13 พ.ย. 2022 เวลา 17:29 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เผย 5 อาวุธลับสุดสะพรึงของกองทัพรัสเซีย ในสงครามการรุกรานยูเครน!!!
1. Mystery Spheres
ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาของปี ค.ศ.2022 ขณะที่สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือด ได้มีรายงานจากสื่อต่างประเทศว่า มีการพบวัตถุปริศนาจำนวนหนึ่งถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นบนชายหาดในทะเลดำ จนทำให้หลายคนเชื่อว่า เจ้าวัตถุประหลาดนี้จะต้องเกี่ยวข้องกับสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่อย่างแน่นอน
โดยเจ้าวัตถุดังกล่าว ถูกอธิบายว่ามันเป็นก้อนโลหะทรงกลมขนาดใหญ่ และ เฮช.ไอ.ซัตตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือดำน้ำและอาวุธยุทโธปกรณ์ใต้น้ำ ได้โพสต์ภาพเจ้าวัตถุโลหะดังกล่าว จนเป็นที่ถกเถียงกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ
โดย เฮช.ไอ.ซัตตัน ได้เปิดเผยภาพที่แสดงให้เห็นถึงจุดเชื่อมต่อจำนวนหนึ่งบนวัตถุโลหะทรงกลม บางคนเชื่อว่ามันอาจเป็นเครื่องกำเนิดก๊าซในเหมืองใต้ทะเลลึก หรือถังอัดแรงดันสูง แต่ซัตตันได้แสดงความเห็นว่า เจ้าวัตถุโลหะทรงกลมดังกล่าวเอาไว้ดังนี้ว่า
'มันดูเหมือนทุ่นทะเบิดใต้น้ำ แต่ผมคิดว่ามันไม่น่าใช่ จากทฤษฎีที่น่าจะเป็นไปได้ มันอาจเป็นส่วนหนึ่งของขีปนาวุธ Kalibr Cruise Missiles ที่ถูกปล่อยจากเรือดำน้ำของรัสเซีย แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ในตอนนี้'
โดยขีปนาวุธ Kalibr Cruise Missile สามารถติดตั้งบนเรือรบ เรือดำน้ำ อากาศยานของรัสเซียได้ ซึ่งเจ้าขีปนาวุธดังกล่าว สามารถใช้ในการต่อต้านเรือดำน้ำ ต่อต้านการโจมตีจากกองเรือฝ่ายข้าศึก รวมไปถึงการโจมตีจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ บนบกของดินแดนข้าศึกได้อีกด้วย
มีรายงานว่ากองทัพรัสเซีย ใช้ขีปนาวุธ Kalibr Cruise Missile โจมตีจุดยุทธศาสตร์สำคัญถึง 30 จุดของยูเครน โดยเป็นการโจมตีจากเรือดำน้ำของรัสเซีย และสื่อต่างประเทศก็ยังรายงานว่าทางการรัสเซียใช้ขีปนาวุธดังกล่าวโจมตีพื้นที่ย่านชุมชนอีกด้วย
และในเวลาต่อมา กองทัพยูเครนสามารถสกัดกั้นการโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซียได้บ้าง พร้อมกับถ่ายภาพขีปนาวุธของรัสเซียเอาไว้เป็นหลักฐาน
โดย เฮช.ไอ.ซัตตัน ได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า บางทีเจ้าโลหะทรงกลมปริศนาที่ถูกพบ มันอาจเป็นชิ้นส่วนอะไรบางอย่างในระบบลำกล้องขนาดใหญ่ของขีปนาวุธ Kalibr Cruise Missile แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงแค่คาดเดาเท่านั้น
2. Peresvet Y Zadira
ระหว่างวันที่ 4 และ 5 ตุลาคม ค.ศ.2022 ชาวเมืองเบลกราดในยูเครน ได้โพสต์ภาพแสงไฟสีเหลืองพุ่งสูงไปถึงท้องฟ้าเหนือเมือง ซึ่งมีชาวโซเชียลของยูเครนสามารถบันทึกภาพแสงสีเหลืองปริศนานี้ไว้ได้เป็นจำนวนมาก และนำมาโพสต์บนโลกโซเชียล จนเกิดการถกถามขึ้นมาว่าเจ้าลำแสงปริศนาสีเหลืองดังกล่าวมันเกิดขึ้นได้อย่างไร
แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ ท้องฟ้าโดยรอบลำแสงปริศนาสว่างไสวด้วยแสงสีเหลืองอร่าม และเชื่อว่าแหล่งกำเนิดพลังงานของลำแสงปริศนาดังกล่าว น่าจะมาจากอาคารแห่งหนึ่งหลังแนวป่าไม้
อย่างไรก็ตาม ชาวโซเชียลเชื่อว่า เจ้าลำแสงสีเหลืองปริศนาดังกล่าว อาจเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โดยเกิดจากการหักเหของแสงในสภาพอากาศที่หนาวเย็น แต่บางคนก็เชื่อว่า ลำแสงสีเหลืองที่ถูกพบนั้น อาจเป็นผลงานของกองทัพรัสเซีย โดยเชื่อว่า เจ้าลำแสงสีเหลืองนี้ ถูกคิดค้นขึ้นมาโดยกองทัพรัสเซีย โดยมีจุดประสงค์หลักคือการต่อต้านการสอดแนมจากดาวเทียมฝ่ายข้าศึก
