13 พ.ย. 2022 เวลา 11:53 • ข่าวรอบโลก
ครั้งแรกของโลก สร้างเลือดในห้องแลป แล้วนำมาให้กับมนุษย์จริงๆ สำเร็จแล้ว
ภาพขยายเม็ดเลือดแดง
เลือดเป็นส่วนสำคัญมากในร่างกายของมนุษย์เรา ทำหน้าที่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการพาออกซิเจน น้ำตาลกลูโคส สารอาหารชนิดต่างๆไปเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย
2
โดยมีทั้งเม็ดเลือดแดงที่จะนำพาออกซิเจน เม็ดเลือดขาวไว้ต่อสู้กับเชื้อโรค เกร็ดเลือดไว้ซ่อมแซมเวลามีเลือดออก ทำให้เลือดหยุดไหลได้
นอกจากนั้นยังมีสารชนิดต่างๆนับ ร้อยนับพัน ที่เราทราบหรือรู้จักแล้ว และยังไม่ทราบอีกเป็นจำนวนมากอยู่ในเลือด ทำให้เลือดเป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก ที่ธรรมชาติได้มอบไว้ให้กับมนุษย์เรา
3
เมื่อร่างกายเสียเลือด เช่น ได้รับอุบัติเหตุ ถูกทำร้าย ถ้าเลือดลดจำนวนลงอย่างมาก จะทำให้เสียชีวิตได้ แม้ร่างกายอวัยวะส่วนต่างๆจะไม่ได้เสียหายก็ตาม
การให้เลือดทดแทน จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และวงการแพทย์ได้พัฒนาการให้เลือดมาเป็นลำดับ
2
จนมีความรู้เพิ่มขึ้นว่า คนเรามีเลือด 4 กลุ่มหรือหมู่ ถ้าให้ผิดกลุ่ม จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มย่อยต่างๆ ที่แม้รับเลือดได้ แต่ก็จะมีผลเสียตามมา
วงการแพทย์เรา ก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่า การได้รับเลือดจากคนอื่นนั้น อาจจะติดโรคบางอย่างได้ เช่น โรคเอดส์ ซิฟิลิส ตับอักเสบ จึงได้มีการพัฒนาวิธีการคัดกรองเชื้อโรคต่างๆเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่สำคัญมากอีกประเด็นหนึ่งคือ การขาดแคลนเลือด โดยเฉพาะในประเทศตะวันตกที่ไม่นิยมการบริจาคเลือด
แต่ในประเทศซีกโลกตะวันออก โดยเฉพาะประเทศไทยเรา มีทัศนคติที่ดีมาโดยตลอด กับการบริจาคโลหิตให้กับผู้อื่น
ทำให้สถานการณ์โดยทั่วไปของประเทศไทยเรา จึงมีเลือดเพียงพอ แม้ในบางครั้ง อาจจะเกิดการขาดแคลนบ้างในบางช่วงเวลา บางสถานที่ และบางกลุ่มเลือดที่หายากก็ตาม
ด้วยปัญหาต่างๆดังกล่าวมาข้างต้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามศึกษาวิจัย พยายามที่จะผลิตหรือพัฒนาเลือดขึ้นภายในห้องปฏิบัติการหรือห้องแลป (lab) เพื่อจะเอามาทดแทนการใช้เลือดจริงๆจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่ไม่เพียงพอ
1
แต่ต้องถือว่า การศึกษาวิจัยแบบนี้ทำได้ยากมากๆ เพราะมีความสลับซับซ้อนมากทีเดียว
จนมีแนวคิดที่จะมีการใช้เลือดของคนจริงๆ แล้วนำมาเพาะเลี้ยงหรือขยายจำนวนเม็ดเลือดแดง ซึ่งง่ายและสะดวกกว่าการผลิตเลือดชนิดที่สังเคราะห์ขึ้นมาโดยตรง
มีข่าวงานวิจัยล่าสุดขององค์การอังกฤษคือ UKNHSBT : UK National Health Service Blood and Transplant ร่วมกับมหาวิทยาลัย Bristol และอีกหลายสถาบันของอังกฤษ
1
ได้ทำการศึกษาค้นคว้า เริ่มต้นด้วยการนำเลือดของผู้บริจาคมาใช้ขั้นตอนพิเศษ แยกเซลล์เม็ดเลือดแดงต้นกำเนิดที่เรียกว่าสเต็มเซล (Stem cell) ออกมา ซึ่งจะสามารถพัฒนาไปเป็นเม็ดเลือดแดงที่โตเต็มวัยได้
