12 พ.ย. 2022 เวลา 01:25 • หนังสือ
หนังสือรอ (ใครสักคน) แปลในอนาคต (3)
The Structure of Scientific Revolutions by Thomas S. Kuhn.
เล่มนี้น่าจะมีคนอยากให้แปลเยอะอยู่นะครับ
นักปรัชญาคนดัง Thomas Kuhn เขียนไว้ตั้งแต่ปี 1962 โด่งดังทั้งในแวดวงประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวิทยาศาสตร์ เล่มนี้เองที่คูห์นเสนอคำที่แพร่หลายในปัจจุบันคือ paradigm shift (การเคลื่อนกระบวนทัศน์ หรือการขยับกระบวนทัศน์)
เล่มนี้คูห์นพยายามเสนอแนวคิดที่ว่า เดิมที่เชื่อกันในวงการวิทยาศาสตร์ว่า การเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ มาจากการสะสมความรู้มากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในที่สุด
แต่เขาเสนอว่าอันที่จริงแล้ว “การปฏิวัติวิทยาศาสตร์” แต่ละครั้งเกิดจากการค้นพบ “ความผิดปกติ” บางอย่าง จนนำไปสู่ “การเคลื่อนกระบวนทัศน์” จนเกิดการตั้งคำถามใหม่จากข้อมูลเดิมๆ จนนำไปสู่การไขปัญหาหรือข้อสงสัยในกระบวนทัศน์เดิม และเกิดการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ จนนำไปสู่การวิจัยในแนวทางใหม่ๆ
เขายกตัวอย่างการปฏิวัติความคิดเรื่องการโคจรของดาวเคราะห์โดยเคปเลอร์ว่า ใช้ข้อมูลเก่าๆ นั่นเอง แต่เปลี่ยนวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ในการพิจารณาโจทย์ปัญหาเดิม
Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook บอกว่า หนังสือเล่มนี้คือหนังสือที่เขาชอบมากที่สุด เล่มไม่หนามากแค่ 212 หน้า น่าแปลมาก (ฮา)
ป.ล.
ลองค้นดู พบว่าเคยแปลในโครงการหนังสือแปลของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติมาครั้งหนึ่งในปี 2544 (ก็นานแล้วนะ ไม่เคยเห็นเลย อิอิ) ในชื่อ โครงสร้างของการปฏิวัติในวิทยาศาสตร์ ผู้แปลคือ สิริเพ็ญ พิริยจิตรกรกิจ
โฆษณา