13 พ.ย. 2022 เวลา 14:20 • สิ่งแวดล้อม
ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ภัยร้ายที่(โคตร)ใกล้ตัวกว่าที่คิด
ไม่กี่วันมานี้ หลายท่านน่าจะได้ยินข่าวคุณหมอหนุ่ม ที่โรงพยาบาลจังหวัดเชียงใหม่ท่านหนึ่ง อายุเพียง 28 ปี ได้โพสต์เปิดใจผ่านเพจ @สู้ดิวะ ว่าตัวเองป่วยเป็น #มะเร็งปอดระยะสุดท้าย และน่าจะอยู่ได้อีกไม่เกิน 6 เดือน หรือหากโชคดีคือ 2 ปี ทั้งๆ ที่ ไม่ค่อยดื่มแอลกอฮอล์เท่าไหร่ บุหรี่ไม่สูบ แถมยังออกกำลังกายแบบนักกีฬา และกำลังมี plan จะแต่งงานด้วย แต่สิ่งนี้ทำให้ชีวิตเขาพังครืนลงมาทันที
แน่นอนว่าเรื่องสะเทือนใจช็อคอารมณ์คนแบบนี้ เรียกกระแสได้อย่างจัง ทุกๆ สื่อพร้อมใจเอาเรื่องราวของคุณหมอไปลงข่าว จนเพจที่คุณหมอเพิ่งเปิดได้ไม่กี่วัน (10 พ.ย. 2022) มียอดผู้ติดตามเกินกว่า 5 แสนคนไปแล้ว
แต่เรื่องที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ #อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง เพราะคนส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อร่วมชุดเดียวกันว่า บุหรี่คือสาเหตุหลักของมะเร็งปอด แต่นี่....กลับไม่ใช่? และด้วยอานิสงส์จากประเด็น talk of the town ครั้งนี้ ทำให้มีผู้รู้ออกมาแสดงความคิดเห็นกันมากมาย
ผลดีคือทำให้คนหมู่มากได้รับความรู้ตามไปด้วย...ว่า มะเร็งปอด...มีหลายๆ สาเหตุ ไม่ใช่แค่จากบุหรี่เท่านั้น แต่อาจเกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรมที่ยีน EGFR (ย่อมาจาก Epidermal Growth Factor Reception) ที่มีอยู่ในตัวเราทุกคนเกิด #การกลายพันธุ์ (mutation) จนกลายเป็น EGFR mutation ได้ และในจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอด 100% สามารถตรวจพบ EGFR mutation ได้ถึงกว่า 60%
▸ดูคลิป #พบหมอมหิดล ถึงไม่สูบบุหรี่ก็เป็นมะเร็งปอดได้ : https://youtu.be/o57pWw_3SMo
Photo credit : https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_495303
แต่ที่ผมรู้สึกว่า...น่าสนใจมากยิ่งกว่า เพราะมีข้อมูลยืนยันทางวิชาการจาก คุณหมอมานพ พิทักษ์ภากร (แพทย์ชำนาญพิเศษ อายุรศาสตร์เวชพันธุศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช) ระบุข้อมูลที่น่าตกใจว่า #ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 (ฝุ่นมลพิษขนาดเล็กจิ๋ว เล็กกว่าเส้นผม ที่ทุกวันนี้กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื้อรังในบ้านเรามานานหลายปี) เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ยีน EGFR เกิดการกลายพันธุ์ ... ตรงนี้สำคัญมากนะครับ อ่านกันดีๆ
มีการตรวจพบว่าเซลล์ปอดของผู้ป่วยคนไทย (เฉพาะคนไม่สูบบุหรี่ มากว่า 50%) ที่ยีน EGFR กลายพันธุ์ (แล้ว) แต่...ยังไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็งทันที จนกระทั่งได้รับ PM 2.5 เข้าไป
เท่ากับว่า PM 2.5 ที่เราสูดหายใจกันเข้าไป เป็นตัวการสำคัญ ที่กระตุ้นยีน EGFR ที่กลายพันธุ์แล้ว ให้แปลงร่างเป็นมะเร็ง (cancer stem cell : เซลล์ต้นกำเนิดมะเร็ง) ได้อย่างสมบูรณ์ในที่สุด
ถามว่าฝุ่นมลพิษ PM 2.5 เกิดจากอะไร? เอาตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อม เพราะว่าเราทุกคน “มีส่วนร่วม” ในการสร้างมลพิษนี้ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพราะมันเกิดจากความต้องการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมานานนับร้อยปีจนกระทั่งทุกวันนี้ จึงทำให้เกิด...โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ที่ปล่อยมลพิษสู่อากาศ (จากการเผาถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า) ฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารต่างๆ ไอเสียจากรถยนต์จำนวนมหาศาลที่เผาไหม้น้ำมัน รวมถึงการเผาในที่โล่งจากอุตสาหกรรมการเกษตร
#ไฟป่า (ทั้งที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ และธรรมชาติซึ่งมีผลมาจากภาวะโลกร้อน ที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นๆ) ไม่ว่าจะมองไปทางไหน แก้ตัวยังไง ก็ขว้างงูไม่พ้นคอหรอกครับ เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ทุกๆ คนต้องการความเจริญ ซึ่งทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และความเจริญนั้นๆ ก็ได้มาจากการถลุงใช้ทรัพยากรธรรมชาตินี่แหละ
ผมเคยอ่านรายงานเกี่ยวกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก ค่อนข้างได้ข้อมูลตรงกันว่า ทุกวันนี้...เกินเยียวยาแล้ว มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องรับผลกระทบ ที่คนรุ่นปู่รุ่นย่ารวมทั้งคนร่วมสมัยในยุคปัจจุบันนี้ สั่งสมเอาไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงทั่วโลกจะตื่นตัวในการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมกันขนานใหญ่ แต่มันก็ยังสายเกินไป เพราะการลดมลพิษในระดับมหภาค มันดันไปสวนทางกับการพัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจในประเทศที่ยากจน กำลังพัฒนา หรือแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว
เคยมีคำพูดว่า #เราทุกคนล้วนตายผ่อนส่ง ถูกต้อง! เพราะเป็นผลพวงมาจากความต้องการความเจริญ ที่มนุษย์ทุกคนต่างถวิลหา แต่ความจริงคือ #มนุษย์ไม่สามารถแยกตัวเองออกจากธรรมชาติได้ เราเร่งสร้าง เร่งพัฒนานวัตกรรม ก็เพื่อตอบสนองความต้องการเอาชนะธรรมชาติ เพื่อนำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่เผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่กลับกลายเป็นการทำลายเผ่าพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันกับเราและไม่สามารถปรับตัวได้ไปด้วย และในท้ายที่สุดก็ถึงคราวที่จะกลับมาทวงคืนกับผู้ที่เคยกระทำไว้
ชื่อเพจ “สู้ดิวะ” ของคุณหมอหนุ่ม อาจไม่ใช่หมายถึงตัวเขาเพียงคนเดียว แต่...น่าจะหมายรวมไปถึงมนุษย์ทุกๆ คนในโลกนี้ ที่ต่างล้วนมีชะตากรรมร่วมกัน ที่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ ที่เราทุกคนล้วนมีส่วนในการสร้างขึ้นมาเอง
จิด.ตระ.ธานี : #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdrathanee
ป.ล. จังหวัดทางภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะเชียงใหม่ ขึ้นชื่อว่าได้รับผลกระทบจากฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ในระดับรุนแรง (เป็นเชตพื้นที่สีแดง) โดยเฉพาะที่ราบลุ่มเมืองเชียงใหม่ ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะโอบล้อมด้วยขุนเขา ทำให้ยามเกิดฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ฝุ่นจึงลอยตลบอบอวลไปทั่ว เหมือนถูกฝาชี (ไร้ตัวตน) ครอบไว้
ผลสำรวจอัตราการตายจากโรคมะเร็งปอดในปี พ.ศ. 2563 อัตราการตายสูงสุด 10 อันดับแรก จึงอยู่ในเขตภาคเหนือ ดังนี้ 1. ลำปาง 2. ลำพูน 3. พะเยา 4. แพร่ 5. น่าน 6. เชียงใหม่ 7. เชียงราย 8. นครสวรรค์ 9. แม่ฮ่องสอน 10. อุตรดิตถ์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา