12 พ.ย. 2022 เวลา 11:03 • ประวัติศาสตร์
ชะตากรรมของ "จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี (Wilhelm II, German Emperor)"
ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 (WWI) กลุ่มชนชั้นปกครองในเยอรมนีเริ่มอยู่ในภาวะที่ไม่สู้ดีนัก
1
ประชาชนเริ่มแข็งข้อ ความนิยมของประชาชนที่มีต่อราชวงศ์ก็ลดลงอย่างหนัก โดยในเวลานั้น ประชาชนต่างประสบปัญหาอดอยาก ขาดแคลนอาหาร และความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อชนชั้นสูงก็มีแต่ความไม่พอใจ
1
ในสายตาของประชาชนชาวเยอรมัน ชนชั้นปกครองเช่น "จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี (Wilhelm II, German Emperor)" พระประมุขแห่งเยอรมนี ทรงอยู่อย่างสุขสบาย ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามมากนัก หากแต่ชนชั้นแรงงาน หรือก็คือประชาชนทั่วๆ ไป คือผู้ที่รับเคราะห์จากสงครามหนักที่สุด
ปลายปีค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) สถานการณ์เริ่มตึงเครียดอย่างหนัก จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 จึงตัดสินพระทัย เสด็จลี้ภัยไปยังประเทศอื่น
จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี (Wilhelm II, German Emperor)
ภายหลังจากพ้นจากตำแหน่งพระประมุข จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 ก็ต้องพบเจอกับปัญหาต่อไป
พระองค์จะเสด็จหนีไปทางไหน?
1
หากเดินทางทะลุเข้าไปในเยอรมนี ก็เสี่ยงที่พระองค์จะถูกจับกุมและอาจจะถูกปลงพระชนม์ หากไปทางใต้ พระองค์ก็คงต้องยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งก็คงจบลงที่การถูกจองจำในฝรั่งเศสหรืออังกฤษ
ส่วนทางด้านตะวันตก ก็เป็นทะเล ดังนั้นทางเลือกเดียวที่เหลือ ก็คือขึ้นเหนือไปเนเธอร์แลนด์ ซึ่งพระองค์ก็เสด็จไปเนเธอร์แลนด์ และได้รับการรับรองจากเนเธอร์แลนด์
ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ก็ต้องพบกับการกดดันจากประเทศต่างๆ ให้ส่งองค์จักรพรรดิข้ามแดนเพื่อนำองค์ขึ้นศาลและตัดสินโทษ
หากแต่เนเธอร์แลนด์ก็ไม่ได้อยากส่งจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 ไปให้รับโทษ เนื่องจากก็ได้ถวายการรับรองพระองค์แล้ว และก็ไม่อยากจะต้องกลับคำ
ทางด้านจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 ถึงแม้พระองค์จะไม่ใช่พระประมุขอีกต่อไป แต่ด้วยความที่พระองค์เคยเป็นผู้ปกครองเยอรมนี หนึ่งในประเทศที่ทรงอำนาจที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป พระองค์จึงทรงมีพระราชทรัพย์อยู่บ้าง จึงทรงซื้อบ้านในเนเธอร์แลนด์ และใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดา
ภายหลังจากลงหลักปักฐานที่เนเธอร์แลนด์ได้ไม่นาน พระมเหสีของพระองค์ก็ได้สวรรคต ทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยอภิเษกสมรสใหม่ และใช้ชีวิตในต่างแดน
ถึงจะอยู่ต่างแดน แต่จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 ก็ยังทรงฝักใฝ่พระทัยในเยอรมนี ตั้งแต่เสด็จมาประทับยังเนเธอร์แลนด์จนสวรรคต พระองค์ยังทรงเฝ้าคอยให้ชาวเยอรมันต้อนรับพระองค์กลับไปปกครองประเทศในฐานะพระประมุข
ในช่วงที่ประทับยังเนเธอร์แลนด์ จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 มักจะทรงวิพากษ์วิจารณ์สาธารณรัฐไวมาร์ และตรัสถึงความผิดพลาดของพระองค์ในช่วงสงคราม โดยตรัสว่าทั้งหมดนั้นเป็นความผิดของเหล่ารัฐมนตรี
1
เมื่อ "อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)" เรืองอำนาจ จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 ก็ทรงชิงชังแนวคิดของฮิตเลอร์ โดยส่วนหนึ่งก็มาจากภายหลังจากที่ฮิตเลอร์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในปีค.ศ.1933 (พ.ศ.2476) ฮิตเลอร์ได้ทำการแบนสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ที่เคยปกครองเยอรมนี
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)
แต่ความรู้สึกของพระองค์ที่มีต่อรัฐบาลฮิตเลอร์ก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อฮิตเลอร์เริ่มขยายอำนาจของเยอรมนีเข้าไปยังดินแดนอื่นๆ เริ่มมีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและขนาดดินแดน
หากแต่จักรพรรดิวิล์มเฮ็ลที่ 2 ก็ไม่ทันจะได้เห็นความล่มสลายของรัฐบาลฮิตเลอร์ เนื่องจากพระองค์ทรงพระประชวร และสวรรคตในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1941 (พ.ศ.2484)
เมื่อจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 สวรรคต ฮิตเลอร์ก็ต้องการจะนำพระบรมศพของพระองค์กลับมายังเยอรมนี และนำออกแสดงให้สาธารณชนเห็น โดยมีเจตนาให้รับรู้ว่าฮิตเลอร์คือผู้สืบทอดอำนาจที่ถูกต้อง หากแต่ในพินัยกรรมของจักรพรรดิวิล์มเฮ็ล์มที่ 2 พระองค์ก็ทรงเขียนอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการให้พระบรมศพของพระองค์กลับไปฝังยังแผ่นดินเยอรมนี จนกว่าราชวงศ์จะกลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง
ท้ายที่สุด พระบรมศพของจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 ก็ได้รับการฝังที่เนเธอร์แลนด์ จนกว่าราชวงศ์จะกลับมาเรืองอำนาจตามพระราชประสงค์ของพระองค์
โฆษณา