Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มองปรากฏการณ์
•
ติดตาม
14 พ.ย. 2022 เวลา 01:55 • ประวัติศาสตร์
2 แนวคิดบอกที่มาคำว่า “ เจ๊ก “
“ เจ๊ก “ เป็นคำที่ผู้คนในสังคมไทยใช้เรียกคนจีน หรือไม่ก็ผู้มีเชื้อสายจีน ทั้งในระดับสังคมและปัจเจกบุคคล ต้องเรียนท่านผู้อ่านไว้ก่อนว่า เจ๊กเป็นคำเรียกจีนอย่างไม่เป็นทางการ และมีนัยยะในเชิงดูถูกดูแคลน จึงไม่นิยมใช้สนทนากับคนจีนโดยตรง แต่มักจะใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 ถือว่าเป็นอคติเชิงชาติพันธุ์
แน่นอนว่าคนจีนย่อมไม่ชอบที่จะถูกเรียกว่าเจ๊ก แต่ก่อนผู้เขียนเคยเชื่อว่ามีเพียงแนวคิดเดียว ที่ใช้อธิบายเรื่องเจ๊กในเมืองไทย แต่พอได้อ่านงานเขียนของนักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง จึงทำให้เห็นแนวคิดที่แตกต่างออกไป
แนวคิดแรก เชื่อว่า “ เจ๊ก “ มีต้นกำเนิดมาการคำว่า “ อาเจ็ก “ ตามคำเรียกน้องชายของพ่อ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว ซึ่งปรากฏอยู่ในบทความเรื่อง คำว่า “ เจ๊ก “ มาจากไหน ? ของ มนัส โอภากุล เป็นบทความที่อธิบายที่มาของคำว่าเจ๊กได้ดีมาก เพราะอ่านแล้วเข้าใจง่าย และอยู่บนพื้นฐานของทางสังคมวัฒนธรรม
เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์จีนนั้นเข้ามาเป็นประชากรของสยามประเทศมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยและลพบุรีเป็นอย่างน้อย ดังจะเห็นว่าทั้ง 2 แคว้น ได้ทำการส่งทูตไปยังเมืองจีนในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เพื่อทำการค้าระบบบรรณาการ ยิ่งมีการขยายตัวของการค้าขายทางทะเลในสมัยอยุธยา กลุ่มชาติพันธุ์จีนก็ยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นไปอีก
จนเมื่อเสียกรุงเมื่อ พ.ศ. 2310 ชาวพื้นเมืองสยามดั้งเดิมเหลือน้อยมาก เพราะต้องล้มหายตายจาก หรือไม่ก็ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยศึก และหนีภัยสงครามไปทั่วสารทิศ การไหลเข้าของชาวจีนโดยเฉพาะแต้จิ๋ว ในสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยังผลให้คนจีนมีจำนวนเกินครึ่งพระนครเลยทีเดียว
การอธิบายที่มาของเจ๊กด้วยคำเรียกญาติของจีนแต้จิ๋วนั้นแพร่หลายมาก เพราะต้องยอมรับว่าแต้จิ๋ว เป็นจีนโพนทะเลที่มีจำนวนมากที่สุด เมื่อเทียบกับคนจีนกลุ่มอื่น ๆ จึงน่าจะมีอิทธิพลทางด้านภาษาของผู้คนในกรุงเทพพอสมควร อย่างน้อยก็ภาษาพูด
ดังนั้นเมื่อชาวแต้จิ๋วเรียกผู้ชายชาวจีนวัยกลางคนทั่ว ๆ ไป ว่าอาเจ็ก ก็น่าจะทำให้คนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นได้ยินจนคุ้นเคยกับคำว่าอาเจ็ก และกลายเป็นเจ๊ก ที่เป็นคำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์จีนทุก ๆ สำเนียงภาษา ทั้งไหหลำ ฮกเกี้ยน และ แคะ หรือแม้กระทั่งจีนที่อาศัยในแผ่นดินจีน ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ และแผ่นดินอื่น ๆ ก็ยังถูกเรียกว่าเจ๊ก