ต่อมา ได้มีการสืบค้นข้อมูล และพบว่าเจ้าลำแสงดังกล่าว คือ PERESVET T ZADIRA อันเป็นผลงานจากศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ของรัสเซีย จากคำให้สัมภาษณ์ของ ปธน.รัสเซีย อย่าง วลาร์ดิเมียร์ ปูติน ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี ค.ศ.2018 ว่ารัสเซียประสบความสำเร็จในการสร้างเลเซอร์ต่อต้านการสอดแนมจากดาวเทียมฝ่ายศัตรูที่โคจรรอบโลกอยู่บนอวกาศ และสามารถปิดกั้นการมองเห็นของดาวเทียมฝ่ายข้าศึกได้ไกลราว 1,497 กิโลเมตร พร้อมกับสามารถรบกวนการทำงานและการสื่อสารของดาวเทียมฝ่ายข้าศึกได้อีกด้วย
พร้อมกันนี้ ยูริ บาราซอฟ รองนายกรัฐมนตรีของรัสเซีย ยังได้กล่าวว่า พวกเขาประสบความสำเร็จในการวิจัยอาวุธเลเซอร์ และจะนำอาวุธชนิดนี้มาแทนอาวุธหลักของกองทัพรัสเซียในอนาคตด้วยเช่นกัน
3. Kinzhal Hypersonic Missile
ในช่วงแรกเริ่มของสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย มีรายงานว่าเครื่องบินรบ Mig-31 ของกองทัพรัสเซียได้ใช้ขีปนาวุธ Kinzhal Hypersonic Missile ที่มีเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อโจมตีเมืองสำคัญของยูเครน รวมไปถึงเมืองท่าที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างโอเดสซา อีกด้วย
กล่าวกันว่าขีปนาวุธ Kinzhal Hypersonic Missile สามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเหนือเสียงถึง 5 เท่า โดยเจ้าขีปนาวุธดังกล่าว สามารถถูกติดตั้งบนเครื่องบินทิ้งระเบิด และเครื่องบินขับไล่ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่แตกต่างจากขีปนาวุธชนิดอื่น ๆ ที่ถูกจำกัดให้ติดตั้งจากภาคพื้นดินเท่านั้น
นอกจากนี้ ปธน.สหรัฐฯ โจ ไบเดน เองก็รับรู้ถึงการมีอยู่ของขีปนาวุธชนิดนี้ของรัสเซีย และกล่าวว่ามันแทบไม่มีทางที่จะต่อต้านเจ้าขีปนาวุธ Kinzhal Hypersonic Missile ได้เลย ด้วยเหตุผลที่ว่า มันก้าวล้ำกว่าเทคโนโลยีต่อต้านขีปนาวุธที่สหรัฐฯ และกลุ่มชาติพันธมิตรตะวันตกนั้นครอบครองอยู่
ไม่เพียงเท่านี้ รัสเซียยังได้คิดค้นขีปนาวุธเครื่องร่อน ที่มีชื่อว่า Zircon ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ Scramjet เพื่อใช้โจมตีเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไปถึง 1,000 กิโลเมตร ได้สำเร็จ ซึ่งมันสามารถใช้ติดตั้งบนกองเรือรบของรัสเซีย เพื่อโจมตีจากทะเลหรือบนบก และมีความเร็วเหนือเสียงถึง 10 เท่า และด้วยความเร็วขนาดนี้ เทคโนโลยีต่อต้านขีปนาวุธของสหรัฐฯ และชาติตะวันตกคงไม่สามารถสกัดกั้นเจ้าขีปนาวุธเครื่องร่อนนี้ได้อย่างแน่นอน
และ ปธน.รัสเซีย อย่าง วลาร์ดิเมียร์ ปูติน เคยให้สัมภาษณ์ว่า กองทัพรัสเซีย จะติดตั้งขีปนาวุธเครื่องร่อนชนิดใหม่ และนำมาใช้ในสงครามกับยูเครนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอีกด้วย
4. A235 PL-19 Nudol Satellite Killers
ในปี ค.ศ.2019 อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง SpaceX ได้ส่งดาวเทียม Starlink ขึ้นสู่ชั้นอวกาศเป็นครั้งแรก โดยที่ไม่มีใครคาดคิดว่า ในอีกไม่กี่ปีต่อมา พวกเขาจะมีบทบาทสำคัญในสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย
โดยในปัจจุบัน ดาวเทียม Starlink มีการเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก จนกระทั่งสงครามยูเครนและรัสเซียอุบัติขึ้น กองทัพยูเครนได้ใช้งานเครือข่ายของดาวเทียม Starlink เพื่อการสื่อสาร และการทำสงครามสื่อกับฝ่ายรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม ค.ศ.2022 คอนสแตนติน วารันซอ แห่งกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย ได้ออกมาประกาศว่า การที่ยูเครนใช้เทคโนโลยีด้านอวกาศดังกล่าว มีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานกึ่งพลเรือนของยูเครนเองต้องตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของรัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และทางกองทัพรัสเซียเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้เตรียมพร้อมเทคโนโลยีด้านอวกาศระดับสูงของตัวเอง เพื่อตอบโต้การกระทำของยูเครนในครั้งนี้
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ.2021 กองทัพรัสเซียได้แสดงวิธีการทำลายดาวเทียมที่โคจรอยู่นอกโลกด้วยการยิงมิสไซล์ใส่ดาวเทียม Cosmos 1408 ของตัวเอง จนแตกกระจายเป็นชิ้นส่วนมากกว่า 1,500 ชิ้น ซึ่งเศษซากดาวเทียมที่ถูกทำลาย ได้ส่งผลให้ลูกเรือบนสถานีอวกาศนานาชาติต้องพบกับความเสี่ยง เนื่องจากมีวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ที่เป็นเศษซากของดาวเทียม Cosmos 1408 เคลื่อนที่ด้วยความเร็วระดับกระสุนปืน
และเบื้องหลังความสำเร็จในการทำลายดาวเทียมของตัวเองในครั้งนี้ของกองทัพรัสเซีย ก็มาจากเจ้าขีปนาวุธ A235 PL-19 Nudol ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเบี่ยงเบนการโจมตีกรุงมอสโคว์ด้วยระเบิดนิวเคลียร์จากฝ่ายศัตรู ซึ่งเจ้าขีปนาวุธ A235 PL-19 Nudol สามารถติดตั้งหัวรบธรรมดาและหัวรบนิวเคลียร์ รวมไปถึงยังสามารถโจมตีเป้าหมายทั้งในพื้นที่ระยะใกล้และระยะไกล หรือแม้กระทั้งเป้าหมายที่อยู่นอกชั้นบรรยากาศของโลกได้อย่างแม่นยำ หรือแม้กระทั่งใช้สกัดกั้นหัวรบนิวเคลียร์ข้ามทวีปได้อีกด้วย
1
มีความเป็นไปได้ว่า รัสเซียอาจใช้ขีปนาวุธชนิดนี้ยิงดาวเทียม Starlink เพื่อสกัดกั้นการสื่อสารของฝ่ายยูเครน แต่ยังติดตรงปัญหาเรื่องที่ดาวเทียม Starlink มีจำนวนมากเกินไป (จำนวนดาวเทียม Starlink ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศมีจำนวนราว 2,300 ดวง) และยากที่รัสเซียจะทำลายดาวเทียม Starlink ทั้งหมดได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
5. Belgordo Submarine
เรือดำน้ำ Belgordo Submarine ของกองทัพเรือรัสเซีย คือหนึ่งในอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยังมีโดรนใต้น้ำที่มีประสิทธิภาพสูง ขณะเดียวกัน เรือดำน้ำ A235 PL-19 Nudol ยังติดตั้งตอร์ปิโด Poseidon ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ และสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ที่มีขีดการทำลายล้างสูงถึง 100 เมกะตัน พร้อมทั้งยังขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ ที่สามารถโจมตีได้จากใต้น้ำโดยที่ฝ่ายศัตรูไม่ทันตั้งตัว
อานุภาพความร้ายแรงของมันสามารถก่อให้เกิดน้ำท่วมใหญ่และปล่อยกัมมันตภาพรังสีเพื่อทำลายแนวชายฝั่งของศัตรู และอาจก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่มีความสูงราว 500 เมตร ได้อีกด้วย
1
กล่าวกันว่า กองทัพรัสเซียน่าจะส่งเรือดำน้ำ Belgordo Submarine เข้าร่วมในสงครามยูเครนและรัสเซีย เพียงแต่พวกเขายังไม่ได้ใช้มันเพื่อยิงหัวรบนิวเคลียร์ใส่ยูเครน แต่ใช้เรือดำน้ำ Belgordo Submarine เพื่อแสดงอำนาจและข่มขู่ยูเครนและกลุ่มชาติพันธมิตรตะวันตกเท่านั้น
ข้อมูลจาก :
โฆษณา