เมื่อใช้เวลา 3 สัปดาห์ ก็จะได้จำนวนเม็ดเลือดแดงในระดับหนึ่งคือ สามารถเพิ่มจากสเต็มเซลล์ 500,000 เซลล์ มาเป็นเม็ดเลือดแดง 50,000 ล้านเซลล์ และในจำนวนดังกล่าว 15,000 ล้านเซลล์ จะอยู่ในระยะที่เป็นเซลล์พอเหมาะ พร้อมที่จะถ่ายเลือดให้กับผู้อื่นได้
แต่ปริมาณดังกล่าว ก็ยังต้องถือว่าน้อยมาก คือได้ประมาณ 5-10 มิลลิลิตร หรือเท่ากับ 1-2 ช้อนชา
นักวิจัยหวังว่า เม็ดเลือดที่เลี้ยงขึ้นมาในห้องปฎิบัติการดังกล่าว จะสามารถอยู่ในร่างกายได้นานกว่าการให้เลือดปกติ
เพราะเลือดจากผู้บริจาคจะมีทั้งส่วนที่เป็นตัวอ่อนและตัวแก่ จึงอยู่ใช้งานได้อย่างมากไม่เกิน 120 วัน
ในขณะที่เม็ดเลือดแดงซึ่งเลี้ยงขึ้นมาจะมีระยะเป็นเซลล์เต็มวัย จึงสามารถอยู่ในร่างกายได้นานมากขึ้น
1
ได้มีการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง โดยการติดเครื่องหมายให้กับเม็ดเลือดแดงดังกล่าว เพื่อที่จะติดตามดูการทำงาน การเดินทางไปที่ต่างๆในร่างกายเรา
ถ้างานวิจัยชิ้นนี้สำเร็จ สามารถใช้กับคนหมู่มากได้ ผู้ที่จะต้องรับเลือดเป็นประจำ ก็จะรับเลือดด้วยจำนวนครั้งที่น้อยลง ทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายลดลงอย่างมาก
1
ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยต่อไป จะมีการเปรียบเทียบให้เลือดจากผู้บริจาคโลหิตตามปกติ เปรียบเทียบได้กับเลือดที่ได้จากการเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ ให้ห่างกันสี่เดือน ในคนเดียวกัน เพื่อเปรียบเทียบดูว่าผลจะเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม อาสาสมัครสองคนแรก ที่ได้รับเลือดจากห้องปฏิบัติการไปแล้วนั้น เรียบร้อยดี ไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด
คาดว่าในอนาคต เราจะสามารถผลิตเม็ดเลือดชนิดที่มีความยุ่งยากซับซ้อน สามารถนำไปให้คนป่วยที่เป็นโรคเลือดและจำเป็นต้องให้เลือดได้
ทำให้คนที่ต้องรับเลือดบ่อยๆ แล้วมักจะเกิดภูมิคุ้มกันมาทำลายเม็ดเลือด ทำให้รับเลือดยากขึ้น จะสามารถใช้เม็ดเลือดจากการเลี้ยงในห้อง lab ดังกล่าวได้
ส่วนคนทั่วไปน่าจะยังใช้การให้เลือดจากการบริจาคของเพื่อนมนุษย์ต่อไปอีกสักระยะ
การศึกษาวิจัย ที่จะพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดีทั้งสิ้น เป็นความหวังของผู้ที่มีปัญหา
ถ้านักวิจัยจะได้ใช้ความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดผลแทรกซ้อนที่ควบคุมไม่ได้ ก็จะดีมาก
กล่าวเฉพาะในเรื่องการวิจัยเม็ดเลือดดังกล่าว มีการเร่งอย่างมากในประเทศตะวันตก เพราะขาดแคลนเลือดหรือโลหิตจากการบริจาค
ส่วนประเทศไทยนั้น ต้องถือว่าเราเป็นประเทศที่โชคดีมาก ผู้ป่วยหรือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุและต้องการเลือด
ต้องเรียกว่า เกือบไม่เคยได้ข่าวว่าขาดแคลนเลือดจนเป็นอันตราย เรามีเลือดครบถ้วนเพียงพอ โดยหน่วยงานหลักที่ดำเนินการเรื่องนี้มาโดยตลอด คือ สภากาชาดไทย
2
Reference
โฆษณา