ส่วนแนวคิดที่สอง ผู้เขียนได้อ่านเจอในผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในหนังสือเรื่อง “ ความเป็นมาของคำสยาม , ไทย ลาว และ ขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ “ กล่าวคือ คำว่า ตยก เป็นภาษาพม่า หมายถึงชาวจีน คำนี้ตรงกับภาษามอญว่า เจอยจ และตรงกับภาษาไทยว่า เจ๊ก
อันที่จริงแล้ว จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้ตั้งใจจะอธิบายที่มาของคำว่าเจ๊กโดยตรง เพียงแค่เป็นการยกตัวอย่างเรื่องการออกเสียงของชาวพม่าและมอญ เพื่อให้เห็นร่องรอยของคำว่า “ สยาม “ เท่านั้น แต่กระนั้นก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ ที่ชี้ให้เห็นถึงที่มาของคำว่าเจ๊กอีกแนวหนึ่ง แม้จะเป็นแนวที่ยังไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงก็ตาม
การที่มอญเรียกจีนว่า “ เจอยจ “ เป็นประเด็นที่ไม่อาจดูเบาได้ เพราะมอญเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐาน และมีการเคลื่อนไหวทางประชากรอยู่ในผื่นแผ่นดินใหญ่ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาตั้งแต่โบราณกาล ก่อนที่บรรพชนผู้ใช้ภาษาไทยจะสถาปนาอำนาจทางการเมืองได้เสียอีก แม้ในปัจจุบันมอญก็ยังมีอยู่พม่าและไทย
สิ่งที่ยังคงต้องตระหนักอยู่เสมอคือ วัฒนธรรมมอญนั้นยังเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทยหลายด้าน ทั้งประเพณีพิธีกรรม อาหารการกิน รวมทั้งภาษา ดังจะเห็นว่ามีคำมอญปะปนอยู่ในกฎหมายตราสามดวงอยู่มิใช่น้อย จึงน่าจะมีความเป็นไปได้เช่นกันว่า ชาวมอญที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยก็เรียกจีนว่า เจอยจ ตามความเคยชิน ที่เคยเรียกมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น เวลาเราอ่านออกเสียงคำว่า เจอยจ และ เจ๊ก เสียงนั้นใกล้เคียงกันทีเดียว จาก เจอยจ ในภาษามอญ จึงเพี้ยนเสียงเป็น เจ๊ก ในภาษาไทย ได้ไม่ยากเท่าไรนัก
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า เจ๊ก จะมาจากคำว่า เอเจ๊ก ที่แพร่หลายกว่า หรือจากคำว่า เจอยจ ที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง ก็ล้วนเป็นคำสรรพนามที่คนจีนไม่ต้องการให้เรียก ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แต่ครั้นจะไปห้ามไม่ให้พูดเลย ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาจะเรียกใครว่าเจ๊ก ก็ขอให้ดูตาม้าตาเรือให้ดี ๆ จงรักษาน้ำใจกันไว้เถิด
ข้อมูลอ้างอิง
จิตร ภูมิศักดิ์ . ความเป็นมาของคำ สยาม , ไทย ลาว และ ขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ . บริษัท สำนักพิมพ์ดวงกลม จำกัด . กรุงเทพมหานคร . พ.ศ. 2524 .
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ . อยุธยา : ประวัติศาสตร์และการเมือง . โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ . พ.ศ. 2544
มนัส โอภากุล . คำว่า “ เจ๊ก “ มาจากไหน ? . ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2537 .
ศิขรินทร์ แสงเพชร . คำยืมภาษามอญในกฎหมายตราสามดวง . ภาษาและวัฒนธรรมไทย 202 ฉบับที่ 2 ปีที่ 1 ธันวาคม 2550 – พฤษภาคม 2551
ความรู้รอบตัว
ประวัติศาสตร์
ความรู้
บันทึก
3
2
3
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย