื่องเทคโนโลยีไม่ให้ตกอยู่ในมือของจีน หรือ การตัดกระแสเงินทุนของสหรัฐฯ ไม่ให้เข้าบริษัทจีน
ในขณะที่เรื่องการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐก็ยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับพรรคเดโมแครตที่จะออกนโยบายจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจในตอนนี้ เพราะเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นและ Fed (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) ขึ้นดอกเบี้ยอย่างไม่มีท่าทีว่าจะลดลง
ส่งผลให้อัตราการว่างงานในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้เดโมแครตจะมีนโยบายฟื้นเศรษฐกิจระยะยาวแต่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นผล แต่ปากท้องเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ จึงเป็นโจทย์สำคัญที่พรรคเดโมแครตต้องรีบเร่งแก้ไข
ทั้งนี้ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไปเพราะการเมืองและเศรษฐกิจโลกกำลังระส่ำระส่าย
การที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาจะเดินไปทางไหนย่อมส่งผลต่อทิศทางของโลกด้วยเช่นกัน
ผู้เขียน: ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
เครดิตภาพ : the Everrett Collection/Shutterstock

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา